ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ดัชนีคอร์รัปชันวงการทหารปี 2013 “ไทย” อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

ดัชนีคอร์รัปชันวงการทหารปี 2013 “ไทย” อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

5 มีนาคม 2013


ผลสำรวจดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้านการป้องกันประเทศ 2013 (Government Defence Anti-Corruption Index 2013)
ผลสำรวจดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้านการป้องกันประเทศ 2013 (Government Defence Anti-Corruption Index 2013)

องค์กรความโปร่งใสสากล สาขาประเทศอังกฤษ เปิดเผยดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชันด้านการป้องกันประเทศ ปี 2013 ครอบคลุม 82 ประเทศทั่วโลก ระบุประเทศส่วนใหญ่ยังน่าห่วง มีเพียง 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย และเยอรมัน ที่ความเสี่ยงคอร์รัปชันต่ำ ด้านประเทศไทยอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง

ช่วงปลายเดือนมกราคม 2013 ที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสสากล สาขาประเทศอังกฤษ (Transparency International UK) ได้เปิดเผยดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้านการป้องกันประเทศ (Government Defence Anti-Corruption Index หรือดัชนี GI) ที่ครอบคลุมไปถึงการต่อต้านคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหม และแวดวงทหาร โดยเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชันด้านการป้องกันประเทศขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะชน และเป็นแนวทางให้กระทรวงกลาโหมของประเทศต่างๆ ป้องกัน ลดความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการคอร์รัปชัน

ดัชนี GI นี้ จัดทำขึ้นโดยการสำรวจประเทศต่างๆ 82 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านการทหารรวมกันมากกว่า 94% ของงบประมาณทหารทั้งโลกในปี 2011 หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการตรวจสอบสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันในหน่วยงานกลาโหมของตนเอง มีประเด็นที่ทำการสำรวจ 77 หัวข้อ ครอบคลุมความเสี่ยง 5 ด้าน ที่อาจเกิดการคอร์รัปชันได้ในแวดวงกลาโหม ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการเมือง ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านบุคลากร ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดทำดัชนี GI นี้ เริ่มต้นทำตั้งแต่ปี 2004 และเสร็จสิ้นในปี 2013 โดยในส่วนการสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมหลายประเทศพบว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำการตอบแบบสำรวจจำนวนมาก ต่างตระหนักดีถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นในแวดวงกลาโหม และรู้ว่าความไว้วางใจจากสาธารณะชนเป็นสิ่งสำคัญ และหากมีเรื่องอื้อฉาวจากการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ความไว้วางใจจากสาธารณะเหล่านี้จะถูกทำลาย และปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพของกองทัพลดลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทหารที่อาจตกอยู่ในอันตรายจากการใช้อาวุธที่ไม่ได้มาตรฐาน และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นอาจเกิดขึ้นได้เพราะเงินสินบน

Untitled-1

โดยผลการสำรวจของดัชนี GI พบว่า เกินครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 70% ของรัฐบาลในประเทศที่ทำการสำรวจ มีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหมสูง โดยประเทศส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันน้อยเกินไป มีการปล่อยปละละเลย และมีหลายประเทศที่กระทรวงกลาโหมยังคงเป็นแดนสนธยาที่เข้าถึงยาก ไม่เปิดโอกาสให้สาธารณะชนตรวจสอบ

จากผลการสำรวจที่แบ่งผลออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ A คือมีความเสี่ยงต่ำมาก B มีความเสี่ยงต่ำ C มีความเสี่ยงปานกลาง D มีความเสี่ยงสูง และไล่ระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจนไปถึง F ที่มีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่นเข้าขั้นวิกฤติ

ปรากฏว่ามีเพียง 2 ประเทศ จาก 82 ประเทศที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหมที่ต่ำ คืออยู่ในระดับ A คือประเทศ ออสเตรเลีย และเยอรมัน โดยมี 57 ประเทศ คิดเป็น 70% ของทั้งหมดที่มีความเสี่ยงสูงในระดับ D ลงมา

โดยในความเสี่ยงทั้ง 5 ด้าน ผลการสำรวจพบว่า ในความเสี่ยงด้านการเมือง ยังคงมีข้อจำกัดจำนวนมากสำหรับองค์กรทางกฎหมายในการตรวจสอบฝ่ายความมั่นคง ซึ่ง 45% ของประเทศที่ทำการสำรวจ ไม่มีกลไกอย่างเป็นทางการในการตรวจสอบนโยบายด้านการป้องกันประเทศ พบเพียง 12% ของประเทศที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่มีกลไกในการตรวจสอบฝ่ายความมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเสี่ยงด้านการเงิน เรื่องงบประมาณยังคงเป็นส่วนที่มีความลับ และความไม่โปร่งใสมากที่สุด โดย 3 ใน 4 ของประเทศที่ทำการสำรวจ ไม่มีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายของกองทัพต่อสาธารณะชน และไม่มีการเปิดเผยสัดส่วนของงบประมาณลับต่องบประมาณทั้งหมดให้มีการตรวจสอบ แม้แต่จากองค์กรของรัฐด้วยกันเอง โดยมีเรื่องนโยบาย และความมั่นคงเป็นข้ออ้างในการไม่เปิดเผย

ในความเสี่ยงด้านบุคลากร พบว่า ประเทศที่ทำการสำรวจกว่า 70% มีระบบการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี ทำให้มีการตรวจพบการทุจริตในส่วนนี้ แต่ในกระบวนการร้องเรียน หรือเปิดเผยข้อมูล (Whistle blowing) ยังคงมีปัญหา โดยมี 76 ประเทศที่ทำการสำรวจยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกมาเปิดเผย หรือแฉข้อมูลในหน่วยงานตนเองเมื่อพบการทุจริต ขณะที่ในความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ยังไม่มีมาตรการป้องกันการคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม

และความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ยังคงพบความไม่โปร่งใสเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ไม่มีการตรวจสอบ และปล่อยให้มีการเก็บค่านายหน้า หรือรับช่วงสัญญาจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ความเสี่ยง 5 ด้าน ต่อการคอร์รัปชั่นได้ในแวดวงกลาโหม
ความเสี่ยง 5 ด้าน ต่อการคอร์รัปชั่นได้ในแวดวงกลาโหม

สำหรับประเทศไทย ดัชนี GI จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ D+ เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูง (เนื่องจากประเทศในกลุ่ม D มีมากถึง 30 ประเทศ ดัชนี GI จึงได้แบ่งประเทศในกลุ่ม D เป็น 2 ระดับคือ D+ และ D- โดยถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยงสูงเหมือนกัน แต่ในระดับ D+ จะเสี่ยงน้อยกว่า D-)

ลักษณะของประเทศในกลุ่ม D ส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงคอร์รัปชัน 5 ด้าน จะพบว่าประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถวางมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันให้ครอบคลุมความเสี่ยงส่วนใหญ่ได้ มีเพียงการป้องกันที่ดีในบางด้านเท่านั้น แตกต่างจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในระดับ A และ B หลายประเทศ ที่มีมาตรการที่ดี ครอบคลุมในทุกด้านของความเสี่ยง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยง และสร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบจากองค์กรต่างๆได้ เช่น รัฐสภา และองค์กรอิสระอื่นๆ เป็นต้น

ในส่วนของเรื่องที่ดี สำหรับประเทศในกลุ่ม D ซึ่งรวมถึงประเทศไทย รายงานของดัชนี GI ระบุว่าประเทศนี้ยังมีเรื่องดีที่น่าพึงพอใจ อาทิ การจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในกองทัพได้ตรงต่อเวลา มีการตรวจสอบทำให้พบ “ทหารผี” หรือทหารปลอมที่ไม่ได้เข้าประจำการ แต่มีรายชื่อในการรับเงินเดือน ซึ่งมีการเชื่อมโยงไปถึงการฟอกเงินในกองทัพ โดยมีการตรวจพบหลักฐาน และได้รับรายงานจากประเทศไทย และรัสเซียช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และประเทศในกลุ่ม D ส่วนใหญ่ แม้จะพบว่ามีความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นสูง แต่ก็ยังคงให้ความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลเป็นอย่างดี ต่างกับประเทศในกลุ่ม E และ F

แต่สิ่งที่ยังคงน่าเป็นห่วง ที่เป็นความเสี่ยงการคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหมของประเทศในกลุ่ม D คือ การไม่มีกลไก และมาตรการรองรับในกรณีมีผู้ร้องเรียน หรือเปิดเผยข้อมูล (Whistle blowing) ที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันประเทศ ไม่มีมาตรการประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน (Risk assessment) ในในระเบียบปฏิบัติทั่วไปของกองทัพ และไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความรู้ หรือเชี่ยวชาญในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ขณะที่งบประมาณ ยังคงพบมีการใช้จ่ายงบประมาณลับโดยไม่มีการเปิดเผยถึงตัวเลข แม้จะเป็นตัวเลขในระดับคร่าวๆก็ตาม โดยไม่การเปิดโอกาสให้มีการการตรวจสอบจากองค์กรตามกฎหมาย เช่น รัฐสภา และไม่เปิดให้องค์กรอิสระอื่นๆทำหน้าที่ในการตรวจสอบคานอำนาจของกองทัพ โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างกองทัพ ที่กระทรวงกลาโหมยังคงเก็บสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เป็นความลับ และปล่อยให้มีตัวแทน หรือผู้รับเหมาช่วง มารับงานต่อจากผู้ที่ประมูลงานจากกองทัพได้ โดยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี เป็นความเสี่ยงที่สำคัญของการคอร์รัปชันในกองทัพ

ทั้งนี้ องค์กรความโปร่งใสสากลระบุว่า การคอร์รัปชันด้านการป้องกันประเทศ ที่ครอบคุลมไปถึงกระทรวงกลาโหม และแวดวงทหาร จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพที่มีต่อประชาชน ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และอาจพาชีวิตของประชาชนไปสู่ความเสี่ยงได้ ขณะที่กองทัพ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็อาจได้รับความเสี่ยงจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น หรือด้อยคุณภาพ

ส่วนผลกระทบต่อประเทศ การคอร์รัปชันในแวดวงทหารอาจทำให้เกิดความรุนแรง และความวุ่นวายจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก และเนื่องจากงบประมาณด้านกลาโหม และงบประมาณของกองทัพมักไม่ถูกตรวจสอบ ปัญหาการคอร์รัปชันในส่วนนี้จึงมีสูงจนอาจทำประเทศเสียหายได้ ซึ่งการคอร์รัปชันในแวดวงทหารนี้ อาจทำให้ความปลอดภัยในระดับประเทศ และในระดับโลกตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน