ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองยุคใหม่ เปิดช่องประชาชนตรวจสอบความคืบหน้าคดีได้เอง-สถิติคดีสิ่งแวดล้อมพุ่ง

ศาลปกครองยุคใหม่ เปิดช่องประชาชนตรวจสอบความคืบหน้าคดีได้เอง-สถิติคดีสิ่งแวดล้อมพุ่ง

10 มีนาคม 2013


คดีรับเข้าและคงค้างรวมของศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ศาลปกครองแถลงผลการดำเนินงานในโอกาสครบรอบ 12 ปี ณ อาคารรับรอง อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมีการเปิดเผยสถิติคดีปกครองรวมพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 79 รวมถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ พร้อมทั้งประกาศให้ปี 2556 เป็น “ปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนและการสื่อสารสาธารณะ” โดยมุ่งพัฒนายกระดับมาตรฐาน และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงศาลปกครองง่ายขึ้น รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการบริการในทุกด้าน

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยสถิติการพิจารณาคดีปกครองตั้งแต่ก่อตั้งศาลในปี 2544 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ว่า มีคดีเข้าสู่การพิจารณาในศาลปกครองทั้งสิ้น 81,904 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 64,553 คดี หรือประมาณร้อยละ 79 ของคดีรับเข้าทั้งหมด และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 17,351 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 10,162 คดี มีเพียง 19 คดีที่รับเข้าก่อนปี 2550 ซึ่งคาดว่าน่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในอีก 2-3 เดือน สำหรับคดีที่รับเข้าช่วงปี 2551-2552 จำนวน 589 คดีจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จในปี 2556

จำนวนคดีที่รับฟ้องและพิจารณาเสร็จสิ้น

ในปี 2555 เป็นปีที่ศาลปกครองมีจำนวนคดีรับเข้า แล้วเสร็จ และคงค้างมากที่สุดตั้งแต่ศาลเปิดทำการมา จำนวนคดีรับเข้ามี 11,635 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 41 คดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ 9,208 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 38 และคดีคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 17,351 คดี โดยอยู่ในศาลปกครองสูงสุด 7,189 คดี อยู่ในศาลปกครองชั้นต้น 10,162 คดี แต่หลังจากดำเนินนโยบายเร่งรัดในช่วง 27 เดือนที่ผ่านมา ทำให้คดีคงค้างที่รับเข้าก่อนปี 2552 ลดลงประมาณร้อยละ 89 จาก 6,030 เหลือ 646 คดี

สำหรับสถิติคดีภาพรวมตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครองถึง 31 ธันวาคม 2555 นั้น มีคดีรับเข้ารวม 81,904 คดี อยู่ในศาลปกครองสูงสุดร้อยละ 26.35 และศาลปกครองชั้นต้นร้อยละ 73.65

จำนวนคดีทั้งหมดแยกตามรายศาลปกครอง

ส่วนประเภทเรื่องที่ฟ้องต่อศาลชั้นต้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. คดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล วินัย 2. คดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด 3. คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นส่วนใหญ่จะฟ้องเรื่องการบริหารงานบุคคลฯ มากที่สุด ยกเว้นศาลปกครองสงขลาและนครศรีธรรมราช ที่ฟ้องเรื่องการควบคุมอาคารฯ มากที่สุด และศาลปกครองระยองที่ฟ้องเรื่องเวนคืนฯ มากที่สุด

จำนวนคดีศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม แยกตามเรื่องที่ฟ้อง

แต่ในปี 2555 การฟ้องเรื่องการควบคุมอาคารฯ และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นอันดับแรก จำนวน 2,753 คดี ต่อมาคือคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลฯ 1,689 คดี และคดีการเวนคืนฯ 1,662 คดี ทั้งนี้ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองชั้นต้นรับคดีเข้าพิจารณารวม 2,173 คดี โดยเป็นคดีอยู่ที่ศาลปกครองสงขลามากที่สุด จำนวน 1,450 คดี

จำนวนคดีทั้งหมดของศาลปกครอง แยกตามเรื่องที่ฟ้อง

ด้านหน่วยงานทางปกครองระดับกระทรวงที่ถูกฟ้องมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบทุกปีกระทรวงมหาดไทยจะถูกฟ้องมากที่สุด ยกเว้นปี 2552 อันดับแรกคือกระทรวงการคลัง และปี 2555 คือกระทรวงคมนาคม ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด และกรมเจ้าท่า จะถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่

ตั้งแต่ศาลปกครองเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 จนถึง 31 ธันวาคม 2555 พบว่า มีคดีรับเข้าพิจารณารวม 2,801 คดี ซึ่งอยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองสูงสุด 122 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 19 คดี อยู่แผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลชั้นต้น 2,679 คดีพิจารณาแล้วเสร็จ 770 คดี

จำนวนคดีที่เสร็จสิ้นและคงค้างของศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม

ส่วนการบังคับคดีของศาลปกครองนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 6,020 คดี ซึ่งบังคับเสร็จสิ้นแล้ว 4,162 คดี

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของศาลปกครองในปี 2556 ว่า ได้ประกาศให้ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็น “ปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนและการสื่อสารสาธารณะ” เพื่อยกระดับมาตรฐานและลดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการให้บริการประชาชนและงานธุรการศาลให้ประชาชนเข้าถึงศาลปกครองได้โดยง่ายและสะดวกขึ้น ตลอดจนสื่อสารและรับฟังข้อมูลย้อนกลับจากประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการให้บริการของศาลปกครองในทุกด้าน โดยมีทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการคดี ช่วง 12 ปีที่ผ่านมานั้น คดีปกครองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะประชาชนตื่นตัว รู้สิทธิ และรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น หรือหน่วยงานรัฐยังคงปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอยู่เช่นเดิม มีกระบวนการทำงานที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ในขณะที่คดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้พิพากษาและตุลาการยังมีเท่าเดิม โดยมีคดีในรับผิดชอบประมาณ 300 คดีต่อคน ดังนั้น ทางศาลปกครองจึงมีมาตรการการบริหารจัดการรูปแบบใหม่เพื่อการทำงานด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ

1) เร่งรัดพิจารณาคดีที่ค้างการพิจารณาให้เสร็จเร็วขึ้น โดยกำหนดให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคดีที่รับเข้าก่อนปี 2553 และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีที่รับเข้าก่อน 2550 แล้วยังค้างอยู่ให้เสร็จทั้งหมดภายในปี 2556 เพิ่มความพิถีพิถันในการทำคดีให้มากขึ้น คุณภาพการวินิจฉัยต้องไม่น้อยลง คือ มีเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมถึงพิพากษาเช่นนั้น และเป็นที่ยอมรับของคู่กรณี แม้เวลาการพิจารณาคดีจะน้อยลง เช่น คดีสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทุกปี ศาลจึงแก้ปัญหาโดยการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทั้งศาลปกครองชั้นต้นและสูงสุด เพื่อบริหารคดีให้การพิจารณาเป็นไปอย่างเร่งด่วน เพราะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาที่ครอบคลุมรอบด้าน ทำงานแยกจากคดีประเภทอื่นๆ และสามารถกำหนดกรอบเวลาได้ว่าคดีต้องพิจารณาเสร็จสิ้นใน 1 ปี

นอกจากนี้ ต้องทบทวนและปรับลดขั้นตอนในกระบวนพิจารณาคดีบางประเภท เพื่อให้การพิจารณาคดีแล้วเสร็จเร็วขึ้น และใช้เวลาในกระบวนพิจารณาน้อยลง เช่น คดีในปัจจุบันมีลักษณะเดียวกันกับคดีในอดีตที่เคยพิพากษาไปแล้วตามความเห็นของประธานศาลสูงสุด การตัดสินคดีปัจจุบันก็จะเป็นเช่นเดียวกับคดีอดีต หรือในคดีที่ซับซ้อนมากๆ ให้มีกรรมการวิชาการที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารมาให้คำปรึกษาแนะนำองค์คณะตุลาการประกอบการตัดสินคดี

