ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนจาก “มินามาตะ” ถึง “มาบตาพุด” และหยุด”ส่งออกมลพิษ”

บทเรียนจาก “มินามาตะ” ถึง “มาบตาพุด” และหยุด”ส่งออกมลพิษ”

6 มีนาคม 2013


การประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง การสื่อสารความเสี่ยง: แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด
การประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง การสื่อสารความเสี่ยง: แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด

นับแต่มีการพบชาวบ้านในเมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางอย่างไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก ซึ่งต่อมามีการเรียกขานชื่อโรคดังกล่าวว่า “มินามาตะ” ตามชื่อเมืองนั้น

มาถึงวันนี้ แม้ระยะเวลาจะผ่านพ้นมากว่า 57 ปีแล้ว แต่ชาวมินามาตะยังต้องเผชิญกับทั้งความทรมานที่เกิดขึ้นกับร่างกายและบาดแผลในจิตใจมาโดยตลอด

โรคมินามาตะ เป็นโรคที่เกิดจากพิษจากสารปรอท อันมาจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทเจือปนออกมาของบริษัทชิสโซะ ซึ่งเป็นโรงงานเคมีที่ผลิตอะเซทิลีน อะซีทัลดีไฮด์ กรดอะซิติก ไวนิลคลอไรด์ ออคทานอล และสารเคมีอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยสารเคมีเหล่านี้ได้ถูกปล่อยลงสู่ทะเลชิระนุย บริเวณอ่าวมินามาตะ

มีการประมาณการกันว่า ตั้งแต่ บริษัทชิสโซะเปิดโรงงานในปี พ.ศ. 2475 ได้ทำการปล่อยสารปรอทอินทรีย์ในปริมาณที่มากถึง 70-150 ตัน เป็นสาเหตุให้ในปี 2552 หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตรากฎหมายพิเศษสำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคมินามาตะ มีผู้ป่วยที่ยื่นใบสมัครเพื่อรับมาตรการเยียวยามากถึง 58,000 ราย

สิ่งที่เกิดขึ้นในมินามาตะ กลายเป็นกรณีศึกษาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่หวังว่าจะใช้บทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตเพื่อสร้างอนาคต

ในเรื่องนี้ ศ.ดร.ฮานาเดะ มาซาโมริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ได้อภิปราย “ข้อสังเกตว่าด้วยหลักการป้องกันและระบบการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและมลพิษอุตสาหกรรม” ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง การสื่อสารความเสี่ยง: แนวทางสร้างอนาคตมาบตาพุด ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาจากประเทศญี่ปุ่น ไทย พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามเข้าร่วม

ศ.ดร.ฮานาเดะกล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทยในฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งสาเหตุที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฝ่ายผลิตมาตั้งโรงงานที่ประเทศไทยนั้น เนื่องจากกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในเรื่องของการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้เป็นเพราะในปี 2503-2513 ประเทศญี่ปุ่นเกิดมลพิษจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงมีการรณรงค์ของชุมชนให้มีระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการตั้งค่าชดเชยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในอัตราที่สูง

ทำให้ภาคเอกชนเกิดต้นทุนในป้องกันการเกิดมลพิษขึ้น นอกจากนี้ หากมลพิษจากโรงงานถูกปล่อยเกินกว่าข้อกำหนด เอกชนจะต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมากด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทอยู่ในสภาวะขาดทุนได้

ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นจึงตัดสินใจที่จะย้ายโรงงานการผลิตไปตั้งยังต่างประเทศแทน ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า “การส่งออกมลพิษ”

ในกรณีของมาบตาพุดนั้น กฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษของโรงงานยังไม่มีความเข้มงวดเท่ากับที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้อุบัติภัยทางมลพิษจึงยังเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างซ้ำๆ

นอกจากนี้ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นยังระบุถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลอุตสาหกรรมของคนในพื้นที่ว่า ควรจะเพิ่มให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะมีการทำ HIA หรือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลในเชิงวิชาการ ซึ่งเมื่อชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีความเข้าใจก็ไม่เกิดประโยชน์

