ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อนุ กมธ.กังขาระบบการคลังปิโตรเลียม แนะกระทรวงพลังงานปรับสูตรสัมปทาน

อนุ กมธ.กังขาระบบการคลังปิโตรเลียม แนะกระทรวงพลังงานปรับสูตรสัมปทาน

5 พฤษภาคม 2013


ที่มาภาพ:http://papundits.files.wordpress.com
ที่มาภาพ: http://papundits.files.wordpress.com

เงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท เป็นเงินรายได้ของรัฐในปี 2554 ที่ได้จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม

แม้จะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่จริงแล้ว รัฐควรที่จะได้รับค่าตอบแทนในฐานะเจ้าของทรัพยากรเป็นจำนวนที่มากกว่านี้หรือไม่

ด้วยเพราะเงิน 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 32.4 เปอร์เซ็นต์ จาก 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด

ส่วนที่เหลือกว่า 2.8 แสนล้านบาท เป็นของบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน

เมื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม พบว่า ในปี 2554 รัฐสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงเป็นเงิน 51,044 ล้านบาท จากมูลค่าปิโตรเลียมทั้งสิ้น 421,627 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.1 เปอร์เซ็นต์

ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มีนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ส.ว.สรรหา เป็นประธานอนุ กมธ. จึงได้มีการพิจารณาเรื่อง “ระบบการคลังปิโตรเลียมของประเทศไทย”

จากการเข้าให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญระบบปิโตรเลียมของไทย อนุกมธ. มีความเห็นว่า รายได้จากค่าภาคหลวงจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นการดำเนินการในส่วนนี้ควรที่จะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติควรจะได้รับ

สำหรับข้อสังเกตที่น่าสนใจที่อนุ กมธ. ด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ตั้งขึ้นเพื่อประกอบการตรวจสอบระบบการคลังปิโตรเลียมของประเทศไทย มีดังนี้

1. ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เหตุใดเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบางแห่งจึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

2. ก่อนจะมีการเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 จะสามารถปรับระบบการคลังปิโตรเลียมให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ และหากดำเนินการเช่นนั้นแล้วไม่มีผู้ใดสนใจเข้าทำการประมูล จะให้ ปตท. เข้าทำการสำรวจได้หรือไม่

3. ราคาปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปริมาณสำรอง เพราะราคาปิโตรเลียมที่สูงขึ้นจะทำให้โครงสร้างกักเก็บปิโตรเลียมซึ่งไม่สามารถพัฒนาเพื่อการผลิตได้ในครั้งแรกเพราะไม่คุ้มทุน กลับกลายเป็นแหล่งที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการวางแผนนโยบายพลังงาน

แต่ข้อมูลที่ได้รับรายงานแจ้งว่า ประเทศไทยไม่เคยเจาะสำรวจปริมาณสำรองแหล่งพลังงานเลยจริงหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ปริมาณสำรองสามชนิด คือ P1-Proved reserve, P2-Probable reserve และ P3-Possible reserve ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวอ้างไว้ในรายงานประจำปีนั้นใครเป็นผู้จัดทำขึ้นและเชื่อถือได้เพียงใด

4. ตามรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ประเทศไทยสามารถจัดการปิโตรเลียมได้เฉลี่ยต่อวันจำนวน 861,787 บาร์เรล คิดเป็นร้อยละ 44 ของความต้องการขั้นต้นของประเทศ (1.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แยกเป็นน้ำมันดิบร้อยละ 37 หรือจำนวน 688,200 บาร์เรล แต่ประเทศไทยผลิตได้เพียงวันละ 150,315 บาร์เรลต่อวัน จำเป็นต้องนำเข้าอีกบางส่วนเป็นจำนวน 799,080 บาร์เรล ทำให้เกินความต้องการไปวันละ 261,115 บาร์เรล

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดต้องนำเข้าน้ำมันดิบเกินความต้องการไปเกือบร้อยละ 14 ซึ่งทำให้เสียดุลการค้าและทำให้ระบบผลประโยชน์ต่างๆ เช่น ราคา ภาษี และผลกำไร บิดเบือนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และหากกำลังการผลิตของโรงกลั่นมีความสามารถกลั่นได้สูงกว่าความต้องการในประเทศ ทำไมไม่รับจ้างกลั่นให้บริษัทในต่างประเทศ นอกจากนี้ การนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นแล้วส่งออกไปทำให้ระบบราคาบิดเบือนไปเช่นไร มีผลกำไรเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่

5. การที่ระบบราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ประกอบด้วยต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ ค่าภาษี และค่าการตลาด มีราคาที่สูงกว่าราคาของประเทศเพื่อนบ้านนั้น เนื่องมาจากประเทศไทยใช้ราคาวัตถุดิบที่อิงกับราคาตลาดสิงคโปร์หรือไม่ และเมื่อเข้า AEC แล้วจะมีการดำเนินการการอย่างไรกับราคาที่แตกต่างกับของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการบิดเบือนของราคาขายปลีกในท้องตลาด

การประชุมคณะอนุกมธ.ด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ที่มีนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน
การประชุมคณะอนุกมธ.ด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ที่มีนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน

6. การนำเข้าน้ำมันดิบวันละกว่า 2 แสนบาร์เรล นำเข้าในราคาใด เมื่อกลั่นเสร็จแล้วส่งออกไปใช้ราคาใด ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับน้ำมันที่ขายในประเทศหรือไม่

7. ทำไมราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศไทยจึงต้องอิงราคาสิงคโปร์ ทั้งที่สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนไม่มีประเทศใดอิงราคาสิงคโปร์เลย

8. หากไม่ใช้ราคาน้ำมันดิบอิงตลาดสิงคโปร์ และยังมีระบบภาษีเช่นปัจจุบัน คาดว่าราคาขายปลีกในท้องตลาดจะเป็นเท่าใด มีระดับราคาใกล้เคียงกับราคาของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

9. ทำไมปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ บริษัทพลังงานจึงมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยอดขายลดลง

10. การนำทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยขึ้นมาใช้ภายใต้ระบบการคลังปิโตรเลียมที่มีส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก รัฐบาลควรพัฒนาระบบการคลังปิโตรเลียมใหม่ก่อนการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ ทดแทนการกู้เงินมาใช้

11. ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษใน Thailand III ที่อ้างว่ามีความยืดหยุ่นเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นนั้นมีลักษณะยืดหยุ่นอย่างไร เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ที่มีราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แล้วเพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับปัจจุบันที่บาร์เรลละเกือบ 100 เหรียญสหรัฐฯ นั้น ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษยังอยู่ในระดับ 1.025 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ไม่เพิ่มในอัตราที่พึงจะเป็น ทั้งๆ ที่อัตรากำหนดไว้ในอัตราก้าวหน้าจาก 0-15 เปอร์เซ็นต์ของกำไรส่วนเกิน และเหตุใดการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษมีช่วงเก็บที่กว้างมาก คือ ร้อยละ 0-75 ของกำไรปิโตรเลียมประจำปีรายแปลงสำรวจ

12. กำไรสุทธิของบริษัทน้ำมันที่นำมาเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้รับการตรวจสอบเช่นไร ในส่วนที่เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกับราคาน้ำมันดิบที่สูบขึ้นจากปากหลุมหรือการนำเข้า และค่าใช้จ่ายที่ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำมันขึ้นมาถึงปากหลุมของประเทศไทยอยู่ในระดับราคา 8.16 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับของยุโรปที่อยู่ในระดับ 17.55 เหรียญสหรัฐฯ บริษัทน้ำมันเหล่านี้เป็นบริษัทต่างชาติ อาจเอาค่าใช้จ่ายของยุโรปมาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิก็ได้

13. กฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมได้มีการบัญญัติและใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว น่าจะได้มีการทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันให้มากขึ้นหรือไม่

14. กระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ในการสำรองและการใช้ปิโตรเลียมของประเทศไทยไว้หรือไม่ และคณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงานมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวหรือไม่

15. บทบาทของกรรมการภาครัฐที่เข้าไปร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างไร และมีการพิจารณาถึงผลประโยชน์ของรัฐมากกว่าผลประโยชน์ขององค์กรหรือไม่

16. การปรับและการแก้ไขสัญญาสัมปทานจะสามารถทำได้หรือไม่ หากสถานการณ์ทางด้านปิโตรเลียมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยข้อสังเกตดังกล่าว คณะอนุ กมธ. จะนำเสนอข้อมูลต่อ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 วุฒิสภา ที่จะมีการตั้งขึ้นในอีกไม่นานนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ กมธ. ใช้ในการสอบถามหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการของบประมาณปีถัดไป