ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกลวงในแป้นจิ้ม

โลกลวงในแป้นจิ้ม

30 มิถุนายน 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

เรามักได้ยินอยู่เสมอว่า อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นเพียง “โลกเสมือนจริง”

โดยเฉพาะในปัจจุบัน ในยุคที่โซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ กำลังเติบโตและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นสามารถพกพาการเข้าถึงติดตัวไปตลอดเวลา ในโลกแบบนั้น การจรดนิ้วและสายตาลงไปบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเลตในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นขนส่งมวลชนต่างๆ ขณะที่กำลังเดิน ใช้เวลากับเพื่อนฝูง หรือกระทั่งระหว่างคู่รักที่ร่วมรับประทานอาหารอยู่ด้วยกัน เป็นภาพที่สามารถเห็นได้จนชินตา ทว่าหลายคนอาจไม่และไม่อาจชินใจ กระทั่งทำให้เกิดการให้คำจำกัดความพฤติกรรมเหล่านั้นไปในทำนองว่าไม่ควรกระทำ บ้างก็ว่ากันถึงขั้นเสียมารยาท หรือถึงขนาดไม่ให้เกียรติผู้อื่นที่อยู่ด้วยกันในขณะนั้น

หรือว่า…นี่คือเสียงร้องของ “คนในโลกจริง” ที่ถูกทอดทิ้งทอดขว้าง

ท่ามกลางพฤติกรรมเหล่านั้น สังคมออนไลนได้ตกเป็นจำเลยอันดับต้นๆ ของแรงปฏิกิริยาทั้งหลายที่ถาโถมเข้ามา จนกระทั่งในที่สุด ถ้อยคำคลาสสิกอันมีต่อโลกอินเทอร์เน็ตอย่างคำว่าโลกเสมือนจริง ก็ได้ขยับฐานะจากเพียงคำจำกัดความแบบกลางๆ ที่มีคำอธิบายยาวเหยียดและหลากหลาย แตกต่างกันไปตามแต่ว่าเอาทฤษฎีใดมาจับ มากลายเป็นคำจำกัดความที่มีคุณค่าในทางลบทั้งหลายดังได้กล่าวไปแล้ว

บ้างก็ไปกันถึงขั้นว่า สังคมออนไลน์นั้นเป็น “โลกลวง” เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเราหมกมุ่นกับตัวตนปลอมๆ ในโลกปลอมๆ จนไม่เงยหน้าขึ้นมามองสภาพความเป็นจริงของโลกรอบข้าง

คล้ายๆ ถูกด่าว่าเอาแต่อ่านหนังสือจนไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเขาไปถึงไหนกันแล้ว…

เวลามีคนพูดอะไรแบบนี้ ผมมักจะนึกสงสัยขึ้นมาในใจว่า ทำไมไม่ลองตั้งคำถามว่า โลกรอบข้าง หรือที่ยกคุณค่ากันว่าเป็นโลกจริงนั้น มันเป็นอย่างไร มันมีอะไร ทำไมถึงทำให้คนเลือกจะเบือนหน้าบ่ายตาหนีมัน แล้วหันตัวเองไปสู่โลกที่ถูกกดค่าว่าแค่เสมือนจริง

ผมลองจินตนาการ…หรือย้อนนึกถึงภาพบนรถไฟฟ้าทั้งแบบลอยฟ้าและแบบใต้ดินที่ตัวเองเคยประสบ แล้วก็พบว่า นอกจากจะบังเอิญมีสาวสวยผุดขึ้นมา โลกรอบข้างนั้นก็ช่างไม่น่ามองเอาเสียเลย ผมเจอแต่อำเภอใจอันไม่แยแสแก่กฎเกณฑ์อันควรใช้ในที่สาธารณะ (บางสาวก็หมดสวยเพราะเรื่องนี้ ซึ่งบางทีก็เพราะเธอมัวแต่ปั้นจิ้มเล่นแป้นจิ้มประดามีนั่นแล) ทั้งแบบที่เป็นข้อขอกรุณาจากทางผู้ให้บริการรถไฟฟ้า หรือกระทั่งแค่เพียงการใช้บริการอย่างคิดถึงผู้ร่วมทางคนอื่นๆ

