ThaiPublica > คอลัมน์ > จำนำข้าว

จำนำข้าว

11 มิถุนายน 2013


“หางกระดิกหมา”

ถึงตอนนี้ ใครที่เชียร์โครงการจำนำข้าวอยู่ก็คงอดนึกแปลกใจไม่ได้ ว่าทำไมมหาอำนาจในเรื่องข้าวอย่างประเทศไทย จึงยัง “เอา” ตลาดไม่อยู่เสียที

ทั้งๆ ที่ในเมื่อเราเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง เป็นที่มาของข้าวเกือบครึ่งในตลาดโลก แต่แล้วทำไม เวลาเราคิดจะเล่นตัว ขายข้าวให้มันแพงขึ้นกว่าเดิม มันถึงได้ขายไม่ได้ ปล่อยให้รัฐบาลซึ่งใจป้ำรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าตลาดและเตรียมมาโก่งราคาขายในตลาดโลกเต็มที่ เหลือข้าวติดมือเต็มโกดัง ขายไม่ออก เร่ขายใครๆเขาก็ไม่ซื้อ หรือถ้าจะซื้อ ก็จะซื้อที่ราคาที่ถูกกว่าที่รัฐบาลรับจำนำมา จนรัฐบาลทำท่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่รอมร่อ

คำตอบมีอยู่ง่ายๆว่าประเทศไทยกำหนดราคาข้าวไม่ได้ ก็เพราะเราไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างที่คิดเสมอไป

หากพิจารณาตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA: United States Department of Agriculture) ซึ่งถือกันว่าเชื่อถือได้ที่สุด เราจะเห็นเลยว่าปริมาณการผลิตข้าวสารของโลกในปีหนึ่งๆ นั้นสูงถึง 470 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นข้าวของไทยน้อยมาก กล่าวคือใน 470 ล้านตันที่ว่า มีจีนเป็นผู้ผลิตเสีย 143 ล้านตัน อินเดีย 104 อินโดนีเซีย 37 ล้านตัน บังกลาเทศ 34 เวียดนาม 28 ล้านตัน

เสร็จแล้วถึงจะเป็นประเทศไทยที่ 20 ล้านตัน รั้งอยู่อันดับหก

ถามว่า แล้วประเทศไทยเอาที่ไหนมาคุยว่าตัวเองเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่

ตอบว่าคุยได้ เพราะใน 470 ล้านตันนี้ ส่วนใหญ่มันเป็นข้าวที่ประเทศไหนผลิตก็ใช้กินกันเองในประเทศ ไม่ได้ไปขายที่ไหน ดังนั้นข้าวส่วนใหญ่จึงไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในตลาดโลก โดยข้าวที่หมุนเวียนอยู่ตลาดโลก กล่าวคือข้าวที่ประเทศต่างๆ ส่งออกมาขายนั้นมีอยู่แค่ 30 ล้านตัน ซึ่งเทียบได้เท่ากับเพียง 7 เปอร์เซนต์ของข้าวทั้งหมดที่มีการผลิตได้ในโลกเท่านั้น

ดังนี้ ก็เลยเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะคุยได้ว่าเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ เพราะใครไม่ขาย เราขาย และขายมากเสียด้วย กล่าวคือปีหนึ่งๆ ประเทศไทยส่งออกข้าวปีละ 10 ล้านตัน จึงเท่ากับว่าในข้าวที่หมุนเวียนในตลาด 30 ล้านตันนั้น เป็นข้าวที่ไทยส่งออกอยู่เสีย 10 ล้านตัน หรือกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งมากกว่าใครเขาทั้งหมด เราจึงพูดได้ว่าเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุด แม้ว่าเราจะเป็นผู้ผลิตตัวเล็กเป็นลำดับหกของโลกก็ตาม ซึ่งนี่เองน่าจะเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาล นึกอยากจะโก่งราคาข้าว โดยกะว่าในเมื่อเราใหญ่ถึงหนึ่งในสามในตลาดข้าว ถ้าเราแกล้งปล่อยข้าวออกไปขายน้อยเสียหน่อย ให้ตลาดมันขาดแคลน เราก็จะขายข้าวแพงขึ้นได้

แต่ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้จริง ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลคิดผิด เพราะตามตัวเลขที่ไล่มาให้ดูจะเห็นได้เลยว่าประเทศเราอาจดูยิ่งใหญ่ในตลาดข้าว แต่เอาเข้าจริงแล้ว ข้าวที่โลกผลิตได้ทั้งหมดนั้นมีมากกว่าข้าวที่มีอยู่ในตลาดมากมายนัก ดังนั้น ทันทีที่ประเทศไทยแกล้งลดจำนวนข้าวที่ขายเพื่อให้ตลาดขาดแคลนจนทำให้ราคาข้าวในโลกสูงขึ้น ขอเพียงโลกเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวอีกเพียงหนึ่งเปอร์เซนต์ เช่น ปลูกพืชอย่างอื่นน้อยลงไปหน่อย และปลูกข้าวมากขึ้นอีกนิด ก็จะมีปริมาณข้าวเทเข้ามาในตลาดอีก 4.7 ล้านตัน (หนึ่งเปอร์เซนต์ของ 470 ล้านตัน) ซึ่งรับรองจะทำให้ความขาดแคลนที่ประเทศไทยพยายามสร้างหายไปทันที โดยไม่ต้องเถียงกันว่าโลกจะเพิ่มการผลิตข้าวหรือไม่ เพราะถ้าราคาข้าวสูงขึ้น โลกย่อมเพิ่มการผลิตเป็นสัจธรรมของเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว

โดยนัยนี้ ความพยายามของประเทศไทยที่จะกดดันตลาดข้าวจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะไม่มีประเทศไหนเคยทำได้ เช่นเมื่อยี่สิบปีก่อน ประเทศบราซิลก็พยายามจะกดดันตลาดน้ำตาลโลกในลักษณะเดียวกัน ก็ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งๆที่ตอนนั้นบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำตาลโลกอยู่แล้วด้วยซ้ำ

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องถามตัวเองให้ดีว่าคิดโครงการจำนำข้าวมาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อโกง เพื่อเอื้อประโยชน์พ่่อค้ารายใหญ่ หรือเพื่อกินส่วนที่รั่วไหลในกระบวนการต่างๆ ก็ไม่มีอะไรต้องพูดกัน แต่ถ้าเพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อย รัฐบาลก็ควรจะรู้ตัวได้แล้วว่าวิธีที่รัฐบาลเลือกนั้น มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงสูงมาก และมีโอกาสสำเร็จน้อยมาก โดยเฉพาะยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเสียหายถึง 260,000 ล้านบาทหรือเปล่า เพราะในเมื่อรัฐบาลใช้งบประมาณกับโครงการนี้จำนวน 600,000 ล้านบาท เพื่อรับจำนำข้าวที่ราคาตันละ 15,000 บาท ทั้งๆที่ราคาตลาดอยู่แค่ที่ตันละ 10,000 บาทนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐจะต้องขาดทุนยืนพื้น 200,000 ล้านบาทอยู่แล้ว อย่าว่าแต่ไหนจะค่าขนส่ง ค่าโกดัง และค่าที่ข้าวต้องเสียหายเพราะมอดแมลงความชื้นอีกเล่า

อ้อ แต่โอกาสที่โครงการนี้จะสำเร็จก็มีเหมือนกัน ก็คือถ้าเกิดภาวะทุพภิกภัยแพร่หลายเป็นกลียุคทั่วโลก อย่างนั้นราคาข้าวของรัฐบาลก็ขึ้นแน่ ดังนั้น ถ้าไม่คิดจะเลิกโครงการ รัฐบาลก็มีแต่ต้องภาวนาให้เกิดกลียุคไวๆเสียก่อนมอดจะกินข้าวหมดโกดังเท่านั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในน.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ วันที่ 7 มิถุนายน 2556