ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าปล่อยให้ใครผูกขาด

อย่าปล่อยให้ใครผูกขาด

19 มิถุนายน 2013


“หางกระดิกหมา”

หากมองจากมุมของพ่อค้าทั้งหลาย ไม่มีอะไรหอมหวานเท่ากับตลาดที่ผูกขาด เพราะในตลาดที่ผูกขาดนั้น พ่อค้าจะผลิตสินค้าห่วยขนาดไหน หรือโก่งราคาสินค้าขึ้นไปแพงเพียงใด ของก็ยังจะขายดิบขายดี ด้วยเหตุที่คนซื้อหนีไปไหนไม่ได้ ไม่อยากซื้อก็ต้องซื้อ หน้าที่ของพ่อค้าจึงเพียงแต่ต้องหาทางเข้าไปเป็นพ่อค้าในตลาดผูกขาดอย่างนี้ให้ได้เท่านั้น เข้าไปได้แล้วก็เป็นเรื่องของการโกยกำไรลูกเดียว

มหากาพย์คอร์รัปชันส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการ “ซื้อโอกาส” เข้าไปเป็นพ่อค้าในตลาดผูกขาดอย่างนี้นี่เอง เจ้าสัวอาจยอมจ่ายเงินให้ผู้มีอำนาจเป็นหลายร้อยล้าน เพียงเพื่อแลกกับการได้เป็นผู้รับสัมปทานให้บริการสาธารณะต่างๆ เช่น ระบบขนส่ง ระบบการสื่อสาร หรือระบบไอที แต่เพียงผู้เดียว เพราะหลังจากนั้นเจ้าสัวก็จะสามารถถอนทุนคืนได้ทั้งหมดจากการ “ฟัน” เอากำไรเอาจากผู้บริโภค โดยไม่ต้องห่วงว่าผู้บริโภคจะหนีไปหาเจ้าที่ถูกกว่าหรือมีบริการดีกว่า เพราะนั่นเป็นเรื่องของตลาดเสรี ไม่ใช่ตลาดผูกขาด

มองในแง่นี้ หากรัฐไม่อยากจะกระตุ้นให้เกิดการคอร์รัปชัน รัฐก็มีแต่จะต้องลดละเลิกกิจการที่มีลักษณะผูกขาดให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งปรากฏว่ารัฐไม่ได้คิดอย่างนี้ และก็ไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดตลาดผูกขาดอย่างไม่จำเป็นเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

ใครที่อยู่ในวงการการเงินคงทราบว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น บรรดาสถาบันการเงินทั้งหลาย ซึ่่งประกอบไปด้วยธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย สหกรณ์ รวมกว่าสามสี่ร้อยรายนั้น มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบธุรกรรมของบรรดาบุคคลซึ่งอยู่ใน “รายชื่อที่เสี่ยงต่อการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย” โดยรายชื่อนี้ ปปง. จะประกาศเป็นระยะๆ ก่อนอนุมัติ

แต่ปัญหาก็คือ เวลา ปปง. ประกาศรายชื่อเหล่านี้ ปปง. ไม่ได้บอกก่อน แล้วก็ไม่ได้เอารายชื่อทั้งหมดขึ้นอินเทอร์เน็ตให้สถาบันการเงินดึงข้อมูลไปได้ง่ายๆ ทั้งที่ตามกฎหมาย เมื่อประกาศรายชื่อใหม่แล้ว บรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายมีหน้าที่จะต้องอัพเดตฐานข้อมูลของตัวเอง เพื่อให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรายชื่อที่ประกาศใหม่ให้ได้ภายในหนึ่งวัน ช้ากว่านั้นก็จะมีความผิด ดังนั้น ทุกวันนี้สถาบันการเงินจึงมีทางเลือกอยู่แค่สองทางเท่านั้น

หนึ่ง คือ ทำหนังสือเข้าไปขอรายชื่อจาก ปปง. เป็นกระดาษทุกวันๆ เพื่อเอามาพิมพ์เข้าระบบไปอัพเดตฐานข้อมูลของตัวเองแบบยุคหิน ซึ่งรับรองได้ว่าจะไม่มีทางเอามาตรวจอะไรทันภายในหนึ่งวัน

สอง คือ ไปซื้อบริการฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะคอยอัพเดตฐานข้อมูลของสถาบันการเงินให้ตรงกับรายชื่อใหม่ที่ ปปง. ประกาศได้โดยอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ เพียงแต่บริการที่ว่านี้จะซื้อได้ก็เฉพาะจากบริษัทที่ ปปง. ให้สิทธิไว้เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น และก็ต้องเสียค่าบริการให้กับบริษัทที่ว่าเป็นเงินสามแสนห้าหมื่นบาทต่อปี

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบที่สองนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า เพียงแต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น นี่คือตัวอย่างของการที่รัฐไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดตลาดผูกขาดอย่างไม่จำเป็นชัดๆ ทีเดียว กล่าวคือ ในเมื่อ ปปง. ให้สิทธิอยู่เพียงบริษัทเดียวในการเป็นผู้ให้บริการระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ท่ามกลางสภาวะที่การจะได้มาซึ่งรายชื่อโดยวิธีอื่นนั้นทำได้ช้าและยุ่งยาก มิหนำซ้ำยังมีกฎหมายบังคับให้สถาบันการเงินต้องอัพเดตรายชื่อให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันเร่งด่วนเพียงหนึ่งวันนั้น ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องไปใช้บริการบริษัทที่ ปปง. ให้สิทธิอยู่แห่งเดียวอย่างไม่มีทางเลือก

โดยผลที่ตามมาก็คือ บริษัทที่ว่าจะได้ทำธุรกิจอยู่ในตลาดที่ผูกขาดและสถาบันการเงินจะต้องยอมจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทนี้รวมกันปีละเป็นร้อยกว่าล้าน (ค่าบริการคูณด้วยจำนวนสถาบันการเงิน) เพื่อแลกกับระบบฐานข้อมูลซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้นทุนไม่สูงสักเท่าไร ทั้งที่ความจริง หาก ปปง. เปิดโอกาสให้มีบริษัทอื่นเป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลด้วยอีกสักสี่ห้าเจ้า ราคาอาจจะถูกกว่านี้ อย่างที่มีคนในวงการแอบกระซิบมาว่า ถ้ามีผู้ให้บริการแข่งกันจริงๆ ราคาน่าจะตกอยู่แค่ปีละสามหมื่นเท่านั้น

ทั้งนี้ หากมีคนถามว่าสถาบันการเงินต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นแล้วมันหนักอะไรใคร ก็ต้องตอบว่าหนักทุกคน เพราะสถาบันการเงินย่อมไม่แบกต้นทุนนี้ไว้เอง หากแต่จะนำไปเฉลี่ยคิดเป็นค่าธุรกรรมที่สูงขึ้น และเมื่อต้นทุนธุรกรรมสูง อะไรอื่นๆ ที่ตามมาในระบบเศรษฐกิจก็ต้องสูงขึ้นตามไปทั้งหมด นับว่าเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ และทำให้ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขัน จะกล่าวกันถึงขนาดที่ว่าข้าวยากหมากแพงและขายของแพ้ประเทศอื่นเพราะ ปปง. ให้บริษัทเดียวผูกขาดการให้บริการระบบข้อมูลก็ยังไม่ถึงกับผิดความจริง

ซ้ำร้าย ในเมื่อบริษัท ก. ได้กำไรสูงมากจากการผูกขาด ไม่ว่า ปปง. จะบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ก็ต้องมีคนอดนึกอกุศลไม่ได้ว่าเงินกำไรนั้น บริษัทก็คงกันส่วนหนึ่งเอาไปจ่ายใต้โต๊ะผู้ใหญ่ใน ปปง. ที่เป็นผู้อนุมัติให้บริษัทตนเป็นผู้ให้บริการระบบฐานข้อมูลแต่เพียงผู้เดียวอีกต่างหาก

ซึ่งนั่นคงเป็นสิ่งสุดท้ายที่องค์กรอันเป็นองคาพยพสำคัญในการต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่าง ปปง. จะอยากได้ยิน

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2556

หมายเหตุ : หลังการตีพิมพ์บทความ ทาง”ปาลิดา เทียนพลกรัง” ผู้อำนวยการส่วนสื่อสารองค์กร สำนักงาน ปปง.ได้ทำหนังสือเรียน บรรณาธิการข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 หัวข้อข่าว คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ อย่าปล่อยให้ใครผูกขาดนั้น สำนักงาน ปปง. ขอให้ข้อมูลในประเด็นตามที่นำเสนอข่าวรายละเอียดปรากฏตาม เอกสารที่แนบมาพร้อมนี้