ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. 5 ต่อ 1 มีมติคงดอกเบี้ย 2.75% และเล็งออกมาตรการคุมฟองสบู่ “สินเชื่อครัวเรือน-อสังหาฯ”

กนง. 5 ต่อ 1 มีมติคงดอกเบี้ย 2.75% และเล็งออกมาตรการคุมฟองสบู่ “สินเชื่อครัวเรือน-อสังหาฯ”

3 เมษายน 2013


ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 เมษายน 2556 มีมติ 5 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% ต่อปี

โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง การดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังคงมีความเหมาะสม แต่จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้ กรรมการ 1 คน ติดภารกิจในต่างประเทศ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่กรรมการ 1 คน ที่เห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ยังคงเป็นเหตุผลเหมือนครั้งก่อน และเป็นคนเดิมที่ยังไม่มีการเปิดเผย แต่กรรมการ 1 คน ที่ติดภารกิจจะเปิดเผยพร้อมรายงานผลการประชุม กนง. ฉบับย่อในวันที่ 17 เมษายน 2556

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ความเห็นของกรรมการ 1 คน ที่เห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ มีความกังวลเรื่องการไหลเข้าของเงินทุน รวมทั้งประเด็นเรื่องแรงส่งของเศรษฐกิจในประเทศกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งกรรมการคนนั้นให้ความสำคัญมากกว่ากรรมการคนอื่น ซึ่งเป็นคนเดิมหรือไม่ ยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดเผยมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในแถลงการณณ์ที่ กนง. ส่งสัญญาณในครั้งนี้ คือ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

หากสังเกตจะเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ กนง. แสดงความกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน มากกว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งต่างจากผลการประชุมครั้งก่อนที่ให้น้ำหนักทั้งสองเรื่องพอๆ กัน โดยการส่งสัญญาณในครั้งนั้นระบุว่า “จะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดําเนินการที่เหมาะสมต่อไป”

ที่มาภาพ : http://doctorzhivago.files.wordpress.com
ที่มาภาพ : http://doctorzhivago.files.wordpress.com

โดยความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ กนง. มีความกังวลและให้ติดตามอย่างใกล้ชิดนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องเดิม คือ เรื่องการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนอย่างรวดเร็ว ภาระหนี้หนี้สินของภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการซื้อขายกันมาก และราคาในบางพื้นที่ซื้อขายกันรวดเร็ว รวมถึงภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ต้องเรียนว่า เราติดตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ในอนาคต เช่น การเพิ่มขึ้นระดับสูงของสินเชื่อ ภาวะการเงินที่คล่องตัวมาก สภาพคล่องที่มีอยู่สูงในระบบการเงิน อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนที่อยู่ระดับต่ำ ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปพยายามหาช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น พวกนี้เป็นปัจจัยแวดล้อม เป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในบางประเภทสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานได้ในอนาคต เราจึงต้องติดตามต่อเนื่องและระมัดระวังต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ การที่ปริมาณสภาพคล่องทางการเงินสูงจนทำให้การขยายตัวของสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูง มีคำถามว่า เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำหรือจากเงินทุนไหลเข้ากันแน่

นายไพบูลย์อธิบายว่า ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่มีความยืดหยุ่น การที่เงินทุนไหลเข้ามาจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่มีผลโดยตรงต่อปริมาณเงิน เหตุผลคือ ถ้าเงินทุนไหลเข้ามาก็ต้องขายให้กับคนบางคนในประเทศ หรือขายให้ธนาคาร ธนาคารก็เอาเงินที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้วให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศที่เอาดอลลาร์เข้ามาขาย ซึ่งต่างจากประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่

โดยประเทศที่ต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ถ้าเงินทุนไหลเข้ามา หากธนาคารไม่ยอมซื้อเงินดอลลาร์ ในที่สุดธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติก็ต้องเข้าไปซื้อ ซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินท้องถิ่นเข้าสู่ระบบ กรณีนี้จะมีผลโดยตรงต่อระบบการเงินและสภาพคล่องในประเทศ แต่การที่ประเทศไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่มีความยืดหยุ่นได้ ในภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี หมายความว่าประเทศนั้นสามารถดำเนินนโยบายการเงินได้โดยเป็นอิสระจากต่างประเทศได้ คือสามารถดำรงอัตราดอกเบี้ย ดำรงปริมาณเงินได้โดยกำหนดได้เอง

“คำถามคือว่า ขณะนี้ปริมาณสภาพคล่องสูง การขยายตัวของสินเชื่อยังอยู่ระดับสูง เป็นผลมาจากอะไรเป็นสำคัญ ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเป็นผลมาจากการที่นโยบายการเงินของเรายังมีความผ่อนปรน” นายไพบูลย์กล่าว

เลขานุการ กนง. ย้ำว่า ในแถลงการณ์ก็มีความชัดเจนว่า นโยบายการเงินของประเทศไทยเป็นนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน และยังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการประชุมครั้งนี้ กนง. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่ต่างจากเดิมมาก เพราะภาพเศรษฐกิจไม่ได้ต่างจากเดิมมาก ซึ่งรายละเอียดจะแถลงในวันที่ 12 เมษายนนี้

ทั้งนี้ ประมาณการครั้งก่อน กนง. คาดว่าปี 2556 จีดีพีจะขยายตัว 4.9% และในปี 2557 ขยายตัว 4.8%

นอกจากนี้ กนง. ยังมองว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ตามที่เราคาด แม้จะมีความไม่แน่นอนและมีความเปราะบางอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมอยู่ ทั้งนี้ต้องระมัดระวังว่า ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอาจจะไม่คลี่คลาย หรือว่าอาจจะเลวร้ายลง เราก็ต้องติดตามพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่คำถามในประเด็นเรื่องค่าเงินบาทแข็ง หลัง กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กนง. มองปัญหาเรื่องนี้อย่างไร นายไพบูลย์กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ การเจริญเติบโต ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในการประเมินภาพเศรษฐกิจระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้รวมผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าไว้แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

นายไพบุลย์ย้ำว่า ค่าเงินบาทแข็งมีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยกว่าความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้า โดยจากการวิจัยของ ธปท. และข้อเท็จจริงในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นค่อนข้างต่อเนื่องมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน แนวโน้มการส่งออกก็ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของการส่งออกของไทย ที่สามารถปรับตัวกับการแข็งค่าของค่าเงินได้ค่อนข้างดี

“แม้ในบางช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติปี 2008-2009 ค่าเงินบาทเราอ่อนเพราะเงินไหลออก แต่ตอนนั้นการส่งออกเราตก เพราะว่าความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าลดน้อยถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก เราก็มองว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของการส่งออกก็คือภาวะเศรษฐกิจ และความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้า” นายไพบูลย์กล่าว