ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส. เปิดผลโพลเกษตรกรไทย 76% มีความสุข “ระดับค่อนข้างมาก”

ธ.ก.ส. เปิดผลโพลเกษตรกรไทย 76% มีความสุข “ระดับค่อนข้างมาก”

14 มีนาคม 2013


ที่มาภาพ : http://sphotos-a.xx.fbcdn.net
ที่มาภาพ : http://sphotos-a.xx.fbcdn.net

ธ.ก.ส. เผยผลสำรวจ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” ครั้งแรก จากกลุ่มลูกค้าธนาคาร 1,000 ตัวอย่าง พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ 75.8% มีความสุข “ระดับค่อนข้างมาก” แต่กลุ่มที่เลือกความสุข “ระดับมากที่สุด” คือ ผู้ปลูกยางพารา และอ้อย พร้อมเปิดโพลผลกระทบภัยแล้ง กระทบเกษตรกร 33.4% ใน 5 อาชีพหลัก

นางอภิรดี ยิ้มละมัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้สำรวจความคิดเห็น (Poll) ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทุกจังหวัด ในหัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” เป็นครั้งแรก พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสุขในการประกอบอาชีพการเกษตรอยู่ใน “ระดับค่อนข้างมาก” ถึง 75.8% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,000 ตัวอย่าง และอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย 24.2%

โดยเกษตรกรที่เลือกตอบแบบสำรวจว่ามีความสุข “ระดับมากที่สุด” ในการประกอบอาชีพ คือ เกษตรกรที่ปลูกยางพารา มีสัดส่วน 38.5% ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกยาง รองลงมาคือ เกษตรกรที่ปลูกอ้อย มีสัดส่วน 33.3% ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกอ้อย

ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ 48% ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกข้าว เลือกตอบว่ามีความสุข “ระดับค่อนข้างมาก” มากกว่าที่ตอบว่ามีระดับมากที่สุด และเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ 33% ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ก็เลือกตอบมีความสุขในการประกอบอาชีพ “ระดับค่อนข้างมาก”

โดยปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีความสุขระดับมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากทำการเกษตรได้ผลดี ราคาดี เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย หนี้สินลดลง มีเงินออม และความสุขของครอบครัว หมายถึงการที่ครอบครัวอบอุ่น อยู่กันพร้อมหน้า สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจกันดี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีความกังวลในเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตลอดจนสภาพอากาศที่แปรปรวนและการขาดแคลนแหล่งน้ำ

สำหรับเกษตรกรที่เลือกตอบแบบสำรวจโดยบอกว่ามีความสุข “ระดับน้อย ถึงน้อยที่สุด” ซึ่งมีสัดส่วน 24.2% นางอภิรดีตั้งข้อสังเกตว่า มีสาเหตุจากปัญหาหนี้สินเป็นหลัก และอาจเป็นช่วงที่ครอบครัวอยู่ไม่พร้อมหน้า

ทั้งนี้ วิธีในการสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทย นางอภิรดีกล่าวว่า ทำโดยให้สาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศเก็บรวบรวมข้อมูลจากลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละสาขา โดยจะให้ลูกค้าทำแบบสำรวจกรอกแบบสอบถาม ซึ่งดำเนินการเก็บข้อมูลช่วงเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา จากนั้นจะสุ่มตัวอย่าง 1,000 ตัวอย่าง กระจายทั่วประเทศมาเป็นดัชนีอ้างอิง

“ข้อมูลที่จัดเก็บมีคำถามปลายเปิดให้เกษตรกรตอบหรือแสดงความคิดเห็นด้วย ดังนั้น การสำรวจเรื่องนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้ ธ.ก.ส. สามารถนำไปวิเคราะห์และเป็นข้อมูลในการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเกษตรกรได้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. มีความตั้งใจจะทำแบบสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทยเป็นรายไตรมาส เพื่อให้มีข้อมูลที่ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. กล่าว

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้สำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ “ภาวะภัยแล้งปี 2556” ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2556 โดยใช้หลักการเดียวกันกับการสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทย พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรประสบภาวะภัยแล้ง 33.4% ของกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 26% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 19.4% และภาคเหนือตอนบน 15.6%

ส่วนอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง 5 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้ เกษตรกรมีการปรับตัวเตรียมพร้อมในเรื่องภาวะภัยแล้งดังนี้ คือ วางแผนเลื่อนระยะเวลาในการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นหรือช้าลงจากช่วงระยะเวลาเดิม การปรับลดหรือเพิ่มสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นพืชหลักและพืชรอง การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลการเกษตร การปรับเปลี่ยนพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ทำกิน ปรับลดจำนวนครั้งการผลิต และการเตรียมพร้อมวิธีอื่นๆ เช่น ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และปลูกต้นไม้

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ได้แก่ การผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ และการสนับสนุนสินเชื่อปลูกพืชระยะสั้น รวมทั้ง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามโครงการธนาคารต้นไม้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและลดภาวะโลกร้อนในระยะยาวด้วย

ขณะที่นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงผลการวิจัย “แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. กรณีศึกษาภาวะโลกร้อน” ซึ่งพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตร จนทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง และอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตและการอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเกิดโรคระบาด โรคติดต่อในพืชและสัตว์ทำให้คุณภาพของสินค้าเกษตรลดลง

แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรคือ ต้องพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลิตสินค้าระดับพรีเมียมเพื่อสร้างจุดเด่นของสินค้าด้วยกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง ใช้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยแผนที่ อาทิ จำแนกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมมากหรือน้อย และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์

ส่วนด้านการตลาด ควรศึกษาว่า สินค้าเกษตรประเภทใดเป็นที่ต้องการของตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ทำให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีการสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อไป