ThaiPublica > คอลัมน์ > การเสพและส่งต่อเรื่องเล่าอย่าง “วรป.”

การเสพและส่งต่อเรื่องเล่าอย่าง “วรป.”

24 มีนาคม 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/AComradeofMine/posts/342640835837921 สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 07.27 น.
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/AComradeofMine/posts/342640835837921 สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 07.27 น.

โพสต์ข้างที่ผู้เขียนตัดภาพมาให้ดู เป็นเหตุการณ์ซ้ำซากเกี่ยวกับเสพสื่อทั้งหลายแหล่ที่พบเจอมาตั้งแต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโลกออฟไลน์ กระทั่งบัดนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ เรื่องราวทำนองนี้นั้นก็ยังดำรงอยู่ ซึ่งเห็นแล้วก็ทำให้ต้องยิ้มแย้มอย่างเจื่อนๆ แกมเอ็นดูกึ่งจวนปลงว่า คนเรานี้ช่างมีความคงเส้นคงวาในการรับและกระจายข่าวสารเสียจริงๆ

มันช่างชวนให้สงสัยว่า ด้วยความ “เร็ว” และ “เยอะ” ของข้อมูลข่าวสารที่เลื่อนไหลอยู่ในโลกออนไลน์ในยุคที่มีการใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย ที่ทำให้เรื่องที่ผ่านไปเพียงหนึ่งวินาทีกลับยาวนานและห่างไกลเสียราวกับเกิดขึ้นเมื่อวาน ด้วยโครงสร้างของโลกที่เป็นแบบนั้น มันกำลังผลักให้เราเข้าไปสู่โลกของการรับและกระจายข่าวสารต่ออย่าง “ว่องไว-ไร้วิจารณญาณ-ปลาสนาการซึ่งความรับผิดชอบ (ต่อไปจะใช้ว่า วรป.)” มากยิ่งขึ้นหรือเปล่า

คงไม่ต้องให้กล่าวใช่ไหมครับ ว่าการใช้ชีวิตอย่าง วรป. นั้นมันมีผลเสียอย่างไร และยิ่งถ้าสภาพ วรป. นี้มันเป็นไปแก่ผู้คนทั้งสังคม จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานไปโดยไม่ตั้งใจ (ก็กระแสโครงสร้างมันพาไป) วันหนึ่ง ตัวเราเองก็อาจต้องตกเป็นเหยื่อของสภาพ วรป. นี้เสียเอง

ที่มาภาพ: หน้าเฟซบุ๊ก Occupy Brazil https://www.facebook.com/photo.php?fbid=316239838465377&set=pb.159576054131757.-2207520000.1363482047&type=3&src=https%3A%2F%2Ffbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net%2Fhphotos-ak-snc6%2F182303_316239838465377_1983246527_n.jpg&size=413%2C480 สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 08.03 น.
ที่มาภาพ: หน้าเฟซบุ๊ก Occupy Brazil https://www.facebook.com/photo.php?fbid=316239838465377&set=pb.159576054131757.-2207520000.1363482047&type=3&src=https%3A%2F%2Ffbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net%2Fhphotos-ak-snc6%2F182303_316239838465377_1983246527_n.jpg&size=413%2C480 สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 08.03 น.
ที่มาภาพ: http://www.moillusions.com/wp-content/uploads/2010/01/Media-Manipulation-Optical-Illusion1.jpg สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 08.07 น.
ที่มาภาพ: http://www.moillusions.com/wp-content/uploads/2010/01/Media-Manipulation-Optical-Illusion1.jpg สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556 เวลา 08.07 น.

ทั้งสองภาพด้านบนนี้นั้น เป็นภาพที่ทำขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้เรารู้จักใช้ความระมัดระวังในการเสพสื่อต่างๆ ซึ่งผู้เขียนคิด (และอยากให้ตระหนักใจกันไว้ตลอดเวลา) ว่า สิ่งที่เป็น “สื่อ” นั้นมีอยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่เป็น “สื่อสารมวลชน” รูปแบบต่างๆ แต่แม้กระทั่งปัจเจกผู้กำลังบอกเล่าเรื่องราวอะไรสักอย่างก็เป็นสื่อเช่นกัน