ไม่อยากจะใช้คำว่า “มารยาท” แต่ก็ไม่อาจจะหาคำใดที่ใกล้เคียงไปกว่านั้น

เพียงรถเข้าจอดที่สถานี ทันทีที่ประตูเปิดออก ผมก็มักจะเห็นคนที่รอไม่ได้ รีบเบียดตัวเองเข้ามาทั้งที่คนในขบวนรถยังออกไปไม่หมด ที่โหดร้ายแก่หัวใจผมเหลือเกินก็คือ หลายคนเหล่านี้ ทั้งที่รีบร้อนอย่างนั้นแต่เมื่อเบียดเข้ามาแล้วก็หาได้ชิดในอย่างวิสัยอันควรเป็น หากก็ยืนเล่นมันอยู่แถวประตูนั่นแหละ บ้างก็ไม่รู้เหน็ดเหนื่อยมาจากไหน พิงตัวกับเสากับราวที่โดยทั่วไปควรจะให้ผู้ร่วมทางท่านอื่นร่วมเกาะกันได้อย่างน้อยสามถึงสี่คน แต่พี่ท่านก็ใช้กระดูกสันหลังหรือกระทั่งง่ามก้นประทับจองครองไว้เพียงคนเดียว

และอะไรทั้งหลายเหล่านี้…ก็เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอตลอดการเดินทาง

หรือจะตัดเรื่องมารยาทในที่สาธารณะออกไป บางวันบางที ผมก็ต้องเกี่ยวคล้องข้องแวะกับโลกจริงมาทั้งวัน ซึ่งนั่นหมายถึงผมต้องเฉลี่ยและลดทอนความเป็นตัวเองทั้งหลายไปในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ยิ่งถ้าเป็นด้วยหน้าที่การงานแล้ว การเฉลี่ยและลดทอนความเป็นตัวเองนั้นก็ย่อมยิ่งมากมายขึ้นหลายเท่า ดังนั้น เมื่อมีเวลานิดๆ หน่อยๆ แล้ว ผมก็อยากจะเข้าไปอยู่ในที่ที่ทำให้รู้สึกว่าได้ทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง เพื่อจะได้กู้คืนความเป็นตัวเองกลับมา ได้รู้สึกว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่นะ

หรืออีกที ถ้าเราจะพูดถึงการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเพื่อนเก่าแสนสนิทหรือนวมิตรที่เพิ่งเคยเจอ ก็เป็นธรรมดามิใช่หรือครับ หากมันจะต้องมีจังหวะที่วงพบปะนั้นไหลหลุดเข้าไปอยู่ในสภาวะ “อากาศเดี้ยง” (หรือ dead air, แปลมันทื่อๆ แบบนี้แหละ) ที่ทำให้เราก็ย่อมอยากหลบเลี่ยงพาตัวเองไปทำอย่างอื่น

การหลบเลี่ยงไปทำอย่างอื่นทั้งหลายนั้น เมื่อก่อนเราทำแบบนั้นในความคิด นั่งอยู่ที่นั่นแต่ใจมันไปไหนก็ไม่รู้ (บางทีใจก็อยู่ที่นั่นโดยด่ามันที่อยู่ตรงหน้า) ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ การไม่สนใจ หรือกระทั่งทอดทิ้งโลกรอบข้างไปดื้อๆ มันก็มีมาตลอดแหละครับ เพียงแต่วันนี้มันดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยผ่านการหันไปสัมพันธ์กับแป้นจิ้มทั้งหลายนั่น ซึ่งทำให้คนที่อยู่ด้วยกันเห็นจะๆ ว่า การที่ตัวเองถูกทอดทิ้งหรือวิ่งหนีนั้นได้บังเกิดขึ้นตรงหน้าแล้ว

ที่มาภาพ : http://www.techwyse.com/
ที่มาภาพ : http://www.techwyse.com/

มนุษย์เราพยายามกั้นอาณาเขตส่วนตัวให้ตัวเองตลอดเวลา กระทำมันผ่านการทิ้งระยะหว่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น เรามีระยะห่างที่แปรผกผันกับความรู้สึกใกล้ชนิดสนิทสนม ทั้งระยะห่างเชิงพื้นที่ ที่เรายอมอนุญาตให้คนแปลกหน้าและคนคุ้นเคยเข้าใกล้ตัวเราได้ไม่เท่ากัน หรือด้วยระยะห่างทางภาษา ที่เรายอมพูดจากับคนใกล้ชิดและคนแปลกหน้าด้วยภาษาที่ต่างกัน หรือแม้แต่กับคนใกล้ชิดก็ยังมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปตามสถานะของความสัมพันธ์ เราพูดคุยกับพ่อแม่แบบหนึ่ง กับเพื่อนฝูงก็แบบหนึ่ง กับคนรักก็แบบหนึ่ง (แต่บางคนก็เป็นตัวของตัวเองมาก ใช้ภาษาแบบเดียวในทุกความสัมพันธ์ ซึ่งนั่นก็เป็นการสร้างอาณาเขตส่วนตัวแบบหนึ่ง ภาษาที่ออกจะจวนโบราณแล้วเขาเรียก “อินดี้” ส่วนที่โบราณอย่างคลาสสิกเรียก “ไม่มีกาลเทศะ”) หรือด้วยระยะห่างทางความคิด ว่าเราจะคิดคำนึงถึงใครคนหนึ่งสักแค่ไหน (แหม ในบางกรณีอันนี้ก็อาจจะตรงข้าม ออกแนวยิ่งไกลก็ยิ่งใกล้ เพราะบางคนก็ไม่ได้มีโอกาสจะใกล้ชิด แต่จิตมันปฏิพัทธ์ถึงตลอดเวลา) และในปัจจุบัน การสัมพันธ์กับแป้นจิ้มอิเล็กทรอกนิกส์ทั้งหลายก็กลายมาเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างอาณาเขตส่วนตัว