“จากการลงพื้นที่ของทีมวิจัยจากญี่ปุ่น ได้เห็นรายงาน HIA หลายเล่มอยู่ในชุมชนจำนวนมาก ซึ่งทีมวิจัยได้นำกลับไปประเทศญี่ปุ่นประมาณ 20 เล่ม และพบว่าถ้าประชาชนไม่มีความรู้ในเรื่องของเคมีหรือวิศวกรรม จะไม่สามารถอ่าน HIA เหล่านั้นได้อย่างเข้าใจเลย ดังนั้น สิทธิการรับรู้ข้อมูลยังไม่เพียงพอและไม่แท้จริง” ศ.ดร.ฮานาเดะ

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนมีบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีและวิศวกรรมจำนวนมาก ดังนั้น ชุมชนจึงไม่อาจที่จะไปเจรจากับภาคเอกชนได้เลยเพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ฮานาเดะ ตั้งคำถาม 4 ข้อ ต่อวงสัมมนาดังนี้

1. ทำไมมาบตาพุดมีอุบัติภัยเกิดมากขึ้นและบ่อยขึ้น เป็นเพราะค่าเสียหายเชิงลงโทษน้อยไปหรือไม่

2. ค่าชดเชยต่อผู้เสียหายหรือผู้ป่วยจากเหตุการณ์อุบัติภัยไม่เพียงพอหรือไม่ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา มีเหตุเกิดขึ้นที่มาบตาพุดหลายครั้ง และได้สร้างความเสียหาย แต่ไม่ค่อยได้ยินว่าชาวบ้านได้รับการชดเชยทั้งผลกระทบทางร่างกายและความเสียหายของสิ่งแวดล้อมหรือไม่

3. มีโอกาสหรือไม่ที่จะมีการชดเชยเชิงระบุโทษอย่างในสหรัฐอเมริกา

4. HIA และการสื่อสารความเสี่ยงนั้นเป็นประโยชน์ มีเงื่อนไขแค่ไหน เพราะประเทศไทยยังมีความอ่อนแอและไม่มีความเข้มงวดในการติดตามมลพิษ

ทั้งนี้ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นเสนอว่า ควรจะมีการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษด้วยอัตราที่สูงต่อการทิ้งของเสียของอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้บริษัทเอกชนเข้มงวดกับการป้องกันมลพิษมากขึ้น

ด้าน ผศ.ปราณี พันธุมสินชัย อดีตคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงในพื้นที่มาบตาพุดอย่างมาก เพราะดูเหมือนว่าจะหยุดอะไรไม่ได้ แม้จะมีการกำหนดให้มีการทำ HIA หรือ EIA แต่ทุกอย่างก็ยังคงเดินหน้าต่อไป การประกาศผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็ยังไม่สำเร็จ

ในขณะที่ทางนิคมอุตสาหกรรมประกาศว่า เขาจะใช้พื้นที่ของเขาทุกตารางนิ้วอย่างเต็มที่ และให้นำพื้นที่ในส่วนของชุมชนทำเป็นพื้นที่ Green Belt หรือแนวพื้นที่สีเขียว อย่างไรก็ตาม มีหลายอย่างที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติบางอย่างออกไป แต่ก็อยู่เฉพาะในรายงานการประชุมเท่านั้น ไม่มีการนำไปปฏิบัติจริง

“เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ศ.ดร.ฮานาเดะในเรื่องของการให้มีบทกำหนดโทษ ในส่วนของประเทศนั้นมีกฎหมายในลักษณะนี้ แต่เราไปกำหนดค่าปรับขั้นสูงเอาไว้ ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะกำหนดค่าปรับขั้นต่ำ จึงทำให้อัตราค่าปรับของไทยยังต่ำอยู่มาก” อดีตคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกล่าว

ทั้งนี้ ได้มีผู้ร่วมเสวนาจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในกรณี “การส่งออกมลพิษ” ของประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า เมื่อประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นมาลงทุน และตกอยู่ในฐานะ “ผู้นำเข้ามลพิษ” แล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของมาบตาพุด ฉะนั้น อยากจะขอร้องนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและชาวไทยว่า อย่า “ส่งออกมลพิษ” ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าหรือเวียดนาม อีกทอดหนึ่ง