ThaiPublica > คนในข่าว > “ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับความไม่พร้อมกำจัด “ขยะพิษ” ของประเทศไทย

“ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับความไม่พร้อมกำจัด “ขยะพิษ” ของประเทศไทย

29 พฤษภาคม 2013


“ขยะ” กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เมื่อผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงได้เห็นข่าวการทิ้ง “ขยะพิษ” เรี่ยราดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่ประชาชนยอมให้ทิ้งเพราะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ เมื่อถึงเวลาก็ออกมาร้องเรียนให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบโดยใช้เงินภาษีประชาชนไปบำบัด และบางพื้นที่ก็เป็นการลักลอบทิ้งจริงๆ

ณ วันนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยดูจะเป็นพื้นที่เป้าหมายที่นำขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมไปทิ้ง กลายเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องเข้าไปบำบัด เยียวยา และฟื้นฟู โดยใช้เงินภาษีประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตขยะกับผู้รับจ้างจัดการขยะกลับลอยตัว

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “เปิด 40 พื้นที่ขยะพิษภาคตะวันออก ปัญหา “อันตราย” ของคนไทย” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของการที่พื้นที่ภาคตะวันออกกลายเป็นที่ทิ้งขยะพิษโดยปราศจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ

ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ในเรื่องนี้ ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมคนใหม่ ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

ไทยพับลิก้า: กรมโรงงานจะจัดการยังไงกับปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสีย-กากอุตสาหกรรม

ตามข้อมูลที่เราได้รับแจ้ง กากของเสียมีด้วยกันสองประเภท คือ กากของเสียอันตรายและกากของเสียไม่อันตราย กากของเสียอันตรายมีประมาณ 2.8 ล้านตัน กากของเสียไม่อันตรายมีประมาณ 42 ล้านตัน ตัวเลขนี้คือผู้ประกอบการแจ้งขอนำออกจากโรงงาน แต่ที่น่าสงสัยก็คือว่า สิ่งที่นำออกจริงน้อยสิ่งที่เคยขอเอาไว้มาก ยกตัวอย่างเช่น กากของเสียอันตราย แจ้งไว้ 2.8 ล้านตัน แต่นำออกจริงตามที่มีใบกำกับการขนออกนอกโรงงานประมาณ 1 ล้านตัน ในขณะที่กากของเสียไม่อันตรายมี 42 ล้านตัน มีใบกำกับการขนออกนอกโรงงานเพียง 12 ล้านตัน คำถามก็คือว่า แล้วที่เหลือหายไปไหน ในเมื่อตอนที่โรงงานแจ้งขอออกจากโรงงานแจ้งไว้ในปริมาณที่เยอะ แล้วแจ้งไว้เยอะเพื่ออะไร ก็เลยเกิดประเด็นตรงนี้ขึ้นมา

กรมโรงงานเลยลงพื้นที่ตรวจสอบ ก็พบการลักลอบทิ้ง โดยเฉพาะพวกกากของเสียอันตรายทั้งหลาย ส่วนกากของเสียไม่อันตรายตอนนี้ยังไม่ไปโฟกัสเท่าไหร่ เพราะมันยังนำไปใช้ประโยชน์เป็นรูปแบบอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น เศษไม้ เศษวัชพืช และเศษอะไรทั้งหลาย ก็เอาไปผสมเป็นปุ๋ยและนำไปทิ้งได้ ไม่มีผลกระทบอะไรต่อน้ำใต้ดินหรือคุณภาพของดินให้มันเปลี่ยนแปลงไป กากของเสียไม่อันตรายถึงแม้จะหายไปจากระบบเยอะแต่ดูแล้วไม่น่าห่วงเมื่อเทียบกับตัวกากของเสียอันตราย

ส่วนกากของเสียอันตรายหายไป 1.8 ล้านตัน ปกติมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดตั้งแต่ 1,000 บาท จนถึง 10,000 บาทต่อตัน โดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อตัน จะเห็นได้ว่ามีเม็ดเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจกากอุตสาหกรรมหายไปประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท

เพราะฉะนั้นก็มีตรรกะของมันที่เป็นไปได้ว่า ผู้รับบำบัดอาจจะมีการนำกากของเสียเหล่านั้นไปลักลอบทิ้ง หรือโรงงานที่เป็นผู้สร้างของเสียอันตรายเหล่านั้นอาจจะไม่จ้างผู้รับบำบัด เพราะว่าเงินค่าบำบัดนี้คือต้นทุนที่แพงขึ้น ฉะนั้น วันนี้กรมโรงงานก็พยายามที่จะเข้มงวดเรื่องกากอุตสาหกรรมที่หายไปจากระบบ หายไปอยู่ที่ไหน แล้วใครเป็นผู้กระทำผิด

ลงพื้นที่ปราจีน1

ตัวอย่างที่ลงพื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่จังหวัดปราจีนบุรี พบสิ่งที่เราเรียกว่าตะกรันจากการหลอมอลูมิเนียม (dross) เอาไปลักลอบทิ้งพื้นที่กลางป่า เนื่องจากเมื่อตะกรันเจอกับความร้อนหรือน้ำก็จะกลายเป็นแอมโมเนีย มีผลต่อระบบหายใจ ชาวบ้านก็ร้องเรียนขึ้นมา นายก อบต. ก็เข้าไปตรวจสอบและก็แจ้งความดำเนินคดี ในขณะเดียวกัน กรมโรงงานก็ไปสืบหาต้นต่อว่าเป็นกากของเสียมาจากที่ไหน ก็พบว่าส่วนใหญ่ก็จะมาจากจังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมเอาไปทิ้งที่จังหวัดปราจีนบุรี เพราะปลายทางสุดท้ายเท่าที่เราเช็คมานั้นบ่อบำบัดอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว แต่ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมไปทิ้งไกลถึงขนาดนั้นทั้งที่บ่อบำบัดฝังกลบอยู่ที่จังหวัดราชบุรีก็มี หรือบ่อฝังกลบที่จังหวัดสระบุรีก็มี ก็เป็นเรื่องที่กำลังสืบสวนและตั้งข้อสังเกตว่ามีการรับชื้อกากของเสียในราคาถูกแล้วแอบไปลักลอบทิ้งหรือเปล่า เพราะว่าโดยตรรกะแล้วไม่น่าจะไปทิ้งไกลถึงขนาดนั้น ก็เป็นเรื่องที่ประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI สืบหาว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ถ้าพบการกระทำผิดในแต่ละครั้งจะปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการในลักษณะที่จะบังคับใช้กฏหมายให้เข้มงวดมากขึ้น ผู้กระทำผิดมีได้ทั้งโรงงานที่เป็นผู้สร้างกากของเสีย (waste generation) และผู้รับช่วงขนส่งกากของเสียไปทิ้งยังโรงบำบัด หรืออาจเป็นโรงงานผู้รับบำบัดเองเอาไปทิ้ง หากตรวจสอบพบก็จะดำเนินคดีกับทุกคนรวมถึงเจ้าของที่ดินที่มีกากอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งด้วย วันนี้ก็จะมีการเข้มงวดเชิงกฏหมายมากขึ้นกว่าในอดีตที่มีการปล่อยปละละเลย

ไทยพับลิก้า: ตัวเลขกากอันตรายที่หายไป 1 ล้านกว่าตัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่งรู้หรืออย่างไร

ผมเข้ามาทำงานเมื่อสองเดือนที่แล้ว ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นข่าว เรื่องเกี่ยวกับการลักลอบไปทิ้งที่นั่นที่นี่และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เห็นค่อนข้างจะบ่อย เลยเอาตัวเลขมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น พบว่ามีการขอเป็นล็อตโควตาการส่งกากของเสียออกจากโรงงานไว้ แต่พอดูใบขนย้ายกลับไม่ถึงตัวเลขที่ขอไว้ ก็เป็นเรื่องน่าแปลกว่าทำไมใบขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมไม่ถึงที่ขอ ก็แสดงว่ามันมีการลักลอบกันเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าระบบของใบกำกับการขนส่งหรือใบขนส่ง (manifest) ที่ใช้กำกับการขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรม ต้องมีการกรอกตั้งแต่ต้นทางคือโรงงานที่สร้างกากของเสีย ก็ติดไปกับรถขนส่งแล้วก็ไปส่งยังโรงรับบำบัดที่ปลายทาง มีการเช็คน้ำหนักว่ารับมาเท่าไหร่ ส่งไปบำบัดเท่าไหร่ คือระบบก็ดูเหมือนว่ามันน่าจะดี แต่ในแง่ปฏิบัติแล้วยังมีช่องโหว่อยู่ ที่จะต้องมาหาวิธีการแก้ไขปรับปรุง เพราะว่าวันนี้ก็เป็นไปได้ทุกอย่างก็คือ ผู้สร้างกากก็ไม่ออกใบกำกับการขนส่ง หรือผู้รับกากของเสียสร้างใบกำกับการขนส่งขึ้นเอง อ้างว่ามีการรับกากจากตรงนี้ไปแล้ว พอกระทบยอดแล้วไม่ตรงเลยเป็นประเด็นขึ้นมา

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว

คิดว่าเรื่องของการลักลอบทิ้งน่าจะมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบแล้วดำเนินการอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่ามีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีการลักลอบทิ้งที่นั่นที่นี่กันอยู่บ่อยๆ มาโดยตลอด เมื่อก่อนอาจจะเป็นบ่อในเมืองที่คนทั่วไปไม่ค่อยโวยวายเท่าไหร่ แต่หลังๆ ก็เริ่มหลบเข้าไปอยู่ในป่าลึกแล้ว อย่างที่จังหวัดปราจีนบุรีนี่เข้าไปลึกมากจากถนนใหญ่ เหมือนกับแอบไปซื้อที่ดินไกลๆ ที่ซ่อนเอาไว้อยู่ข้างในลึกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบ่อดินบ่อลูกรัง ก็เหมือนขุดดินขายเสร็จรับกากของเสียถมได้ตังค์ด้วย บ่อก็เต็มอีกต่างหาก ซึ่งก็จะเกิดผลกระทบในเรื่องของกลิ่น น้ำเสีย คุณภาพดิน

ไทยพับลิก้า : ปัญหานี้ถือเป็นความรับผิดชอบของกรมโรงงานโดยเฉพาะ

ในเรื่องกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นความรับผิดชอบของกรมโรงงานโดยตรง แต่วันนี้ ในกระบวนการควบคุม สิ่งที่กรมโรงงานควบคุมได้คือโรงงานต้นทางและโรงงานปลายทางในอำนาจของกรมโรงงานเอง แต่ที่ลักลอบทิ้งระหว่างทางเราคงไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมรถที่ลักลอบทิ้ง ยกเว้นแต่ว่าเราพิสูจน์ได้ว่ารถคันนั้นบรรทุกวัตถุอันตรายหรือของเสียอันตราย ซึ่งถ้ากรมโรงงานเรียกตำรวจไปจับกุม ก็ต้องมีการพิสูจน์อีกว่าอะไรมันอยู่ในรถกันแน่ ต้องส่งไปวิเคราะห์อีก ก็จะเป็นกระบวนการที่มันไม่เกิดการดำเนินการอย่างทันทีเฉียบพลัน ถ้าปล่อยอย่างนี้ไปก็พบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไปเรื่อยๆ ผมก็เลยเข้าไปหารือกับอธิบดี DSI ว่าอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีค่อนข้างจะจำกัด เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องใช้อำนาจในเชิงของการปกครองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เอา DSI เข้ามาช่วยจับกุมผู้กระทำผิดด้วย

ไทยพับลิก้า : สามารถแก้กฎกระทรวงได้หรือไม่

ในการที่จะควบคุมนั้น ทุกวันนี้ก็เป็นประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้พวกนี้ลักลอบกันได้อยู่ เช่น บางโรงงานก็บอกว่าแจ้งตัวเลขเผื่อไว้ แต่ขนออกจริงแค่นี้ ซึ่งดูแล้วมันไม่สมเหตุสมผล เพราะ “เผื่อ” เยอะเหลือเกิน

ไทยพับลิก้า : กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคนให้ใบอนุญาต แล้วทำไม่ถึงกำกับไม่ได้ เช่น สั่งปิดโรงงาน

ในเรื่องของการกำกับ ถามว่าวันนี้ถ้าเกิดว่าเขาลักลอบทิ้ง มันก็ต้องพิสูจน์อีกว่าเขาลักลอบหรือเปล่า คือวันนี้ถ้ากรมโรงงานไปพบกากอุตสาหกรรมอยู่ที่หนึ่ง ก็บอกยากว่าเป็นของบริษัทไหน เราไม่รู้หรอกว่ามาจากที่ไหน ยกเว้นแต่ว่ามันอาจมีฉลากของบริษัทติดอยู่ให้เห็นชัดเจนว่ามันมาจากบริษัทไหน แต่ถ้าไปถามบริษัท เขาก็ว่าให้ผู้บำบัดเขาไปดำเนินการแล้ว ผู้บำบัดก็บอกว่าให้รถขนเป็นคนดำเนินการแล้ว ก็จะโบ้ยกันไปโบ้ยกันมาเพื่อให้พ้นผิด กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ลงโทษได้เฉพาะโรงงาน ถ้าเขากระทำผิด มันก็เป็นเรื่องของกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนอีกใช่ไหม ซึ่งมันไม่จบง่ายๆ มีช่องทางในการหลีกเลี่ยง เราก็เลยมาดูว่ามีกฏหมายอื่นที่จะเข้ามาจัดการกับพวกนี้ได้เด็ดขาดกว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : แล้วมีกระบวนการอื่นไหม

อันนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ กำลังคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าเราสามารถ RFID (Radio Frequency Identification) ตัวถังที่ขนกากตั้งแต่ต้นทาง เครื่องอ่านที่ปลายทางจะไม่อ่าน ถ้าตัว RFID นั้นถูกเปิด ก็เป็นเรื่องที่กำลังดูอยู่ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะบังคับให้ผู้ประกอบการติดอุปกรณ์ตัวนี้ได้ไหม ต้องกลับไปดูอำนาจของกรมว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน

ไทยพับลิก้า : เรื่องการจัดการของเสีย กรมโรงงานอุตสาหกรรมใส่ไว้ในเงื่อนไขเวลาขอใบอนุญาตตั้งโรงงานได้หรือไม่

สำหรับรายใหม่ก็พอใส่ได้ แต่สำหรับรายเก่าที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว กรมโรงงานจะไปออกระเบียบย้อนหลังไปบังคับผู้ประกอบการได้หรือเปล่า หรือภายใต้อำนาจของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ให้อำนาจในการที่เราจะกำหนดให้ผู้ขน หรือกำหนดให้ผู้สร้างกากอุตสาหกรรมขึ้นมาปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างนี้ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ดี ในเรื่องนี้เราก็กำลังศึกษาในเชิงกฏหมายอยู่

ไทยพับลิก้า : กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องทราบว่าแต่ละจังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทไหนอยู่บ้าง รู้ว่าวัตถุดิบที่นำเข้า-ออกว่ามีอะไรบ้าง เวลาพบกากอุตสาหกรรมจะไม่รู้เลยหรือว่ามาจากพื้นที่ไหน โรงงานอะไร

โรงงานแต่ละจังหวัดมันเยอะมาก เวลาที่เขาขนกากออกไปเนี่ย ถามว่ารู้ไหม ถ้าไปดูก็รู้ว่าเขามีกากอะไรออกมาบ้าง แต่ปัญหาก็คือวันนี้เราไปพบกากกองปนปนกันอยู่ เราไม่มีวันรู้หรอกว่ามันมาจากไหน เพราะมันปนกัน อย่างที่บอกว่าถ้าไม่มียี่ห้อบริษัทเราไม่มีวันรู้ จะบอกว่าโรงงานนี้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้าก็มีตั้งไม่รู้กี่โรง แล้วเราก็จะไปบอกว่าเขาเป็นคนทำก็ไม่ได้อีก ต้องมีกระบวนการพิสูจน์อีกว่าเป็นของใคร คือถ้าไปดูจากกองขยะหรือกองทิ้งเนี่ยไม่มีวันรู้หรอก เพราะฉะนั้นก็ต้องดูจากเอกสารว่ามีการขนไหม มีการกรอกใบอนุญาตขอขนย้ายออกไหม ซึ่งอันนี้ต้องบอกว่าในเชิงของการสืบสวนสอบสวน กรมโรงงานฯ เองก็ไม่ค่อยจะชำนาญ เลยต้องให้ DSI เข้ามาสืบว่ามันหายไปไหน

ทาง DSI ก็แยกหน่วยขึ้นมาเฉพาะดูในเรื่องของกากของเสียอุตสาหกรรม คือต้องจับให้ดูเป็นตัวอย่าง ถ้าจับแล้วลงโทษอย่างจริงจัง ผมคิดว่าคนก็กลัวที่จะกระทำผิด เพราะว่าโดนจับไปก็ไม่คุ้ม

ไทยพับลิก้า : เท่ากับว่ากรมโรงงานฯ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าจะแก้ปัญหาจากต้นทาง กรมโรงงานฯ จะทำยังไง

คือระบบ RFID ที่ว่าก็เป็นระบบที่ดี ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เราจะมีอำนาจบังคับให้เขาติดระบบนี้หรือเปล่า เพราะว่าจะมีต้นทุนข้อมูลที่เกิดขึ้นในทุกครั้งที่ส่งออกไป ถ้าเราบังคับได้ตรงนั้นผมคิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าการลักลอบจะยากขึ้นกว่าเดิม วันนี้เราคุยกันว่าติดระบบ GPS ไหม แต่ว่าคนไทยฉลาดกว่านั้น ติด GPS ไปก็ปิดเครื่องได้ ก็ตามไม่เจอแล้ว

ไทยพับลิก้า : ถ้าปิดก็ผิดเงื่อนไข

ก็บอกว่า GPSเสีย รับสัญญาณไม่ได้ เราไม่มีวันรู้เลยไง เขาก็อ้างว่าตรงนี้ไม่มีสัญญาณ ระบบสื่อสารขัดข้อง เราไม่มีวันรู้ จริงๆ แล้วในระเบียบเองก็มีบอกว่าให้มีการติดตั้งระบบตรงนี้ แต่วันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องของงบประมาณที่ไม่ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการเรื่องนี้

ไทยพับลิก้า : ต้องใช้งบฯ เท่าไหร่

คงหลายสิบล้านเหมือนกัน เราบังคับให้เขาติด GPS ตรงรถขนส่ง เราบังคับได้ แต่วันนี้จริงๆ แล้วอาจจะใช้ระบบมอนิเตอร์ของกรมขนก็ส่งได้ ไม่ได้ซีเรียสมากเท่าไหร่นัก ทางทีมงานเขาก็ดูแล้วว่าถ้าเกิดเขาปิดเครื่อง GPS แล้วก็บอกสัญญาณไม่มี แล้วมันจะแก้ปัญหาอะไรได้ แต่มันก็อาจจะเอามาประกอบกัน ซึ่งอาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

RFID อย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่ารถวิ่งเข้าโรงงานไปสแกนเรียบร้อยให้ข้อมูลเข้าระบบ เสร็จแล้วก็วิ่งออกมาเอาไปทิ้งก็ทำได้ อย่างเช่น ผมรับกากของเสียจากสมุทรสาครมาแล้ววิ่งไปโรงงานบำบัดที่สระแก้ว ผมก็วิ่งไปสแกนข้อมูลที่สระแก้ว เสร็จแล้วก็วิ่งออกมาเอากากของเสียมาทิ้งที่ปราจีนก็ทำได้นะ แต่ระบบนี้ก็น่าทำ เพราะว่าต้นทุนในการที่เขาจะลักลอบก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้ต้นทุนการลักลอบสูงขึ้น อาจจะทำให้ไม่กล้าเสี่ยงลักลอบทิ้ง มันอาจจะต้องทำระบบนี้คู่กับ GPS หรือเปล่า เราอาจจะต้องดูว่าการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งมันจะใช้เวลาเท่าไหร่ แต่พวกนี้เดี๋ยวก็มีข้ออ้างเรื่องรถติดนั่นนี่อีก เราก็คงต้องดูดีดีว่าถ้าจะสร้างระบบใหม่ขึ้นมาต้องทำยังไง

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ไทยพับลิก้า : โมเดลต่างประเทศเขาทำยังไง

ผมว่าต่างประเทศอยู่ที่จรรยาบรรณของคน คือถ้าผู้รับบำบัดมีความซื่อสัตย์ หรือเจ้าของโรงงานมีความซื่อสัตย์มีจริยธรรม มันก็คงไม่เกิดการลักลอบทิ้งมากมายขนาดนี้ ถามว่าประเทศเมืองอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลี พวกนี้หลายๆ แห่ง โดยเฉพาะสารเคมีอันตรายเขาไม่ผังกลบหรอก เขาให้เอาไปเผา เราก็เลยคิดว่าจะของบประมาณในการสร้างเตาเผา ซึ่งที่ผ่านมาทั้งประเทศเรามีเตาเผาถูกกฎหมายที่เผาวัตถุอันตรายได้มีแห่งเดียว ที่บริษัทอัคคีปราการ อยู่ที่นิคมบางปู

ไทยพับลิก้า : รองรับได้เท่าไหร่

รองรับได้ 100 ตันต่อวัน แต่ขยะอันตรายมีเป็นหลายแสนตัน เราก็จะขอสร้างอีกสัก 5 โรงเผา ของบประมาณอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศไปแล้ว ปีนี้ได้งบมาศึกษาผลก่อน ว่าจะสร้างที่ไหน รูปแบบการลงทุนจะเป็นอย่างไร เพราะงบประมาณเตาหนึ่ง 2,000 ล้านบาท หรือจะให้เอกชนมาลงทุนได้ไหม จะมีกฎหมายอะไรมาบังคับให้ผู้ประกอบการต้องส่งเตาเผา ก็ต้องออกระเบียบมารองรับ คือถ้าทำได้ก็ดี เพราะว่าเผาเสร็จก็หมดไม่ต้องไปเดือดร้อนใคร ก็เป็นรูปแบบที่คิดว่าน่าจะทำ อย่างใน ญี่ปุ่น เกาหลี เขาไม่ทำหลุมฝังกลบกันเพราะว่าพื้นที่จำกัด แต่ถามว่าประเทศเพื่อนบ้านเราทำยังไง ทุกวันนี้ก็คงทำเหมือนประเทศไทย อาจจะมีโรงบำบัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการน้อยมาก น้อยกว่าเราด้วยซ้ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมประเทศเขามันยังไม่ใหญ่มาก เขาก็อาจะมีกระบวนการทิ้งบ่ออะไรก็ได้ สมัยก่อนใครจะไปคิดว่าของเสียจากโรงงานไปไหน เราก็ไม่เคยจะพูดถึง โอเค อันไหนเป็นเศษซากที่รีไซเคิลได้ก็ขายให้ซาเล้ง แล้วเศษที่เหลือจากซาเล้งไปไหน ก็ทิ้งให้เทศบาล เทศบาลก็เอาไปทิ้งบ่อขยะเทศบาล ซึ่งมันไม่ได้ การดูแลกากของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายมันต้องมีวิธีที่จะจัดการ เพราะไม่เช่นนั้นมันจะเกิดผลกระทบ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้โรงบำบัดเพียงพอต่อกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นหรือไม่

จริงๆ แล้วไม่พอ ขยะอันตราย 2.8 ล้านตัน ตอนนี้มีบ่อฝังกลบอยู่ 15 แห่ง เป็นบ่อฝังกลบของเสียอันตรายอยู่ 3 แห่ง GENCO ที่ราชบุรี PROWASTE ที่สระแก้ว BETTER ที่สระบุรี

บ่อฝังกลบกากสินค้าอันตราย รับของได้ มี PROWASTE 50,000 ตัน, GENCO ได้ 130,000 ตัน, BETTER มี 600,000 ตัน ในส่วนของ PROWASTE ก็มีส่วนขยาย ถ้าเกิดเต็มก็ขยาย ขยายไป แต่อย่าลืมว่ามuขยะอันตรายประมาณ 2 ล้านตัน นี่ไม่เพียงพอแน่นอน ได้รวมกัน 620 ตัน/วัน

วันนี้ GENCO ก็บ่นบอกว่า ผมมีที่เหลือ แต่ทำไมไม่เห็นมีใครมาส่งผมเลย เพราะว่า GENCO คิดแพง เนื่องจาก GENCO เป็นโรงงานคู่สัญญากับกระทรวง เขาก็ต้องมีหน่วยงานจากข้างนอกมาคอยกำกับ ว่าตกลงแล้วสารนี้ต้องบำบัดด้วยวิธีใด ต้องให้หน่วยงานที่คอยกำกับโอเค และต้องคอยติดตามดูแลตลอด ส่วนที่อื่นเราก็ปล่อยเขาไป เราก็สงสัยว่าพวกที่เราปล่อยทั้งหลายมีการลักลอบทิ้งหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ต่อไปเงื่อนไขของผู้ขอใบประกอบการโรงงานต้องมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ถ้าหากจะต้องปรับกฏเกณฑ์

วันนี้เราก็ดูค่อนข้างจะเข้มงวดมากขึ้นนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ว่ามันมีผลกระทบต่อชุมชนมากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขที่เราจะบังคับเขาได้โดยที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็คือในเรื่องของระบบ ที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น แต่กากของเสีย เราไปบังคับเขาไม่ได้ ว่าไม่ให้มีกากของเสียออกจากโรงงาน

ไทยพับลิก้า : แต่กรมโรงงานฯรู้

ปกติแล้วต้องแจ้งปริมาณมาว่ามีกากออกไปเท่าไหร่ เราก็ทำได้แค่ควบคุมกำกับให้กากอุตสาหกรรมนั้นไปในที่ที่มันจะไป แล้วได้รับการบำบัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่เราจะทำได้ แต่เราก็พยายามรณรงค์ให้เขาทำ คือไม่ได้บังคับ แต่รณรงค์ให้อย่าไปทิ้ง ของดีทั้งนั้น WASTE นี่คือของดีทั้งนั้น เราก็พยายามรณรงค์อย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการรีไชเคิลเนี่ย วันนี้มันมีโรงงานรับของจากโรงงานอุตสาหกรรมเยอะมาก การกำกับดูแลในวันนี้จะต้องไปดูแลโรงรีไซเคิลให้เยอะ เพราะว่าคุณดึงเอาของดีไปหมดแล้ว ไอ้ที่มันเหลือจากสิ่งที่คุณขายได้เนี่ยเอาไปทิ้งที่ไหน

ไทยพับลิก้า : โรงรีไซเคิลก็ต้องขออนุญาตกับกรมโรงงานอุตสหกรรมด้วยหรือเปล่า

ต้องมาขอ แต่ทีนี้คือเราจะกำกับดูแลให้เข้มงวดเราก็ต้องกำกับดูแลพวกนี้ พวกรับบำบัด รีไซเคิล วันนี้พยาพยามส่งเจ้าหน้าที่ไปดูทุกโรงงานว่าเขาได้ทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ ในบ้างครั้งผมคิดว่ายังมีการตรวจสอบที่ไม่ลงลึก คือตอนเราไปตรวจอาจจะถูกต้อง มีเอกสารแสดงให้ดู แต่เวลาปฏิบัติมันจะอีกแบบหนึ่งหรือไม่ เหมือนกับโรงงานหลายๆ โรงที่ว่าเวลาที่เราส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจก็เปิดระบบบำบัด เปิดอะไรอย่างดี ดูแล้วไม่มีกลิ่น น้ำเสียไม่มี แต่พอเรากลับมันก็ไม่เปิด อย่างนี้มันก็เป็นประเด็นปัญหาเหมือนกัน ซึ่งวันนี้เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจ เราเรียกว่าฝ่ายโรงงานประจำอยู่แต่ละจังหวัดก็จะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมจังหวัด เขาจะเป็นคนดูแล แต่เจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดก็มีน้อย 2-3 คน เต็มที่ 5 คน ก็ดูแลโรงงานไม่ทั่วถึง เราก็อยากสร้างเครือข่ายไปยังชุมชน ถ้าเกิดเจอเรื่องที่ลักลอบทิ้ง มีการปล่อยน้ำเสียก็ให้แจ้งมา ซึ่งวันนี้กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่จังหวัดก็ตรวจของเขาไป แต่พอโดนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ส่วนกลางก็ออกไปตรวจสอบเรื่องราวเหล่านั้น มันก็เป็นการครอสเช็คกันอีกที เพราะเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเขาจะขึ้นตรงกับสำนักงานปลัด

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อกระบวนการกำจัดกากพิษแต่ละที่ไม่เพียงพอ ถ้ามีใครมาขอใบอนุญาต กรมโรงงานจำเป็นต้องอนุมัติโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มอีกไหม ในเมื่อเห็นว่ากากพวกนี้มันมีปัญหาอยู่

วันนี้เราก็จะอนุมัติโรงงานพวกนี้ แต่ก็อย่างที่เรียนไปว่า ถ้าจะอนุมัติมันต้องเป็นโรงงานที่โอเคนะ ยิ่งอนุมัติไปเยอะๆ แล้วปฏิบัติตัวไม่ดีก็เท่ากับว่าเราไปสร้างแหล่งปัญหาใหม่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้โรงงานที่มาขอทำรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่า ถ้ารีไซเคิลเสร็จ คุณดูแลจัดการดีจริงหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : จำนวนโรงงานบำบัดและรีไซเคิลตอนนี้เท่าไหร่

ประเภท 101 มี 146 โรงงาน, ประเภท 105 มี 1,458 โรงงาน และประเภท 106 มี 658 โรงงาน

ไทยพับลิก้า : กากอุตสาหกรรมอันตราย 2.8 ล้านตันต่อปี รวมตัวเลขนำเข้าด้วยหรือไม่

วันนี้ขยะนำเข้ามักจะไม่ค่อยอนุญาตให้นำเข้ามา ถ้านำเข้ามาแล้วมีการทิ้งกากในประเทศ จะมีบางกรณีที่เราให้นำเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าๆ ของบริษัทบางราย เขาก็บอกว่าเอามารีไซเคิล แยกส่วนเสร็จก็ส่งออกกลับไป คือไม่ได้มาทิ้งในบ้านเรา โดยมากแล้วจะไม่อนุญาตถ้าเอามาทิ้งกากในไทย ก็จะมีประเด็นเช่น ยางล้อรถยนต์ ไม่นานมานี้กระทรวงพาณิชย์ก็อนุญาตให้นำเข้ามา แต่เงื่อนไขก็คือให้เอามาหล่อดอกนะ จริงๆ แค่นี้ขยะก็เต็มเมืองแล้วนะ

นอกจากนี้ก็จะมีสนธิสัญญาต่างประเทศที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายกาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกากอันตราย ต้องขออนุญาตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ระหว่างทางก็ต้องขออนุญาตด้วย เขาเรียกว่าอนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention) เท่าที่เห็นมาไม่น่าจะมีกี่ราย ถ้ามีก็คือรับมารีไซเคิล เสร็จแล้วก็ต้องเอากากส่งออกออกไป เราจะไม่มีนโยบายทิ้งกากในประเทศ ยกเว้นเขาลักลอบ

ไทยพับลิก้า : แล้วการลักลอบมายังไง

หมายถึงว่า ถ้าเขาเอาเข้ามารีไซเคิลแล้ว เหลือแต่โครงแล้วก็ไม่เอาออก เพราะเอาออกจะแพง เลยเอากากไปขโมยทิ้ง ก็ต้องไปสืบสวนจับกุมอีก ถ้ารู้ เราก็ปิด ทั้งหมดนี้มันคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย มันเหมือนกับตำรวจจับผู้ร้าย ทุกวันนี้ก็ยังมีขโมยอยู่ ตำรวจก็ต้องไล่จับไปเรื่อยๆ โรงงานดีๆ ก็มี แต่โรงงานไม่ดีก็มี เหมือนผู้ร้ายที่ผมต้องไปนั่งไล่จับเขา

ไทยพับลิก้า : JTEPA นำเข้าได้หรือไม่

กรณี JTEPA
ถึงแม้จะอยู่ในกรอบเขตการค้าเสรีอะไรก็ตาม โดยเฉพาะของอันตราย ต้องมีการขออนุญาต ต้องอยู่ถายใต้บาเซิล เรามีสิทธิไม่รับได้ ต่อให้คุณมีข้อตกลงการค้าเสรีกันแล้วเราก็มีสิทธิไม่รับได้ ส่วนใหญ่เราจะไม่รับถ้ามีการทิ้งกากในประเทศ เว้นแต่กระบวนการของคุณพิสูจน์ได้ว่ากากของคุณใช้หมด

ไทยพับลิก้า : ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มาบไผ่ กรมโรงงานฯ จะจัดการยังไง

ที่มาบไผ่นี่เป็นปัญหา คือชาวบ้านขุดบ่อแล้วเอาเข้ามาทิ้งเนี่ย วันนี้กรมโรงงานเข้าไปแล้วก็เอาปูนขาวเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อน หลังจากนี้ถามว่าคนรับผิดชอบคือใคร จริงๆ เจ้าของที่ดินต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะว่าวันนี้ถือว่าคุณมีการครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ที่เขาประเมินราคามันเยอะมาก 60 กว่าล้าน ซึ่งนี่เหละคือปัญหาว่าสุดท้ายใครจะจ่ายค่าบำบัด ตามกฎหมายแล้วเจ้าของที่ต้องรับผิดชอบ แต่วันนี้เจ้าของที่เขาก็บอกว่าไม่รู้ มีคนมาลักลอบทิ้ง แต่จริงๆ แล้วไปดูพื้นที่พบว่าเตรียมสร้างรั้วกั้นปิดอย่างเรียบร้อยเลย

เพราะฉะนั้นจะมีการพิสูจน์ในเชิงคดีอยู่แล้วว่าตกลงคุณมีเจตนารมณ์ในการลักลอบทิ้งหรือเปล่า ซึ่งอย่างเคสที่ฉะเชิงเทรามีอยู่สองกรณี คือ อยู่ที่หนองแหนและอีกที่ ปรากฏว่าพอไปถึงที่ชั้นศาลก็พบว่าเจ้าของที่ยอมรับไปเอง แต่ที่เราเป็นห่วงมากคือเจ้าของที่ดินรู้เห็นด้วย แล้วเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย มันก็จะมีกรณีแบบนี้เป็นกรณีตัวอย่างอีก และมีอีกเยอะเลยที่แอบไปลักลอบ เจ้าของที่ดินก็ได้เงินจากคนที่เอาขยะมาทิ้ง เสร็จแล้วพอจะบำบัดรัฐก็ออกให้อีก วันนี้ก็ต้องไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ผิด ก็จะบำบัดให้

บ่อขยะที่มาบไผ่

ไทยพับลิก้า : ขั้นตอนต่อไปเป็นยังไง

ต้องพิสูจน์กัน เราต้องส่งฟ้องดำเนินคดี และสุดท้ายเจ้าของที่เขาจะรับไม่รับ ถ้ารับก็พิสูจน์ออกมาสิว่าไม่รู้ ก็ต้องว่ากันไป หาคนทำผิดให้ได้ ที่มาบไผ่ประมาณ 3 ไร่ ถมไปแล้วประมาณ 5 เมตร มีกากประมาณ 20,000 คิว ค่าบำบัดประมาณ 60 กว่าล้าน ถ้าถมเต็มบ่อนี้ลึกประมาณ 20 เมตร จะจุได้ประมาณ 100,000 ตัน

ไทยพับลิก้า : แล้วพื้นที่รอบข้างละเป็นยังไง

ชาวบ้านก็ร้องไป อบต. แต่นี่ชาวบ้านทำอะไรอยู่ ไม่รู้เลยเหรอว่าเขาขนกันมาทุกวันอย่างนี้ ไม่ใช่วันสองวันนะ บ่อนี้ประมาณ 8 เดือน ขนประมาณ 4 เดือน น่าจะมีไฟไหม้เกิดขึ้นประมาณต้นเดือนมกราคมแล้ว แล้วบ่อนี้ขนมาประมาณ 4-5 เดือน

ไทยพับลิก้า : แล้วถ้าเจ้าของที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีเงินจ่าย ใครจะบำบัด

คือวันนี้เราแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน โดยการเอาปูนขาวไปโรย ผลกระทบที่มีกลิ่นกับชาวบ้านก็น่าจะบรรเทาลงไปได้ ปูนขาวก็ไม่ใช่จังหวัดหามานะ กรมโรงงานฯ ไปขอมา ไปขอของฟรีมา เราก็ไม่มีเงินที่จะไปบำบัดของพวกนี้หรอก เพราะเราก็ไม่คิดว่าจะมีเรื่องนี้ วันนี้เรารู้ว่าใครผิดก็ต้องเป็นคนจ่ายเงิน ไม่ใช่ให้หลวงจ่าย

ไทยพับลิก้า : ในประเด็นเรื่องการลักลอบทิ้ง ถ้าหาคนกระทำผิดไม่ได้ หน่วยงานไหนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

คนรับผิดชอบจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานราชการที่จะโยนกันไปโยนกันมาเลย วันนี้มันเป็นเรื่องของการสืบสวนเชิงคดีมากกว่า ว่าตกลงแล้วของที่มาทิ้งเจ้าของที่ดินรู้เรื่องไหม ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของที่รับรู้ เจ้าของที่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเจ้าของที่ไม่รู้ ปฏิเสธ บอกว่าไม่รู้เรื่องเลย แล้วหน่วยงานไหนล่ะที่รับผิดชอบเป็นผู้ไปบำบัด เพราะรัฐไม่มีหน้าที่ที่จะมาจ่ายของพวกนี้ มันเป็นหน้าที่ของโรงงานที่เขาให้โรงบำบัดไปบำบัดแล้ว มันก็เป็นประเด็นที่จะตั้งคำถามว่าแล้วจะทำยังไง เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าถ้าเกิดเขารู้นะว่าผมตั้งงบประมาณมาบำบัดนะ อีกหน่อยก็ทิ้งกันใหญ่เลย ก็แค่บอกว่าไม่รู้ สุดท้ายเดี๋ยวรัฐก็จ่ายตังค์เอง อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง

ไทยพับลิก้า : แล้วอย่างนี้ใครเป็นคนนำสืบตั้งแต่แรก

ตำรวจต้องไปเค้นเจ้าของที่ดิน อย่างกรมโรงงานฯ ไปเค้นเขาไม่กลัวหรอก อย่างตำรวจเขาจะมีการสืบสานสอบสวน อย่างที่เล่าให้ฟัง เคสหนองแหน หรือเคสที่ปราจีนบุรี สุดท้ายขึ้นศาลก็ยอม พอจะดำเนินคดีก็ยอมจ่าย เพราะกลัวติดคุก เหมือนผีไม่เห็นป่าช้าแล้วไม่กลัว

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้พบการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมกี่แห่ง

สวนใหญ่จะกระจัดกระจาย พื้นที่ไหนมีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะๆ ก็จะมีภาคตะวันออก ภาคกลางก็จะมีสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ลักลอบทิ้งกันทั้งนั้น วันก่อนไปสมุทรสาครมันทิ้งกันหลังโรงงานเลย พอถามว่าอันนี้ของใคร เขาตอบไม่รู้ครับ ไม่ใช่ของผม ก็ต้องไปไล่แจ้งความดำเนินคดีเจ้าของที่อีก

ไทยพับลิก้า : แต่ละแห่งที่มีการลอบทิ้งใช้เวลาเท่าไหร่ในการสืบสวนคดี

คือกระบวนการอย่างนี้ต้องทำตามกฏหมาย พอถึงชั้นศาลนะ เขาก็จะยอมรับเอง ใช้เวลาแต่ละคดีประมาณ 2 ปี หนองแหนกว่า 2 ปี ถึงจะยอมรับ กระบวนการตอนสืบสวนสอบสวนมันช้า ที่มาบไผ่อยู่ที่กระบวนการการสืบสวนสอบสวน คือถ้ารู้ว่าเจ้าของที่รู้เห็นยอมรับก็จบ แต่มันจะช้าตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน จะทำยังไงให้รู้ว่าเจ้าของที่เขารับรู้ ไม่ใช่คุณขยิบตาบอกว่า เฮ้ย มามา พอทิ้งเสร็จเก็บตังค์ใส่กระเป๋า แต่พอถึงเวลาก็ให้รัฐบำบัด พอมีคนโวยมารัฐก็ต้องไปบำบัดอีก

แต่ถ้าไม่มีคนโวยมา พอใกล้ๆ เต็มบ่อก็เอาดินมากลบ ใครจะไปรู้ ใครจะไปขุดที่ดินดูล่ะเมื่อเจ้าของที่ไม่ให้เข้า และมันก็นั่นเลย น้ำใต้ดินไม่ต้องไปกิน และดินก็ไม่ต้องไปปลูกอะไรมันแล้ว

ไทยพับลิก้า : ได้ยินมาว่ามีมาเฟียทำเป็นธุรกิจ เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรบ้าง

คืออย่างนี้นะ พวกนี้ถ้าไม่มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือไม่รู้จักเจ้าของพื้นที่ อยู่ดีดีจะขับรถเข้าไปทิ้ง เอาอะไรไปทิ้งในบ่อข้างๆ บ้าน โดยที่เจ้าของพื้นที่เขาไม่อนุญาตมันเป็นไปไม่ได้ วันนี้มันน่าจะมีกลุ่มขบวนการที่น่าจะมีผู้มีอิทธิพลหน่อยเข้ามาเกี่ยวข้อง

ไทยพับลิก้า : วันนี้มีการสอบสวนเอาผิดใครหรือไม่

ผมว่าทางเจ้าหน้าที่เราเองก็ไม่ได้ระมัดระวังเรื่องพวกนี้ และก็ไม่ได้ดูแลเรื่องพวกนี้เป็นกรณีพิเศษ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ขอก็อาจจะเยอะกว่าขนย้ายจริงก็เป็นไปได้ เพราะบางทีเขาก็ขอเกินเอาไว้ ขอเผื่อเอาไว้

ไทยพับลิก้า : ก็น่าจะรู้ว่าแต่ละโรงงานเอาของเข้าเท่าไหร่ออกมาเท่าไหร่

จริงๆ แล้วของเข้าของออกเราคำนวณได้ แต่ก็ที่ว่าเรื่องข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ เราก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ลงไปคำนวณแต่ละโรงงาน โรงงานที่มาขออนุญาตกับเรามีประมาณ 75,000 โรง เราก็ไม่มีปัญญาที่จะทำขนาดนั้น อาจจะมีการจ้างใครสักคนหนึ่งมาคำนวณดูนะว่ากากที่มันมีจริงแต่ละโรงงานมีเท่าไหร่ เพราะบางทีการดูจากเอกสารตรงนี้ไม่ได้ เนื่องจากเวลาที่เขายื่นขอแจ้ง ณ วันนั้นกับที่เขากระทำจริงมันอาจจะไม่เหมือน คงต้องไปดูของจริงที่โรงงานว่ามีอะไรบ้าง อย่าลืมว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันอาจจะไม่เหลือเลยก็ได้ เราก็ไม่มีวันรู้ วันนี้เรารู้แค่ว่าสิ่งที่เขาแจ้งมาเท่านี้ อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องลงลึกไปมากกว่าเดิม ก็คงต้องปรับ ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ก็คงไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ถ้าเป็นอย่างนี้เมืองไทยกลายเป็นเมืองไม่น่าอยู่เลย

เมืองไทยน่าอยู่ถ้าเราจัดการมันได้อย่างดี อันนี้คือปราบปรามป้องปรามเพื่อให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันกรมโรงงานเองก็ส่งเสริมให้มีการนำเอากากของเสียไปใช้ประโยชน์ ในโครงการที่เราเรียกว่า 3 R: Redue-Reuse-Recycle แต่ถ้าให้ดีที่สุดนี่คุณต้องทำให้ไม่มีกากออกมาจากโรงงานคุณ ถ้าทำได้นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่เราอยากเห็นอย่างนั้น ซึ่งหลายๆ โรงงานวันนี้ก็เข้าร่วมโครงการกับเรา ถ้าเราทำอย่างนั้นได้จริง ผมคิดว่าชุมชนก็อยู่ได้อย่างมีความสุข โรงงานกับชุมชนตั้งอยู่ติดกันเลยก็ได้ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปกลัว ไม่มีน้ำทิ้งที่เป็นมลพิษ ไม่มีกากของเสีย คือถามว่าในอนาคตโรงงานต้องลงทุนมากขึ้น ไม่ใช่บอกว่าถึงเวลาก็สนใจเฉพาะกระบวนการผลิตเป็นสินค้ามาเสร็จ จบแล้วไม่มีการลงทุนเพื่อไปดูแลกาก มันไม่ได้ใช่ไหม คุณก็ต้องดูแลกาก เพราะการดูแลกากนั้นมันก็ทำให้ผลกระทบที่มีต่อชุมชนลดลง

ไทยพับลิก้า : แล้ววันนี้จะทำยังไงให้คนตระหนักเรื่องนี้

วันนี้ถ้าเกิดมีเบาะแสก็ให้รีบแจ้งจะดีที่สุด อย่างที่ปราจีนบุรีนะ ถ้าไม่แจ้งนี่เป็นบ่อที่ทิ้งอย่างดี คือเขาขุดดินไปขายเรียบร้อยแล้ว มีแบคโฮมาเตรียมกลบเกลี่ยเรียบร้อยเลย เขาเตรียมแล้ว ถ้าบ่อนี้เต็มได้เป็นแสนตัน แล้วก็เอาดินกลบไป เราก็ไม่มีวันรู้

ตอนนี้เรามีสายด่วน 1564 ถ้าเกิดประชาชนรู้เบาะแสก็แจ้งมา เราก็จะรีบดำเนินการ