ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “กวดวิชา” มาตรฐานการศึกษาไทย เรียน “เพื่อสอบ” หรือเรียน “เพื่อรู้”

“กวดวิชา” มาตรฐานการศึกษาไทย เรียน “เพื่อสอบ” หรือเรียน “เพื่อรู้”

17 มีนาคม 2013


การศึกษาของไทยหากใครมีเงินมากกว่าย่อมได้เปรียบ เลือกเรียนที่ใดก็ได้ หากเรียนไม่เก่งก็เรียนพิเศษเพิ่มในสถาบันกวดวิชาในที่สุดก็จะสามารถเรียนเก่งได้ เพราะทำข้อสอบได้ และถึงแม้จะมีเงินพร้อม บางครั้งก็เรียนในโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เพราะที่นั่งเต็มแม้แต่คอร์สที่เรียนกับวิดีโอ เมื่อความต้องการเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สถาบันกวดวิชาด้านต่างๆ ขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่สอนด้านวิชาการ สำหรับคนที่ต้องการเรียนที่บ้าน ก็สามารถหาติวเตอร์มาสอนให้ได้แบบตัวต่อตัว ผ่านเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก

10 จังหวัดแรกที่มีโรงเรียนกวดวิชามากที่สุด

จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ

จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในภาคใต้และเหนือ

จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในภาคอีสาน

จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในตอนกลางของประเทศไทย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมด 1,983 แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานคร 487 แห่ง และต่างจังหวัด 1,496 แห่ง ใน 74 จังหวัด ยกเว้นหนองบัวลำพู ปัตตานี และนราธิวาส

สำหรับโรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัด มักกระจุกตัวอยู่ในเขตปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่ หรือจังหวัดหัวเมืองของภูมิภาค ที่สำคัญคือจะมีมากที่สุดในเขตอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีโรงเรียนกวดวิชามากที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา นนทบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ลพบุรี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดย 10 จังหวัดนี้มีโรงเรียนกวดวิชารวมกัน 1,031 แห่ง หรือร้อยละ 69 ของโรงเรียนทั้งหมดที่ยื่นขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบกับ สช.

เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 149 แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร 430 แห่ง และอื่นๆ อีกรวม 686 แห่ง แต่มีโรงเรียนกวดวิชาครบทั้ง 50 เขต จำนวน 487 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 71 ของโรงเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งจากการขยายสาขาและเปิดโรงเรียนกวดวิชาใหม่

สถิติของกระทรวงศึกษาธิการในปี 2553 ระบุว่า จำนวนนักเรียนที่เรียนในกรุงเทพฯ มี 859,085 คน แบ่งเป็นระดับอนุบาล 121,965 คน ระดับประถมศึกษา 364,588 คน และระดับมัธยมศึกษา 372,532 คน ซึ่งเชื่อว่าเด็กนักเรียนเกือบทุกคนต้องเรียนพิเศษนอกโรงเรียนเพื่อให้ผลสอบผ่าน มีผลการเรียนดีขึ้น หรือสามารถสอบเข้าโรงเรียนที่ต้องการได้

จำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ

ด้านโรงเรียนกวดวิชามีทั้งแบ่งการสอนตามระดับชั้นเรียนและสอนแยกตามวิชา สำหรับการสอนแยกตามชั้นเรียนนั้นมีรับสอนพิเศษด้านวิชาการตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งหลักสูตรที่ได้รับความนิยมและมีราคาแพงคือการติวเพื่อสอบเข้า ตั้งแต่สอบเข้า ป.1, ม.1, ม.4, มหาวิทยาลัย และการสอบเข้าโรงเรียนพิเศษ เช่น เตรียมทหาร นายร้อย การบินพลเรือน แอร์โฮสเตส ฯลฯ

การเรียนตามช่วงชั้นระหว่างอนุบาลถึง ป.6 นั้นมีทั้งแบบเรียนรวม 3 หรือ 5 วิชาในคอร์สเดียวกัน และเรียนแยกในบางวิชาที่เด็กมักมีปัญหา เช่น คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนคอร์สของนักเรียนมัธยมนั้นจะแบ่งเรียนตามรายวิชา ซึ่งบางวิชาอาจรวมอยู่ในคอร์สเดียวกันได้ เช่น ภาษาไทยและสังคม แล้วแต่ว่าโรงเรียนกวดวิชาจัดแบบไหน แต่สำหรับมัธยมปลายจะมีรายวิชาเพิ่มมากขึ้น ยากมากขึ้น จึงเกิดโรงเรียนกวดวิชาที่สอนเฉพาะวิชาขึ้นมา เช่น “แอพพลายด์ฟิสิกส์” สอนเฉพาะวิชาฟิสิกส์ “วรรณสรณ์” สอนเฉพาะวิชาเคมี “เอ็นคอนเส็ปท์” สอนเฉพาะภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งจากสถาบันอื่นๆ ที่มักจะสอนครบทุกวิชา

