ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ

ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ

3 มิถุนายน 2013


ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริเวณแสดงพื้นที่จำลองเมืองน่าน ณ สำนักงานโครงการปิดทองหลังพระ
ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริเวณแสดงพื้นที่จำลองเมืองน่าน ณ สำนักงานโครงการปิดทองหลังพระ

มีโอกาสได้ลงพื้นที่กับ “โครงการปิดทองหลังพระ” ที่จังหวัดน่านเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่นั่นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ที่นี่ “โครงการปิดทองหลังพระ” ได้ทำโครงการนำร่องมาระยะหนึ่งแล้วประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2552 นี่คือเป็นเฟสแรกของการฟื้นฟูวิถีชีวิตให้ประชาชน “มีกิน” ต่อจากนี้กำลังเข้าสู่เฟสที่สองของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไปเพื่อการ “มีอยู่” อย่างแท้จริง

ด้วยจังหวัดน่านถูกบุกรุกจนเป็นภูเขาหัวโกร๋นหลายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และพื้นที่อื่นๆ ป่าหายไปจากผืนดิน ทั้งๆ ที่มีหน่วยพิทักษ์ป่า อุทยาน อยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ป่าก็ไม่มีเหลือให้เห็น

โครงการปิดทองหลังพระได้ลงมือบุกเบิกทำเป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน ตามพระราชดำรัสของในหลวง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ด้วยหลักองค์ความรู้ 6 มิติ

ทำไมต้อง... น่าน-3

พื้นที่นำร่อง 3  อำเภอ จ.น่าน ของโครงการปิดทองหลังพระ
พื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ จ.น่าน ของโครงการปิดทองหลังพระ

ปัญหาที่ชาวบ้านต่างประสบเหมือนๆ กันในทุกๆ ที่ของประเทศไทยคือข้าราชการมาแล้วก็ไป และนับวันการคงอยู่ของเจ้าหน้าที่นั้นสั้นลง อายุงานที่จะอยู่เรียนรู้และเสริมองค์ความรู้เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชาวบ้านแค่ปี 2 ปี ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ประชาชนจึงต้องลดการพึ่งพาหน่วยงานราชการ หันมาพึ่งพาตนเอง แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้

โครงการปิดทองหลังพระจึงเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อเชื่อมและบูรณาการการแก้ปัญหาในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานราชการในจังหวัด

แต่กว่าจะเห็นผลในวันนี้ โครงการปิดทองหลังพระก็ต้องฝ่าฟันและเรียนรู้อย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำซ้ำ ในวิถี “เข้าใจ เข้าถึง” อยู่ตลอดเวลา เพราะตราบใดที่ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องทำให้ “เข้าใจ” เก็บข้อมูลใหม่จนกว่าจะ “เข้าถึง” ใช้ขบวนการนี้วนเวียนนำมาใช้ซ้ำอยู่ตลอดเวลาเพื่อแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา

ด้วยเหตุที่ชาวบ้านต้อง “มีกิน มีอยู่” และด้วยภูมิสังคมของจังหวัดน่าน วิถีคือการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ปีละครั้ง โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด

ปัญหาของชาวบ้านมีปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งในเรื่องราคาพืชผลและต้นทุนการผลิต ที่ต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเคมี ที่มาพร้อมกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของบริษัทและนายทุนในท้องถิ่นที่ต้องการขายวัตถุดิบที่แจกแถมมากมาย ประกอบกับองค์ความรู้ที่จะเสริมสร้างการทำมาหากินอื่นๆ ให้ดีขึ้นก็ไม่มี แถมความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการก็ยังแก้ตามงบประมาณ เมื่อรายได้ไม่เพียงพอที่จะยังชีพ ภาระหนี้สินก็ตามมา การบุกรุกป่าเพื่อให้ได้พื้นที่ทำกินมากขึ้น ผลผลิตมากขึ้น จึงเป็นวงจรอุบาทว์ นำมาซึ่ง “ภูโกร๋น”

ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ
ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ

หลากปัจจัยหลายปัญหา ทำให้ “น่าน” เป็นอีกความท้าทายของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ มูลนิธิโครงการปิดทองหลังพระ ผู้ปลุกปั้นโมเดลดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จนกลายเป็นตัวอย่างที่ต่างประเทศหลายแห่งเอาไปเป็นแม่แบบ

“การที่ปิดทองหลังพระ คิดแบบครบวงจร ศึกษาตั้งแต่ปัญหา วิธีการแก้ไขให้ถึงรากเหง้า โดยเอาคนเป็นตัวตั้ง กำหนดแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีจุดหมายปลายทางชัดเจนว่า จะไปทางไหน อย่างไร ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน รู้ปัญหา รู้ความต้องการของชาวบ้าน รู้ว่าโครงการไหนจะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ แล้วก็ชักชวนทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โครงการพระราชดำริต่างๆ จังหวัด จนถึง อบจ. อบต. เทศบาล และชาวบ้าน ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว บูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง” เป็นคำพูด ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ที่ปรากฏในสื่อเผยแพร่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ

การบุกรุกจึงเป็นขบวนการเพื่อความอยู่รอดของชาวบ้าน เพื่อ “มีกิน มีอยู่ “ ในรูปแบบที่เขาทำเป็น ทำได้

ทีมงานปิดทองหลังพระเป็นทีมงานเดียวกับทีมที่เคยฟื้นฟูดอยตุง เมื่อก่อนสภาพดอยตุงไม่ต่างจากน่านในปัจจุบัน ป่าถูกบุกรุก สภาพเป็นภูเขาหัวโกร๋น ปัจจุบันทีมงานพัฒนาดอยตุงได้เริ่มลงจากดอย เพราะแผนพัฒนาโครงการ 30 ปี โครงการดอยตุงต้องคืนดอยให้กับคนดอยที่ร่วมพัฒนา ซึ่งปัจจุบันสามารถคืนป่าให้ผืนดินได้แล้ว และชาวบ้านต่าง “มีกิน มีอยู่” และเข้มแข็งตามเป้าหมายของโครงการ

โมเดลดอยตุงจึงถูกนำมาใช้ที่น่าน ทีมดอยตุงหรือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจึงเป็นพี่เลี้ยงทีมโครงการปิดทองหลังพระ รูปแบบที่นำมาใช้ก็ปรับให้เข้าวิถีสภาพความภูมิสังคม ทั้งในแง่ความ “เป็น-อยู่-คือ” ของคนที่นี่

จากการที่ได้พูดคุยกับสมาชิกรุ่นบุกเบิกที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระ หรืออาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อสพ.) โดยผู้ใหญ่บ้านน้ำป้าก (หมู่บ้านในอำเภอท่าวังผา) เล่าให้ฟังว่า “แต่ก่อนๆ บ้านเราทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ทำมานานหลายปีเกิดปัญหาหลากหลาย เกิดภัยธรรมชาติ เกิดภัยพิบัติ มีวิถีชีวิตกู้กินกู้ใช้และไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ ทั้งเรื่องราคาสินค้าเกษตรและต้นทุน ชาวบ้านยากจน หาหนทางแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ เกิดภาวะหนี้สิน ทุกคนไม่มีน้ำกินน้ำใช้น้ำการเกษตร ไม่มีองค์ความรู้ การพึ่งส่วนราชการ ก็ช่วย แต่ช่วยแก้ปัญหาตามวัตถุประสงค์ ตามระเบียบงบประมาณรายจ่ายของเขา หลังจากที่เขาช่วย แต่เราไม่มีองค์ความรู้ เราไม่สามารถบริหารจัดการด้วยตัวเอง ในการสานต่อ ยืนหยัด พัฒนาตัวเองได้ ชาวบ้านยากจนลงเรื่อย ไม่มีแผนไม่มีการจัดการที่จะพัฒนาตัวเองในการทำเกษตร เพื่อหาทางอยู่รอด แก้ปัญหาหนี้สิน เพิ่มรายได้ เราทำแผนแต่แก้ปัญหาไม่ได้”

โครงการปิดทองหลังพระ เข้ามาปี 2552 นำมาประยุกต์ใช้ เกษตรผสมผสาน นวเกษตร เกษตรอินทรีย์ ขบวนการทำร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับโครงการ โดยโครงการเป็นพี่เลี้ยง และโครงการแม่ฟ้าหลวงเป็นพี่เลี้ยงโครงการปิดทองหลังพระ เขาสามารถนำมาถ่ายทอด องค์ความรู้ 6 มิติ เกิดขบวนการเข้าใจ สร้างความเข้าใจกับชุมชน ให้เขาคิดค้นหาตัวเองในอดีตคุณคืออย่างไร ปัจจุบัน อนาคตคุณจะไปอย่างไร ให้ชาวบ้านช่วยคิด

หลักองค์ความรู้ 6 มิติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลักองค์ความรู้ 6 มิติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากนั้นถามเขาว่าพร้อมที่จะไปกับโครงการไหม ถามใจเขาก่อน พอ “ใจ” เขาพร้อม ก็เข้าถึงเขา ต่อจากนั้นก็ให้ชาวบ้านเขาเลือกทั้ง 6 มิติ ว่าเขาจะเขาเลือกอะไรก่อนหลัง เขามีที่ดิน แต่ไม่มีน้ำ ช่วยกันสร้างฝาย

จากนั้นพูดคุยกันว่า หากสร้างฝายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีน้ำใช้ทั้งปี มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร เขาทำการเกษตรได้ลูกพืชหลังนา เขาเริ่มอยู่รอด

