ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ส่งสัญญาณใช้ “อัตราแลกเปลี่ยน” เป็นเครื่องมือปรับสมดุลค่าเงินบาท

ธปท. ส่งสัญญาณใช้ “อัตราแลกเปลี่ยน” เป็นเครื่องมือปรับสมดุลค่าเงินบาท

26 มีนาคม 2013


การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีแนวโน้มแข็งค่าและผันผวนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และล่าสุดเงินบาททุบสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี หรือตั้งแต่มีการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540

โดยในช่วงหนึ่งจองการซื้อขายเงินบาทระหว่างวันในวันที่ 20 มีนาคม ที่เงินบาทแข็งมากที่สุดคือแตะ 29.08 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปรับตัวลงมาและปิดตลาดได้ที่ 29.10-29.13 บาท/ ดอลลาร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีแนวโน้มว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า จนมีความกังวลกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างที่เคยพยายามทำมาแล้วเมื่อปลายปี 2549 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วง 50.55 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม ที่ผ่าน ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาระบุว่า “หุ้นร่วงเป็นเพราะคนไทยปั่นกันเอง”

นางสุชาดา กิระกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน
นางสุชาดา กิระกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.

ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าทุบสถิติ 16 ปีนั้น นางสุชาดา กิระกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. กำลังดูรายละเอียดของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิมีไม่มาก ส่วนตลาดพันธบัตรก็ไม่เยอะนัก แต่เห็นบางรายการมียอดขายดอลลาร์ออกจำนวนมาก แต่ช่วงนั้นอาจเป็นจุดที่นักลงทุนรู้สึกว่าถึงจังหวะที่ต้องขาย และเมื่อเงินบาทแข็งขึ้นถึงระดับก็จะมีคนเข้ามาซื้อ

เพราะฉะนั้น กลไกตลาดมีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่คอยปรับสมดุลของตลาดเอง แต่ระหว่างที่กลไกตลาดปรับสมดุลอาจทำให้ค่าเงินขึ้นลงได้กว้างขึ้น หรือมีความผันผวนกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

“แต่ที่แน่ๆ แบงก์ชาติกำลังติดตามดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดว่า เงินที่เข้ามามีวัตถุประสงค์อะไร เป็นการเก็งกำไรหรือไม่ ถ้าไม่เก็งกำไร ก็ต้องปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เรื่องนี้แบงก์ชาติพูดมาระยะหนึ่งแล้วว่า ค่าเงินต้องเป็นตัวปรับสมดุล ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น” นางสุชาดากล่าว

อย่างไรก็ตาม นางสุชาดาระบุว่า การดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะดูช่วงสั้นๆ ไม่ได้ ต้องมองให้ยาวขึ้น โดยหากดูค่าเงินบาทต่อค่าเงินดอลลาร์ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2555 เทียบกับสิ้นปี 2555 เงินบาทแข็งขึ้น 4.59% เป็นการแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค

โดยค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ แข็งขึ้นเล็กน้อย คือ 0.56% เงินหยวนของจีนแข็งขึ้นเพียง 0.38% แต่เงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนลง 1.76 % เงินวอนเกาหลีอ่อนลง 3.46% ดอลลาร์ไต้หวันอ่อนลง 2.35% เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนลง 1.24% เงินยูโรอ่อนลง 1.44% และเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนลงมากที่สุด 9.04%

นางสุชาดาระบุว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นๆ มีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเดิมและปัจจัยใหม่ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และจะไม่เกาะกลุ่มกับสกุลเงินในภูมิภาคเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ว่านั้นมีดังนี้

ปัจจัยแรก คือ เกิดภาวะ risk-on sentiment นักลงทุนต้องการออกมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัว เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีข่าวปัญหาของไซปรัสคลี่คลาย และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น จึงเกิด risk-on sentiment ทำให้จึงไหลเข้ามาลงทุนในภูมิเอเชีย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเขา และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่นักลงทุนมักเข้าไปลงทุนคือ หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัย risk-on ทำให้นักลงทุนอยากนำเงินออกมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และปัจจัย risk-off ที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจจึงดึงเงินกลับออกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยลง จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปตามข้อมูลข่าว ถ้าข่าวดี นักลงทุนก็มี risk-on แต่ถ้ามีข่าวไม่ดีนักลงทุนก็ risk-off ดังนั้นจึงมีความไม่แน่นอนที่ทำให้เกิดความผันผวนได้

ปัจจัยที่ 2 พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีและแข็งแกร่ง ดูจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีที่เกิดน้ำท่วมหดตัวเหลือแค่ 0.1% แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวดีขึ้น จีดีพีขยายตัวถึง 6.4% ในปี 2555 สะท้อนว่าเศรษฐกิจปี 2555 ฟื้นตัวชัดเจน และในปี 2556 ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่องจนคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 5% และที่สำคัญ ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี คือ เงินเฟ้อไม่มีปัญหา ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ใกล้สมดุล และระบบการเงินมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่ 3 นักลงทุนต่างประเทศนำเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลขึ้น ยอดคงค้างล่าสุด นักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 8 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลมีไม่ถึง 10% ขณะที่มาเลเซียมีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลถึง 30% ดังนั้น สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลไทยต่ำ จึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างประเทศจะลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยได้เพิ่มขึ้นอีก

ปัจจัยที่ 4 บริษัทจัดอันความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติงส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทยเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยเป็น BBB+ แนวโน้มมีเสถียรภาพ แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ทำให้นักลงทุนรู้สึกดีกับประเทศไทย

ปัจจัยที่ 5 มีผู้ส่งออกขายดอลลาร์จำนวนมาก ปกติผู้ส่งออกขายอยู่แล้ว โดยมีการขายล่วงหน้า แต่เมื่อบาทแข็งอาจทำให้เร่งขายเร็วขึ้น เพราะพยายามป้องกันความเสี่ยงตัวเอง

ปัจจัยที่ 6 รัฐบาลออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond: ILB) รุ่นอายุ 15 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างประเทศ จึงสนใจซื้อ 60-70% ทำให้มีเงินในส่วนนี้ไหลเข้ามาด้วย

ปัจจัยที่ 7 ที่ผ่านมาการเมืองไทยมีเสถียรภาพดี ไม่มีปัญหาอะไร และนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยถือว่ามีศักยภาพดีน่าลงทุน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ บางประเทศในภูมิภาคมีความไม่ชัดเจน เช่น มาเลเซีย กำลังจะเลือกตั้งในเดือนเมษายนนี้ สิงคโปร์มีปัญหาเงินเฟ้อสูง เกาหลีใต้ก็มีปัญหาเรื่องการทดลองอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ยุโรปก็มีปัญหาวิกฤติหนี้ ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนนโยบายมุ่งเพิ่มเงินเฟ้อ

“จะเห็นว่าในขณะที่หลายประเทศมีปัจจัยลบ แต่ประเทศไทยมีแต่ปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีเงินไหลเข้ามามาก และทำให้ค่าเงินบาทในปีนี้คงไม่เกาะกลุ่มไปกับเงินในภูมิภาคเหมือนที่ผ่านมา” นางสุชาดากล่าว

สำหรับการที่เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้จำนวนมากๆ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล มีประเด็นที่น่ากังวลหรือไม่ ที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินกล่าวว่า อย่างที่บอกว่า ก่อนหน้านี้สัดส่วนการถือพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติมีไม่ถึง 10% จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าเป็นห่วง และกรณีหากมีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรทันที หรือเทขายจำนวนมากๆ ก็ไม่น่ากังวล เพราะตลาดพันธบัตรจะมีราคาเป็นตัวเบรก คือถ้าขายออกมากๆ ราคาก็จะตก แต่อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจะสูงขึ้น

“เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเทขายมากๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะมีคนใหม่เข้ามาซื้อ เพราะเห็นว่าผลตอบแทนสูง น่าลงทุน ดังนั้นจะเป็นการปรับตัวผ่านราคา แต่อาจกระทบสถาบันการเงินที่ถือพันธบัตรแล้วต้องลงบัญชีตามราคาตลาด แต่ถ้าไม่ขายแล้วถือพันธบัตรจนครบอายุก็จะได้ผลตอบแทนตามระยะเวลา” นางสุชาดากล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่เงินไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสุทธิไม่มาก นางสุชาดาระบุว่าเป็นเพราะราคาหุ้นปรับสูงขึ้นมาก ส่วนการที่มีเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้จำนวนมาก เพราะเขาต้องการกำไรจากผลต่างอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทำได้ไม่ง่ายในปัจจุบัน

“เหตุผลที่เงินส่วนใหญ่จะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้หรือตลาดหุ้น คือ เพราะหากนำเงินมาฝากในบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศจะไม่ได้รับดอกเบี้ย และมีข้อจำกัดเรื่องเงินฝากที่ ธปท. กำหนดว่าต้องฝากได้ไม่เกิน 300 ล้านเหรียญต่อราย” นางสุชาดากล่าว