ThaiPublica > คอลัมน์ > Mafia State อำนาจเถื่อน อำนาจทุน และอำนาจรัฐ

Mafia State อำนาจเถื่อน อำนาจทุน และอำนาจรัฐ

14 มิถุนายน 2013


Hesse004

ความสลับซับซ้อนของปัญหาคอร์รัปชันนั้นมิใช่มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง หรือพ่อค้านักธุรกิจเป็น “ตัวละคร” เพียงฝ่ายเดียว หากแต่คอร์รัปชันในบริบทของสังคมต่างๆ ยังมีเรื่อง “ผู้มีอิทธิพล” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

เมื่อปี 2546 รัฐบาลคุณทักษิณ เคยประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “มาเฟีย”

นิยามของคำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งด้วยการกระทำด้วยตนเอง หรือใช้ จ้างวาน สนับสนุนการกระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรืออยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งผลของการกระทำนั้นเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนส่วนรวม

หากมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ กลุ่มผู้มีอิทธิพลมักจะหากินกับเรื่องผิดกฎหมาย โดยเมื่อได้เงินจากการกระทำผิดกฎหมายแล้วก็จะนำเงินเหล่านั้นไปฟอกต่อ (Money Laundering) โดยเฉพาะเงินที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า ไปจนถึงคอร์รัปชัน

อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้เป็นผู้ทำให้ “เศรษฐกิจใต้ดิน” ขยายตัวโดยผ่านกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ (ดูกล่องที่ 1 พฤติการณ์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล)

กล่องที่ 1 พฤติการณ์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่สำคัญ ได้แก่

1.1 แก๊งผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
1.2 แก๊งผู้มีอิทธิพลในการฮั้วประมูลและขัดขวางการเสนอ/แข่งขันราคา ในการประมูลงานของทางราชการ
1.3 แก๊งผู้มีอิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์จากคิวรถจักรยานยนต์ และรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมาย
1.4 แก๊งผู้มีอิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์จากโรงงาน ร้านค้า สถานบริการ และสถานประกอบการต่างๆ
1.5 แก๊งผู้มีอิทธิพลลักลอบขนสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน น้ำมันปาล์มเถื่อน บุหรี่/สุราเถื่อน และรับเคลียร์การนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย
1.6 แก๊งผู้มีอิทธิพลลักลอบจัดให้มีบ่อนการพนัน โต๊ะพนันบอล หวยใต้ดิน จับยี่กีตู้เกมไฟฟ้า
1.7 แก๊งผู้มีอิทธิพลลักลอบค้าหญิงและเด็ก บังคับค้าประเวณี โสเภณีเด็ก
1.8 แก๊งผู้มีอิทธิพลลักลอบนำคนเข้า–ออก และอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย
1.9 แก๊งผู้มีอิทธิพลหลอกลวงประชาชนไปทำงานต่างประเทศ
1.10 แก๊งผู้มีอิทธิพลหลอกลวงต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว
1.11 แก๊งผู้มีอิทธิพลมือปืนรับจ้าง
1.12 แก๊งผู้มีอิทธิพลรับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่หรือใช้กำลัง
1.13 แก๊งผู้มีอิทธิพลลักลอบค้าอาวุธ
1.14 แก๊งผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกที่ดินสาธารณะ และหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.15 แก๊งผู้มีอิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์จากการรับเคลียร์หรือคุ้มครองการกระทำผิดบนเส้นทางหลวงและหรือสาธารณะ

ที่มา: กรอบแนวทางการดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล
http://www.mahadthai.com/html/ittipon.htm

อย่างไรก็ตาม ในโลกของ “มาเฟีย” แล้ว ความอยู่รอดของธุรกิจผิดกฎหมายต่างหาก คือ “หัวใจสำคัญ” ดังนั้น เหล่ามาเฟียจึงพยายามวิ่งเข้าหา “อำนาจรัฐ” เพื่อได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง คือ ตีสนิทกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเหล่าขุนทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ สอง คือ ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองทั้งในที่ลับและที่แจ้ง และสาม คือ ปะแป้งแต่งตัวเสียใหม่เพื่อให้ตัวเองก้าวเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านกลไกการเลือกตั้ง ทั้ง “สนามเล็ก” อย่าง การเมืองท้องถิ่น หรือ “สนามใหญ่” อย่างการเมืองระดับชาติ

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กลุ่มผู้มีอิทธิพลในจังหวัดใหญ่ๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จนบางรายสามารถสถาปนาตนเองหรือตระกูลของตัวเองเป็น “ผู้มีบารมี” ในท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี ผู้มีบารมีเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยบารมีอีกชั้นจากข้าราชการในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่า นายอำเภอ ทหาร ตำรวจที่คอยเป็น “เกราะ” คุ้มกันการทำธุรกิจสีเทาๆ1

ในทางกลับกัน บางจังหวัด หากผู้มีบารมีนั้นเข้มแข็งมากๆ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเข้าไป “สวามิภักดิ์” คนเหล่านี้เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในตำแหน่งของตนเอง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ทั้งผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีบารมีกับอำนาจรัฐมีทั้งเป็นแบบ “ขาไปและขากลับ”

“ขาไป” คือ ผู้มีอิทธิพลอาจจะต้องพึ่งพาให้เจ้าหน้าที่รัฐคุ้มครอง แต่เมื่อคนเหล่านี้ปีกกล้าขาแข็งแล้ว “ขากลับ” เจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่จะต้องขอความคุ้มครองจากผู้มีอิทธิพลเหล่านี้

