ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (4): สภาอุตฯ แจ้งกองปราบ ดำเนินคดีอดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อมงบฯ น้ำท่วม

เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (4): สภาอุตฯ แจ้งกองปราบ ดำเนินคดีอดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อมงบฯ น้ำท่วม

18 พฤษภาคม 2013


หลังจากที่นายไชย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภา จังหวัดลพบุรี หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วม “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ” ได้รับเงินค่าวิทยากรและค่าเบี้ยเลี้ยงไม่ครบถ้วน จึงได้ทำหนังสือร้องเรียน ป.ป.ช., ธรรมาภิบาลจังหวัด, สื่อมวลชน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2555 โดยขอให้เข้ามาตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้

จากนั้น ช่วงเดือนกันยายน 2555 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แต่งตั้งนายสุชาติ วิสุวรรณ รองประธานอาวุโส เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ผลการสอบสวนไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ในเดือนธันวาคม 2555 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่ 2 ซึ่งมีนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่เมื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริงไปได้ในระดับหนึ่ง ผลปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 นายพยุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล ประธาน ส.อ.ท. จึงให้ฝ่ายกฎหมาย ส.อ.ท. นำข้อมูลและพยานหลักฐานส่งให้กองบังคับการปราบปรามรับไปดำเนินการสอบสวน ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 กองบังคับการปราบปรามได้แจ้งผลการสอบสวนส่งให้ ส.อ.ท. สรุปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีการทุจริตการใช้จ่ายเงินในโครงการนี้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) (กลาง) แจ้งความร้องทุกข์อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเจ้าหน้าที่สอท. 12 คน ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ จังหวัดลพบุรี ณ ห้องผู้สื่อข่าว กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2556
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. (กลาง) แจ้งความร้องทุกข์อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเจ้าหน้าที่ ส.อ.ท. 12 คน ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ จังหวัดลพบุรี ณ ห้องผู้สื่อข่าว กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556

วันที่ 17 พฤษภาคม 2556 นายพยุงศักดิ์ จึงให้ฝ่ายกฎหมาย ส.อ.ท. มาแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พ.ต.อ.ประสบโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการ ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจพบผู้ที่กระทำความผิดฐานทุจริตงบประมาณที่ใช้ในโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ จังหวัดลพบุรี 13 คน ที่สำคัญได้แก่ นายประพันธ์ มณทการติวงศ์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน,นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ สอท. และนายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลพบุรี และเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามกฎหมายแล้ว กองบังคับการปราบปรามต้องรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับสรุปสำนวนคดีส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการต่อภายใน 30 วัน

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา คดีนี้หากไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม ไม่ต้องส่ง ป.ป.ช. แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทำความผิดด้วย กองบังคับการปราบปรามจะทำหน้าที่พนักงานสอบสวนในเบื้องต้น รวบรวมพยานหลักฐาน เส้นทางเงิน เช็ค สรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีต่อไป ” พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าว

พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเบิกจ่ายเงิน 12 ล้านบาท ที่ใช้ในโครงการนี้ พบว่าเงินงบประมาณแผ่นดินสูญหายไปประมาณ 6 ล้านบาท โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ ส.อ.ท. ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณ ส่วนรายละเอียดมากกว่านี้อยู่ในสำนวนคดี ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้

ด้านนายพยุงศักดิ์กล่าวว่า “ผมขอยืนยัน คดีนี้ ส.อ.ท. ดำเนินการโดยสุจริตใจ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ทำตามหลักฐานที่ปรากฏ และเป็นการเน้นย้ำถึงแนวนโยบายของ ส.อ.ท. ที่จะต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ซึ่ง ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในแนวร่วมของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องนี้ ส.อ.ท. จะดำเนินคดีจนถึงที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นคดีตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยต่อไป”

แหล่งข่าวจากกองบังคับการปราบปรามเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ “เส้นทางการเบิกจ่ายเงิน 12.24 ล้านบาท” และสอบปากคำนายรำพึง ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงาน พบว่านายรำพึงได้ทำเรื่องขอยืมเงินจากจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในรูปแบบของเงินทดรองจ่าย โดยนายรำพึงได้นำเงินงบประมาณมาเข้าบัญชีของตนเองก่อน และจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในชั้นต้น เข้าใจว่าเป็นการจ่ายเงินให้กับนายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. เนื่องจากนายสนอง ป่าธนู ประธาน ส.อ.ท. จังหวัดลพบุรี ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายอำนาจเป็นผู้รับเงิน 12.24 ล้านบาท

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเบิกจ่ายเงิน พบว่า มีการสั่งจากเช็คออกจากบัญชีนายรำพึง 4 ฉบับ เช็คของนายรำพึงฉบับแรก “สั่งจ่ายสด” เป็นเงิน 430,000 บาท อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นนำเช็คไปแลกเงินกับธนาคาร เช็คฉบับที่ 2 และ 3 รวมเป็นเงิน 11,546,800 บาท นายอำนาจ นันทหาร เป็นผู้นำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร และเช็คฉบับที่ 4 “สั่งจ่ายสด 263,200 บาท มีบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับ ส.อ.ท. เป็นผู้นำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร

แหล่งข่าวจากกองบังคับการปราบปรามกล่าวต่อไปอีกว่า จากการสอบปากคำนายรำพึงได้ให้การว่า ตนได้รับเงินจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 12.24 ล้านบาท ก็ได้สั่งจ่ายเช็คออกจากบัญชี 12.24 ล้านบาท จนครบถ้วน ตนไม่ได้อะไร รับเงินมาเท่าไหร่ก็จ่ายเงินออกไปเท่านั้น เมื่อ ส.อ.ท.จังหวัดลพบุรีได้รับเงินไปแล้วจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการไม่ครบ เป็นเรื่องของ ส.อ.ท.ลพบุรี

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเอกสารที่นายสนอง ป่าธนู ประธาน ส.อ.ท.ลพบุรี ทำหนังสือชี้แจงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 ยืนยันว่าตนเองได้รับเงินสดจากนายอำนาจแค่ 7,621,800 บาท เท่านั้น เงินขาดหายไป 3,925,000 ล้านบาท

เมื่อนายสนองได้รับเงินจากนายอำนาจ 7,621,800 บาท นายสนองนำเงิน 5,026,800 บาท ไปเข้าบัญชีคณะทำงานโครงการฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท.จังหวัดลพบุรี เงินหายไปอีก 2,595,000 บาท ซึ่งทางกองบังคับการปราบปรามจะเรียกนายอำนาจและนายสนองมาสอบปากคำว่าเงินส่วนที่ขาดหายไปกว่า 6 ล้านบาท ทาง ส.อ.ท.จังหวัดลพบุรี นำเงินไปใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้หรือไม่

จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปสอบปากคำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ พบว่าส่วนใหญ่ได้รับเงิน 35,000-41,000 บาท ต่อการอบรม 1 รุ่น ทั้งที่ควรจะได้รับจริง 81,600 บาทต่อการอบรม 1 รุ่น โดย ส.อ.ท.จังหวัดลพบุรีให้ผู้เข้าร่วมโครงการลงนามรับเงินในเอกสารรับเงินไว้ล่วงหน้า ซึ่งผิดระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