ThaiPublica > คอลัมน์ > การจับตามองของพี่เบิ้มและอำนาจของภาษา: ว่าด้วยนิยายเรื่อง 1984 ที่ยังอ่านไม่จบ

การจับตามองของพี่เบิ้มและอำนาจของภาษา: ว่าด้วยนิยายเรื่อง 1984 ที่ยังอ่านไม่จบ

25 พฤษภาคม 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

poster_1984_lrg
ภาพโปสเตอร์จาก http://www.obeygiant.com/prints/1984

**นี่ไม่ใช่การวิจารณ์หนังสือนะครับ และจะกล่าวว่าเป็นรีวิวก็ยังอาจจะไม่ได้เลย แต่มันคงเป็นไปในลักษณะของการอ่านแล้วคิดต่อแล้วมาแบ่งปันกันมากกว่า**

เคยอ่านกันไหมครับ…

นิยายเรื่อง “Nineteen Eighty-Four” หรือที่รู้จักกันในนาม “หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่” หรือ “1984” ที่เขียนขึ้นโดย “จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)” นักเขียนชาวอังกฤษ และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1949 ซึ่งในภาษาไทยก็มีแปลกันนะครับ พิมพ์ครั้งที่สองที่สามออกมาในรอบไม่กี่ปีนี่เอง ยังคงเห็นได้ตามร้านหนังสือทั่วไป และยังเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปี ค.ศ. 1984 ด้วย

หากนับกันตามเวลาเขียนและปีที่ตีพิมพ์แล้ว ออร์เวลล์เขียนถึงอนาคตในปี ค.ศ. 1984 (ซึ่งแวบหนึ่งแล้วตัวละครในเรื่องก็ถามเงียบๆ ในใจว่าปีที่ตัวเองอยู่นั้นคือปี ค.ศ. 1984 จริงหรือไม่) บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทวีป “โอชันเนีย (Oceania)” ณ ส่วนที่เป็น “ฐานอวกาศที่หนึ่ง (Airstrip One)” ซึ่งเดิมก็คือบริเวณที่เป็นประเทศอังกฤษนั่นเอง โดยโอชันเนียนั้นปกครองโดย “พรรค (Party)” และสิ่งที่ครอบงำโอชันเนียไว้ก็คือผู้นำสูงสุดของพรรคที่รู้จักกันในนาม “พี่เบิ้ม (Big Brother)” นั่นเอง

นิยายเรื่อง 1984 ได้สร้างสโลแกนอันลือลั่นที่ว่า “พี่เบิ้มกำลังจับตามองคุณ” หรือ “Big Brother is watching you” ซึ่งหลายคนที่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้นั้นต่าง “อิน” กับภาวะและกลไกการจับตามองของพี่เบิ้มเป็นอันมาก ด้วยเพราะสภาพที่สังคมถูกทำให้ตระหนักตลอดเวลาว่าดวงตาของพี่เบิ้มกำลังจับจ้องทุกการกระทำและความคิดของผู้คนให้เป็นไปในระบบระเบียบอันเป็นคุณแก่พรรค ทำให้หลายคนที่ได้อ่านก็จะโยงการจับตามองดังกล่าวเข้ากับแนวคิดเรื่อง “Panopticon” ซึ่งเดิมทีเป็นรูปแบบการออกแบบอาคารของ “เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham)” โดยเป็นลักษณะการออกแบบอาคารที่ทำให้ง่ายต่อการจับตามองผู้ที่ถูกกักกัน แต่ผู้ที่ทำให้ Panopticon โด่งดังจริงๆ ก็คือเมื่อ “มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)” นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้นำไปใช้ในการอธิบายรูปแบบการควบคุมสังคมให้อยู่ในสภาพ “ปรกติ” โดยเรียกมันว่า “Panopticism”

Presidio-modelo2
ภาพของคุก “เปรซีดีโอ โมเดโล (Presidio Modelo)” ในประเทศคิวบา ซึ่งออกแบบมาอย่างคล้ายคลึงกับ Panopticon ของเบนแธม (ที่มาภาพ: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Presidio-modelo2.JPG)

