ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. แจงเงินไหลเข้าตลาดบอนด์ชะลอลง ยัน “ส่งออกหดตัว” ไม่เกี่่ยวค่าบาทแข็ง

ธปท. แจงเงินไหลเข้าตลาดบอนด์ชะลอลง ยัน “ส่งออกหดตัว” ไม่เกี่่ยวค่าบาทแข็ง

30 มีนาคม 2013


ปัญหาเงินทุนไหลเข้า-ค่าเงินบาทแข็ง-กระทบส่งออก เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ตลอด และหลายๆ ครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งของสองฝ่ายที่เห็นต่าง แต่ถ้ามีข้อมูลมาคุยกันก็อาจจะเข้าใจกันหรือเห็นตรงกันมากขึ้น

ล่าสุด จากข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ทุกคนเชื่อว่าต้องไหลทะลักเข้าประเทศไทยจำนวนมหาศาลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 2,913 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินที่ไหลเข้ามากๆ เกิดจากการที่ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาเพื่อบริหารสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำไปปรับฐานะการถือครองเงินตราประเทศจำนวน 3,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดหุ้นสุทธิเป็นการไหลออก 446 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดพันธบัตรไหลเข้ามาไม่มากโดยมีจำนวน 684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 348 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พันธบัตร ธปท. 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่เหลือ 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการไหลเข้าตราสารหนี้เอกชน

ทั้งนี้ เงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงจากก่อนหน้าซึ่งมีเงินไหลเข้าสุทธิมากถึง 1,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาท และหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเข้ามาเพื่อปรับสภาพคล่องธุรกรรมด้านเงินตราต่างประเทศ” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ของ ธปท. ระบุว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 107.99 แข็งขึ้น 4.72% จากสิ้นปี 2555 เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นสำคัญ ประกอบกับหลายประเทศในภูมิภาคยังเผชิญปัจจัยลบ เช่น ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซีย ส่วนดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) อยู่ที่ 106.52 แข็งขึ้น 2.58% จากสิ้นปีก่อนตามการแข็งค่าของดัชนีค่าเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ย

นอกจากนี้ ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ยังระบุว่า ในเดือนมีนาคม ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดย ณ วันที่ 21 มี.ค. 2556 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 29.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 4.57% จากระดับ 30.61 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2555 โดยปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วและมากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคเป็นผลจากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรของไทยอย่างต่อเนื่อง และผู้ส่งออกเริ่มขายดอลลาร์มากขึ้นเพื่อปิดความเสียงจากการที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอีก

ทั้งนี้ กว่าจะได้เห็นรายละเอียดตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายเดือนมีนาคมก็ต้องรอ ธปท. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคมในช่วงสิ้นเดือนเมษายน หรืออีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

ขณะที่ปัญหาการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าหดตัว 5.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ส่วนตัวเลขของ ธปท. ซึ่งรายงานตามระบบการชำระเงินก็ปรากฏว่าการส่งออกหดตัว 4.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน โดย ธปท. ยืนยันว่า ประเด็นการส่งออกติดลบนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากค่าเงินบาทแข็ง

นายเมธีอธิบายว่า การส่งออกที่ติดลบในเดือนกุมภาพันธ์มีสาเหตุหลักมาจากการที่วันทำการในเดือนกุมภาพันธ์มีเพียง 18 วันเท่านั้น เนื่องจากในเดือนนี้มีวันหยุดยาวของเทศกาลตรุษจีนและวันมาฆบูชา ทำให้วันทำการมีน้อยกว่าเดือนปกติ สาเหตุนี้กระทบถึงการนำเข้าด้วย โดยการนำเข้าขยายตัวเพียง 3.7% เมื่อเทียบระยะเดียวกันในปีก่อน แต่หากไม่นับรวมการนำเข้าทองคำ ซึ่งเดือนนี้มีการนำเข้าทองคำถึง 2,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การนำเข้าหดตัว 7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

“การส่งออกที่ติดลบในเดือนกุมภาพันธ์คงไม่ใช่เพราะเงินบาทแข็งขึ้นเร็ว เงินบาทเพิ่งแข็งขึ้นเร็วในเดือนมีนาคม แต่คงต้องติดตามดูระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของเราพบว่าโดยทั่วไปแล้วค่าเงินมีผลต่อการส่งออกน้อยกว่าความต้องการของประเทศคู่ค้า และค่าเงินแข็งคงไม่มีผลต่อราคาสินค้าในต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่ามีผลกระทบในด้านปริมาณ แต่รายได้เป็นเงินบาทอาจลดลง” นายเมธีกล่าว

ทางด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งแถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปี 2556 เหลือ 9% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 10.5% และปรับสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีนี้เป็นแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29.45 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมอยู่ที่ 30.70 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม สศค. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 5.3% หรืออยู่ในช่วง 4.8-5.8% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 5% โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภายในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท. คาดว่าจะมีการทบทวนปรับเพิ่มจีดีพีในปีนี้เช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการพิจารณาในการประชุม กนง. ในวันที่ 3 เม.ย.นี้

สำหรับภาวะเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะแผ่วลง เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชน การผลิต และการส่งออกชะลอลง แต่นายเมธียืนยันว่ามาจากปัจจัยวันทำการที่น้อยกว่าปกติเป็นหลัก และส่วนหนึ่งมีปัญหาทางด้านวัตถุดิบและการผลิต เนื่องจากการเร่งผลิตในช่วงเวลาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม จากรายได้ของลูกจ้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี ค่อนข้างเร่งตัวเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และเป็นกำลังซื้อที่แท้จริง อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ยังอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และด้านเสถียรภาพไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

“แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์จะดูแผ่วลง แต่เมื่อดูตัวเลขเฉลี่ย 2 เดือน คือ มกราคม-กุมภาพันธ์ ภาพที่เห็นค่อนข้างชัดว่า เศรษฐกิจยังไม่ได้เสียงแรงส่งในขณะนี้ และการแผ่วลงของเดือนกุมภาพันธ์เป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ คือเศรษฐกิจกำลังปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติหลังจากเร่งตัวแรงขึ้นในไตรมาสสี่ปี่ก่อน” นายเมธีกล่าว

สุดท้ายแล้วปัญหาเงินทุนไหลเข้า ค่าเงินบาท และส่งออก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่อย่างไร อาจเร็วไปที่จะสรุปเพราะเห็นตัวเลขเพียง 2 เดือนแรกของปีนี้ จำเป็นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะการประชุม กนง. เพื่อตัดสินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 3 เมษายน นี้ว่า มติของกรรมการทั้ง 7 ท่านจะให้คงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย ที่สำคัญ ต้องจับตาดูการออกเสียงของกรรมการว่าจะเป็น “เอกฉันท์” หรือ “เสียงแตก” เพิ่มมากขึ้นจากครั้งก่อน ที่มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% ต่อปี

ในกรณีเสียงแตกเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าข้อถกเถียงเรื่อง “เงินทุนไหลเข้า ค่าเงินบาทแข็ง กระทบส่งออกและดอกเบี้ย” คงเสียงดังและคุยกันได้อีกนาน