ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > เปิดรายงาน กนง. คงดอกเบี้ย ห่วงภาวะฟองสบู่กระทบเศรษฐกิจการเงิน “เปราะบาง” มากขึ้น

เปิดรายงาน กนง. คงดอกเบี้ย ห่วงภาวะฟองสบู่กระทบเศรษฐกิจการเงิน “เปราะบาง” มากขึ้น

19 เมษายน 2013


วันที่ 17 เม.ย. 2556 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา และเปิดเผยรายชื่อกรรมการ 1 คนที่ไม่เข้าร่วมประชุม กนง. ครั้งนี้ เพราะติดภารกิจต่างประเทศ คือ นายอัศวิน คงสิริ

เพราะฉะนั้น ในการประชุม กนง. จะเหลือกรรมการ 6 คน และผลการตัดสินนโยบายดอกเบี้ยกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

โดยกรรมการ 1 คนที่เสนอปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ยังเป็นคนเดิม เห็นได้จากจุดยืนที่แสดงไว้ในรายงานการประชุม กนง. ครั้งนี้กับครั้งก่อนยังเหมือนเดิม คือ เป็นห่วงด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมากจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและส่งผลกระทบต่อส่งออกชัดเจน จึงจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมทั้งเสนอว่าควรพิจารณาหามาตรการอื่นๆ เช่น Macro-prudential มาใช้ต่อไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า กรรมการที่เสนอปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังแสดงจุดยืนเดิม เพราะจริงๆ แล้วการประชุมรอบนี้กับครั้งก่อนข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร ท่านก็ “consistency” (คงเส้นคงวา) เพราะเวลากรรมการให้เหตุผล ปัจจัยหนึ่งที่เขาจะพิจารณาเสมอคือ “ความสอดคล้อง” ในความคิด คือถ้ากรรมการเขาโหวตต่างกับก่อนหน้า เขาก็จะต้องอธิบายเหตุผล ไม่เช่นนั้นกรรมการคนอื่นจะมองว่าทำไมจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.

“เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะระวังในการให้เหตุผลว่า เหตุผลที่ให้เป็นอย่างไร สอดคล้องกับคราวที่แล้วหรือเปล่า และการวิเคราะห์ก็จะดูว่าจากจุดนั้นมาสู่จุดนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าใครสามรถชี้ให้เห็นเหตุผลว่าตรงนี้ต่างไปก็สามารถเปลี่ยนจุดยืนได้ อย่างครั้งนี้ที่ถกเถียงกันเยอะคือ ข้อมูลเดือน ก.พ. เนื่องจากวันทำการน้อย ก็มีข้อเสนอว่าอย่าเพิ่งดู ยกประโยชน์ให้ไปก่อนแล้วรอติดตามดูข้อมูลเดือนถัดไป” ดร.ประสารกล่าว

ขณะที่กรรมการฯ อีก 5 คน แม้จะเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75 % แต่มีเหตุผล “แตกต่าง” กัน

โดยในรายงาน กนง. ระบุว่า กรรมการฯ ส่วนใหญ่ หรือ 4 คนที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากประเมินว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นบ้างจากปัญหาภาคธนาคารในยุโรป แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มการฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน

ส่วนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงหลังจากเร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า แต่น่าจะมีแรงส่งต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี และในระยะต่อไป คาดว่านโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้นจะช่วยเสริมแรงส่งทางเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มความต่อเนื่องของการใช้จ่ายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

“ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินยังมีอยู่สูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ การคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรอดูความชัดเจนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปจึงเป็นแนวนโยบายที่เหมาะสม” นี่คือความเห็นของกรรมการฯ 4 คนที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม

ในขณะที่กรรมการฯ 1 คนใน 5 คนนี้เริ่มเป็นห่วงการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยประเมินภาวะเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากที่ฟื้นตัวถึงจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และ 4 ในปีก่อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม และเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายนอกไม่เอื้ออำนวย ในจังหวะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มแผ่วลง สังเกตจากแนวโน้มของเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. และ ก.พ. แทบทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม กรรมการฯ รายนี้ให้ความเห็นไว้ว่า แนวโน้มดังกล่าวจะมีความชัดเจนขึ้นเมื่อมีข้อมูลของเดือนถัดไปมาประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะแนวโน้มการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายในประเทศ และ/หรือการส่งออกว่าเป็นแนวโน้มที่แท้จริงหรือเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน

แม้ความกังวลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเริ่มมีประเด็นให้ต้องติดตามมากขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า เรื่องความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจน่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าติดตาม

โดยในรายงานผลการประชุม กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่า “ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน” ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ

2. ความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ จากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เริ่มเห็นนักลงทุนประเภทบุคคลในประเทศลงทุนเก็งกำไรในหุ้นมูลค่าต่ำเพิ่มมากขึ้น

3. ความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากการเร่งตัวของจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ โดยเฉพาะในเขตหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด และเริ่มเห็นสัญญาณของการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

“คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่า หากภาวะดังกล่าวยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการสะสมความ “เปราะบาง” แก่ระบบเศรษฐกิจการเงิน และทำให้ความสามารถในการรองรับ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมีน้อยลง จึงยังจำเป็นต้องระมัดระวังและติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป และเตรียมพร้อมซึ่งมาตรการรองรับ”

จากรายงานผลการประชุม กนง. ครั้งนี้ แม้คณะกรรมการฯ จะมีความเป็นห่วงเรื่องความเปราะบางที่มีมากขึ้นของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ขณะนี้เริ่มมี 2 เสียงที่มีความเห็นต่างโดยเป็นห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นต้องจับตามองตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน มี.ค. และ เม.ย. เพราะจะเป็นข้อมูลที่ กนง. ต้องใช้ในการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ค. 2556 ว่า ความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นหรือน่าเป็นห่วงมากขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน

อย่างไรก็ตาม หากนับคะแนนเสียงกันแล้ว เชื่อว่าเสียงข้างมากยังเป็นห่วงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมากกว่า ดังนั้น ทิศทางนโยบายดอกเบี้ยน่าจะยังทรงตัวเหมือนเดิมมากกว่าผ่อนคลายเพิ่มขึ้น เว้นแต่จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายจนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