กรณีที่โรงเรียนมีหลายสาขา จะมีการเรียน 2 แบบ คือ มีอาจารย์มาสอนด้วยตัวเอง หรือ “คอร์สสด” และเรียนกับวิดีโอที่ถ่ายไว้ตอนคอร์สสด หากนักเรียนต้องการสมัครเรียนคอร์สไหน คอร์สสด (แพงกว่า) หรือวิดีโอ ก็จะเลือกลงทะเบียนเรียนผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารภายในกำหนดเวลาที่สถาบันกำหนดไว้ ถ้าคอร์สไหนเต็มแล้วก็จะโอนเงินไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนจะได้เรียนตามคอร์สและสาขาที่ต้องการ

โรงเรียนกวดวิชาที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย

โรงเรียนกวดวิชาที่มีสาขามากที่สุดในกรุงเทพฯ

แต่สำหรับนักเรียนมัธยมปลายนั้น ต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะได้เรียนคอร์สที่ต้องการ โดยเฉพาะคอร์สแอดมินชันหรือติวเข้าสอบมหาวิทยาลัยที่เป็นคอร์สสด เช่น โรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปิง (สอนภาษาไทยและสังคม) สาขาเยาวราช (คอร์สสด) นักเรียนหลายคนต้องรอธนาคารเปิดเพื่อให้ได้โอนเงินเป็นคนแรกในวันแรกที่เปิดสมัครเรียน เพราะการได้โอนเงินเป็นคนที่ 2 บ่อยครั้งพบว่า คอร์สเต็มแล้ว

เรามักได้ยินเสมอว่า คนจนมักเข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่สำหรับการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชานั้น ทุกคนล้วนมีทุนทรัพย์และต้องแข่งขันกันเสียเงิน ใครจ่ายก่อนก็ได้เรียน นี่อาจคือเหตุผลที่ว่าทำไมโรงเรียนกวดวิชาถึงเติบโตเร็วและกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง และที่สำคัญคือ “ธุรกิจการศึกษาไม่ต้องเสียภาษี” ทำให้หลายๆ คนหันมาเป็นคุณครูเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา

นอกจากโรงเรียนกวดวิชาด้านวิชาการแล้ว ยังมีโรงเรียนกวดวิชาด้านการสร้างเสริมทักษะชีวิตด้วย เช่น โรงเรียนพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง (ควอลิตี้ คิดส์/เบรนฟิตเนส) โรงเรียนภาษาอังกฤษพิงกุ ฯลฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพทางสมอง จินตนาการ และทางกายภาพ ซึ่งเริ่มในเด็กอายุ 3-12 ปี นั่นหมายความว่าเด็กทุกวัยได้เรียนพิเศษแน่ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนสอน

ทั้งนี้ ยังมีจำนวนโรงเรียนกวดวิชาอีกหลายสาขาและหลายสถาบันที่ไม่ปรากฏชื่อในข้อมูลของ สช. เช่น คุมอง ข้อมูล สช. ระบุว่ามีแห่งเดียวที่ราชบุรี ทั้งๆ ที่ความจริงมีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ, RAC รัชดาวิทยา มีชื่อปรากฏเพียง 35 แห่งจาก 49 แห่งทั่วประเทศ, ภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ มีชื่อปรากฏเพียง 19 แห่งจาก 34 แห่งทั่วประเทศ, อาจารย์ปิง มีชื่อปรากฏเพียง 17 แห่งจาก 31 แห่งทั่วประเทศ ฯลฯ

ปัจจุบัน การกวดวิชาไม่ได้มีเฉพาะรูปแบบของโรงเรียนที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่อยู่ในรูปแบบของการจ้างคนที่เรียกว่า “ติวเตอร์” ไปสอนที่บ้านด้วย ซึ่งผู้ปกครองหรือผู้เรียนจะติดต่อกับติวเตอร์ผ่านนายหน้าบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ไลน์ ฯลฯ

วิธีการติดต่องานกวดวิชาประเภทนี้ทำโดย ผู้ปกครองหรือผู้เรียนจะแจ้งแก่เว็บไซต์หรือนายหน้าว่าต้องการติวเตอร์สอนวิชาอะไร ต้องการให้ไปสอนที่ไหน เมื่อไร หลังจากนั้นนายหน้าหรือเจ้าของเว็บไซต์จะประกาศงานบนสื่อออนไลน์ของตนเอง โดยมีรายละเอียดผู้เรียน สถานที่เรียน ค่าจ้างสอนต่อชั่วโมง และค่านายหน้าที่ติวเตอร์ต้องโอนเงินก่อนรับงานสอนไป ซึ่งส่วนใหญ่คิดที่ร้อยละ 20 ของค่าสอนทั้งหมด หรือบางกรณีอาจจ่ายเพียงครั้งเดียว ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันแล้วแต่นายหน้าจะคิด เมื่อนายหน้าพิจารณาติวเตอร์ที่เหมาะได้ ติวเตอร์โอนเงินค่านายหน้าแล้ว ติวเตอร์ก็จะได้งานสอนนั้นๆ ซึ่งผู้เรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ต้องการเรียนที่บ้านกับติวเตอร์แบบตัวต่อตัว โดยติวเตอร์จะได้ค่าสอนชั่วโมงละ 250-500 บาท แล้วแต่ระดับชั้นและความยากของวิชาที่สอน

สำหรับคนที่ต้องการเป็นติวเตอร์ ทำเพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไชต์หรือเฟซบุ๊กที่รับติวเตอร์ โดยกรอกประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การสอน แล้วเข้าไปจองงานสอนตามที่นายหน้าประกาศ หากมีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมตามที่ผู้เรียนต้องการนายหน้าก็จะพิจารณางานสอนให้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะพิจารณาจากสถาบันการศึกษา และคณะที่ติวเตอร์เรียนหรือจบปริญญามา เพราะนายหน้าเหล่านี้มักจะการันตีธุรกิจการสอนของตนด้วย “ติวเตอร์จากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร”

ตัวอย่างโรงเรียนกวดวิชาที่รับสอนตามบ้าน เช่น บ้านติวเตอร์, ติวเตอร์แลนด์, ซียูติวเตอร์ ไอคิวพลัสเซนเตอร์ ตัวอย่างเพจกวดวิชาบนเฟซบุ๊ก เช่น ติวเตอร์ซียู, พี่เจมส์ติวเตอร์, เลิร์นพลัสติวเตอร์, ทีมติวเตอร์จุฬาหาดใหญ่, ไอคิวแม็กซ์เซ็นเตอร์

นอกจากติวเตอร์วัยรุ่นแล้ว คุณครูหรืออาจารย์ในโรงเรียนก็รับสอนกวดวิชาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีทั้งสอนเพื่อเพิ่มเกรดและติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียน และได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้ปกครอง เนื่องจากเชื่อมั่นในความเป็นครู มีวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ที่สามารถการันตีการสอนได้ โดยอาจคิดค่าสอนเป็นรายชั่วโมงหรือรายเดือน

แม้แต่ในโรงเรียนเอง แทบจะทุกโรงเรียนมีการสอนพิเศษในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาทำการบ้านของนักเรียนมากกว่าจะเรียนเพิ่มเติม ยกเว้นในช่วงใกล้สอบที่อาจจะสอนทบทวนหรือลองให้ทำข้อสอบคู่ขนานกับข้อสอบจริง

ทั้งหมดนี้คือการเรียนพิเศษในรูปแบบของการกวดวิชาของเด็กไทยเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการเรียนพิเศษในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา ร้องเพลง เต้นรำ ทำอาหาร ศิลปะ ฯลฯ เพื่อยกระดับทักษะชีวิต เพิ่มความสามารถพิเศษให้ลูก ซึ่งเด็กสามารถเรียนสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี

สำหรับวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่จะเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจากการเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือเพื่อทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ทำให้สถาบันสอนภาษาอังกฤษเติบโตมากในประเทศไทย ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 20 ชื่อสถาบัน บางสถาบันมีหลายสาขา รวมกันทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง เช่น เอยูเอ, วอลล์สตรีท, ไอจีเนียส, โรงเรียนสอนภาษาอีเอฟ ฯลฯ ซึ่งมักตั้งอยู่ในย่านธุรกิจอย่างสยามสแควร์ สีลม อโศก ฯลฯ และโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาเกาหลี อาทิ K-TOP, K edupac ภาษาญี่ปุ่น อาทิ โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ, แจ๊ท ภาษาจีน อาทิ เป่ยจิง, ฮั่นอี้ ซึ่งอาจเรียนที่โรงเรียนสอนภาษา เรียนกับสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเรียนกับสมาคมหรือสถานทูตของประเทศนั้นๆ

การเติบโตของสถาบันการศึกษานอกห้องเรียนดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนไม่เพียงพอให้เด็กและผู้ปกครองก้าวสู่อนาคตที่ต้องการได้ หากเรียนเพื่อเพิ่มเกรด นั่นอาจหมายถึงเรียนในโรงเรียนแล้วไม่เข้าใจ หากติวเพื่อสอบเข้า นั่นอาจหมายถึงเด็กและผู้ปกครองให้ความสำคัญกับข้อสอบและการทำข้อสอบได้มากกว่าเนื้อหาทั้งหมดที่ควรรู้ หรือตลอดเวลาที่เรียนมาเด็กไม่รู้และไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน จึงไม่สามารถมาประยุกต์ใช้เพื่อทำข้อสอบได้

จึงเป็นที่น่าขบคิดว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดมาเป็น 10 ปี แต่ทำไมถึงไม่ได้นักเรียนในโรงเรียนกวดวิชาลดลงเลย