อย่างไรก็ดี คำอธิบายเกี่ยวกับรัฐและผู้มีอิทธิพลที่ดีที่สุด คือ คำอธิบายเรื่อง “รัฐมาเฟีย” หรือ “Mafia State” ซึ่ง Moisés Naím นักคิดระดับแนวหน้าชาวเวเนซุเอลาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

Mafia State เป็นระบบรัฐที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ กองทัพ หรือแม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรม ผูกโยงกับอำนาจเถื่อนของกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่ทั้งสองฝ่ายต่างคอยเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน2

มาเฟียจะอาศัยอำนาจรัฐคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย และยินยอมที่จะจ่ายค่าคุ้มครองหรือผลประโยชน์ให้กับคนของรัฐ โดย “แลก” กับการที่รัฐ “ปิดหูปิดตา” ไม่ดำเนินคดี หรือถ้าจับก็จะจับเพียง “ปลาซิวปลาสร้อย” เพื่อสร้างผลงานเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้บ้าง

Moisés Naím นักคิดคนสำคัญในละตินอเมริกา ผู้สนใจและอธิบายเรื่อง Mafia State ได้อย่างชัดเจนที่สุด ทีมาภาพ : http://www.periodistadigital.com
Moisés Naím นักคิดคนสำคัญในละตินอเมริกา ผู้สนใจและอธิบายเรื่อง Mafia State ได้อย่างชัดเจนที่สุด
ที่มาภาพ: http://www.periodistadigital.com

หากพูดให้ง่ายเข้า Mafia State ก็คือ รัฐนั่นแหละที่ทำตัวเป็น “มาเฟีย” ตัวจริง แต่อาจสวมเสื้อสูทของนักการเมือง สวมเครื่องแบบของกองทัพ ใส่เสื้อคลุมของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือแม้แต่สวมครุยของผู้พิพากษา

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าเมื่อเอ่ยถึง Mafia State ขึ้นมา ดูเหมือนว่า “รัสเซีย” จะเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ของความเป็น Mafia State มากที่สุด โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของนาย Vladimir Putin3

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีหนังสืออย่างน้อย 2 เล่ม ที่กล่าวถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลนาย Putin ว่าเป็น Mafia State จนทำให้รัฐบาลเครมลินถึงกับ “ควันออกหู” เลยทีเดียว

หนังสือเล่มแรกเป็นผลงานของ Luke Harding นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่ตีแผ่พฤติกรรมความเป็นรัฐมาเฟียในยุคของ Putin จนทำให้ Harding ถูกขับออกจากรัสเซีย โดยเขาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในหนังสือชื่อ Mafia State: How One Reporter Became an Enemy of the Brutal New Russia

สำหรับอีกเล่มเป็นของ Marcel Van Herpen ที่เพิ่งออกผลงานล่าสุดในชื่อ Putinism : The Slow rise of a radical right in Russia ซึ่งงานชิ้นนี้ Herpen กล่าวถึงบทบาทของมาเฟียในรัสเซียว่ามีพัฒนาการมาจากเหล่า KGB ที่ “ตกงาน” หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

Herpen พูดถึงการเติบโตของเหล่าทรชนในรัสเซียไว้ว่า หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น มรดกอย่างหนึ่งที่ Gorbachev ทิ้งไว้ คือ “มาเฟียในรัสเซีย” หรือ “Russian Mafiaya” ที่นับจำนวนได้มากกว่า 3,000-4,000 แก๊ง ซึ่ง Herpen ได้ลงลึกไปด้วยว่า เมื่อไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว KGB หรือหน่วยสืบราชการลับอันโด่งดังของรัสเซียก็คือแก๊งมาเฟียดีๆ นี่เอง

Vladimir Putin กับภาพลักษณ์เรื่องความเป็น Mafia State ของรัสเซีย ที่มาภาพ : http://darussophiledotcom.files.wordpress.com/2012/07/guardian-mafia-state.png?w=243&h=300
Vladimir Putin กับภาพลักษณ์เรื่องความเป็น Mafia State ของรัสเซีย ที่มาภาพ: http://darussophiledotcom.files.wordpress.com

คำพูดดังกล่าวของ Herpen ไม่รู้ว่าจะ “รุนแรง” เกินไปหรือเปล่า กับผู้นำที่มากไปด้วยอิทธิพลและเปี่ยมไปด้วย “บารมี” ในรัสเซีย

…และที่สำคัญ Putin เองก็เคยเป็น KGB มาก่อนด้วย!

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากยิ่งนักที่ใครก็ตามคิดจะต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันใน Mafia State

…เพราะทั้ง “อำนาจเถื่อน” และ “อำนาจทุน” ดันไปรวมกันไว้ที่เดียว คือ “อำนาจรัฐ”!!

หมายเหตุ:
1ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมได้ใน รัฐ ทุน เจ้าพ่อท้องถิ่น กับ สังคมไทย อีกหนึ่งงานคลาสสิคของผาสุก พงษ์ไพจิตร และสังศิต พิริยะรังสรรค์
2ผู้สนใจงานของ Moisés Naím โปรดดู Mafia States: Organized Crime Take Office
3 ผู้สนใจเรื่องนี้โปรดดู Putin’s Russia “now a mafia state” http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-17200833