ขบวนการนี้คือทำอย่างไรให้เขา “รอด” หรือมีกิน มีอยู่

นี่คือการระเบิดจากข้างใน

โดยมีอาชีพหลักและมีอาชีพรอง เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เขาสามารถพัฒนาตัวเอง เพราะเขาเป็นเจ้าของที่ดิน มองอนาคต มองการจัดการตัวเอง ว่าเขาจะก้าวไปสู่เกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายที่เกื้อหนุนกันได้ เช่น ข้าวโพด ลำไย ปลูกข้าวไร่ ข้าวนา ปลูกผัก ปลูกพริก เมื่อเขาอยู่รอด เขาก้าวไปสู่อาชีพเสริม เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

ชาวบ้านได้องค์ความรู้ จากการบริหารจัดการที่พวกเขาร่วมกันทำ เช่น กลุ่มกิจกรรมผู้ใช้น้ำ กลุ่มพืชหลังนา กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเลี้ยงไก่ เป็นต้น แต่ละกลุ่มเขามีเงื่อนไข มีกฎระเบียบ ข้อตกลงของเขาเอง

หลายพื้นที่ที่ได้ไปดูอย่างอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ที่ภูเขาหัวโกร๋นแทบทั้งหมดสุดลูกตาลิบๆ ปัญหาใหญ่คือ “น้ำ”

“น้ำ” คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ของชาวบ้าน เมื่อมีการบริหารจัดการน้ำได้ ชาวบ้านก็มีอยู่มีกินตามสภาพที่เขาคุ้นชิน โดยไม่ได้เดือดร้อนที่จะต้องบุกรุกป่าหรือออกไปหางานทำในเมืองใหญ่

ทำให้นึกถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นโครงการใหญ่ ว่าจ้างที่ปรึกษาในมูลค่าที่สูง ถ้าหากใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เม็ดเงินเหล่านี้สามารถกระจายและนำมาแก้ปัญหาการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ได้ตามรูปแบบที่สอดรับกับวิถีทำมาหากินของชาวบ้าน โครงการยักษ์ อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ภูโกร๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ และบ่อพวงสันเขา การบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรกันเองตามพื้นที่ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงกันในกลุ่ม โดยใช้ท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ของแต่ละครอบครัว
ภูโกร๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ และบ่อพวงสันเขา การบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรกันเองตามพื้นที่ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงกันในกลุ่ม โดยใช้ท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ของแต่ละครอบครัว

การบริหารจัดการน้ำของโครงการปิดทองหลังพระ คือการสร้างฝายซึ่งการทำ”ฝาย”มีหลายรูปแบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ อาทิการทำฝายเพื่อการเกษตร การทำฝายเพื่อการอนุรักษ์ การทำฝายเพื่อการบริโภคอุปโภค นอกจากฝายแล้วยังมีการทำ“บ่อพวง” สันเขา และระบบคลองและท่อส่งน้ำ เป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาน้ำและนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆได้ โครงการนำร่องใน 3 อำเภอที่ จ.น่าน (ท่าวังผา, สองแคว และเฉลิมพระเกียรติ) แต่ละพื้นที่ต่างมี “บ่อพวง” รองรับการใช้น้ำของ 4-5 ครอบครัว และพวกเขาก็บริหารจัดการน้ำกันเอง มีกฎกติกาการจัดสรรน้ำ ที่สามารถพลิกฟื้นวิถีชีวิตชาวบ้านให้เขากลับมายืนหยัดในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาได้ และมากไปกว่านั้นเป็นการสร้างการเรียนรู้ วินัย ธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยในชุมชนอย่างแท้จริง

ผู้ใหญ่บ้านน้ำป้ากเล่าว่า “ก่อนปี 2551 ชาวบ้านเดินไปแบบไม่มีองค์ความรู้ ชาวบ้านเดินแล้วล้ม มีหนี้สิน พอเดินเข้าสู่โครงการนี้เขายืนหยัดได้ ใช้หนี้สินได้ แบ่งการจัดการเงินกู้ เงินออม เงินเก็บ สามารถบริหารการเงินได้ โดยทำมาหากินอยู่ในกรอบของการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเขาเอา ใช้การจัดการที่ถูกต้อง”

เมื่อถามว่าทำไมผู้ใหญ่มาเข้าโครงการ ได้คำตอบว่า “คือผมพยายามสรรค์สร้างชุมชนตัวเอง มีความฝัน เราเป็นคนบ้านนอก “ดอยตุง” ยังสำเร็จ เราอยากเป็นเหมือนกับดอยตุง เราต้องพึ่งพามูลนิธิฯ พึ่งพาองค์ความรู้ เราพึ่งพาตัวเองมานานแต่ช่วยตัวเองไม่ได้ เราจึงเปิดใจ อยากให้เขามาช่วยพัฒนาเรา จูงมือผมเดินหน่อยเถอะ ทุกคนมีหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เรามีทีมพี่เลี้ยงมาบูรณาการร่วมกัน เราเข้าถึงได้ ก็หวังว่าสักวันน่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้”

