ThaiPublica > คนในข่าว > “คณิต ณ นคร” ยุ “อัยการ” ถอนฟ้องม็อบ ใช้ “ยุติธรรม” ต้านปฏิวัติ

“คณิต ณ นคร” ยุ “อัยการ” ถอนฟ้องม็อบ ใช้ “ยุติธรรม” ต้านปฏิวัติ

16 พฤษภาคม 2013


นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

“…กระบวนการยุติธรรมมันแก้ปัญหายึดอำนาจได้ สร้างประชาธิปไตยได้ อย่างญี่ปุ่นและเยอรมันก็มีกองทัพแดง คอป. ศึกษาพบว่ากองทัพแดงทั้ง 2 ประเทศต้องการอำนาจรัฐโดยใช้วิธีการรุนแรง แต่กระบวนการยุติธรรมของ 2 ประเทศจัดการเรียบร้อยหมด พวกเล่นการเมืองบ้านเราก็อีลิททั้งนั้น แต่ทำเป็นไม่เข้าใจ…”

ปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่ราชประสงค์” 19 พฤษภาคม 2553 นำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายของทั้ง “กองทัพแดง-กองทัพ” และ “พลเรือน-เจ้าหน้าที่รัฐ”

จนหลายคนคิดว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” น่าจะอยู่ไม่ได้ หลังเกิดเหตุ “นองเลือดกลางกรุง”

แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอีก 2 เดือนต่อมา มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ที่มี “คณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ร่วมกับกรรมการอีก 8 คน

มีภารกิจหลักตามคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร 3 ข้อ คือ ตรวจสอบและค้นหาความจริงของเหตุการณ์ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกข้าง วางเกราะป้องกันความสูญเสียในอนาคต

ทว่ามีบางพวก-บางฝ่าย เสียดเย้ยว่า คอป. เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ล้างคราบไคลให้ “นายกฯ มือเปื้อนเลือด” หรือไม่?

3 กรกฎาคม 2554 นักการเมืองสลับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง แต่ คอป. ยังนั่งทำหน้าที่ต่อไป

หลายคนคิดว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะเร่งรับสารพัดข้อเสนอของ คอป. ไปสานต่อ ทว่ามีเพียงบางข้อที่ถูกหยิบขึ้นมาขยายผล จนสิ่งที่ทำมาคล้ายสูญเปล่า

ในภาวะที่สังคมยังสาละวนกับความขัดแย้ง-แบ่งขั้ว “คณิต ณ นคร” จึงเป็น “แหล่งข่าวลำดับที่ 3” ที่ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ชวนมาร่วมรำลึกผ่านเหตุการณ์ 3 ปี 19 พฤษภาคม 2553 ย้อนไปดูรากเหง้าแท้จริงของปัญหา

เขาเปิดฉากสนทนาด้วยเรื่องร้อนในแวดวง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเห็นว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมในบ้านเราผิดฝาผิดตัวหมดเพราะความไม่เข้าใจ และได้เวลารื้อใหญ่แล้ว!

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง“ที่ใดไม่มีผู้ฟ้อง ที่นั้นไม่มีผู้พิพากษา” หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวไว้ว่า “ในปากประตูมีกระดิ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยชื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พัน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด” หมายความว่าสมัยก่อนพอมีคนไปสั่นกระดิ่งก็มีการมาพิพากษาเลย ไม่ต้องมีผู้ฟ้อง อันนี้เป็นมิติเก่า ไม่มีผู้ฟ้องก็มีผู้พิพากษาได้ แต่วิธีพิจารณาความสมัยใหม่ต้องมีผู้ฟ้องเป็นเรื่องเป็นราวถึงจะมีผู้พิพากษามาตัดสิน ทีนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความมาตรา 68 (ของรัฐธรรมนูญปี 2550) ว่าใครก็ร้องได้มันผิดหลัก ในมาตรา 68 เขาเขียนให้อัยการเป็นคนตรวจสอบ ฟ้อง แล้วก็ตัดสิน แต่ปรากฏว่าใครๆ ก็ไปสั่นกระดิ่งได้ มันผิดหลัก และทำให้เกิดปัญหา นี่คือความไม่เข้าใจกฎหมายของวงการนิติศาสตร์ไทย ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวาย

อย่างคดีของคุณยศวริศ ชูกล่อม (หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำนปช.) คดีนี้อัยการฟ้องไว้ แต่ปรากฏว่าคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของเจ๋ง (หลังกล่าวปราศรัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ) ศาลก็รับไว้ แล้วก็เพิกถอน อันนี้คือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเลย คดีที่อัยการฟ้องไว้ คนที่จะไปดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ก็คืออัยการ คุณก่อแก้ว (พิกุลทอง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) ก็โดนเพิกถอน อย่างนี้คือไม่เข้าใจกฎหมายพื้นฐานและหลักการในกฎหมาย เราก็เลยทำ ซึ่งมันเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม

ไทยพับลิก้า : เหตุที่ใครๆ ต้องการไปสั่นกระดิ่งเอง เป็นเพราะคลางแคลงใจการทำหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล

มันหลายเรื่อง ตอนทำงาน คอป. ในปี 2553 ผมเขียนบทความเรื่อง “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” การเอาคนไว้ในอำนาจรัฐ ทั้งการคุมขัง ไม่ให้ประกัน มันต้องเกิดจากความจำเป็น คือ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไปก่ออันตรายประการอื่น ส่วนโทษร้ายแรงมันไม่ใช่ Primary (เหตุที่เป็นเหตุหลัก) แต่เป็น Secondary (เหตุที่เป็นเหตุรอง) ซึ่งต้องดูว่า Secondary ถ้าสงสัยว่าจะเกิด Primary ก็ทำประกัน แต่ถ้าไม่สงสัยก็ปล่อยเขายังได้เลย และการประกันความจริงกฎหมายไม่ได้เรียกร้องหลักประกันนะ ตอนทำงาน คอป. ผมไปที่อุบลราชธานี มีชาวบ้านมาพูดให้ฟังว่าเขาไปกับญาติพี่น้อง ศาลเรียกหลักประกัน 1 ล้านบาท ถามว่าได้ประกันไหม ได้ ถามว่าเอาหลักประกันมาจากไหน เขาบอกต้องไปกู้เงินนอกระบบมา ทั้งที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 109 พูดถึงการปล่อยชั่วคราว ในคดีมีอัตราโทษอย่างสูงคือเกิน 5 ปีขึ้นไป ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ เราก็ปฏิบัติกันผิดๆ ถูกๆ มานาน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะคนในกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจกฎหมาย และผมขอโทษต่อไปว่าคนในกระบวนการยุติธรรมมาจากไหน ก็สถาบันการศึกษาทั้งหลาย นี่คือรากเหง้า ดังนั้น ที่เกิดความไม่สงบขึ้นคราวนี้ ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ ศึกษากันใหม่ อันไหนไม่ถูกเราสามารถแก้ไขได้

นายคณิต ณ นคร
นายคณิต ณ นคร

กระบวนการยุติธรรมของเรามีความแย่ 3 อย่าง คือ 1. ทำงานสบายๆ ไม่ทำให้มันถูกหลัก ไม่ทำให้มีความเป็นภววิสัยจริง เช่น การสอบสวน เขาให้สอบสวนทั้งที่เป็นผลดีและผลร้าย แต่เราทำแต่ส่วนหลัง บางทีสำนวนไม่สมบูรณ์ อัยการก็ฟ้องไปแล้ว ศาลเองก็ไม่ Active (กระตือรือร้น) ในการทำงาน ก็ Passive (วางเฉย) 2. ทำงานแบบกลัว โดยเฉพาะกลัวการเมือง ถ้ากระบวนการยุติธรรมกลัวการเมืองก็จบเลย 3. ทำงานแบบประจบประแจง นี่คือคนในกระบวนการยุติธรรม

ไทยพับลิก้า : เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 สร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อคนในสังคม และคนในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

ข้อเสนอของ คอป. มีเยอะแยะหมด เราเสนอแนะเป็นลำดับด้วยซ้ำ แต่การเมืองไม่ทำอะไรเลย มีข้อเสนอเรา 2 อย่าง เท่านั้นแหละที่รัฐบาลชุดนี้รับไปทำ คือ เรื่องจ่ายเงิน ซึ่งเราเห็นว่าควรต้องเยียวยาตามหลักสากล ก็ปรากฏว่าว่ามีการตั้ง ปคอป. (คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ขึ้นมา ไปเยียวยา 7.5 ล้านบาท ผมไม่ได้หมายความว่าเงินมันสำคัญเท่าไรหรอก ไม่ใช่เงินผม แต่บอกว่าตัวเลข 7.5 ล้านมาจาก คอป. เราก็เดือดร้อนสิ ต้องชี้แจงชาวบ้านอีก นี่คือไปทำแล้วโยนสิ่งไม่ดีมาสู่เรา อีกอันที่ทำคือคนที่ทำผิดโดยมีแรงจูงใจการเมือง น่าจะปฏิบัติกับเขาในการคุมขังให้ดีหน่อยเพื่อลดความรู้สึก ให้เกิดปรองดอง เขาก็ไปใช้ที่บางเขนคุมขัง

ไทยพับลิก้า : เรื่องจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท หากกระแสไม่ตีกลับ รัฐบาลอาจอ้างเป็นผลงานส่วนตัว

อ่า…เห็นไหม นอกนั้นไม่ได้ดูดำดูดีกับข้อเสนอเลย สุดท้ายเรายังเสนอแนวทางปฏิบัติตามข้อเสนอ คอป. ด้วย แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เราทำหมดน่ะ รวมทั้งนิรโทษกรรมด้วย

ไทยพับลิก้า : อย่างข้อเสนอเรื่องถอนฟ้องทุกสีทุกคดี คิดว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่เอาด้วย

นั่นคือข้อเสนอแนะของผม ในอดีตอัยการเขามีบทบาทมาก อย่างตอนเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 มีการฆ่ากันตายที่ธรรมศาสตร์เยอะแยะ มีการจับคนไปเยอะแยะ อธิบดีอัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งหมดเลย 2 พันกว่าคน นอกจากนี้มีอีกคดีที่ผมคิดว่าสำคัญ ตอนนั้นผมเพิ่งเข้ามาเป็นอัยการใหม่ๆ มีคดีกบฏภาคใต้ ศาลนัดสืบพยาน เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ เขาพิจารณาลับ สืบพยานไปจนหมดแล้ว นัดตัดสินในอีก 2 วัน ปรากฏว่าอัยการถอนฟ้องเพราะเห็นว่าถ้าปล่อยให้ศาลพิพากษาไปคำพิพากษาของศาลมันต้องเปิดเผยไง ถ้าเปิดเผยแล้วมันอาจไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ เขาทำ ทำกันมาเยอะแยะ ผมเลยเสนอแนะไปว่าของเรานี่ ขั้นต้น ไอ้ที่ชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไป สั่งไม่ฟ้องทั้งหมดได้ไหม ไม่ว่าจะดำ แดง เขียว ขาว เหลือง ไม่มีใครทำเพราะทุกคนมันอยู่สบายๆ มันอาจจะรักษาเก้าอี้หรืออะไรก็ไม่รู้

ไทยพับลิก้า : พอไม่ทำตั้งแต่ตอนนั้น ถึงเวลานี้มีคนเสื้อแดงบางส่วนติดคุกไปแล้ว ส่วนคดีคนเสื้อเหลืองก็ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งถือว่าไปไกลแล้ว จะถอยกลับได้หรือไม่อย่างไร

เยอะแยะไป มันกำลังดำเนินคดีอยู่ คุณถอนฟ้องเสีย คุณมีอำนาจที่จะถอนได้ อัยการถอนได้ เมื่อเร็วๆ นี้ฟ้องดาราไปคนหนึ่ง จอย (ศิริลักษณ์ ผ่องโชค) เขาเป็นคนชั่วหรือเปล่า ลองคิดสิ เพียงความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้นแหละ ไอ้ที่ลงโทษไปแล้วคุณก็ถอนได้ คุณเยียวยาเขาได้นี่ คนที่กำลังดำเนิน คุณก็ถอนฟ้อง คนที่ยังไม่ฟ้องคุณก็สั่งไม่ฟ้องเสีย ทำได้ทั้งนั้น แล้วต้องทำด้วย เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงของ Transitional Justice (กระบวนการยุติธรรมขั้นเปลี่ยนผ่าน) มันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ตรงนี้ต้องใช้กฎหมายช่วยกันแก้ไขปัญหา คนไหนที่สามารถทำได้ก็ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัยการ ผมคิดว่าทำได้เยอะแยะเลย

