ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > เปิดรายงาน กนง. แจงความเห็นต่างกรรมการฯ เสียงแตก 6:1

เปิดรายงาน กนง. แจงความเห็นต่างกรรมการฯ เสียงแตก 6:1

8 มีนาคม 2013


มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 6 ต่อ 1 ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2665 ทำให้เกิดการคาดเดากันมาตลอดว่า ใครคือ “กรรมการ 1 คน” ที่มีมติเสียงแตกเพียงคนเดียวด้วยการเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%

แต่ที่สำคัญกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องการให้ “น้ำหนัก” หรือเหตุผลของกรรมการที่เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยหรือควรคงดอกเบี้ย เพราะเมื่อทราบเหตุผลของความเห็นที่แตกต่าง จะได้ช่วยให้เข้าใจการตัดสินของ กนง. ได้มากขึ้น ส่วนจะช่วยให้คาดเดาว่าใครคือ “กรรมการ 1 คน” ที่เสียงแตกได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 หลัง กนง. ประชุม 2 สัปดาห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 โดยกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

สาระสำคัญของรายงานฯ คือ ในการพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสม ได้ระบุถึงความเห็นของกรรมการฯ 6 คน ที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี และความเห็นของกรรมการ 1 คน ที่ให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

โดยกรรมการฯ 6 คน ได้ให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ว่า

1. แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่จากความยืดเยื้อในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโร และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ

2. เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในเกณฑ์ดี โดยอุปสงค์ในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี กรรมการฯ 1 คน เห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2555 แสดงการชะลอตัวลง

3. ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังมีอยู่ ทั้งจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอดูความชัดเจนของความเสี่ยงในแต่ละด้าน

นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังระบุว่า กรรมการฯ 1 คน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุน และความสัมพันธ์นี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในช่วงใดของวงจรเศรษฐกิจ และภาวะของตลาดเงินในช่วงนั้นๆ

กรรมการฯรายนี้ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากทางการมีวิธีการกำกับเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างมีระบบและเหมาะสมกับสถานการณ์ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็อยู่ในวิสัยกระทำได้ แต่ทั้งนี้อาจจะต้องเตรียมมาตรการอื่นเสริมด้วยหากจำเป็น

ขณะที่ความเห็นหรือน้ำหนักของกรรมการฯ 1 คน ที่เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี คือ

1. แม้ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ส่วนหนึ่งเห็นได้จากการปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในรายงานเดือนมกราคมของ IMF และ World Bank เทียบกับรายงานฉบับก่อน

2. เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าไทยมีสัดส่วนที่สูงกว่าในอดีต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้

และ 3. อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อ การก่อหนี้ภาคครัวเรือน และการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ โดยทางการควรนำมาตรการ Macroprudential มาใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินด้วย ดังนั้น จึงควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่าคณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของกรรมการฯ 1 คนที่ให้ปรับลดดอกเบี้ย มิได้ให้น้ำหนักการพิจารณาสอดคล้องกับสภาพัฒน์ฯ ที่หนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อส่งสัญญาณว่ามีความกังวลต่อปัญหาเงินทุนไหลเข้า

สุดท้าย ไม่ว่า “ใคร” จะเป็นกรรมการฯ 1 ท่านที่เสียงแตก แต่ที่แน่ๆ คือ กรรมการทุกท่าน “ห่วง” เงินทุนเคลื่อนย้าย แต่มีความเห็นหรือให้น้ำหนักด้านเศรษฐกิจที่ “แตกต่าง” กัน

โดยกรรมการฯ เสียงข้างมากมองว่า แม้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน แต่เศรษฐกิจในประเทศ “แข็งแกร่ง” ขณะที่กรรมการฯ เสียงข้างน้อยกลับมองว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ยังมีความ “เปราะบาง” อยู่

เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ ท่ามกลางความไม่แน่นอน ต้องจับตาดูตัวแปรทางเศรษฐกิจการเงินในประเทศและต่างประเทศว่า ก่อนจะถึงการประชุม กนง. ครั้งต่อไปในวันที่ 3 เมษายนนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงจนมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของ กนง. หรือไม่

ดังนั้น การประชุมครั้งหน้าว่าคณะกรรมการฯ ทั้ง 7 คน จะลงมติเสียงเป็น “เอกฉันท์” หรือ “เสียงแตก” มีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เสียง

ต้องจับตามอง!