ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ทศวรรษขายข้าวจีทูจี(4) : MOU – กม. เปิดช่อง ซิกแซกนำกลับขายในประเทศ

1 ทศวรรษขายข้าวจีทูจี(4) : MOU – กม. เปิดช่อง ซิกแซกนำกลับขายในประเทศ

7 พฤษภาคม 2013


การเปิดโปงตัวเลขข้อเท็จจริง กรณียอดการส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ “จีทูจี” ที่มีใบขนสินค้า (B/L) ผ่านท่าเรือของกรมศุลกากร ซึ่งปรากฎว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับยอดการขายข้าวจีทูจีที่นายบุญทรง เตมิยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 ถึง มี.ค. 2556 หรือช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ขายข้าวจีทูจีไปแล้วทั้งสิ้น 6.2 ล้านตัน

เมื่อข้อมูลของกรมศุลกากรตามพิกัด 1006 ซึ่งเป็นหมวดส่งออกข้าวของรัฐบาลพบว่า ในปี 2554 มีเพียง 29,851 ตัน และในปี 2555 ก็มีการส่งออกจีทูจีแค่ 212 ตัน ระบุที่หมายปลายทางคือประเทศจีน ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขในหนังสือ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ ได้ทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีไปแล้ว 7,320,000 ล้านตัน กับประเทศอินโดนีเซีย จีน และโกตดิวัวร์ “โดยในเดือน ม.ค.-กย. 2555 ส่งมอบข้าวจีทูจีไปแล้ว 1,460,000 ล้านตัน”

นอกจากนี้ ข้อมูลยังไม่ตรงกับที่กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า ได้ทำสัญญาขายข้าวให้รัฐบาลจีนอย่างน้อย 5 ล้านกิโลกรัม หรือ 5 พันตัน โดยมีตัวแทนบริษัท GSSG IMP AND EXP CORP รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาก็มีการมอบให้ นายรัฐนิธ โสจิระกุล ผู้ช่วย ส.ส. ลำดับที่ 3 ของนางรพีพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ดำเนินการแทนอีกทอดหนึ่ง

เป็นการตอบข้อสงสัยที่ว่า ข้าวลอตดังกล่าวไม่ได้มีการส่งออกแบบจีทูจีจริง แต่นำไปขายให้โรงสีในประเทศหรือเวียนเทียนเข้าโครงการจำนำข้าวอีกรอบหรือไม่??

จีทูจี-1

จากข้อมูลที่กรมศุลกากร “สำแดง” ใบขนสินค้าออกมาล่าสุด ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ สะท้อนว่าข้าวในโกดังรัฐบาลไม่ได้ไปไหนไกล แท้จริงแล้วอยู่ใน “มือที่มองไม่เห็น” ที่เล่นแร่แปรธาตุกับสัญญาจีทูจีอีกกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งอาจเป็นการส่งออกลมทั้งหมด

ปัญหานี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เท่านั้น แต่ถ้าย้อนกลับไปในสมัยช่วงที่นางพรทิวา นาคาศัย เป็น รมว.พาณิชย์ ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจมีการกระทำในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากตามข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่า ข้าวจีทูจีที่มีใบขนส่งสินค้าในช่วงปี 2553 นั้น มีเพียง 9,790 ตัน แต่กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลขณะนั้นไปถึง 4 ล้านตัน ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2553 เพียงแต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน เพราะไม่มีการแยกให้เห็นกระจ่างว่าเป็นการระบายสต็อคเพื่อขายในประเทศเท่าไหร่และขายแบบจีทูจีเท่าไหร่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตัวเลขจากกรมศุลกากรถือเป็นตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด เพราะต้องผ่านพิธีการศุลการกร มีใบ B/L ประกอบ แสดงว่าของออกจากท่าเรือจริง โดยสาเหตุที่ยอดส่งออกจีทูจีต่ำกว่าที่แจ้งไว้นั้น เนื่องจากเงื่อนไขในการขออนุญาตส่งออกจากกรมการค้าต่างประเทศระบุไว้หลวมๆ เพียงว่า ข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก โดยให้สำนักงานมาตรฐานหรือคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ที่ได้รับอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพ

เมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ส่งออกจะได้รับใบรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้อง จากนั้นจะนำข้าวขึ้นเรือขนส่งสินค้าจริงหรือไม่ ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมาย เพราะไม่จำเป็นที่ตัวเลขของกรมการค้าต่างประเทศกับกรมศุลกากรจะต้องตรงกันทุกกระเบียดน้ิว จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ส่งออกมาขอใบอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศแล้ว แต่ส่งออกไม่จริง เอาไปขายเวียนเทียนในประเทศเหมือนกรณีที่เพรซิเด้นท์อะกริหรือสยามอินดิก้าเคยถูกเปิดโปงเอาไว้

หลายปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เคยมีการแยกสัญญาให้เห็นชัดเจนว่า ลอตใดเป็นการส่งออกโดยเอกชน และลอตใดส่งออกตามสัญญาจีทูจี เนื่องจากมีการเปิดประมูลอย่างเปิดเผย โปร่งใส แต่ปัจจุบันไม่มีการประมูล แล้วอ้างความลับของสัญญา หรืออ้างว่ากลัวกระทบต่อราคาข้าวในประเทศ จึงมีการปิดมิดชิดทั้งเรื่องของชนิดข้าว ประเทศปลายทาง และกำหนดระยะเวลาส่งมอบ

รวมทั้งมีการปรับรูปแบบของสัญญาว่า ประเทศผู้ซื้อเป็นผู้เลือกบริษัทส่งออกที่จะส่งมอบข้าวได้เอง หรือไม่ก็ทำสัญญาโดยอ้างว่าสั่งซื้อไปช่วยเหลือประเทศที่ 3 ไม่ได้ส่งไปจีนโดยตรง ทำให้ตัวเลขปลายทางไปจีนน้อย ป้องกันไม่ให้เช็ครายชื่อผู้ส่งออกไปจีนได้ หรือบางครั้งอ้างว่า เป็นเอ็มโอยูที่สามารถเลื่อนวันรับมอบได้ แต่ต่อรองราคาใหม่ไม่ได้ ทำให้ต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

จุดรั่วไหลชัดเจนกรณีนี้คือ รัฐบาลไม่สามารถตอบแบบเสียงดังฟังชัดว่า ข้าวดังกล่าวถูกส่งไปต่างประเทศจริงหรือไม่ อาจจะมีการแจ้งขออนุญาตส่งออกจีทูจีแทนรัฐบาลบางประเทศ แล้วให้สำนักงานมาตรฐานหรือเซอร์เวย์เยอร์ ไปตรวจสอบในคลังสินค้าหรือในเรือ เพื่อสร้างหลักฐานการส่งออกเท็จ แต่จริงๆ ข้าวก็ยังอยู่ในคลังของผู้ส่งออก หรือถูกนำไปขายให้กับผู้ส่งออกรายอื่นหมดแล้ว

“ในกรณีที่มีการนำข้าวจีทูจีกลับมาเวียนเทียนข้าวขายในประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะใช้เทคนิคเลือกขายข้าวคุณภาพดีก่อน เหมือนที่เคยปรากฎเป็นข่าว สุดท้ายก็จะเหลือข้าวเก่า ข้าวเน่าไว้ กลายเป็นภาระค่าเก็บฝากของรัฐบาล เมื่อระบายไม่ออก ปิดบัญชีไม่ได้ ก็ต้องขายเป็นข้าวเน่าขาดทุนมากกว่าเดิม” แหล่งข่าวระบุ

สิ่งที่การันตีข้อสังเกตดังกล่าวคือ ราคาข้าวในตลาดทั่วไปไม่ขยับขึ้นเลย แม้จะมีการ “รับจำนำทุกเม็ด” โดยขณะนี้ราคาข้าวสารขาว 5% เพิ่งได้เท่ากับราคาข้าวเปลือกเจ้า ในโครงการรับจำนำที่ 15,000 บาท ทั้งๆ ที่ราคาต้นทุนคิดเป็นข้าวสารต้องอยู่ที่ตันละ 24,000 บาท สะท้อนว่าภายในประเทศไม่เคยขาดแคลนข้าวจริง พ่อค้าบางรายอ้างว่า สามารถซื้อขายข้าวในโกดังรัฐอยู่ที่ตันละ 14,200-14,300 บาทเท่านั้น เพียงแต่ต้องจ่ายเป็นเงินสด และซื้อยกกอง

แหล่งข่าวกล่าวว่า การระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลช่วงหลัง ยังมีคำสั่งให้ “จำกัด” จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องในการประชุมเพื่อระบายข้าวหรือขายข้าว ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกเก็บเป็นความลับ กันไม่ให้รั่วไหลออกไปถึงฝ่ายตรงข้าม สร้างความอึดอัดใจให้แก่ข้าราชการโดยเฉพาะกรมการค้าต่างประเทศที่รับผิดชอบกับสัญญาการขายข้าวโดยตรง

“การประชุมจะเรียกแต่ผู้บริหารหรือข้าราชการไม่กี่คนเข้าร่วมเป็นวงเล็กๆ แม้แต่ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับสัญญาการขายข้าวของหน่วยงานรัฐบางคนก็ยังถูกกันออกไปห่างๆ โดยเฉพาะข้าราชการที่เคยทำงานร่วมกับฝ่ายตรงข้าม ยิ่งถูกกีดกันออกจากข้อมูลทั้งหมด” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า การขายข้าวแบบจีทูจีของภาครัฐจะมีการส่งออกจริงหรือไม่ เพราะเมื่อการตรวจสอบตัวเลขจากกรมศุลกากรแล้ว ไม่ปรากฎตัวเลขส่งออกที่ชัดเจน หรือต่ำกว่าปริมาณที่รัฐบาลแจ้งไว้ อาจมีการส่งออกก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือขายในประเทศ(อ่านต่อตอนที่5)