ไทยพับลิก้า : คิดว่าฝ่ายการเมืองจะใช้กฎหมายแก้ปัญหาหรือ เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่การจ้องใช้กฎหมายเล่นงานขั้วตรงข้าม

อันนี้ผมไม่วิพากษ์ เรื่องการเมืองก็ว่ากันไป

ไทยพับลิก้า :หากอัยการจะถอนฟ้องหรือไม่ถอนฟ้องใคร มันต้องมาจากฝ่ายนโยบายหรือไม่

อัยการทำตามนโยบายไม่ได้หรอก ถ้าทำตามนโยบายคุณก็ไปแกล้งคนฝ่ายตรงข้ามสิ สมัยผม ผมสั่งไม่ฟ้องคดี สปก. 4-01 มีคนบอกว่าผมช่วยพวกประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เกี่ยวอะไรกับ ปชป. เลย บังเอิญผมมันคนใต้น่ะ ก็เลยถูกมองอย่างนั้น ผมยืนยันว่าทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีล่ะ นักกฎหมายเราถ้าทำงานยึดหลักมันช่วยประเทศชาติได้เยอะนะ มันต้องดูเหมือนกัน ไม่ใช่ผิดเป็นฟ้องๆ แต่ละช่วงตอนมันไม่เหมือนกัน เหตุการณ์ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 มันเป็นสถานการณ์พิเศษ ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมขั้นเปลี่ยนผ่าน ถ้าเราสนใจ เข้าใจ ก็จะช่วยได้อีกแรงหนึ่ง การเมืองให้เขาว่ากันไป แต่ถ้ายังพึ่งกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ จะให้ไปพึ่งใครล่ะ

นายคณิต ณ นคร
นายคณิต ณ นคร

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ในหลายปีที่ผ่านมา สังคมขัดแย้งกันรุนแรง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน หากศาลโดดลงมาช่วยจะยิ่งเสื่อมหรือไม่

ไม่ใช่ศาล ศาลนี่มันทำยาก ตำรวจก็ทำยากเพราะเรียกว่าเป็นเจ้าพนักงานที่การเมืองแทรกแซงได้ง่ายทุกประเทศ แต่อัยการนี่ไม่ใช่นะ อัยการมีความเป็นอิสระ แต่เราไม่เข้าใจบทบาทเรา ผมอยากเห็นความสงบในบ้านเรา เห็นความเป็นธรรมในบ้านเรา อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้ากระบวนการยุติธรรมมีหลักมีเกณฑ์ มีประสิทธิภาพ การยึดอำนาจเลิกพูดไปเลย เพราะยึดอำนาจทุกครั้งก็จะอ้างเรื่องการทุจริต ครั้งสุดท้ายนี้ก็อ้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผมยังไม่เห็นอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่างเลยจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมมันแก้ปัญหายึดอำนาจได้ สร้างประชาธิปไตยได้ อย่างญี่ปุ่นและเยอรมันก็มีกองทัพแดง คอป. ศึกษาพบว่ากองทัพแดงทั้ง 2 ประเทศต้องการอำนาจรัฐโดยใช้วิธีการรุนแรง แต่กระบวนการยุติธรรมของ 2 ประเทศจัดการเรียบร้อยหมด พวกเล่นการเมืองบ้านเราก็อีลิททั้งนั้น แต่ทำเป็นไม่เข้าใจ

