ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ถามเองตอบเอง 3 ข้อกังขา กู้เงิน 2 ล้านล้าน

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ถามเองตอบเอง 3 ข้อกังขา กู้เงิน 2 ล้านล้าน

19 มีนาคม 2013


“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ก่อนวันที่จะมีการเสนอ พ.ร.บ.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพียง 1 วัน

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินสายทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณดังกล่าว ในการประชุมสามัญประจำปี 2556 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมวินด์เซอร์ สวีทส์ สายหนึ่งจัดขึ้นโดยนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขณะที่อีกสายหนึ่งจัดโดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งนายชัชชาติปาฐกถาในหัวข้อเดียวกันทั้งสองงาน

ทั้งนี้ ในงานที่จัดโดยนายโสรัตน์ นายชัชชาติได้กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยใช้ระบบขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 86% ส่งผลให้มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 15.2% หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาทต่อปี การใช้ถนนมากส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งสร้างความเสียหายสูงถึง 232,000 ล้านบาทต่อปี และยังก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนนไปสู่การขนส่งทางรางให้มากขึ้น

ควัก 4 แสนล้าน ขยายถนน 4 เลน

ที่ผ่านมาเราทำถนนเยอะ หลักการสำคัญก็คือเราต้องเปลี่ยนมาทางรางให้มากขึ้น ลดความแออัดของ กทม. การติดต่อธุรกิจลำบาก ไปไหนรถติด ทำให้สูญเสียโอกาสต่างๆ ไปหมด ปัจจัยที่ท้าทายเราคือการทำให้ กทม.คล่องตัวขึ้น ขณะเดียวกันก็จะไม่ทิ้งการพัฒนาและสร้างถนน เพราะ 80% ในการคมนาคมยังเป็นถนนอยู่ โดยงบประมาณที่จะลงในโครงการทำถนนประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อปรับปรุงทางคอขวดทั้งหมดในประเทศไทย

โครงการถนน 4 เลน มีมาตั้งแต่ปี 2538 แล้ว แต่ยังทำไม่เสร็จเลย ทั้งที่เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี เพราะเราต้องรองบประมาณเป็นรายปี ต้องวิ่ง 2 เลนบ้าง 4 เลนบ้าง สลับกันไปอย่างนี้ นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเส้นเออีซี สะพานเชียงของ ออกไปทาง จ.ตาก ประเทศกัมพูชา เพื่อเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน ปีที่ผ่านมา การค้าไทย-ลาวเพิ่มขึ้น 34% ไทย-กัมพูชา 25% ไทย-พม่า เพิ่ม 10% ถ้าเออีซีมาเราจะมีโอกาสอีกมากมาย โดยเฉพาะประเทศไทยคือสี่แยกอาเซียน เราอยู่กลางเชื่อมเหนือ ใต้ ออก ตกได้ ไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งที่ดีแบบเราแล้ว แต่โครงสร้างเราไม่ดี เราจะต้องปรับให้ได้

ขณะที่ 4 เลนเดิม เช่น เพชรเกษม สาย 4 สาย 1 นั้น ปัจจุบันสภาพแย่มาก จะมีการปรับใหม่ให้อยู่ในสภาพที่ดีทั้งหมด เพื่อให้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไปได้สะดวกขึ้น พร้อมกับทำถนนเชื่อมชายแดน 12 แห่ง ทำให้ครบด่านชายแดน 41 แห่งทั่วประเทศ ปรับปรุงให้ดีขึ้น ต่อไปจะเป็นด่านซิงเกิลสตอป เช่น ด่านไทย ด่านลาว จะอยู่ในจุดเดียวกัน ตรวจจุดเดียวออกนอกประเทศเลย ทำให้กระบวนการทั้งหมดทำได้เร็วขึ้น

7 ปี ทำรางคู่ 3 พันกิโลฯ

ถามว่ารัฐบาลต้องทำอะไร อันแรกเลย รถไฟรางคู่ทั่วประเทศ รางกว้าง 1 เมตร ปัจจุบันเรามีรางรถไฟทั้งสิ้น 4,000 กิโลเมตร มีเพียง 300 กิโลเมตร ที่เป็นทางคู่คือรถสวนกันได้ อีก 3,700 กิโลเมตร เป็นรางเดี่ยว คือรอให้รถขาล่องมาขาขึ้นวิ่งได้ ซึ่งเราจะปรับทางคู่ประมาณ 3,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศภายใน 7 ปี รถไฟจะได้วิ่งได้สะดวก จากเดิมความจุ 90 ขบวนต่อวัน จะเพิ่มเป็น 300 ขบวนต่อวัน เพิ่มขึ้น 3 เท่ากว่า

พร้อมเพิ่มเติมอีก 3 สาย คือ 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันทางรถไฟไทยครอบคลุม 47 จังหวัด ไม่ได้ครอบคลุมทุกจังหวัด 2. ทำสายอีสานบน จากบ้านไผ่ ขอนแก่น–นครพนม-มุกดาหาร เพื่อเชื่อมอีสานบน ขนน้ำตาล อ้อย ยางพารา และ 3. เชื่อมบ้านภาชี-ท่าเรือนครหลวง เพื่อเอารถไฟมาขนของแล้วส่งต่อทางเรือตามแม่น้ำป่าสักลงแหลมฉบังได้

นอกจากนี้จะมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรถไฟประเภทนี้จะมีรางต่างหาก กว้าง 1.435 เมตร ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มี 4 เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ กทม.-หนองคาย กทม.-ระยอง กทม.-ปาดังเบซา เราจะเสนอเงินเฉพาะที่ทำได้ก่อน 7 ปี เวลาเดินทางกทม.-เชียงใหม่ แค่ 3 ชั่วโมงครึ่ง จากตอนนี้ที่ 14 ชั่วโมง ดีเลย์อีก 2 ชั่วโมง เป็นปกติ ดังนั้น โอกาสจะกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น จะเกิดเมืองใหม่ๆ มหาวิทยาลัย แหล่งชุมชน อุตสาหกรรม ตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นทางที่ขนานไปกับทางคู่เดิม ยกเว้นเหนือพิษณุโลกขึ้นไปที่จะเป็นเส้นทางใหม่ที่จะลัดและตรงขึ้น เพราะทางเดิมคดเคี้ยวมาก

เอาใจคนกรุง สร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 410 กิโลฯ

ขณะที่รถไฟขนส่งมวลชนใน กทม. นั้น ปัจจุบันรถไฟฟ้ามีระยะทาง 80 กิโลเมตร กำลังก่อสร้างอยู่ 100 กิโลเมตร อนาคตจะมี 410 กิโลเมตร ก็จะเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น รถก็จะติดน้อยลง คนต่างชาติมาทำธุรกิจใน กทม. มาเช้านั่งรถไฟฟ้ามาประชุม เย็นนั่งรถไฟฟ้ากลับสนามบิน กลับบ้านได้ภายใน 1 วัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ทำให้หัวใจของประเทศสูบฉีดได้ดีขึ้น

ส่วนท่าเรือนั้นทำเพิ่ม 14 แห่ง ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม 1 แห่ง และทำเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระเจ้าเพื่อให้สามารถขนส่งทางเรือได้สะดวกขึ้น ขุดลอกได้ดีขึ้น ท่าเรือฝั่งอ่าวไทยเพิ่ม 2 แห่ง น่าจะเป็นที่ จ.ชุมพรและสงขลา ฝั่งอันดามันเพิ่มท่าเรือปากบารา เพื่อให้มีการใช้ท่าเรือตรงนี้ได้ดีขึ้น

“โครงการ 2 ล้านล้าน เป็นโครงการของพวกเราทุกคน ไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาลนะ แต่เป็นของพี่น้องทุกคน ผมเชื่อว่าทุกภูมิภาคได้ประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งหมด และฝากว่าพวกเรายินดีรับความคิดเห็น อยากเพิ่มเส้นทางไหน ปรับปรุงตรงนั้น รวมรวมเป็นข้อมูลเข้ามาว่าที่ที่อยู่อยากจะให้ปรับปรงตรงไหน กระทรวงคมนาคมยินดีที่จะน้อมรับนำไปปรับเป็นแผนการใช้งบประมาณต่อไป จริงๆ มี 2 ส่วน คือ 2 ล้านล้านลงเป็นเส้นหลักตัวกระดูสันหลัง แต่ในภูมิภาคย่อยๆ จะลงในงบประมาณปกติ ซึ่งพอเราลงตัวในกระดูกสันหลัง 2 ล้านล้านแล้ว งบประมาณปกติจะมีเงินเหลือมากขึ้น เราสามารถลงโครงการย่อยได้”

หนี้สาธารณะแค่ 50% ไม่น่าห่วง

ทั้งนี้ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ที่มีการพูดกันถึงปัญหาอยู่ 3 ประเด็น คือ 1. น่าทำหรือไม่ ซึ่งต้องเรียนว่าเราดูละเอียดทุกโครงการ มีการศึกษา ดูความเป็นไปได้ มีผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนก็ดูร่วมกับสภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง

2. หนี้สาธารณะจะเพิ่มหรือไม่ เกินกำลังหรือไม่? เรื่องนี้กระทรวงการคลังได้ไปคำนวณการใช้เงินของเราแล้ว การก่อหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ของจีดีพี จริงๆ แล้วในกรอบวินัยการคลังต้องไม่เกิน 60% ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากรอบจริง อย่างประเทศที่มีปัญหาในยุโรปมีหนี้สาธารณะกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างกรีซ มีหนี้สาธารณะประมาณ 140% ยังไกลกว่าเราเยอะ ที่สำคัญโครงการที่เราจะทำเป็นโครงการที่ลงโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ ไม่ใช่เอาเงินไปหว่าน ไปใช้แบบกระตุ้นเศรษฐกิจ

และ 3 .จะโกงกันหรือไม่ โปร่งใสไหม เรื่องนี้ตนก็กลัวไม่น้อยกว่าพวกเรา เพราะเป็นคนรับผิดชอบโดยตรง เรื่องความโปร่งใสต้องช่วยกันเต็มที่ แต่อย่านำประเด็นแรกในเรื่องการลงทุนไปปนกับประเด็นที่สามในเรื่องการลงทุน เพราะมีคนหลายๆ คนที่คิดว่ามันโกงแน่ๆ อย่าไปทำเลย อันนี้ไม่ได้ เพราะถ้าเราไปกลัวอย่างนี้แล้วประเทศมันเดินไม่ได้ ถ้ากลัวโกงต้องช่วยกันตรวจสอบ ช่วยกันกำหนดมาตรการ อย่าเอาความกลัวตรงนี้มาเป็นเครื่องขู่ว่าห้ามทำเพราะกลัวโกง แบบนั้นไม่ได้ มันหลงประเด็นไป รัฐบาลก็จะเดินหน้าเต็มที่