เราใช้คำว่า “สื่อ” ในฐานะที่เป็นคำแปลของคำว่า “media” จนอาจจะลืมนึกไปหรือกระทั่งไม่เคยรู้ว่า จริงๆ แล้ว media คือรูปพหูพจน์ของคำว่า “medium” ผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาใดๆ นักนะครับ แต่คิดว่า การที่เราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า media ที่มาแปลกันว่าสื่อนั้นเป็นรูปพหูพจน์ของ medium ซึ่งสามารถแปลเป็นไทยได้ว่า “ตัวกลาง” น่าจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างห่างไกลจากการสร้างสภาพการเสพและบอกต่ออย่าง วรป. ได้ดีขึ้น

เราใช้คำว่าสื่อในฐานะของคำนามกันมากอยู่นะครับ ซึ่งเข้าใจว่าเพราะเรียกโดยย่อจากคำว่า “สื่อมวลชน” เราเรียกสำนักข่าวต่างๆ ว่าเป็นสื่อค่ายนั้นค่ายนี้ การใช้คำว่าสื่อในฐานะคำนามนี้อาจทำให้เราลืมความหมายของมันในฐานะคำกริยาไป ทำให้เราลืมนึกไปว่า เรากำลังเสพ “เรื่องเล่า” จาก “ตัวกลาง” ที่ได้ไปพบเห็น “เรื่องราว” แบบหนึ่งมา

เรื่องเล่าเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ เกิดเพราะมีใครหรืออะไรสักอย่างมาเล่าหรือ นั่นเป็นปลายทางครับ แต่ ณ ต้นทางนั้น เรื่องเล่าเกิดจากการที่มีผู้ “เลือก” หยิบเอาองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในฉาก/เหตุการณ์หนึ่งหรือหลายฉาก/เหตุการณ์มาเชื่อมโยงกันด้วยเหตุและผลแบบต่างๆ (หรือก็คือพลอตเรื่องนั่นเอง) จนเกิดเป็นเรื่องเล่าขึ้นมา ซึ่งการเชื่อมโยงอัน “สมเหตุสมผล” จะสามารถสร้างเรื่องเล่าที่ “สมจริง” ขึ้นมาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องเล่าจะสมเหตุสมผลจนสมจริงได้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดจากฝ่ายผู้เล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่หมายความว่า อย่างแคบที่สุด ฝั่งผู้รับฟังเรื่องเล่าจะต้องมีความเข้าใจในความเป็นเหตุและผลของเรื่องเล่านั้นด้วย หรืออย่างกว้างที่สุดคือ ฝั่งผู้เล่าเรื่องและผู้ฟังเรื่องเล่าจะต้องอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน-มีรหัสวัฒนธรรมร่วมกัน

คิดอย่างง่ายๆ มันคล้ายกับการเลือกเอาคำบางคำจากคำสิบคำที่มีอยู่มาแต่งเป็นประโยคน่ะครับ หรืออาจจะลองยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้ามีใครสักคนเมาเล่าให้คุณฟังว่า “ฉันใช้ชีวิตอย่างทรหดกดปุ่ม” คุณก็คงไม่เข้าใจ เพราะความคุ้นเคยปกตินั้นคือ “ทรหดอดทน”

เรื่องเล่าเกิดขึ้นมาเพราะแบบนั้น และเมื่อจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าเกิดจากการ “เลือกหยิบจากสิ่งที่มีอยู่” ก็ย่อมมีสิ่งที่ “ถูกทิ้ง/ไม่นับรวม” เข้ามาเป็นองค์ประกอบของเรื่องเล่าอยู่ด้วย ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงถูกทอดทิ้งแบบนั้น คำตอบก็คือ อาจเพราะ “ไม่สังเกตเห็น” หรืออย่างที่อาจจะดูไม่ดีนักก็คือ “ไม่เป็นประโยชน์ต่อเรื่องเล่า” และที่น่าจะแย่ที่สุดก็คือ หากนับรวมเข้ามาแล้ว จะทำให้เรื่องเล่าไม่สมเหตุสมผลตามจุดประสงค์ที่ต้องการเล่า

ทั้งหลายทั้งปวงแห่งการหยิบทำหยิบทิ้งอันกล่าวไปแล้วนี้ สามารถอธิบายได้ดีด้วยภาพสองภาพด้านบน ที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องเล่าที่ผ่านตัวกลางนั้น สามารถถูกหยิบมาเล่าให้เข้าใจได้หลายทาง หรือกระทั่งผิดเพี้ยนอย่างกลับหัวกลับหางไปจากข้อเท็จจริง (ซึ่งแน่นอนว่าข้อเท็จจริงนั้นก็มีได้หลายแบบอีกนะครับ)

และเพราะธรรมชาติของเรื่องเล่ามันเป็นเสียแบบนี้ เมื่อต้องการเล่าเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงแล้ว เทคนิคในการรวบรวมองค์ประกอบของฉากมาเล่าเพื่อให้เข้าใกล้ข้อเท็จจริงแห่งเหตุการณ์ที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าจรรยาบรรณตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีทั้งในสื่อ/ตัวกลางที่หมายถึง “บุคคลทั่วไป” และสื่อ/ตัวกลางที่หมายถึง “สื่อมวลชน” เพียงแต่ฝ่ายหลังนี้อาจจะต้องมีหลักการและเทคนิควิธีที่เข้มข้นและเป็นระบบกว่า เพราะต้องนำเสนอเรื่องเล่าสู่การรับรู้ของผู้คนจำนวนมาก

แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้ใครๆ ก็สามารถกลายเป็นสื่อมวลชนได้ เพราะต่างก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวให้มหาชนวงกว้างได้ฟังเหมือนๆ กัน ปัญหามันก็เกิดขึ้นครับ เพราะเราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ทุกวันนี้ วิชาชีพอันจำเป็นต้องมีจรรยาบรรณและความเป็นมืออาชีพเป็นตัวกำกับในการสร้างเรื่องเล่าอย่างสื่อมวลชนนั้นน่าเชื่อถือขนาดไหน แล้วบุคคลธรรมดาที่อยู่ๆ ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นสื่อมวลชนด้วยตัวเองโดยอาศัยเทคโนโลยีนั้น ระดับความน่ากังวลต่อการทำตนเป็นตัวกลางจะมากน้อยเพียงไหนอย่างไร

ซึ่่งจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วก็ตลกดีครับ บางทีคนธรรมดาที่กลายมาเป็นสื่อมวลชนด้วยเทคโนโลยี กลับมีความเป็นมืออาชีพในการเสนอเรื่องเล่าต่างๆ เสียยิ่งกว่าผู้ที่เป็นสื่อมวลชนโดยอาชีพเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความระมัดระวังในการนำเสนอ ความรับผิดชอบเมื่อนำเสนอข้อเท็จจริงผิดพลาด เรียกว่าไม่ยอมสร้างเรื่องเล่าอย่าง วรป. เลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนโดยวิชาชีพ หรือสื่อมวลชนโดยเทคโนโลยี ก็ล้วนมีโอกาสที่จะสร้างเรื่องเล่าอัน วรป. ทั้ง “โดยเผอเรอ” และ “โดยเจตนา” ด้วยกันทั้งสิ้น และภาพที่ตัดมาจากสเตตัสของเพจมิตรสหายท่านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การสื่อด้วยการสร้างและบอกต่อเรื่องเล่าอย่าง วรป. นั้นสามารถเป็นภัยได้ในทางไหน

การที่ผู้เขียนยกภาพเกี่ยวกับสื่อทั้งสองภาพมานั้น เพราะอยากให้ตระหนักกันอยู่เสมอว่า เรื่องเล่าที่เราพบ ไม่ว่าจะมาจากสื่อมวลชนโดยวิชาชีพ สื่อมวลชนโดยเทคโนโลยี หรือกระทั่งจากการฟังใครสักคน เรากำลังฟังโดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในฉากจริงๆ อันเป็นที่มาของเรื่องเล่านั้นมันมีอะไรอยู่บ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้าง และเกิดขึ้นอย่างตรงกับเหตุและผลแห่งเรื่องเล่าที่เรารับรู้ขนาดไหน

เมื่อเป็นเช่นนั้น การเชื่อว่าตัวเองได้ใช้วิจารณญาณโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีเพียงเพราะเห็นเรื่องเล่าตรงหน้า จึงเป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเกิดการรับและส่งต่อเรื่องเล่าอย่าง วรป. นั่นเอง

เสพสื่ออย่างมีความ “ไม่เชื่อ” เป็นพื้นฐานกันเถอะครับ