ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จัก Procurement Watch Inc. (ตอนที่ 2): Yellow Revolution จุดเริ่มต้นความเข้มแข็งของชาวปินอย

รู้จัก Procurement Watch Inc. (ตอนที่ 2): Yellow Revolution จุดเริ่มต้นความเข้มแข็งของชาวปินอย

21 เมษายน 2013


Hesse004

นับตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนชาวฟิลิปปินส์ในการขับไล่อดีตสองผู้นำประเทศ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) และโจเซฟ เอสตราด้า (Joseph Estrada) กล่าวกันว่า การต่อสู้ของชาวปินอย (Pinoy) มีความเข้มแข็งและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีรายงานการศึกษาของ World Bank ที่กล่าวถึงการต่อสู้คอร์รัปชันของภาคประชาชนในฟิลิปปินส์ว่าเป็น “ตัวอย่าง” ที่น่าสนใจในการสร้างดุลอำนาจให้เกิดขึ้นมาใหม่ขึ้นเพื่อ “คาน” อำนาจเดิมซึ่งประกอบไปด้วย อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ 1

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอยู่ดีๆ อำนาจของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) จะเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะการที่คนจำนวนมากลุกขึ้นมารวมตัวเพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในรูปแบบของการ “ก่อม็อบ” เดินขบวนตามท้องถนน

การปลุกม็อบให้ลุกขึ้นขับไล่และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น ส่วนหนึ่งมีเหตุผลมาจากความต้องการของกลุ่มผู้ประท้วงเอง อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ความเหลืออดเหลือทน” ที่เห็นว่ารัฐบาลที่ปกครองบ้านเมืองอยู่นั้นใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

กรณีของฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน การลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของมาร์กอสในการเหตุการณ์ People Power Revolution เมื่อปี 1986 หรือ Yellow Revolution นั้น เหตุผลประการสำคัญมาจากการที่ชาวปินอยส่วนใหญ่ทนไม่ได้อีกต่อไปที่จะเห็นท่านผู้นำมาร์กอสซึ่งเสพอำนาจยาวนานมากว่า 20 ปี ร่ำรวยมากขึ้นทุกวัน ขณะที่สุภาพสตรีหมายเลข 1 อย่างนางอิเมลด้า มาร์กอส (Imelda Marcos) ก็ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยหรูหรา มีรองเท้าที่เก็บสะสมนับพันคู่

…แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนข้นแค้น จนแทบไม่มีอะไรจะกิน

การลุกขึ้นมาโค่นล้มอำนาจเผด็จการมาร์คอสครั้งนั้น ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เริ่มตระหนักแล้วว่า การรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นและมีวัตถุประสงค์การเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

นางคอราซอน อาควิโน ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com
นางคอราซอน อากีโน ที่มาภาพ: http://2.bp.blogspot.com

Yellow Revolution เมื่อปี 1986 เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนชาวปินอย การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในฟิลิปปินส์ โดยเผด็จการมาร์กอสถูกโค่นลงจากอำนาจและนางคอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ การถือกำเนิดขึ้นของ Procurement Watch Inc. หรือ PWI ก็อยู่บนพื้นฐานและหลักการเดียวกับที่ชาวปินอยเคยร่วมกันต่อสู้ขับไล่อดีตผู้นำขี้ฉ้อทั้งหลาย นั่นคือ พวกเขาเริ่มรู้สึกแล้วว่าการจะต่อต้านคอร์รัปชันให้ได้ผลนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยใครเพียงคนใดคนหนึ่ง หากแต่ต้องร่วมมือกันเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ชาวปินอยจำนวนมากเริ่มหมดความอดทนแล้ว

สถานการณ์ที่เรียกว่า “อดรนทนไม่ได้” นี้ สะท้อนได้จากสุนทรพจน์ของนาย Edgardo J. Angara อดีตประธานวุฒิสภาฟิลิปปินส์ โดยนาย Angara ได้ประมาณมูลค่าความเสียหายจากการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของฟิลิปปินส์ไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปี รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินไปราวๆ 22,000 ล้านเปโซ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวคิดเป็นสองเท่าของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข เงินจำนวนนี้สามารถซื้อตำราเรียนแจกนักเรียนได้มากกว่า 520 ล้านเล่ม สามารถปรับปรุงห้องเรียนให้เด็กๆ ชาวปินอยได้ถึง 63,000 ห้อง สามารถสร้างถนนคอนกรีตชั้นดีให้เกษตรกรได้ยาวถึง 1,500 กิโลเมตร2

หากจะว่าไปแล้ว การคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นปัญหาที่มีความคล้ายคลึงกันทั่วโลก กล่าวคือ ทุกประเทศล้วนเจอปัญหานี้เหมือนกัน ตั้งแต่การล็อคสเปคสินค้าหรือบริการที่รัฐจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูลระหว่างผู้เสนอราคากับเจ้าหน้าที่รัฐ การกีดกันหรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง การจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่แพงกว่าราคาท้องตลาด การจัดทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจนทำให้รัฐเสีย “ค่าโง่” การส่งมอบสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพต่ำ เป็นต้น

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศเคย “ปวดหัว” กันมาแล้วทั้งสิ้น บางประเทศสามารถแก้ปัญหาได้เด็ดขาดจนการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนรูปไปเป็นแบบอื่นที่แนบเนียนขึ้น แต่บางประเทศยังคงเผชิญปัญหานี้ “ซ้ำซาก” ไม่ว่าจะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างอะไรก็ตามล้วนแล้วแต่เจอเรื่องคอร์รัปชันกันทุกครั้งไป

ดังนั้น การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะประสบผลสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจของภาครัฐด้วยว่าจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน จะมีการควบคุมและตรวจสอบเข้มงวดเพียงใด จะลงโทษผู้กระทำผิดแบบไม่ให้เป็น “เยี่ยงอย่าง” ต่อไปในอนาคตหรือไม่

เพราะหากทำได้จริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการคอร์รัปชันให้กับผู้ที่ริจะโกงต่อไป

อย่างไรก็ดี ในฟิลิปปินส์ ปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการเบียดบังเงินงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่อย่างจำกัดและควรจะถูกนำไปใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์ เช่น ลงทุนทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งถ้าหากเงินเหล่านี้ถูกคอร์รัปชันไปเสียแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนชาวปินอยนั่นเอง

ในตอนหน้าจะกล่าวถึงบทบาทของ PWI กับการเข้าไปมีส่วนปฏิรูปในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของฟิลิปปินส์

หมายเหตุ

1 ผู้สนใจงานดังกล่าวโปรดดูงานของ Vinay Bhargava และ Emil Bolongaita (2004) เรื่องChallenging Corruption in Asia

2 ผู้สนใจสามารถหาอ่านรายละเอียดได้ใน Procurement Watch Inc.: The Role of Civil Society in Public Procurement Reforms in the Philippines ซึ่งเป็นงานของ Marisa Kristina และ Villanueva Pimentel (2005)