ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ทศวรรษ ขายข้าวจีทูจี: (2) เปิดข้อมูลกรมศุลฯ 4 ปี รัฐส่งออกข้าวแค่ 4 หมื่นตัน ปี 2555 ขายจีน 212 ตัน

1 ทศวรรษ ขายข้าวจีทูจี: (2) เปิดข้อมูลกรมศุลฯ 4 ปี รัฐส่งออกข้าวแค่ 4 หมื่นตัน ปี 2555 ขายจีน 212 ตัน

16 เมษายน 2013


นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

ในการการระบายขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในรูปแบบ “จีทูจี” เรื่องของข้อเท็จจริงที่ว่ามีการส่งออกข้าวจริงหรือไม่เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นักวิชาการ และสื่อมวลชน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายซักฟอกการทำงานของรัฐบาลปลายปี 2554 ““ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” มือชำแหละ “จำนำข้าว”” พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมการขายข้าวแบบจีทูจีไม่มีการเปิดแอลซีมาจากต่างประเทศ และทำไมรัฐบาลจีนชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คที่ออกโดยสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทย”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาตอบกระทู้สดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ระบุว่า “ในปี 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลรับจำนำข้าวมาทั้งหมด 13 ล้านตัน ในจำนวนนี้รัฐบาลขายข้าวออกไปได้กว่า 7 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นการส่งออกข้าวผ่านระบบ” จีทูจี” 4.03 ล้านต้น ขายให้กับองค์กรต่างๆ 2.57 ล้านตัน และขายให้กับองค์กรในประเทศ 0.46 ล้านตัน และถ้ารวมการระบายขายข้าวเก่าที่ตกค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อนอีก 1.85 ล้านตัน รวมแล้วในปีที่ผ่านมารัฐบาลมีรายได้จากการขายข้าว 66,259 ล้านบาท”

ฝ่ายค้านระบุว่าไม่มีการขายข้าวผ่านระบบ “จีทูจี” ส่วนฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า ปี 2555 มีการขายข้าวแบบจีทูจีออกไปกว่า 4 ล้านตัน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2556 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับได้ยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 กับกรมศุลกากร เพื่อขอข้อมูลยอดการส่งออกข้าวที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเซ็นรับรองสำเนาความถูกต้อง

4 ปี ส่งออกข้าวแบบจีทูจี

ก่อนถึงช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 11 เมษายน 2556 กรมศุลกากรติดต่อให้ผู้สื่อข่าวมาเซ็นชื่อรับเอกสารข้อมูลสถิติการส่งออกข้าว (พิกัด 1006) โดยหน่วยงานภาครัฐช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาตามที่ร้องขอ

จากข้อมูลสถิติการส่งออกข้าวของกรมศุลกากร ซึ่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลตามใบขนสินค้าที่ระบุเลขที่พิกัดศุลกากร 11 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 1006xxxxxxx ซึ่งเป็นหมวดการส่งออกข้าวที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในรูปแบบของรัฐต่อรัฐ และรัฐต่อเอกชน (ไม่นับรวมกรณีส่งออกโดยเอกชนต่อรัฐ หรือเอกชนต่อเอกชน)

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ หลังจากที่ได้ข้อมูลจากกรมศุลกากร สำนักข่าวไทยพับลิก้าขอแปลงหน่วยวัดปริมาณข้าว จาก “กิโลกรัม” เป็น “ตัน” พบว่า ปี 2553 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หน่วยงานภาครัฐส่งข้าวออกไปขายต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 9,790 ตัน คิดเป็นมูลค่า 142 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยที่ 14,450 บาทต่อตัน โดยประเทศที่ส่งออกข้าวไปขายมากที่สุด คือ ประเทศโดมินิกัน 4,728 ตัน มูลค่า 63 ล้านบาท เฉลี่ย 13,274 บาท/ตัน รองมาเป็นประเทศเฮติ 3,942 ตัน มูลค่า 62 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 15,666 บาท/ตัน

ปี 2554 ช่วงรอยต่อของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีนี้หน่วยงานภาครัฐส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้น 29,851 ตัน มูลค่า 444 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 14,884 บาท/ตัน โดยส่งข้าวออกไปขายให้กับประเทศปากีสถาน 20,000 ตัน มูลค่า 295 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 14,750 บาท/ตัน ถัดมาเป็นประเทศเฮติ 9,744 ตัน มูลค่า 146 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 15,000 บาท/ตัน

ปี 2555 ข้อมูลกรมศุลกากรที่บันทึกตามใบขนสินค้า ระบุว่าปีนี้มีหน่วยงานภาครัฐส่งข้าวไปขายประเทศจีนรวมทั้งสิ้น 212 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.4377.43 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 34,954 บาท/ตัน ส่วนข้อมูลปี 2556 ไม่พบข้อมูลว่ามีหน่วยงานรัฐส่งข้าวออกไปขายในต่างประเทศ

4 ปี หน่วยงานรัฐส่งออกข้าว

รวมยอดการส่งออกข้าวที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ตลอด 4 ปี (2553-2556) ส่งออกข้าวไปขายให้กับประเทศคู่ค้าแค่ 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน เฮติ โดมีนิกัน ฟิลิปปินส์ และจีน ในปริมาณรวมทั้งสิ้น 39,853 ตัน คิดเป็นมูลค่า 594 ล้านบาท

การขายข้าวแบบจีทูจี คือ การเจรจาซื้อ-ขายข้าวระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ โดยวิธีพิเศษ ไม่ต้องเปิดประมูล การกำหนดราคาซื้อ-ขายขึ้นอยู่กับผลการเจรจา แต่ส่วนใหญ่เป็นราคามิตรภาพ กำหนดราคาขายต่ำกว่าราคาที่ซื้อจากภาคเอกชน

หากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่ได้บันทึกข้อมูลผิดพลาด กรณีนายณัฐวุฒิตอบกระทู้สดในสภาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ว่า “ในปี 2555 รัฐบาลส่งข้าวออกไปขายประเทศจีนในรูปแบบจีทูจีกว่า 4 ล้านตัน” รวมทั้งกรณีส่งออกข้าวไปขายอินโดนีเซีย บังกลาเทศ เกาหลีเหนือ และมาเลเซีย ไม่น่าจะเข้าข่ายจีทูจี แต่อาจจะเป็นการขายผ่านตัวแทนภาคเอกชน เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร จึงไม่ได้บันทึกข้อมูลไว้ในพิกัด(อ่านตอนที่3)