ThaiPublica > เกาะกระแส > IOD เปิดโพลภาคธุรกิจชี้ปัญหา “ทุจริต” รุนแรงขึ้น แบกต้นทุนเพิ่มกว่า 10%

IOD เปิดโพลภาคธุรกิจชี้ปัญหา “ทุจริต” รุนแรงขึ้น แบกต้นทุนเพิ่มกว่า 10%

4 มิถุนายน 2013


สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)จากซ้าย-คุณหญิง ชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทย, ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขานุการและกรรมการ แนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต, และ คุณรพี สุจริตกลุ ที่ปรึกษาโครงการฯ
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)แถลงข่าว จากซ้าย-คุณหญิง ชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทย, ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขานุการและกรรมการ แนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต, และ คุณรพี สุจริตกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมมือกับบริษัท GFK Marketwise ได้จัดทำแบบสำรวจ “ความคิดเห็นของผู้นำในภาคธุรกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย” ซึ่งแบบสำรวจความคิดเห็นนี้ทำในนามของ “โครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption ;CAC)”

โดยส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,066 บริษัท อยู่ในบริษัทจดทะเบียนที่มีคนไทยเป็นผู้มีอำนาจควบคุมและบริหารสูงสุด 52% และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เน้นตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ 56% การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2556

IOD สรุปผลการสำรวจครั้งนี้ว่า 93% ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจ เห็นว่าระดับ “ความรุนแรง” ของปัญหาการทุจริตของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ใน “ระดับสูง-สูงมาก” และอีก 75% ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่า ปัญหาการทุจริตของประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นมีเพิ่มมากขึ้น

โดย 63% ของผู้นำธุรกิจเอกชนระบุว่า ระดับของ “ผลกระทบ” ของการทุจริตต่อการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนอยู่ในระดับค่อนข้างสูงถึงสูงมาก โดยทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ซึ่ง 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้บอกถึงสัดส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มมากกว่า 10% (ดูกราฟข้างล่างประกอบ)

ปัญหาการทุจริตในประเทศไทย

กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจที่ทำแบบสำรวจฯ ส่วนใหญ่ระบุว่า “กระบวนการ” ที่มีโอกาสเกิดการทุจริตมากที่สุดคือ “การจัดซื้อจัดจ้าง” รองลงมาคือการจดทะเบียน ขออนุญาตต่างๆ และการจัดการประมูลโครงการภาครัฐ

ส่วน “รูปแบบ” ของการทุจริตที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดคือ “การใช้ตำแหน่งทางการเมือง” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของตนเอง รองลงมาคือ การให้ของขวัญหรือติดสินบน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการทุจริตมากที่สุดคือ “โทรคมนาคม” รองลงมาคือพลังงานและสาธารณูปโภค

ผลการสำรวจฯ ระบุว่า สาเหตุของการเกิดทุจริตมากที่สุดคือ กฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐสามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้ออำนวยให้สามารถเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก และการมีผลประโยชน์ทางการเมือง

ส่วนผลกระทบที่มีต่อประเทศ ผู้นำทางธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า การทุจริตนั้นส่งผลต่อประเทศไทยมากที่สุดในเรื่องของการลดทอนประสิทธิภาพในการแข่งขันในภูมิภาค ความตกต่ำทางจริยธรรมของสังคม และเป็นชื่อเสียงที่ไม่ดีของประเทศ

หากประเทศไทยไม่มีการทุจริต ผู้นำภาคเอกชนส่วนใหญ่เชื่อว่า จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 50%

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 4 ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับค่อนข้างสูงถึงสูงมากว่าปัญหาทุจริตสามารถแก้ไขได้ โดยกลยุทธ์ที่รัฐควรให้ความสำคัญคือ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุุจริตคอร์รัปชันในระดับมหภาคเพื่อเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริต

“มากกว่า 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,066 บริษัท ซึ่งต่างเป็นบรรดาผู้นำในบริษัทธุรกิจ ต่างแสดงความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของครั้งที่แล้วในปี 2553 มีเพียง ร้อยละ 12 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,007 บริษัท” ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าว

