ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา

กลวิธี (โกง) ของเด็กไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอเมริกา

27 พฤษภาคม 2013


สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเรียนภาษาช่วงสั้นระหว่างปิดเทอม หรือการเรียนต่อในระดับปริญญา ซึ่งมหาวิทยาลัยที่คนส่วนใหญ่อยากเข้าเรียนนั้นย่อมเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีชื่อเสียง หรืออยู่ในกลุ่มไอวีลีก (Ivy League)

Ivy League ที่มาภาพ :  http://4.bp.blogspot.com
Ivy League ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com

มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มไอวีลีก ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University), มหาวิทยาลัยเยล (Yale University), มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania), มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University), มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University), วิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth Collage) และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University)

นอกจากนี้ก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกานอกกลุ่มไอวีลีกที่ได้รับความนิยม เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University), มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago), สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT-Massachusetts Institute of Technology), มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University), มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University), มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University), วิทยาลัยเวลส์เล่ย์ (Wellesley College) ฯลฯ

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของบุคคลที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาเหล่านี้ประกอบด้วย 1. มีผลการเรียนในระดับดีมาก คือ เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.00 หรือใกล้เคียง 2.มีผลการสอบความถนัดทางการเรียน (SAT : Scholastic Assessment Test ข้อสอบ SAT นั้นทดสอบความสามารถในการใช้เหตุผลเช่นเดียวกับข้อสอบความถนัดทั่วไปที่จัดสอบโดย สทศ.) 3.มีครู 2 คนเขียนแนะนำผู้สมัครเรียนไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยแบ่งเป็นครูที่สอนวิชาสายวิทย์-คณิต 1 คน และสอนสายสังคม 1 คน 4. ผู้สมัครเรียนต้องเขียนเรียงความเกี่ยวกับตนเอง และ 5. หากผู้สมัครเรียนมีความสามารถพิเศษก็แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบเพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้คัดเลือกเข้าเรียน ซึ่งความสามารถพิเศษนั้นจะเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องอยู่ในระดับดีเยี่ยม เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ, เล่นกอล์ฟในระดับเทิร์นโปร, มีผลงานทางวิชาการหรือสิ่งประดิษฐ์ในระดับชาติหรือโลก ฯลฯ

กลวิธีที่ผู้สมัครทำเพื่อให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้ ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นของเอกชนที่มีเงินกองทุนขนาดใหญ่มาก สามารถให้ทุนเรียนฟรีแก่นักศึกษาได้ไม่จำกัด แต่ถ้าจะจ่ายก็ต้องมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้เกณฑ์การรับนักศึกษาเข้าของมหาวิยาลัยชั้นนำในอเมริกา ไม่ได้วัดตามระดับผลการสอบทั่วประเทศอย่างแอดมิดชั่นของไทย เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แต่สิ่งที่พิจารณานอกจากระดับผลการเรียนที่จบมาแล้ว คือ ความสามารถพิเศษของผู้สมัคร ว่าจะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้อาจจะไม่ใช่คนที่มีคะแนนสอบหรือผลการเรียนสูงที่สุด แต่เป็นคนที่เหมาะสมและมหาวิทยาลัยต้องการมากที่สุด

วิธีการหรือกลวิธีหนึ่งของผู้สมัครเรียนจากเมืองไทย คือ การเข้าไปสมัครเรียนต่อต่างประเทศกับสถาบันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถเรียนต่อต่างประเทศในมหาวิทยาชื่อดังที่ต้องการได้ โดยบริษัทเหล่านั้นอาจการันตีด้วยนักเรียนปีก่อนหน้าที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ และได้ทุนเรียนฟรีของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

สิ่งที่ทางบริษัทหรือสถาบันเหล่านี้ทำให้นักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาได้คือ ทำเอกสารการสมัครเรียนแทนนักเรียน รวมถึงการโกงสอบ SAT ด้วย โดย

1. การสอบ SAT แม้ว่าการสอบนี้จะสอบวันเดียวกันทั่วโลก แต่เวลาของประเทศในโลกต่างกัน ดังนั้นหลายๆ คน หลายๆ สถาบันจึงใช้ความต่างของช่วงเวลาในแต่ละประเทศขโมยข้อสอบออกมาจากห้องสอบ เช่น อเมริกาสอบก่อน ก็จ้างคนไปเอาข้อสอบมาเผยแพร่ให้กับประเทศนิวซีแลนด์หรือออสเตรเลียที่สอบที่หลัง หรือบางคนใช้วิธีจ้างคนสอบแทน

2. การเขียนแนะนำจากครู 2 คน เอกสารนี้ทางสถาบันที่รับจ้างสมัครเรียนต่อต่างประเทศจะเป็นคนเขียนเอกสารนี้ให้ผู้สมัครเอง ไม่ได้มาจากผู้สมัครไปให้ครูในโรงเรียนที่จบการศึกษามาเขียนให้

3. เรียงความของผู้สมัคร ผู้สมัครไม่ได้เขียนด้วยตนเอง แต่ทางสถาบันหรือบริษัทเป็นคนเขียนให้ทั้งหมด โดยที่เป็นเรื่องแต่งที่อาจไม่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครเลย และหลายครั้งทางสถาบันหรือบริษัทใช้เรื่องเดียวกัน แต่เอามาเรียบเรียงใหม่ให้กับเด็กในสถาบันคนอื่นๆ ที่สมัครเรียนต่างมหาวิทยาลัยกัน

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ จากการสอบถามสถาบันชื่อดังรายหนึ่ง ระบุว่าจะต้องสมัครเผื่อไว้ 3 มหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายในการสมัครมหาวิทยาลัยแห่งละ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ

เมื่อนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จะดูว่าผู้ปกครองของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนนั้นสามารถจ่ายค่าเรียนได้หรือไม่จาก finance aid ของผู้ปกครอง ซึ่งนักศึกษากว่าครึ่งของมหาวิทยาลัยมักจะได้ทุนเรียนฟรีอยู่แล้ว เนื่องจากฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดี

ที่มาภาพ : http://news.brown.edu/files/article_images
ที่มาภาพ : http://news.brown.edu/files/article_images

แหล่งข่าวในแวดวงศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กที่มีฐานะดีก็ใช้วิธีนี้เพื่อให้ได้ทุนเรียนฟรี โดยเด็กไทยหลายๆ คนของสถาบันที่ใช้กลวิธีนี้ได้รับทุนด้วย ลองคิดว่าว่าถ้าไม่ใช่ครอบครัวคนรวย เป็นไปไม่ได้ที่ครอบครัวของนักเรียนที่มีเงินจ่ายค่าสมัครเรียนให้สถาบันอย่างน้อย 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800,000 บาท จะเป็นครอบครัวยากจน แต่สิ่งที่ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ทุนจากมหาวิทยาลัย เป็นเพราะสถาบันดังกล่าวปลอมเอกสารภาษี (tax documents) ของผู้ปกครองให้แสดงรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง และเหตุผลอื่นๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับทุน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าจากการได้พูดคุยกับผู้อำนวยการของโรงเรียนนานาชาติในไทยแห่งหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าเขาได้คุยกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้บอกว่าการโกงด้วยวิธีการนี้เกิดขึ้นมากที่สุดในนักเรียนจีน รองลงมาคือนักเรียนไทย ในขณะที่นักเรียนในอเมริกาจะไม่ทำเลย

สำหรับนักเรียนของไทยที่สมัครเรียนต่อต่างประเทศผ่านสถาบันรับจ้างสมัครเรียนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในโรงเรียนชั้นนำของไทย โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนนานาชาติ หรือก็คือกลุ่มนักเรียนหัวกะทิของประเทศไทยนั่นเองที่”โกง” การสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ซึ่งโรงเรียนบางแห่งก็ทราบการโกงนี้และส่งจดหมายห้ามปรามผู้ปกครอง แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเป็นความสมัครใจของผู้ปกครองที่ยอมจ่ายแพงเพื่อโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน

ด้านไอวีลีกทุกแห่งรับทราบกลการโกงนี้จากศิษย์เก่า board of trustee รวม 14 คน (บางคนเรียน 2 มหาวิทยาลัย) คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 5 คน มหาวิทยาลัยเยล 1 คน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 3 คน มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน 1 คน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย 3 คน มหาวิทยาลัยบราวน์ 3 คน วิทยาลัยดาร์ตมัธ 1 คน และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ 3 คน

เกือบทุกแห่งมีจดหมายตอบกลับมารับทราบ ยกเว้นมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน, มหาวิทยาลัยบราวน์ และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เพิกเฉยโดยไม่ตอบจดหมายกลับมา ส่วนมหาวิทยาลัยโคลัมเบียตอบกลับมาแบบปัดความรับผิดชอบ ส่วนมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยทัฟส์ ทราบเรื่องและเรียกนักศึกษาที่โกงเข้ามหาวิทยาลัยมาคุยแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังคงนิ่งเฉยแม้ว่าจะทราบเรื่องดังกล่าวดี

เรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นความละเลยของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ขาดความเข้มงวดในการพิจารณาเอกสารรับเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย กลายเป็นช่องว่างให้คนรวยใช้เงินแย่งชิงโอกาสทางการศึกษาของคนอื่น และทำให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาที่เหมาะสมไม่จริงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของตนเอง รวมถึงการเพิกเฉยของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่สนใจว่านักศึกษาของตนโกงเข้ามา ขอให้มีคนต่างเชื้อชาติมาเรียนครบตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดก็พอ

แหล่งข่าวจากศิษย์เก่าข้างต้นรายหนึ่งระบุว่า”สาเหตุที่ออกมาเปิดเผยเรื่่องนี้เพราะ ขบวนการนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยโกงตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตแล้วว่าจะเป็นอย่างไร จึงต้องการที่จะให้มหาวิทยาลัยชื่อดังเหล่านี้รับทราบและปรับวิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนให้เข้มงวดมากขึ้น”