ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้าวถุงธงฟ้าซ้ำรอยจีทูจี เลี่ยงประมูล-ขายตลาดมืด กมธ. เตรียมหลักฐานฟ้อง ป.ป.ช.

ข้าวถุงธงฟ้าซ้ำรอยจีทูจี เลี่ยงประมูล-ขายตลาดมืด กมธ. เตรียมหลักฐานฟ้อง ป.ป.ช.

28 กรกฎาคม 2013


โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน” จำนวน 2.5 ล้านตัน ผ่านร้านค้าทั่วไปและร้านถูกใจของกระทรวงพาณิชย์ ได้ถูกตรวจสอบพบและเชื่อว่าอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการลักลอบระบายข้าวออกจากโกดังของรัฐในโครงการจำนำข้าว เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้าในราคาถูกๆ สร้างความเสียหายให้กับงบประมาณแผ่นดิน หลบเลี่ยงการตรวจสอบทางบัญชีของกระทรวงการคลัง

คณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาได้เชิญตัวแทนจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) มาชี้แจงและตรวจสอบเอกสารหลักฐาน พบความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหลายอย่าง อาทิ เอกสารใบรับข้าวจากโกดังไม่ได้ระบุชื่อผู้รับข้าวสาร แต่จะใช้วิธี “ลับ ลวง พราง” อ้างว่าผู้รับข้าวคือ “กรมการค้าต่างประเทศ” ทั้งที่ข้าวสารทั้งหมดนั้น อคส. ว่าจ้างบริษัทผู้ผลิตข้าวถุงหลายแห่งเป็นผู้บรรจุและจัดจำหน่าย

นอกจากนี้ สัญญาที่ อคส. ทำกับบริษัทเอกชนยังไม่ได้ระบุ “เงื่อนไข” การจำหน่ายอย่างรัดกุม หรือแสดงหลักฐานว่าได้นำไปจำหน่ายถึงมือประชาชนจริงหรือไม่ เท่ากับว่า อคส. เป็นเพียง “ทางผ่าน” ของข้าวสารในโครงการจำนำข้าวเท่านั้น หากบริษัทที่รับบรรจุถุงแอบนำไปขายนอกตลาดให้แก่พ่อค้า ก็ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวระบุว่า ขบวนการนำข้าวออกจากโกดังนี้ ทำกันอย่างซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เหมือนการทุจริตที่เคยเกิดขึ้นในการขายข้าวแบบ “จีทูจี” ให้ประเทศจีน ซึ่งผู้บงการหลีกเลี่ยงการเปิด “ประมูล” ข้าวสารจากสต็อกรัฐบาล โดยใช้ข้ออ้างทำสัญญาจีทูจีกับรัฐบาลจีน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาจริง โดยมอบให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นตัวกลางไปดำเนินการ สุดท้าย บริษัทนอมินีก็ซื้อข้าวไปในราคาถูก แล้วนำไปขายหมุนเวียนในประเทศ ไม่ได้ส่งออกไปประเทศจีนอย่างที่กล่าวอ้าง

ส่วนโครงการข้าวถุง อคส. ครั้งนี้ ก็ใช้รูปแบบเดียวกัน คือให้ อคส. เป็นตัวกลางในการดำเนินการ และอ้างมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ตั้งแต่ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่อนุมัติให้มีการ “ลดราคา” ขายข้าวสารจากโครงการรับจำนำลง 50% วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและช่วยเหลือชาวมุสลิมในภาคใต้ นั่นหมายความว่าบริษัทที่ได้รับอนุมัติจาก อคส. จะซื้อข้าวสารได้ในราคาถูกมากในราคาแค่ 7,500 บาทต่อตัน โดยไม่ต้องประมูล เมื่อเทียบกับราคาข้าวสารในท้องตลาดซึ่งอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน และเมื่อเทียบเป็นราคาข้าวบรรจุถุงแล้ว ต้นทุนจะอยู่ที่ 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ราคาข้าวสารถุงในตลาดสูงถึง 90-150 บาทต่อถุง

ข้อเท็จจริงคือ มีการนำสต็อกข้าวสารของรัฐบาลออกมาทำข้าวถุงรวมเบ็ดเสร็จ 2.5 ล้านตัน เทียบเท่ากับ ปริมาณ 500 ล้านถุง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของปริมาณข้าวถุงที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ cpthairice.com เจ้าของแบรนด์ข้าวตราฉัตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อ้างถึงความเห็นของ นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซี.พี. ระบุว่า ตลาดข้าวถุงมีปริมาณความต้องการปีละ 6-7 ล้านตัน และปัจจุบันมีแบรนด์ข้าวถุงเกิดใหม่ประมาณ 10 แบรนด์ ทำให้เจ้าเดิมที่ทำตลาดอยู่แล้วมีส่วนแบ่งการตลาดลดลง