วงเสวนากับผู้ใหญ่บ้านน้ำป้าก(เสื้อสีชมพู)และอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา
วงเสวนากับผู้ใหญ่บ้านน้ำป้าก(เสื้อสีชมพู)และอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา

ผู้ใหญ่บ้านน้ำป้ากเล่าต่อว่าการเริ่มต้นก็ถามชาวบ้าน เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ถามพื้นที่เป็นหลักแต่ละพื้นที่เลือกเองว่าจะเริ่มมิติไหนก่อน เขาต้องการอะไร ทุกคนก็บอกว่าต้องการ “น้ำ” เรามาสำรวจน้ำกัน ทางเดินน้ำ จะใช้ระบบไหน จะเริ่มต้นอย่างไร

“เริ่มสร้างขบวนการคิดก่อน คุยเรื่องอดีต ปัญหา ให้ชาวบ้านเลือก ลงคะแนน ว่าจะเลือกมิติไหน ปีนี้เราจะแก้ไขเรื่องที่ชาวบ้านตกลงกันก่อน ตามลำดับไล่กันไป ก็บอกว่าเรามาทำระบบน้ำ เมื่อมีน้ำ เราจะมีรายได้อื่นๆ มาเสริม ปีหนึ่งเราจะมีรายได้ทุกวัน เชิญชวน ระดมความคิด ถ้าเราทำฝายตัวหนึ่งเราจะคุมพื้นที่ให้น้ำได้เพิ่มกี่ไร่ ทุกคนมีงานทั้งปี ไม่ใช่แค่พืชเชิงเดี่ยว ถ้าเรามีการเลี้ยงหมูเราจะมีรายได้เท่าไหร่ ทำให้เห็นตัวเลขก่อน ก็จะมีแรงจูงใจ พอเขาเข้าใจ ขอให้มีน้ำ เราก็มีเงินใช้หนี้เอง”

เด็กๆ ก็อยากพัฒนาตัวเอง อยากพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ต้องพัฒนาตัวเองให้ทุกคนเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านที่หัวไวใจสู้ เราเป็นตัวตั้งนำศาสตร์พระองค์มาใช้ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะอยู่ๆ มาบอกให้ชาวบ้านทำ เขาไม่ทำแน่การเปลี่ยนความคิดเขายากมาก แต่ดึงกลุ่มให้เปลี่ยน เช่น จากปลูกข้าวโพดอย่างเดียว มาเป็นเกษตรผสมผสาน

สุดท้ายเปลี่ยนได้หลังจากระดมปัญหา หาสาเหตุ และหาทางออก ชาวบ้านเขาบอกว่าไม่ต้องหา “เงิน” มาให้เขา ไม่ต้องมาใช้หนี้ให้ เพียงแต่เอา “น้ำ” มาให้เขา เขามีน้ำ เขาปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ได้

ผู้ใหญ่บ้านน้ำป้ากเล่าต่อว่า “ทุนทางธรรมชาติ ป่าที่เราทำมาด้วยกันทั้งชีวิต เรามีขอบเขตการใช้ป่า นี่เป็นป่าต้นน้ำ นี่เป็นป่าเกษตร มีกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ นี่คือทุนของเรา ทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว หาเปรียบเทียบกับดอยตุง เขามีหลายเผ่า เขายังรวมกันได้ เรามีเผ่าเดียว ก็ง่ายกว่า และเราไม่ต้องขึ้นเขา ขึ้นดอย เราก็สะดวกกว่าเขา ไม่ได้ลำบากกว่าคนดอยตุง และเรายังมีพื้นที่นา เพียงแต่เราไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำ ดังนั้นพอมีศาสตร์อื่นๆ เสริม เราก็พลิกบ้านเราได้ในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้มีรายได้ทั้งปี”

ขณะเดียวกัน ขบวนการจัดการน้ำในพื้นที่ใหม่ ทั้งการสร้างฝายในรูปแบบต่างๆ สามารถแก้ปัญหาภัยพิบัติดินโคลนถล่มเกิดขึ้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และวันนี้ผลผลิตพืชผักของโครงการปิดทองหลังพระ ไม่เพียงพอกับความต้องการของจังหวัดน่าน

นี่คือเฟสแรกของการ”ปลูกคน”ก่อน “ปลูกป่า”ในเฟสต่อไป

  • สร้างวิถีความยั่งยืน คืนผืนป่า 1.1 แสนไร่
  • ความซับซ้อนของภูโกร๋น