ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กลุ่มทุนต้านแผน “ยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน” เลื่อนใช้ต้นปี ’57 – มาตรการบีโอไอ รายได้รัฐหายเกือบ 3 แสนล้าน

กลุ่มทุนต้านแผน “ยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน” เลื่อนใช้ต้นปี ’57 – มาตรการบีโอไอ รายได้รัฐหายเกือบ 3 แสนล้าน

6 มิถุนายน 2013


ต่อกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้นำร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556–2560) ออกเดินสายโรดโชว์ โดยการจัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็นทั้งหมด 6 ครั้ง เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทุกครั้งที่จัดงาน ปรากฏว่ามีนักลงทุนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ โดยเฉพาะ “กลุ่มนักลงทุนที่กำลังจะถูกบีโอไอยกเลิก (กลุ่ม C) หรือ ปรับลดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน” กลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องขอให้บีโอไอทบทวนร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2556

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้จัดทำสรุปผลการระดมความคิดเห็นของนักลงทุนทุกภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับข้อเสนอแนะประมาณ 23 หน้า ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอพิจารณาวันที่ 13 มีนาคม 2556 ประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากไม่เห็นด้วยหลักๆ จะมีอยู่ 3 เรื่อง 1. การกำหนดบัญชีประเภทกิจการที่จะได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน 2. รูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และ 3.การยกเลิกเขตส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค

เริ่มจากประเด็นแรก การกำหนดบัญชีประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผลจากการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นทั้งหมด 6 ครั้ง นักลงทุนส่วนใหญ่เรียกร้องให้บีโอไอย้ายกลุ่มกิจการบางประเภทที่อยู่ในข่ายถูกยกเลิกสิทธิส่งเสริมการลงทุน แต่มีต่างชาติลงทุนเป็นจำนวนมาก มาอยู่ในกลุ่ม B4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ภาษีแทน (NON-TAX) อาทิ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตเครื่องมือช่างและเครื่องมือวัด กิจการปลูกป่า กิจการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้นักลงทุนยังเสนอให้บีโอไอกำหนดนิยามหรือคำจำกัดความ และเงื่อนไขของแต่ละประเภทกิจการให้ชัดเจน และให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของการส่งเสริม

ข้อเสนอการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน

ประเด็นที่ 2 แนะนำให้บีโอไอปรับปรุงรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ถ้าดูตามแผนภูมิที่นำมาแสดงจะเห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สิทธิประโยชน์พื้นฐาน (Basic Incentives) กับการใหสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ โดยในเวทีงานสัมมนา นักลงทุนมีข้อเสนอดังนี้ คือ

2.1 ขอให้บีโอไออนุญาตให้นักลงทุนที่อยู่ในกลุ่ม A และ กลุ่ม B (เฉพาะกิจการบางประเภท) สามารถทำกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ (Merit-based Incentives) เช่น ลงทุนวิจัยและพัฒนา หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากบีโอไอได้

2.2 กิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักการของ Merit-based ขอให้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจฝึกอบรมทางด้านเทคนิค, ธุรกิจออกแบบ และการพิจารณาขอให้คำนึงถึงสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสียเปรียบด้วย เช่น เขต 3 เดิม ควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี หรือ เขต 3 พิเศษ 23 จังหวัด ควรยกเว้นภาษีเพิ่ม 3 ปี เป็นต้น

2.3 สำหรับโครงการลงทุนเดิมที่ต้องการขยายสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ขอให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับโครงการลงทุนใหม่

2.4 กำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการให้ชัดเจน เพื่อเป็นตัวกรองโครงการที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนในขั้นแรก

2.5 กำหนดมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย โดยเน้นเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรม

ข้อเสนอ การอนุมัติโครงการ

ประเด็นที่ 3 ยกเลิกการให้สิทธิส่งเสริมการลงทุนแก่เขตส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค นักลงทุนที่เข้าร่วมงานสัมมนามีข้อคิดเห็นดังนี้

3.1 ขอให้บีโอไอให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ สำหรับโครงการที่ตั้งในพื้นที่เสียเปรียบ (เขต 3 และเขต 3 พิเศษเดิม) โดยขอให้เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์การให้ Merit-based เพื่อชดเชยความเสียเปรียบของพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

3.2 แนะนำให้บีโอไอกำหนดแนวทางส่งเสริม Regional Cluster ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดแผนงานและพิจารณาเสนอสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคลัสเตอร์

3.3 เสนอให้เริ่มโครงการนำร่องกับคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและความพร้อมสูง 3-4 แห่งก่อน ทั้งด้านผู้ผลักดัน ผู้ลงทุน ผู้พัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสถาบันการศึกษา เช่น Food Valley ที่ภาคเหนือและอีสาน, Creative City ที่เชียงใหม่, Plastic Park ของสถาบันพลาสติก เป็นต้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากบีโอไอกล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำผลการระดมความคิดเห็นการเวทีงานสัมมนาทั้ง 6 ครั้งมาทำการวิเคราะห์ เบื้องต้นพบว่า “นักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมทั้งองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ยังมีความกังวลต่อร่างยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม และระยะเวลาที่เริ่มมีผลบังคับใช้ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบในการพิจารณา ทางบีโอไอจึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือน เพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ให้มีความเหหมาะสม ก่อนที่จะนำเสนอให้บอร์ดพิจารณาในครั้งถัดไป”

ดังนั้น ทางบีโอไอจึงทำเรื่องเสนอคณะกรรมการให้เลื่อนการออกประกาศร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ จากกำหนดการเดิมที่บีโอไอต้องประกาศร่างยุทธศาสตร์ใหม่ในเดือนมีนาคม 2556 และมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2556 ไปเป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2556 และให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2557 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2556 ที่ประชุมไม่ได้มีความคิดเห็นหรือมีมติให้บีโอไอเลื่อนการนำร่างยุทธศาสตร์มาบังคับใช้ตามที่สำนักงานบีโอไอเสนอ แต่คณะกรรมการมีความเห็นว่า “การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ อีกทั้งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีหลากหลายมิติ จึงควรใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ และควรหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และการสูญเสียรายได้ของรัฐ”

รัฐสูญเสียรายได้ BOI

จากข้อมูลรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลังปี 2557 ตามเอกสารงบประมาณฉบับที่ 5 หน้าที่ 21 ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการยกเว้นและลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่างๆ ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจำนวน 283,591 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 85,077 ล้านบาท เกิดการจ้างงานภายในประเทศ 56,100 คน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.17%

ส่วนในปี 2556 คาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ 288,751 ล้านบาท มีการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 86,625 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 57,090 คน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.173% และในปี 2557 คาดว่าจะสูญเสียรายได้ 311,562 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ 93,469 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 61,710 คน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.187%