ทำไมคนเราถึงต้องการที่จะสร้างอาณาเขตส่วนตัว คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะคนเราต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย” หรือที่ก็ทับศัพท์กันไปว่า comfort zone ที่ที่คนเราอาจจะถึงขั้นสามารถโลดโผน หรือเพียงนั่งเงียบคนเดียวโดยไม่ต้องข้องเกี่ยวกับใคร หรืออย่างน้อยที่สุด จำกัดได้ว่าตัวเองอยากสัมพันธ์กับใครแค่ไหนอย่างในเฟซบุ๊ก หรือสุดๆ ไปเลยก็คือเล่นเกมที่มีให้เลือกในแป้นจิ้มอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น

ทีนี้ กลับมาสนใจเสียงตัดพ้อของคนในโลกจริงที่บอกว่าสังคมออนไลน์ในแป้นจิ้มอิเล็กทรอนิกส์นั้นมันเป็นโลกปลอมๆ กันบ้าง

น่าจะเกือบสิบปีที่แล้ว ที่เกมประเภท MMORPG (Mass Multiplayer Online Role-Playing Game) หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ แค่ “เกมออนไลน์” อย่าง “แร็กนาร็อกออนไลน์” (Ragnarok Online) จากเกาหลี ได้โด่งดังเป็นที่นิยมและอยากเก่งกาจกันในเกมจนถึงขั้นทำให้มีการซื้อขายเงินในเกมรวมทั้งไอเทมต่างๆ (ชุดเกราะ อาวุธ อุปกรณ์เสริมความสามารถทั้งหลาย) ด้วยเงินจริงของโลกนอกเกม ซึ่งถ้าจำไม่ผิด เงิน 1,000,000 Zeny (หน่วยเงินในเกม) นั้นซื้อขายกันในอัตราตั้งแต่ 1,000 บาท และเมื่อเงินในเกมเฟ้อมากๆ เข้าก็ลดลงมาเรื่อยจนถึงล้านละ 100-50 บาท

หรืออย่างในปัจจุบัน ในกรณีของเฟซบุ๊ก ก็มีการรับจ้างทำเพจให้มียอดคนมาไลค์เป็นจำนวนมหาศาล มีการซื้อต่อเพจที่มียอดไลค์จำนวนมหาศาล มีการจ้างเพจที่มียอดไลค์จำนวนมหาศาลให้ช่วยโฆษณาสินค้าต่างๆ หรือกระทั่งจ้างบุคคล ธรรมดาๆ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ได้รับความนิยมในอินเทอร์เน็ต ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ

เราจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำจริงๆ นะหรือครับว่า สังคมออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต หรือโดยเฉพาะเจาะจงอย่างเฟซบุ๊กนั้นเป็นโลกปลอมๆ เป็นโลกที่ไม่มีอะไรจริงมากพอจนควรจะต้องสนอกใส่ใจหรือให้เวลาหาความสำคัญอะไรกับมัน ก็ในเมื่อสิ่งที่เราสัมพันธ์ด้วยในอินเทอร์เน็ต ในสังคมออนไลน์ หรือกระทั่งในเฟซบุ๊กนั้น แท้แล้วก็ล้วนแต่เป็นหรือเกิดมาจากผู้คนที่มีตัวตนมีเลือดมีเนื้ออยู่ในโลกจริงข้างนอกนั่นทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกผลิตขึ้นและสื่อสารออกไปในโลกอินเทอร์เน็ต ก็ล้วนเป็นไปเพื่อสื่อสารกับผู้คนที่มีเลือดมีเนื้ออยู่ในโลกจริงข้างนอกนั่นกันทั้งนั้น หรือกระทั่งวิธีที่เราใช้สื่อสารพูดคุยกับคนในอินเทอร์เน็ต ก็เป็นไปอย่างผสมผสานระหว่างวิธีสื่อสารที่ใช้ในโลกข้างนอก กับวิธีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในอินเทอร์เน็ต (การเปลี่ยนแปลงของภาษาที่ใช้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในกรณีนี้)