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจฯ ยังพบว่า 73% ของผู้นำภาคเอกชนเห็นว่า ภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของผู้นำภาคธุรกิจที่แสดงความพร้อมจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จากเดิมที่สำรวจเมื่อปี 2553 มีเพียง 69% แต่ในการสำรวจครั้งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 95%

ในขณะเดียวกัน เมื่อถามต่อไปว่า บริษัทได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) หรือไม่ ก็พบว่า จำนวนของผู้นำภาคเอกชนที่แสดงความประสงค์ต้องการเข้าร่วม CAC เพิ่มขึ้นถึง 51% จากเดิมมีเพียง 14% ในการสำรวจเมื่อ 2553

ปัจจุบันมีบริษัทที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์เป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติฯ ทั้งสิ้น 166 บริษัท ซึ่งทุกบริษัทต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกรูปแบบ ในขณะเดียวกัน บริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์แล้วก็จะทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ ตามหลักการของแนวร่วมปฎิบัติฯ ในการที่จะลดความเสี่ยงคอร์รัปชันในระบบของบริษัทตนเอง พร้อมกันนั้นก็สร้างพื้นที่การทำธุรกิจที่ขาวสะอาดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทที่ลงนามประกาศเจตนารมณ์แล้วนั้นยังจะได้รับการฝึกอบรมที่จัดโดย IOD เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการสร้างนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและการวางระบบตรวจสอบให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

โดยบริษัทใดก็ตามที่สามารถปฎิบัติได้ครบถ้วนตามแนวทางที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฎิบัติฯ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมี 4 บริษัทที่ผ่านการรับรอง ได้แก่ บริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ จำกัด, บริษัท เอไอเอ (ประกันชีวิต) จำกัด, บริษัท เอไอเอ (ประกันวินาศภัย) จำกัด และบริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด

ภาคธุรกิจเสนอ 11 ข้อเสนอแนะแก้ปัญหาทุจริต

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยในปี 2013 กับกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจนั้น มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการวางแนวทางเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยภาคธุรกิจเอกชน โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

1. ภาคธุรกิจเอกชนเป็นพลังที่สำคัญที่ผลักดันสำหรับการต่อต้านการคอร์รัปชันของประเทศไทย ภาคธุรกิจเอกชนจึงควรสร้างความต่อเนื่องในการต่อต้านการคอร์รัปชันไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ และศึกษาความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

2. ให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าอะไรคือการทุจริตคอร์รัปชัน สาเหตุของการคอร์รัปชัน และผลกระทบของการคอร์รัปชันที่มีต่อระดับประเทศ ระดับองค์กร และระดับบุคคล

3. สร้างการรับรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกของพนักงานขององค์กร สร้างนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งให้พนักงานมีส่วนในการตรวจสอบ และเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของภาคเอกชน

4. สนับสนุนให้พนักงานมีบทบาทในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันหากมีการพบเห็น

5. หมั่นตรวจสอบกระบวนการทำงานของบริษัท และบังคับใช้กฎต่างๆ หากมีการทุจริตเกิดขึ้น

6. สร้างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

7. การพัฒนาแผนการฝึกอบรมร่วมกันสำหรับภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานที่อาจเกิดการทุจริตได้ง่าย เพื่อการควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตภายในองค์กร เป็นต้น

8. การสื่อสารในแนวทางของการสร้างค่านิยมของการไม่คอร์รัปชัน เห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และให้ผู้ที่ทำการคอร์รัปชันเกิดความละอายต่อสังคม โดยผ่านพลังของสื่อมวลชนและการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ (เช่น การโฆษณา)

9. การผลักดันให้บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการรับรู้ว่ามีการคอร์รัปชันสูงได้มีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการต่อต้านการคอร์รัปชัน

10. การวางนโยบายของผู้บริหารให้การต่อต้านการคอร์รัปชันให้เป็นนโยบายหนึ่งของบริษัท และให้คำปฏิญาณร่วมกันในทุกบริษัทของภาคธุรกิจเอกชน

11. การเชิดชูหน่วยงาน/องค์กรที่มีการปรับปรุง และเผยแพร่ให้องค์กรอื่นๆ ได้รับทราบ