ThaiPublica > เกาะกระแส > “หมอประดิษฐ” ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข – จ่ายค่าตอบแทน “คนสาธารณสุข” ใครทำงานมากได้มาก และรื้อระบบตระกูล “ส” ใหม่

“หมอประดิษฐ” ปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข – จ่ายค่าตอบแทน “คนสาธารณสุข” ใครทำงานมากได้มาก และรื้อระบบตระกูล “ส” ใหม่

26 มีนาคม 2013


ข่าวแจก: กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมต.สาธารณสุข ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมต.สาธารณสุข ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com

ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข (สธ.) แบบผสมผสานเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและตามภาระงาน โดย สธ. จะหารือผู้เกี่ยวข้องเรื่องพื้นที่และอัตราจ่ายก่อนเสนอ ครม. รับทราบ 31 มีนาคมนี้

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวใน 3 เรื่อง คือ 1. การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร 2. งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาขึ้น ปี 2557 ที่รวมค่าตอบแทน และ 3. การเตรียมจัดบริการช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

เรื่องที่ 1. การจ่ายค่าตอบแทน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการการทบทวนค่าตอบแทนบุคคลากรสาธารณสุขในภาครัฐตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ โดยให้มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกับค่าตอบแทนตามภาระงาน ให้คงการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่เฉพาะและทุรกันดาร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ เขตชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะระดับ 1 และระดับ 2 การดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2556–31 มีนาคม 2557 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2557–31 มีนาคม 2558

สำหรับรายละเอียดของพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนและอัตราการจ่ายค่าตอบแทน กระทรวงสาธารณสุขจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและวิชาชีพต่างๆ หารือร่วมกันในวันที่ 27 มีนาคม 2556 และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงกลาโหม เป็นคณะกรรมการ วันที่ 28 มีนาคม 2556 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง ชุดที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 29 มีนาคม 2556 ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม.สัญจรเพื่อทราบในวันที่ 31 มีนาคม 2556

ตามร่างเดิม โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 2 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ห่างไกลจะจัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขที่มีกว่า 20 วิชาชีพจำนวนกว่า 320,000 คน เดินหน้าไปด้วยกันได้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สื่อสารทำความเข้าใจกับบุคคลากรโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้บางสาขาวิชาชีพ เช่น พยาบาล ได้เก็บข้อมูลภาระงานพร้อมแล้ว เช่นโรงพยาบาลบ้านบึง จ.ชลบุรี สามารถดำเนินการได้ทันที

เรื่องที่ 2 งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2557 ช่วงขาขึ้น ที่ขอไปในวงเงินทั้งหมด 189,179.55 ล้านบาท ประกอบด้วยเงิน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ งบหลักของ สปสช. เช่น งบเหมาจ่ายรายหัวและงบบริการต่างๆ วงเงินจำนวน 122,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 เป็นงบส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมเข้าไป คือ งบเงินเดือนของบุคลากรหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมต่างๆ รวม 29,952.72 ล้านบาท และเงินค่าตอบแทน 3,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นต้นทุนของหน่วยบริการอย่างแท้จริง โดยไม่ได้เป็นการตัดลดหรือแบ่งมาจากเงินบริหารจัดการรายหัวของ สปสช. แต่อย่างใด ซึ่งเงินดังกล่าวจะทำให้เกิดความมั่นคงในระบบ และจะมีต่อตลอดไป เพราะเป็นเงินค่าแรงที่รวมอยู่ในงบรายหัวแล้ว

สำหรับเรื่องที่ 3 คือ การเตรียมการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมอัตรากำลังให้พร้อมบริการ เนื่องจากในช่วงสงกรานต์จะมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจำนวนค่อนข้างมาก และได้ให้มีการอนุมัติค่าตอบแทนเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชดเชยให้เจ้าหน้าที่เสียสละมาทำงานในวันหยุดยาว

โดยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงกรณีที่จะมีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบางแห่งลาหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยนั้นว่า เชื่อว่าทุกวิชาชีพทางการแพทย์มีจรรยาบรรณ และสิ่งที่ได้ทำมาตลอดคือการระดมสรรพกำลังของทุกโรงพยาบาล เพื่อให้บริการผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน เชื่อว่าระบบบริการสาธารณสุขพร้อมดูแลเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ หากมีการหยุดงานจริง จะมีบุคลากรจากโรงพยาบาลใกล้เคียง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าไปช่วยดูแล ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารระดับจังหวัด และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลระดับเขต ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ได้ออกมายืนยันความพร้อมที่จะให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่

“หมอประดิษฐ” ตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ รื้อการทำงานตระกูล “ส”

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการศึกษาในเรื่องนี้มานานแล้ว ตนเพียงเข้ามาสานต่อจากการที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เกิดมีวิวัฒนาการด้านระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัญหาที่ทุกหน่วยรับทราบคือ บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีทั้งทับซ้อนกันหรือขาดหายไป เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้จัดบริการ (Provider) และดูแลกำหนดด้านมาตรฐาน (Regulator) แต่ยังไม่มีใครทำหน้าที่กำหนดทิศทางสุขภาพของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่ง สธ. เองก็ไม่พร้อมที่จะทำเรื่องนี้ เพราะอาจจะมีความขัดแย้งในบทบาทของตนเองเพราะเป็นผู้ให้บริการด้วย

ดังนั้น จึงมีแนวคิดจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ(National Health Authority: NHA) ขึ้น ทำหน้าที่กรองข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รวมทั้ง สธ. ที่เสนอหน้าที่ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพของประเทศ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายรัฐบาล

“ความเข้าใจที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาคุมองค์กรด้านสุขภาพทั้งหมดนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้อยู่เหนืออำนาจหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และตั้งขึ้นเพื่อดูแลคณะกรรมการทุกชุดที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านสุขภาพทั้ง สธ., สสส., สปสช., สช., สพฉ. เป็นต้น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งเป็นการปฎิบัติเชิงนโยบาย” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้สงสัยว่าทำไมไม่มีภาคประชาชนในคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการบริหารเชิงนโยบาย ซึ่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น สสส., สปสช., สช. ต่างก็มีภาคประชาชนอยู่ในทุกชุดอยู่แล้ว ถือว่ามีการกรองมาชั้นหนึ่งแล้ว และภาคประชาชนที่แท้จริงคือรัฐบาลที่เข้ามาโดยการเลือกตั้ง จึงถือว่าเป็นการกรองถึง 2 ชั้นแล้ว

ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ขึ้นมา กระทรวงสาธารณสุขจะถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงหน่วยดูแลกำหนดด้านมาตรฐานด้านบริการต่างๆ (Regulator) ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ให้เป็นมาตรฐานเดียวของประเทศ ทำงานแบบบูรณาการกับภาคบริการ ซึ่งผลดีจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

อ่านเพิ่มเติมการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข