ThaiPublica > เกาะกระแส > กรรมาธิการสาธารณสุขชี้ รง.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ซื้อเครื่องจักรแต่ไม่มีเครื่องจักร-ทีโออาร์เอื้อผู้รับเหมา

กรรมาธิการสาธารณสุขชี้ รง.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ซื้อเครื่องจักรแต่ไม่มีเครื่องจักร-ทีโออาร์เอื้อผู้รับเหมา

2 เมษายน 2013


ตามที่นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ว่า ได้มอบหมายให้นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอให้ตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม เรื่องการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก พื้นที่ 80 ไร่ ณ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วงเงิน 1,441.70 ล้านบาท เนื่องจากพบว่ามีความผิดปกติน่าสังเกต 2 ประเด็น คือ 1. การสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีข้อผิดปกติหลายอย่าง และ 2. ผลการสอบสวนภายในไม่กระจ่างแจ้งชัดเท่าที่ควร หากเป็นทีมดีเอสไอตรวจสอบ อาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่กระจ่างแจ้งถึงเรื่องราวทั้งหมด และจะได้หลักฐานที่ชัดเจนออกมา เนื่องจากหลักฐานที่ได้จากอนุกรรมการฯ แจ้งว่าไม่มีหลักฐาน ไม่มีข้อมูล จึงต้องใช้มาตรการนี้เพื่อให้ได้ข้อชี้แจงที่ชัดเจน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้เคยนำเสนอเรื่องราวของโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สามปีแล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ โดยปลัดสาธารณสุขอ้างว่าขาดผู้เชี่่ยวชาญสร้างโรงงาน โดยในขณะนั้นการดำเนินการมีความคืบหน้าน้อยมาก และมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตวัคซีนจากเชื้อตายเป็นเชื้อเป็น

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าที่โรงงานเสร็จช้านั้น ทางคณะอนุกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า 1. เป็นเพราะมือไม่ถึงจริงหรือแกล้งไม่รู้ ตั้งแต่ความไม่ละเอียดในการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน ทำให้ต้องจ่ายเงินปรับฐานรากใหม่ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นหากมีการสำรวจให้ละเอียดถี่ถ้วน และรวมทั้งไม่มีผู้ชำนาญในแง่วิศวกรดูแล

2. จุดอ่อนในสัญญาทีโออาร์การก่อสร้าง ที่เชื่อว่าเอื้อให้ “หลวง” เสียเปรียบ โดยให้ผู้รับจ้างได้ประโยชน์ อาทิ ค่า K ไม่มีระบุในสัญญาทีโออาร์ แต่อยู่ในประกาศ ซึ่งประกาศนั้นมีคำถามว่ายังรวมอยู่ในสัญญาหรือไม่

“เรื่องพวกนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะราชการมีสัญญาว่าจ้างงานก่อสร้างมากมาย แต่กลับมีปัญหาเรื่องพวกนี้อีก จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมผู้ที่รับผิดชอบโครงการไม่ทราบขั้นตอนเหล่านี้ เรามีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องแยกผู้รับจ้างก่อสร้างออกมา 2 ราย ทำไมไม่ว่าจ้างรายเดียว มันจะเชื่อมโยงกันอย่างไร (เฉพาะค่าก่อสร้างโรงงานส่วนที่หนึ่ง อาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันสุขภาพ และอาคารสัตว์ทดลอง 321 ล้านบาท ส่วนที่สอง อาคารสนับสนุนส่วนกลาง 106.78 ล้านบาท) และเท่าที่ประเมินดูไม่ควรจะใช้เงินเยอะถึง 1,411.70 ล้านบาท”

นพ.เชิดชัยกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่พบคือ ทางองค์การเภสัชกรรมอ้างความปลอดภัยให้คนไม่รู้เรื่องเกิดความกลัว ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้เดินทางไปดูในรายละเอียดโรงงาน และพบว่าเครื่องจักรที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ที่เขาอ้างคือระบบที่จะให้ความปลอดภัยกับคนงาน ตอนแรกเราก็คิดว่าเป็นเครื่องมือที่วิลิศมาหรา แต่ที่ตรวจสอบกลับเป็นระบบเครื่องปรับอากาศและเครื่องกรองเท่านั้นเอง ทำให้เสียเวลาไป 400 วัน พอตรวจสอบรายละเอียดพบว่าเป็นจุดอ่อนของสัญญา ว่าเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการตรวจการจ้าง” ต้องทำหน้าที่ไปหาเครื่องมือเครื่องจักรตามสเปคมาให้ ทีนี้ถามว่ากรรมการตรวจการจ้างจะมีความรู้เรื่องพวกนี้หรือไม่ มันน่าจะเป็นหน้าที่ของที่บริษัทปรึกษาที่เขามีความชำนาญในการเลือกมาให้ แต่กรรมการตรวจการจ้างต้องหาเอง ใช้เวลา 400 วัน และต้องเปิด E-Auction อีก ทำให้ล่าช้า แต่ให้เหตุผลว่าที่ช้าเพราะต้องไปขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องระบบแอร์

“ทางอนุกรรมการคิดว่าที่ช้าเพราะเครื่องมือผลิตวัคซีน แต่กลายเป็นเครื่องมือที่อ้างว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยให้คนปฏิบัติงานต้องยกระดับขึ้น ถามว่ามีเงินแล้วทำไมไม่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ทำไมไม่ออกแบบให้ปลอดภัยตั้งแต่แรก ผมเป็นหมอผ่าตัด ห้องผ่าตัดห้องไอซียูมันมีมาตรฐานอยู่ ข้องใจว่าทำไมไม่ออกแบบให้ปลอดภัยตั้งแต่แรก” นพ.เชิดชัยกล่าว

นอกจากนี้ เรื่องเครื่องจักรผลิตวัคซีน คณะกรรมการฯ สอบถามว่าจ่ายเงินไปแล้ว 280 ล้านบาท ปรากฏว่าไม่เห็นเครื่องจักรอยู่ที่ไหน สอบถามได้คำตอบว่าอยู่ที่บริษัทที่สั่งซื้อ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบข้อมูลของผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารส่วนที่ 1 คือบริษัทเอ็ม แอนด์ ดับเบิลยู (ไทยแลนด์) จำกัด เดิมชื่อบริษัทเอ็ม แอนด์ ดับเบิลยู แซนเดอร์ (ไทย) จำกัด ซึ่งมีคนไทย สิงคโปร์ เยอรมัน และอเมริกัน เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท

โดยมีผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นที่ถือมีดังนี้ 1. บริษัท เอ็ม แอนด์ ดับเบิลยู โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 50.98% 2. นายเดวิน เรย์มอนด์ ฟิลด์ (อเมริกัน) 16.33% 3. นางสาวตัน เปีย เลง 16.33% (สิงคโปร์) 4. นายเฮลมุท คุสเบ็ค 16.33% (เยอรมัน) 5. นางสาววรรณา แก้วระย้า 0.01% (2 หุ้น) 6. นางสาวสำดี อาวสกุลสุทธิ 0.005% (1 หุ้น)

ฐานะงบการเงินตั้งแต่ปี 2548-2554 ปรากฏว่าขาดทุนสะสม 55 ล้านบาท, 42.36 ล้านบาท, 4.03 ล้านบาท, 168.42 ล้านบาท และ 266.01 ล้านบาท ตามลำดับ

ในส่วนงบการเงินปี 2554 พบว่าบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวม 224.38 ล้านบาท ต้นทุนขาย-บริการ 194.12 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 112.85 ล้านบาท ขาดทุน 97.59 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสัญญาว่าจ้างพบว่ามีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง โดยลงนามว่าจ้างในวันที่ 18 กันยายน 2552 แก้ไขสัญญาเพิ่มเติม 29 เมษายน 2554 แก้ไขเพิ่มเติมอีก 21 กุมภาพันธ์ 2555 และแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 พฤษภาคม 2555 เพื่อขยายเวลาก่อสร้างเป็น 400 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญาโดยไม่มีการปรับแต่อย่างใด และล่าสุดมีการแก้ไขอีกในวันที่ 3 ธันวาคม 2555 โดยมีนายวิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ลงนาม กับนายไบรอัน ดอยเลอร์

สำหรับการก่อสร้างส่วนที่ 2 อาคารสนับสนุนส่วนกลาง วงเงิน 106.78 ล้านบาท บริษัทรับเหมาก่อสร้างคือบริษัท สเตพไวส์ จำกัด มีนายมานพ อัศวกิจพานิช กรรมการผู้จัดการ เซ็นสัญญาว่าจ้างเมื่อ 27 กันยายน 2553 วันที่ 28 เมษายน 2554 แก้ไขสัญญาว่าจ้างเปลี่ยนแปลงแบบฐานรากและยกระดับความสูงอาคาร ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 2.3 ล้านบาท และขยายเวลาก่อสร้างให้อีก 90 วัน โดยมีนายวิทิต อรรถเวชกุล ลงนาม จากนั้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 มีการแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงงวดงานและการจ่ายเงินใหม่ และวันที่ 20 มกราคม 2555 แก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงระยะเวลาขยายให้อีก 100 วัน ว่าเหตุจากน้ำท่วม สุดท้ายวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 แก้ไขเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการก่อสร้างเป็น 450 วัน นับจากสัญญาเดิมสิ้นสุด โดยไม่มีละเอียดของการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ส่วนสัญญาจ้างที่ปรึกษาจัดทำ Validation Master Plan (VMP) และการควบคุมการติดตั้งเครื่องจักรโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก นายวิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ลงนามว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมหาวิทยาลัยได้เสนอราคาเมื่อ 4 สิงหาคม 2553 ในส่วนการควบคุม-กำกับตรวจสอบ 30 ล้านบาท ส่วนงานจัดทำเอกสาร VMP 15 ล้านบาท แต่ลดราคาที่ปรึกษาเหลือ 42.8 ล้านบาท เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษี และทำสัญญาว่าจ้าง 29 พฤศจิกายน 2553

นอกจากนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ควบคุมการผลิตติดตั้งเครื่องจักร ควบคุมการตรวจสอบความถุกต้อง และจัดทำเอกสาร VMP โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก วงเงิน 50 ล้านบาท