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าในแต่ละปีมีข้าวถุงหมุนเวียนในตลาดปกติอยู่แล้วประมาณ 1,200 ล้านถุง

ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยล่าสุด ระบุว่า มีสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 128 บริษัท คิดเป็นข้าว 800 ยี่ห้อ และมีส่วนแบ่งการตลาดในการขายข้าวสารบรรจุถุงภายในประเทศรวมกันกว่า 95% โดยในปีนี้ทางสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง คาดว่า มูลค่าตลาดจะมีประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 5%

จึงมีคำถามของผู้ที่อยู่ในวงการนี้ว่าถ้าข้าวถุงธงฟ้าและร้านถูกใจ ดาหน้ากันออกมามากถึง 500 ล้านถุงจริง บริษัทข้าวทั้ง 128 แห่ง จะประคองตัวอยู่ได้โดยไม่สะทกสะท้านจริงหรือไม่ ยังไม่นับปัจจัยเรื่องต้นทุนที่แพงกว่าข้าวถุงธงฟ้าถึงครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งประชาชนคงไม่เลือกซื้อข้าวถุงที่แพงกว่าแน่นอน

“ถ้าข้าวสาร 2.5 ล้านตัน มีการออกสู่ตลาดจริง สมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยคงไม่ต้องมีการค้าขายกันแล้ว เพราะเท่ากับคนไทยจะต้องได้ข้าวถุงราคาถูกในโครงการธงฟ้าไปแล้วอย่างน้อยคนละ 8 ถุง ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วข้าวเหล่านี้ไม่ได้ถึงมือผู้เดือดร้อนจากค่าครองชีพจริงๆ แต่ได้หายออกไปจากระบบ ไปสู่มือพ่อค้าเกือบหมด ขายที่ร้านถูกใจของกระทรวงพาณิชย์แค่ 10% เท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ เมื่อรัฐบาลมีการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด แล้วเหตุใดพ่อค้าส่งออกยังมีข้าวส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศถึงเดือนละ 3-4 แสนตัน ความเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง ก็คือผู้ส่งออกรวบรวมข้าวที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำ แต่อีกส่วนคือการซื้อใน “ตลาดมืด” ที่นำข้าวจากโกดังรัฐบาลออกมาขายได้ในราคาถูก เช่น บริษัทที่มีเส้นสายกับรัฐบาล ได้ข้าวสารจากโกดังในราคา 10,000-12,000 บาทต่อตัน ก็จะนำไปขายให้แก่ผู้ส่งออกในราคาตลาดที่ 15,000 บาทต่อตัน เท่ากับว่าฟันกำไรอย่างน้อยตันละ 3,000-5,000 บาทไปแล้ว

นี่ก็คือหนึ่งในสาเหตุที่ราคาข้าวสารในตลาดไม่ขยับขึ้น เพราะพ่อค้าข้าวไม่ได้แย่งซื้อจากชาวนาในราคาสูงอย่างที่ควรจะเป็น สวนทางกับข้อเท็จจริงที่รัฐบาลต้องใช้เงินเข้าไปแทรกแซงตลาดถึงกว่า 5 แสนล้านบาท และผู้บริโภคไม่ได้รับข้าวในโครงการธงฟ้า และประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้

“เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องตำหนิ อคส. เพราะการเมืองอาศัย อคส. เป็นตัวกลางในการขายข้าวลอตใหญ่ โดยมอบให้ 3-4 บริษัทค้าข้าว รับข้าวไปบรรจุถุงและจำหน่าย ด้วยราคาซื้อไปไม่ถึง 1 หมื่นบาทต่อตัน และใช้วิธีซื้อโดยไม่ต้องลงบัญชีหรือมีหลักฐานในการรับจ่ายข้าวด้วย ขณะที่เมื่อนำไปขายต่อจะได้ราคาถึง 15,000 บาทต่อตัน คิดเป็นส่วนต่างหลายหมื่นล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

เปรียบเทียบชบวนการขายและผลิตข้าวถุงและข้าวจีทูจี

ทั้งนี้ตัวอย่างโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจ ที่ กขช. อนุมัติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยเนื้อหาในมติระบุว่า “อนุมัติให้นำข้าวสารขาว 5% จำนวน 4 แสนตัน และข้าวเหนียวขาว10% เมล็ดยาวอีก 1 แสนตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล จำหน่ายให้ อคส. เพื่อนำไปบรรจุถุง ถุง 1 กิโลกรัม ในราคาไม่เกินถุงละ 15 บาท และถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาไม่เกินถุงละ 70 บาท จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยคิดราคาเนื้อข้าวทั้ง 2 ชนิด ในราคาเดียวกันที่ราคา 7.625 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม และราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ กขช. ได้เคยอนุมัติไว้ โดยให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการบรรจุถุง และกระจายสินค้าจนถึงปลายทาง ตามช่องทางการตลาดทั่วไปและโครงการธงฟ้าราคาประหยัดและร้านถูกใจ”

หลังจากจากนั้น อคส. ได้คัดเลือกบริษัทเอกชนให้ปรับปรุงข้าวขาว 5% ได้แก่ บริษัท เจียเม้ง จำนวน 50,000 ตัน, บริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว 50,000 ตัน, บริษัท โชควรลักษณ์ 1.25 แสนตัน และบริษัทสิงห์โตทอง อีก 1.25 แสนตัน เป็นต้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ด้วย ส่วนกระบวนการแจกจ่ายไปยังร้านถูกใจทั่วประเทศ มอบให้ บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการขนส่ง และการจำหน่ายไปยังร้านค้าทั่วไป ให้ บริษัท สยามรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่ายและส่งมอบ

ต่อมาในช่วงปลายปี 2555 ก็มีมติ กขช. ออกมาอีกครั้ง อนุมัติให้ระบายข้าวในสต็อกออกมา โดยอ้างโครงการธงฟ้า การลดค่าครองชีพ และร้านถูกใจ จำนวน 1.8 ล้านตัน มีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามารับดำเนินการไปเป็นลอตๆ คราวละ 3 แสนตัน มีบริษัทที่ได้เข้าไปดำเนินการแปรสภาพเพื่อจัดจำหน่าย ส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่ม 5 เสือในวงการค้าข้าว อาทิ บริษัทเจียเม้ง, บริษัท พงษ์ลาภ, บริษัท นครหลวงค้าข้าว รวมถึงเสือตัวใหม่อีก 2 บริษัทในวงการค้าข้าว คือ บริษัท โชควรลักษณ์ และ บริษัทสิงห์โตทอง ที่ยังคงครองส่วนแบ่งโควตาข้าวในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอด

ข้าวลอตใหญ่ดังกล่าวเปิดให้ระบายผ่าน 2 ช่องทาง เช่นเดิม คือ ถ้าจัดส่งไปขายที่ร้านถูกใจ ต้องผ่านบริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง แต่ถ้าเป็นข้าวถุง อคส. ที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป อคส. จัดจำหน่ายผ่าน 3 บริษัท คือ บริษัท สยามรักษ์, บริษัท คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง จำกัด โดยจะต้องส่งแผนงานด้านการตลาดมาให้ อคส. ตรวจสอบก่อน ว่าเมื่อรับข้าวสารไปบรรจุถุงแล้วจะมีร้านค้าย่อยมารับสินค้าไปจำหน่ายให้ถึงมือประชาชนอีกทอดหนึ่ง อาทิ บริษัท สยามรักษ์ ได้ส่งแผนการตลาดให้ อคส. โดยยืนยันว่า มีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้า ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางในต่างจังหวัด 280 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอีก 1,140 แห่ง รวมเป็น 1,420 แห่ง แต่ข้อเท็จจริง คือ อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อยๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ร้านค้าที่บริษัทสยามรักษ์หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาดส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวไป แต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 70 บาทต่อถุง ตามเงื่อนไข กขช. เพราะต้นทุนที่ซื้อมาสูงกว่าที่กำหนดไว้ และร้านค้าก็ไม่ได้จ่ายเงินตรงให้แก่ 3 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ อคส. แต่มีร้านค้าหนึ่งแห่งที่เมื่อรับข้าวแล้ว โอนเงินไปยังอีกบริษัทผู้ปรับปรุงคุณภาพและบรรจุข้าว คือ บริษัทเจียเม้ง

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรฯ กล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบเอกสาร “ใบเสร็จ” จากบริษัทผู้ผลิตถุงข้าวหลายแห่ง ที่ทางบริษัทผู้รับปรับปรุงคุณภาพและบรรจุข้าวถุงได้ว่าจ้าง เนื่องจากมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ปริมาณถุงพลาสติกที่มีการผลิตออกมาในตรา “ข้าว อคส.” และตรา “ข้าวถูกใจ” อาจจะไม่ตรงกับปริมาณข้าวสารที่ระบายออกจากโกดังจริงๆ รวมทั้งไม่ตรงกับปริมาณข้าวที่บริษัทที่รับไปปรับปรุงคุณภาพและบรรจุถุงได้ทำสัญญาไว้กับ อคส.

ข้อมูลทั้งหมดอยู่ระหว่างการรวบรวม เพื่อนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง และฟ้องร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป