ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เสียงเอกฉันท์ลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ – “กิตติรัตน์” ไม่พอใจ บ่น “น้อยไป-ช้าไป”

กนง. เสียงเอกฉันท์ลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ – “กิตติรัตน์” ไม่พอใจ บ่น “น้อยไป-ช้าไป”

29 พฤษภาคม 2013


กนง. ถกเครียด 2 วัน มีมติเสียงเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% เป็น 2.50% เนื่องจากความเสี่ยงด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” โต้ทันที “น้อยไป-ช้าไป”

เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้เวลาในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย 2 วัน ติดต่อกัน และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือลดลงจาก 2.75% เป็น 2.5% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ย 2.75% มาตั้งแต่ ต.ค. 2555 โดย กนง. ให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ในแถลงการณ์ผลการประชุม กนง. 28-29 พ.ค. 2556 ว่า

“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที”

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุม กนง. ว่า เหตุผลที่มีการประชุม 2 วัน เนื่องจากประธาน กนง. พิจารณาเห็นว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและประเด็นที่พิจารณามีมาก จึงต้องการให้กรรมการมีเวลาเต็มที่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% นายไพบูลย์กล่าวว่า กนง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยพิจารณาแนวโน้มข้างหน้าเป็นหลัก และพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการรองรับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะข้างหน้า โดยขณะนี้ กนง. มองว่า อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน และภาวการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อขณะนี้มีแรงกดดันลดลง จึงมีพื้นที่พอที่ กนง. จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“ความเสี่ยงของการชะลอลงของการบริโภค การใช้จ่ายของเอกชน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีจะมีแรงกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หากล่าช้าออกไปความเสี่ยงก็จะมากขึ้น แต่ถ้าการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาครัฐ เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ประเด็นตัวเลขการบริโภคที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศขยายตัว 4.2% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการของ ธปท. ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.8% นั้น นายไพบูลย์กล่าวเพียงว่า เช็คตัวเลขแล้ว วันนี้ไม่ได้มีการพูดเรื่องนี้กันมากนัก ธปท. ก็ดูเครื่องชี้ต่างๆ รวมถึงตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ประกอบกัน และดูแนวโน้มในระยะข้างเป็นปกติ ก็ไม่มีประเด็นอะไรที่จะแถลงในวันนี้

ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร นายไพบูลย์อธิบายว่า อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงิน แต่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรที่ กนง. ดูว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อเงินเฟ้อ และต่อเสถียรภาพโดยรวมอย่างไร ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรที่ยากต่อการคาดการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวทิศทางใด และมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญ สถานการณ์ภาวะตลาดการเงินโลกไม่ได้เป็นปกติ ยังมีความผันผวนสูง เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกเข้าเร็ว ก็มีผลต่อค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กนง. ประเมินดูแล้วว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก สามารถปรับตัวรับความผันผวนได้ค่อนข้างดี การปรับตัวหลายด้านทำให้ยังขยายการส่งออกได้พอสมควร ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมาจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเรานิ่งมานาน ปรับครั้งสุดท้ายเดือน ต.ค. 55 และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศในกลุ่มจี 3 ก็ต่ำติดดินมานาน และเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาเงินบาทก็เคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับดอกเบี้ยเท่าไร โดยมักเป็นไปตามภาวะความรู้สึกของนักลงทุนที่เขามองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร แนวโน้มของค่าเงินเป็นอย่างไร อันนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าไหลออก รวมถึงภาวะในต่างประเทศด้วย” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ประเด็นสินเชื่อครัวเรือน และการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวม นายไพบูลย์กล่าวว่า กรรมการ กนง. ยังให้ความสำคัญและแสดงความห่วงใยใกล้ชิดไม่เปลี่ยนแปลง แต่การดำเนินนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์หลายๆ ด้านประกอบกัน ทั้งด้านการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพราคา ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ได้แก่ หนี้เอกชน หนี้ครัวเรือน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์

ดังนั้น ในการพิจารณา กนง. คงต้องดูว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านไหนจำเป็นต้องใช้นโยบายอะไร ซึ่งในขณะนี้ก็ชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหมาะสมกับการดูแลความเสี่ยงด้านการขยายตัวเศรษฐกิจ

“ความเสี่ยงด้านการเงินด้านหนี้ครัวเรือนยังมีอยู่ จำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งในแถลงการณ์ผลการประชุม กนง. ก็ระบุไว้ว่าคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินรวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดําเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามหรือไม่ นายไพบูลย์ระบุว่า เป็นไปตามกลไก ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับตัวของโครงสร้างแต่ละแห่ง เพราะประเภทธุรกิจต่างกัน และความสามารถหรือความพร้อมในการปรับอัตราดอกเบี้ยก็แตกต่างกันไป จึงคาดเดาไม่ได้ว่าจะสนองตอบมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามดู แต่เป็นการส่งสัญญาณจาก กนง. ว่า นโยบายการเงินได้ผ่อนคลายความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง  ที่มาภาพ : http://www.prachachat.net
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่มาภาพ : http://www.prachachat.net

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงที่รัฐสภาถึงกรณีที่ กนง. มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ว่า “น้อยไปและช้าไป” ซึ่งตนพูดเรื่องนี้มานานพอสมควร และได้แสดงความเป็นห่วงตั้งแต่อัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่า 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม คิดว่า “มาช้ายังดีกว่าไม่มา”

“การบริหารเศรษฐกิจของประเทศจะต้องมองให้ไกลๆ และสามารถที่จะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าด้วยระยะเวลาที่พอสมควร เพราะถ้าหากจะรอข้อมูลจริงเกิดขึ้นก็จะกลายเป็นข้อมูลอดีต และจะนำข้อมูลอดีตมาวิเคราะห์ตัดสินใจก็จะเป็นอดีตของอดีต แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นการที่เราจะป้องกันเศรษฐกิจของเราไม่ให้เกิดความผันผวนก็จะไม่ทันท่วงที” นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกิติรัตน์คิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้น และพอจะคลายใจได้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อ เพราะว่าตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยยังเกิดส่วนต่างเอาไว้ เมื่อปริมาณเงินมหาศาลหาที่ลง โอกาสที่จะย้อนมาหรือกลับเข้ามาก็มีขึ้นเป็นระยะ ทั้งนี้เรื่องเงินไหลเข้าไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2553 ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุผลสำคัญที่กระตุกให้ค่าเงินซึ่งเหนือระดับ 34 บาท แข็งค่าขึ้นรวดเร็วจนใกล้ 30 บาท ในช่วงต้นของรัฐบาลนี้ 34 บาท รัฐบาลก็ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง สามารถทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้ดี และเผชิญอีกครั้งในช่วง 3 ไตรมาส ติดๆ กันนี้เพราะมีเงินไหลเข้า

“เรื่องนี้คงจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกัน ผมเองเตือนว่าแม้กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างจำกัด แต่ว่าหน้าที่ในการกำกับเศรษฐกิจของประเทศ เป็นหน้าที่ที่รองนายกฯ เศรษฐกิจจะต้องติดตาม ยืนยันว่าแม้ว่าจะไม่เห็นสอดคล้องกับผมอย่างเต็มที่ในเรื่องของการลดระดับอัตราดอกเบี้ย แต่ก็จะยังคงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน” นายกิตติรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าดูเหมือนรัฐมนตรีไม่ค่อยพอใจในมาตรการเท่าไหร่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า “ทุกคนก็ควรจะคิดอย่างนั้น” ถ้าหากว่าตลาดการเงินตระหนักถึงความประสงค์ของรัฐ ของประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความประสงค์ที่เข้าใจได้ ไม่บิดเบือนอะไร รัฐบาลเพียงต้องการให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งคู่ค้า ไม่ได้ต้องการที่จะไปบิดเบือนอะไร และไม่ได้จะพยายามที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเปลี่ยนแปลงรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีเหตุผลคำอธิบาย

“ดังนั้น ถ้าหากว่าภาวะตลาดเป็นอย่างนี้และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าพนักงานไปใช้มาตรการอะไร ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการใช้มาตรการอะไรมีข้อดีข้อเสียควบคู่มาด้วยเสมอ ถ้าหากไม่ต้องใช้มาตรการอะไรที่ควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงิน และยังทำให้ภาวะอัตราดอกเบี้ยอ่อนค่าอยู่ในระดับที่มีความนุ่มนวล ก็เป็นที่สบายใจของทุกคน” นายกิตติรัตน์กล่าว

เมื่อถามว่าจากนี้ไปรัฐมนตรียังต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ย 50 สตางค์ หรือ 1 บาท หรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า
“อยาก ผมพูดจาชัดเจนเสมอ แต่ถ้าเชื่อผมมากผมก็รับผิดชอบมาก เชื่อผมน้อยผมก็รับผิดชอบอยู่ เพราะว่าเป็นหน้าที่ แต่ว่าผมเข้าใจ คนที่มีสิทธิในการพิจารณาตัดสินใจท่านใช้ดุลพินิจของท่าน และท่านคงพร้อมที่จะรับผิดชอบมากหน่อยกับการตัดสินใจ”

(ดูเพิ่มเติม ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ตอบคำถามรายการเจาะข่าวเด่น )

ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์คาด กนง. คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ ธปท. ลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 2.50% โดยคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.50% ไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากเป็นห่วงหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้นต้องจับตาดู ธปท. อาจใช้มาตรการกำกับสถาบันการเงิน (Macroprudential)เพิ่มเติม เพื่อรักษาเสถีรภาพทางเศรษฐกิจ ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวสูง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์ได้เปรียบเทียบคำแถลงการณ์ของ กนง. ที่ธปท. แถลงในการประชุมครั้งก่อน 3 เม.ย. 2556 กับผลการประชุมครั้งนี้ 29 พ.ค. 2556 ดังนี้

ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ  ธนาคารไทยพาณิชย์