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ว่าอีลิทและกองทัพแดงอาจเข้าใจ แต่ตีความคนละอย่างกับอาจารย์ เช่น อาจารย์เคยบอกว่า “หักดิบทางกฎหมาย” คือการที่เผด็จการรัฐสภาพยายามเผยแพร่ความคิดไปสู่คนในกระบวนการยุติธรรม แต่คนในรัฐบาลอาจตีความว่าคือ “หักดิบทางกฎหมาย” คือการที่เผด็จการอีกซีกเผยแพร่ความคิด และบงการคนในกระบวนการยุติธรรมให้เล่นงานรัฐบาล

ผมไม่คิดว่าคนในบ้านเมืองเราซื่อบื้อนะ มันอาจจะเลี่ยงบาลี หรือเอาสีข้างถูๆ ไป

ไทยพับลิก้า : หลายคดีที่เกิดขึ้น ถูกมองว่าอำมาตย์กำลังเล่นงานเครือข่ายทักษิณอย่างหนัก

คุณลองอ่านหักดิบกฎหมายผมใหม่สิ ผมเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณกับฮิตเลอร์

ไทยพับลิก้า : แต่วันนี้คนเสื้อแดงเปรียบเทียบอีกข้าง เปรียบเทียบอำมาตย์กับฮิตเลอร์หรือเปล่า ถึงเกิดความเคลื่อนไหวกดดันไปที่ศาล

อำมาตย์อะไรผมก็ไม่เห็นนะ เป็นการเลือกใช้คำหรือเปล่า มันมีอำมาตย์ที่ไหน อย่างผมนี่เป็นอำมาตย์หรือเปล่า ถ้าเราจะพูดนะ เราต้องพูดเป็นคน เหมารวมไม่ได้หรอก หลักการของสังคมก็คือหลักกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกไม่ยึดหลักกฎหมาย มันเลยยุ่งตั้งแต่นั้นมา ถ้ายึดหลักกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้เป็นใหญ่

ไทยพับลิก้า : แล้วถ้าเครือข่าย “ทักษิณ” บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดต่อๆ มาก็ไม่ยึดหลักกฎหมายเหมือนกัน สั่งยุบพรรคด้วยวาระซ่อนเร้นทางการเมืองล่ะ

ก็ว่าไป ตอนผมเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผมพูดกับนักศึกษาว่า นักกฎหมายที่เก่ง แต่สังคมตำหนิหรือยังตั้งรังเกียจนั้น ผมจะไม่มีวันเสนอให้มหาวิทยาลัยเชิญมาสอนพวกคุณเด็ดขาด เพราะผมกลัวว่าจะเอาไวรัสมาติดพวกคุณ ผมอัปเปหินะ ผมตั้งรังเกียจนะ สังคมเราเป็นสังคมยกย่องคน เป็นสังคมที่ยึดคน ไม่ยึดหลัก พอมีใครขึ้นมา เราฝากความหวังไว้กับคนนั้นเลย พอมี พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาก็มีวลีว่า “อัศวินความดำ” นี่คือการยึดคนนะ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยึดหลักมันตรวจสอบถ่วงดุลได้ แต่ถ้าเรายึดคน คิดว่าคนมันเปลี่ยนแปลงไหม ตอนไม่มีอำนาจมันไม่เปลี่ยน แต่พอมีอำนาจมันเปลี่ยนได้เหมือนกัน เราต้องสร้างกระบวนการมาตรวจสอบเขา แต่ของเราไม่เคยสร้าง แถมไปนั่นอีก

ไทยพับลิก้า : อาจารย์พูดเสมอว่าศาลไม่ Active

Active มันคือการตรวจสอบค้นหาความจริง ไม่ใช่ทำนอกเรื่อง

ไทยพับลิก้า : แต่ตอนนี้คนบางส่วนเห็นว่าศาล Over-Active เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับ “เครือข่ายทักษิณ”

คุณต้องไปเล่นงานคนสิ

ไทยพับลิก้า : นี่เสื้อแดงก็กำลังเล่นงานอยู่ ออกมาเคลื่อนไหวถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ก็ไม่รู้ เพราะเราอาจจะเลือกคนผิดก็ได้ เหมือนอัยการสูงสุดน่ะ ผมบอกว่าอย่าเชื่อผม เพราะผมจะตายเมื่อไรก็ได้ ต้องเชื่อองค์กรอัยการ ที่ขัดแย้งก็เพราะคนมันเชื่อคนไง

ไทยพับลิก้า :แต่เป็นเพราะคนไม่ใช่หรือที่ทำให้องค์กรเสื่อม

ก็จัดการได้นี่

ไทยพับลิก้า : เวลามีใครลุกขึ้นมาจัดการ คนที่ถูกจัดการก็มักลากเอาองค์กรมาเป็นหลังพิง เช่น บอกว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ล่อตุลาการรายตัว แต่วางแผนล้มศาล

ไม่เกี่ยวเลย เราต้องแยกแยะให้ออก องค์กรน่ะมันดี ถ้าคนไม่ดีเราก็จัดการคน ไม่ใช่บอกว่าองค์กรไม่ดีแล้วเราจะสร้างคนดีมา ผมรอคุณสร้างให้ตายชาตินี้ก็ไม่มีหรอก ในหลวงก็รับสั่งว่าไม่มีใครที่สามารถสร้างคนดีได้หรอก แต่ต้องควบคุมคนชั่วให้ได้ รับใส่เกล้าฯ กันหมด ไม่ปฏิบัติตาม สิ่งที่พระองค์ท่านพูดมันมีนัยยะสำคัญนะ “…ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

ดังนั้น ถ้าคนไม่ดีก็จัดการคน ไม่ใช่จัดการองค์กร วันนี้เราแยกไม่ออก ผมไม่พูดเรื่องศาล ขอพูดเรื่องอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดไม่ใช่คุณจุลสิงห์ (วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด) นะ ถ้าคุณจุลสิงห์ไม่ดีนะ ต้องจัดการให้ได้นะ องค์กรนี้รับเงินใครล่ะ ก็ภาษีประชาชนทั้งนั้น คุณต้องคิดอย่างนั้น คนชอบคิดว่าถ้าคนดีบ้านเมืองก็เรียบร้อย ไม่มีทางล่ะ คุณเอาคนเข้าวัดทุกวัน มันอาจจะดีขึ้น แต่พอเผลอก็ไปล่ะ มนุษย์เรามันใฝ่ต่ำนะ ต้องเข้าใจนะ

ไทยพับลิก้า : จะใช้กลไกไหนกดดันคนไม่ดีได้

ประชาชนสิ ต้องให้ความรู้ประชาชน

นายคณิต ณ นคร
นายคณิต ณ นคร

ไทยพับลิก้า : การตั้งข้อรังเกียจทางสังคม (Social Sanction) ซึ่งอาจารย์เคยให้นิยามไว้การชุมนุมของพันธมิตรเมื่อปี 2548 เป็น Social Sanction ที่มีพลัง แต่มาถึงการชุมนุมของพันธมิตรปี 2551 และ นปช. ปี 2553 ม็อบกลายเป็นฟังก์ชันหนึ่งของฝ่ายการเมืองไปแล้ว มันเปลี่ยนไปหรือไม่ และจะเหลือการแสดงออกวิธีไหนที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือมาตรการกดดันทางสังคมที่บริสุทธิ์และมีพลังจริงๆ

ผมก็ไม่รู้จะตอบคำถามคุณอย่างไร คือ ถ้าอันไหนมันมาผิด มันก็ผิดไปหมดล่ะ มันผิดตั้งแต่ที่ผมวิเคราะห์ คือหักดิบกฎหมาย จริงๆ เรามีกระบวนการยุติธรรมที่ดีนะ เดี๋ยวนี้ถ้าคุณจะมาตรวจสอบผมก็ต้องไปดูว่าทรัพย์สินของผมมาถูกต้องหรือเปล่า มีหรือเปล่าที่จะไปดูบัญชี มีใครที่ทำได้ ปปง. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ไง แล้วรัฐบาลชุดนี้ก็ตั้งเลขาธิการ ปปง. แล้วเลขาธิการ ปปง. ทำอะไร ผมยังไม่เห็นเลย ก็นี่ไง ลองทำมาสิ ทำให้มันกระจ่าง พ.ต.ท.ทักษิณเขาขาวบริสุทธิ์ก็ว่าไปสิ ก็นี่ไม่ทำเลยนี่ มันหลายเรื่องน่ะ ที่ผมพูดเรื่องฮิตเลอร์ก็ไม่ใช่คำพูดผมนะ เป็นคำพูดโปรเฟสเซอร์เยอรมันเขียนไว้ และบอกว่ากรณีฮิตเลอร์เป็นการหักดิบกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่ผมพูดพล่อยๆ

ไทยพับลิก้า :ถ้าเช่นนั้น การหักดิบกฎหมายที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็คือการให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดคดีซุกหุ้นภาคแรก

(หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า: คดีหลังๆ ยังไม่เท่าเลย

ไอ้นั่นมันปลายเหตุ ต้นเหตุใหญ่คือที่ผมบอก ตอนทำงาน คอป. ก็ต้องมีจุดเริ่ม ซึ่งเราย้อนกลับไปดูพบจุดเริ่มที่สำคัญที่สุดคือเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการเมือง แล้วพูดว่าจากจุดนั้นมีความเสียหายอะไร เราปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้ออกหมายจับ แล้วทำไมออกมาเป็นอย่างนี้ เหลาจากต้นไผ่ ทำไมกลายเป็นป้องกัญชาไปได้ ตอนปี 2540 มันมาดีหมด พอไปหลงบูชาคน มันไปหมดเลย

ไทยพับลิก้า : ทุกวันนี้ทุกสี-ทุกฝ่ายต่างมีคนที่ตัวเองบูชา เลยทำให้วุ่นวายไปกันใหญ่

อือๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เป็นเรื่องความคิดของคน แต่เมื่อเราทำงาน เราก็ต้องพึ่งกัน

ไทยพับลิก้า : มองการทำหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อย่างไร เพราะ 3 ปีก่อนนั่งอยู่ใน ศอฉ. ทำอีกอย่าง พอมาเป็นพนักงานสอบสวนทำคดี 91 ศพ ก็พลิกกฎหมายมาทำอีกอย่าง

คุณก็ไปจัดการกับดีเอสไอสิ ธารงธาริต (เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ) อะไร

ไทยพับลิก้า : อาจารย์เคยบอกเมื่อปี 2555 ว่าไม่เชื่อว่าข่าวลือ หรือเสียงนินทาอดีตศิษย์ก้นกุฏิที่ชื่อนายธาริตว่าจะเป็นจริง มาตอนนี้ยังคิดแบบเดิมหรือไม่

ผมไม่รู้ ผมไม่รู้ข้อเท็จจริง ผมจะพูดได้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มันยุติแล้ว อันนี้มันความรู้สึกว่าไอ้คนนี้มันเปลี่ยนหรือเปล่า ก็ไม่รู้ ก็ต้องไปหาสิ อย่างสมัยผม พอผมสั่งไม่ฟ้องคดี สปก. ก็ออกมาโจมตีผมเลย ป้ายสีเป็น ปชป. แต่ต่อมาคุณจตุพร (พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.) ใครต่อใครถูกขัง ศาลเรียกผมไปศาลอาญา พวกนี้เขาอ้างผมเป็นพยาน ผมก็ไปพูดให้ศาลฟัง ได้ปล่อยตัวหมด พอปล่อยมา ผมก็ถูกหาว่าเป็นแดง มีคนโทรศัพท์มาเผาบ้านๆ ภริยาผมก็รับ เขาบอกมาได้เลย เขาไม่เคยทำอะไรกับใคร ผมก็ถูกป้ายแดง แต่สิ่งที่ผมทำมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผมใช้หลักวิชาการ ผมเคยเป็น ปชป. ในสมัยโน้น ผมเคยเป็นใคร ผมก็เป็นผม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เอาภาษีประชาชนไปใช่เยอะนะ ไปเรียนเยอรมันตั้ง 8 ปีครึ่ง ผมยังใช้หนี้ไม่หมด ก็พยายามชดใช้

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วสังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ราชประสงค์

ผมไม่รู้ คุณก็วิเคราะห์ได้ตามที่ผมพูดมาทั้งหมด