โดยสรุปคร่าวๆ แนวคิดเรื่อง Panoticism ก็คือการทำให้นักโทษรู้สึกว่าตัวเองถูกจับตามองจากผู้คุมอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่ามีผู้คุมกำลังจับตามองอยู่จริงๆ หรือเปล่า ไม่รู้แม้กระทั่งมีผู้คุมอยู่ในหอสังเกตการณ์ที่กลางคุกจริงๆ เหรือเปล่า แต่เพราะเชื่อว่ามีผู้คุมอยู่และตนกำลังถูกจับตามองอยู่ ทำให้สุดท้ายแล้วก็ต้องบังคับตัวเองให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎในระเบียบของคุกไปโดยปริยาย

กล่าวคือ เป็นการบังคับให้ผู้คนต้องควบคุมตัวเองด้วยการสร้าง “บรรยากาศของความกลัว” ขึ้นมา

เมื่อมองแบบนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงพี่เบิ้มของออร์เวลล์หรือผู้คุมของฟูโกต์ต่างก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในสังคมอย่างหลายรูปแบบ การที่เราต่างรับรู้ว่าโลกเรานี้มีกฎบางอย่างทั้งที่เป็นทางการอย่างกฎหมาย หรือที่ไม่เป็นทางการอย่างจารีตประเพณีศีลธรรมจรรยามารยาททั้งหลายแหล่ ทำให้เราต่างรู้สึกราวกับว่ามีพี่เบิ้มหรือผู้คุมคอยจับตาดูเรา ซึ่งพี่เบิ้มหรือผู้คุมนี้ในสังคมก็เป็นไปได้ตั้งแต่ผู้คนรอบข้างจนกระทั่งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราต้องคอยระมัดระวังก้าวกระทำแห่งพฤติกรรมหรือกระทั่งเพียงกิจกรรมเงียบๆ อย่างความคิด ให้ไม่หลุดไม่พ้นไปจากกฎระเบียบต่างๆ ที่มันควบคุมเราอยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่า ตัวเรานั้นก็ได้กลายเป็นพ่เบิ้มหรือกลายเป็นผู้คุมที่คอยจับตามองดูตัวเองเสียเอง

แบบนั้นเล่า คนถึงอินกับการจับตามองของพี่เบิ้มในนิยายเรื่องนี้กันนัก กระทั่งผมเองก็ยังอินไปด้วย

แต่แม้จะอินกับการจับตามองของพี่เบิ้มอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ผมอินสุดๆ ในนิยายเรื่อง 1984 คือเรื่อง “อำนาจของภาษา” ครับ

อันนี้ต้องบอกเล่ากล่าวก่อนว่า โดยพื้นฐานแล้ว ผมไม่เชื่อว่า “ภาษา” คือ “ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายเมื่อกลายเป็นภาษา” ฟังแล้วอาจจะงงๆ นะครับ แต่เดี๋ยวเรามาว่ากันไปช้าๆ ว่ามันเป็นมายังไง

ลองนึกดูนะครับว่า สมมติเรามีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ แต่เรายังเป็นสิ่งที่มีชิวิตที่ไม่มีภาษา (ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือกระทั่งภาษาคน อะไรก็ว่าไป) เราจะสามารถเรียกไอ้สิ่งมีชีวิตสี่ขาขนาดยักษ์ที่อยู่ตรงหน้าว่า “ไดโนเสาร์-dinosaur-dinosaure” ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะอย่าว่าแต่คำเหล่านั้น แค่เพียงสิ่งที่เรียกว่าภาษานั้นยังไม่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเราเลย การที่เราสามารถรู้ได้ว่าสิ่งมีชีวิตสี่ขาหน้าตาแบบนั้นเรียกว่าไดโนเสาร์ในภาษาไทย, dinosaur เมื่อเรารู้ภาษาอังกฤษ และ dinosaure ถ้าเรารู้ภาษาฝรั่งเศสหรือสามารถเข้าถึงกูเกิลทรานสเลทนั้นก็เพราะมีการใช้องค์ประกอบของระบบภาษามาสร้างเป็นคำเพื่อกำหนดว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นคืออะไรและแทนได้ด้วยคำไหนในภาษาใดเท่านั้น ดังนั้น เราจะบอกว่าภาษาคือ “ตัวแทนของความจริง” ยังอาจจะไม่ได้เลยครับ เพราะถ้าว่ากันถึงท่ีสุด ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ภาษาคือ “ตัวกำหนด-สร้างความจริง” ต่างหาก

นอกจากนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาษาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ต่อการถ่ายทอดความคิดนะครับ ถ้าเอาแค่ด้วยถ้อยคำที่มีในระบบอยู่เดิมนั้น ในการจะกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ผู้ที่รู้จักและมีชุดคำอยู่ในหัวมากกว่า ย่อมสามารถกล่าวถึงเรื่องนั้นๆ ได้มากกว่า (แต่กล่าวรู้เรื่องหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องนะครับ เพราะนั่นหมายถึงความสามารถในการหยิบเลือกเอาชุดคำที่มีมาใช้ให้เหมาะสมแก่ใจความของเรื่องที่จะถ่ายทอด) อยากให้ลองนึกสภาพว่า บางทีเราคิดอะไรอย่างหนึ่ง แต่เราไม่รู้จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดอย่างไร แต่พอวันหนึ่ง เราไปเจอคนที่พูดอะไรสักอย่างด้วยชุดถ้อยคำที่เรารู้สึกว่า “นี่แหละ ใช่ที่เรารู้สึกเลย” อะไรทำนองนั้น

ซึ่งในนัยยะนี้ก็หมายความว่า ในอีกแง่หนึ่ง แม้จะไม่ถูกถ่ายทอดออกมา แต่การมีชุดคำมากๆ ก็ทำให้คนเรามีวัตถุดิบที่จะหยิบไปประกอบเป็นความคิดต่างๆ ได้มากเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าคนเราสามารถที่จะเลือกใช้ชุดภาษาที่มีอยู่ในประสบการณ์ตัวเองได้โดยอิสระ โอกาสที่ “ความจริงใหม่ๆ” หลากหลายชุดจะถูกสร้างขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย และแน่นอน มันจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่มีอยู่เดิมได้ด้วย

**อนึ่ง ต้องเข้าใจนะครับว่า “ความจริง” กับ “ข้อเท็จจริง” นั้นเป็นคนละสิ่งกัน เราสามารถสร้างความจริงขึ้นมาด้วยข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่ง และหากเราสามารถหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับความจริงนั้นมาได้ ความจริงอันมีอยู่เดิมนั้นก็สามารถเป็นไปทั้งในแบบที่หนักแน่นชัดเจนขึ้นหรือกลับเจือจางลงหรือกระทั่งกลายเป็นเรื่องหลอกลวงไปเลยก็ได้**

แต่สภาพในนิยายเรื่อง 1984 หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

สังคมโอชันเนียนั้นมีการควบคุมการใช้ภาษาอย่างเข้มงวด โดยภาษาที่ใช้นั้นอยู่ภายใต้ตระกูลใหม่ที่เรียกว่า “นิวสปีค (Newspeak)” ซึ่งเกิดจากการเลือกคัดตัดคำที่มีอยู่เดิมใน “โอลด์สปีค (Oldspeak)” หรือก็คือภาษาอังกฤษทั่วๆ ไปออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้เหลือแต่ “คำที่จำเป็น-เพียงพอ” อันจะเป็นคำที่ได้รับการยอมรับและใช้สื่อสารกันอย่าง “เป็นทางการ”

และที่เข้มข้นอย่างเหี้ยมโหดไปกว่านั้น ในสังคมโอชันเนีย ถ้อยคำที่ “ไม่เป็นทางการ” ยังอาจทำให้คุณกลายเป็นผู้ประกอบ “อาชญากรรมทางความคิด” อีกด้วย

ซึ่งความเข้มงวดดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีขอบเขตกำหนดอยู่แต่เพียง “วัจนภาษา” อย่างถ้อยคำต่างๆ ที่จะถูกพูดออกมา แต่ยังรวมไปถึง “อวัจนภาษา” ซึ่งหมายถึงการแสดงออกด้วยภาษากายในรูปแบบต่างๆ ด้วย

ลองจินตนาการภาพว่ามีคุณครูผู้เข้มงวดท่านหนึ่งกำลังยืนอยู่ตรงหน้าคุณ อบรมคุณอย่างจริงจัง แต่คุณกลับเผลอไผลมองตอบไปด้วยสายตาที่แข็งกร้าว แล้วคุณก็เลยโดนทำโทษ อะไรทำนองนั้นครับ

ทีนี้ ด้วยเหตุดังที่ผมบอกว่าภาษานั้นเป็นตัวกำหนด-สร้างความจริง ผลอันเกิดแก่สังคมในนวนิยายเรื่อง 1984 ก็คือ ผู้คนจะมีถ้อยคำที่จะใช้กระทำต่อความคิด-ชีวิตที่เป็นอยู่-ตระหนักรู้ต่อผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง ได้มากมายแค่เพียงเท่าที่ผู้มีอำนาจในการปกครองเห็นว่าจำเป็นและควรมีเท่านั้นเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้คนจะคิด-พูด-ทำได้เพียงแบบเดียว ซึ่งก็คือในแบบที่ผู้มีอำนาจในการปกครองต้องการ และเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การดำรงไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองของตัวเอง

อิสระบังเกิดก็บัดนั้นแล้วครับ…

หากคืออิสระของผู้มีอำนาจในการปกครอง ที่จะผลิตแต่ข้อเท็จจริงแต่เพียงแบบเดียวคือในแบบที่จะส่งเสริมการสร้างความจริงที่ตัวเองต้องการออกมา ทั้งในนิยายเรื่อง 1984 นั้น ก็มีการแสดงให้เห็นอยู่ตลอดว่าข้อเท็จจริงนั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขตลอดเวลา (มีหน่วยงานที่สภาพราวกับโรงงานคอยทำหน้าที่ “ผลิตข้อเท็จจริง” นี้) มีทั้งตัดต่อ-ก่อเสริม-เติมความ ซึ่งแม้อ่านโดยไม่ต้องเห็นว่ามีสตินักก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจในการปกครองนั้นเล่นแร่แปรธาตุกับข้อเท็จจริงกันอย่างหน้าด้านๆ เลยทีเดียว (ประวัติศาสตร์ใน 1984 นี่เปลี่ยนกันได้แบบวันต่อวันเลยนะครับ มีหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะเลย ต่อเรื่องเดียวกัน อาทิตย์ที่แล้วแบบหนึ่ง อาทิตย์ต่อมาเป็นอีกแบบหนึ่ง) ซึ่งตรงนี้นั้น หากนำมามองกันในโลกปรกติที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี่ละก็ ผมว่ามันควรทำให้เรามีความตระหนักรู้ในการรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ ว่าแท้จริงแล้วมันอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกตัดต่อมาเพื่อดำรงความจริงบางอย่างเอาไว้อย่างเผด็จการก็ได้

1984 นำเสนออันตรายของการที่เราถูกบังคับให้กระทำต่อผู้มีอำนาจในการปกครองด้วยรูปลักษณ์ของภาษาในแบบเดียวคือแบบที่เป็นคุณต่อผู้มีอำนาจในการปกครองได้อย่างดิบดีมากนะครับ มันทำให้เราได้เห็นสภาพชีวิตอันย่ำแย่ที่ถ้าจะให้เปรียบเปรยแล้วก็คือ หมาจรจัดมันยังเลือกได้ตามสัญชาตญาณว่ามันจะเอาไม่เอาอะไร แต่ไอ้คนมีหลักมีแหล่งแท้ๆ นี่มันกลับเลือกอะไรตามใจตัวเองไม่ได้สักอย่างเดียว

อ้อ แต่จะว่าไปก็อาจจะคล้ายกันก็ได้ครับ เพราะหมาจรจัดในโลกข้างนอกนี่กับคนในเรื่อง 1984 นั้นต่างก็เลือกได้ภายใต้ข้อจำกัดที่ผู้มีอำนาจจะให้คุณให้โทษได้อนุญาตไว้ว่าให้เลือกได้ ทำนองว่าตราบใดมันใช้ชีวิตในขอบเขตที่เรากันไว้ให้นี้ เราก็จะไม่ไปตีมัน

มาถึงจุดนี้แล้วนี่ เมื่อมองไปที่โลกรอบๆ ตัวที่ตัวเองอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะออนไลน์หรืออฟไลน์ ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองกลับออกมาจากในนิยายเรื่อง 1984 หรือยัง