ในแง่นี้นะครับ ผมเห็นว่าโลกในอินเทอร์เน็ตนั้นก็เป็นโลกจริงเหมือนกัน หากแต่เป็นโลกจริงที่เรารับรู้มันผ่านช่องทางใหม่ ปฏิสัมพันธ์กับมันผ่านช่องทางที่ไม่เคยมี เพราะทุกวันนี้ อะไรต่างๆ ในโลก หรือแม้แต่ที่อยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลกไป หรือกระทั่งที่ไกลแสนไกลออกไปนอกขอบกาแลคซี เหล่านี้ก็ล้วนพบเห็นกันได้ในอินเทอร์เน็ตด้วยความว่องไวกว่ายุคไหนที่เคยเป็นมา นั่นหมายความว่า เมื่อปฏิสัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ต เราก็กำลังสื่อสารกับโลกข้างนอก และสื่อสารอย่างว่องไวและเยอะเสียยิ่งกว่าการเงยหน้าขึ้นมามองดูเรื่องราวรอบๆ เสียอีก

(แต่แน่นอนนะครับว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีปฏิสัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ตของแต่ละคนด้วย เพราะเราก็ต้องยอมรับว่า สุดท้ายแล้ว ข้อมูลที่เป็นขยะนั้นก็ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าพูดกันให้ถึงที่สุด พูดกันอย่างเชื่อในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล อะไรเป็นขยะ อะไรเป็นอาหารอันโอชะ ก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละคนไปเถิด)

หากเราคิดว่าโลกจริงคือ “โลกของวัตถุ” ในความหมายของโลกที่มีรูปมีร่างสามารถจับต้องได้ เราอาจจะมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโลกเสมือน หรือกระทั่งเป็นโลกที่ไม่จริงตามความหมายของโลกวัตถุแบบนั้นก็ได้ครับ แต่ว่า มันก็ไม่ใช่โลกไม่จริงที่ถูกแยกจากโลกจริงโดยเด็ดขาดออกจากกัน หากคือยังเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้วละก็ โลกในอินเทอร์เน็ตและโลกนอกอินเทอร์เน็ตนั้นสัมพันธ์กันอย่างตอบสนองกันไปมา เรานำสิ่งที่พบเจอข้างนอกมาสื่อสารในโลกอินเทอร์เน็ต และเราก็นำสิ่งที่ได้จากอินเทอร์เน็ตออกไปสื่อสารข้างนอก เป็นความสัมพันธ์แบบข้ามไปข้ามมากลับไปกลับมาต่อกันแบบนั้น

มาถึงตรงนี้นะครับ โลกในอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งซึ่งแทรกตัวมาอยู่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโลกนอกอินเทอร์เน็ตไปแล้ว กลายเป็นอวัยวะหนึ่งอันอาจกล่าวได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญอันจำเป็นต่อการดำรงอยู่ขององคายพใหญ่ การพยายามแบ่งแยกโลกทั้งสองออกจากกันด้วยยัดเยียดคุณค่าแย่ๆ ให้โลกในอินเทอร์เน็ตและยกย่องคุณค่ายอดเยี่ยมให้โลกนอกอินเทอร์เน็ตไม่น่าจะสามารถทำให้คนเงยหน้าขึ้นมาสนใจโลกนอกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างที่ผู้ตัดพ้อทั้งหลายคาดหวัง(ไม่อยากจะพูดเลยว่าบางทีที่ตัดพ้อกันนั้นมันก็แค่ผ้าพรางของคำว่า “สนใจฉันหน่อย” เท่านั้นแหละ) ในทางกลับกัน เราควรจะสนใจความสัมพันธ์อันข้ามไปข้ามมาระหว่างสองโลกนี้ให้เข้าใจน่าจะดีกว่า และถ้าจะให้พูดกันอย่างคนที่ไขสันหลังติดเชื้อความแตกต่างละก็ นี่ก็เป็นโอกาสหนึ่งในการจะศึกษาว่าทำไมผู้คนถึงเลือกจะทำอะไรที่แตกต่างไป แตกต่างจากค่านิยมดั้งเดิมของสังคม หรือกระทั่งง่ายๆ แค่แตกต่างจากที่เราคิดว่าควร

และคงต้องขอย้ำกันอีกทีว่า หากวันหนึ่งที่คุณเดินออกไปแล้วพบว่าใครๆ ก็พร้อมใจกันก้มหน้าลงไปในแป้นจิ้มอิเล็กทรอนิกส์แล้วละก็ การก่นประณามผู้คนเหล่านั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าสนใจไปกว่าการตั้งคำถามว่า โลกข้างนอกของคุณนั่นมันเป็นยังไง ทำไมใครๆ ถึงเบือนหน้าหนี