จัดประชุมตุลาการศาลปกครองทั่วประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference) ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพื่อติดตามเร่งรัดงานคดีของศาลปกครองในแต่ละศาล และผลการปฏิบัติงานของตุลาการศาลปกครองรายบุคคล มีระบบการประเมินผู้พิพากษาว่าใครอยู่ใน 10 อันดับแรก ที่พิพากษาคดีได้มากที่สุด ใครเป็น 10 อันดับสุดท้าย ที่ตัดสินคดีได้น้อยที่สุด และจัดอบรมพัฒนาต่อไป

2) พัฒนาโปรแกรมระบบย่อยๆ เพื่อบริหารจัดการคดีและให้บริการประชาชนเพิ่มเติม ได้แก่

-โปรแกรมติดตามคดีรายบุคคล เพื่อให้ตุลาการแต่ละท่านสามารถวางแผนการทำงานและกำหนดระยะเวลาโดยประมาณในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นรายคดี ทำให้เห็นกรอบเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนว่ากระบวนการพิจารณาแต่ละขั้นต้องเสร็จสิ้นเมื่อใดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งกรอบเวลาดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ศาลปกครองก็จะปรับปรุงต่อไป

-โปรแกรมติดตามคดีพิเศษ/สำคัญ หรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือคดีที่มีคนร้องติดตาม ให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้

-โปรแกรมติดตามความเคลื่อนไหวของคดีให้กับคู่กรณี เพื่ออำนวยความสะดวกให้คู่กรณีสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในคดีของตนได้ สำหรับคดีที่เข้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2555 คู่กรณีสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้แล้ว และคาดว่ากลางปี 2556 จะสามารถติดตามได้ทุกคดี

3) ในเดือนเมษายนนี้ จะพิจารณาจัดส่งตุลาการในศาลที่มีคดีคงค้างน้อยไปช่วยในศาลที่มีคดีคงค้างมาก

2. ด้านการบังคับคดี จัดให้มีหน่วยบังคับคดีในศาลปกครองภูมิภาคครบทุกแห่ง กำหนดกรอบมาตรฐานในการบังคับคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดหรือภายใน 1 ปี หลังจากศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา จัดให้มีกลไกในการบังคับคดีเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองและคู่กรณีดำเนินการตามคำบังคับให้แล้วเสร็จโดยเร็วและทันต่อการเยียวยา นอกจากนี้ ทุกคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดีจะต้องมีความเคลื่อนไหว และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี

3. ด้านการเตรียมความพร้อมโดยเร่งสร้างศาลปกครองในภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ ศาลปกครองเพชรบุรี ภูเก็ต นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี ให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชนให้ได้ภายในปี 2558-2559 ควบคู่กับเร่งดำเนินการสรรหาตุลาการศาลปกครอง ซึ่งใช้เวลาในกระบวนการสรรหาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นต้องเตรียมความพร้อมให้กับตุลาการด้วยการอบรมอีกประมาณ 1 ปี จึงจะเริ่มจ่ายสำนวนคดีได้

4. ด้านงานบริการประชาชนและการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและหน่วยงานทางปกครองให้มากขึ้น โดยปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น แบบเบ็ดเสร็จภายในที่เดียวกัน (One-Stop Service) นอกจากนี้คือการจัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับบทบาทของศาลปกครองในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้กับสังคมผ่านสื่อแขนงต่างๆ ซึ่งระยะแรกได้ผลิตตัวอย่างสารคดีโทรทัศน์ชุด “สาระคดี: บทเรียนชีวิตจากคดีปกครอง” รวม 13 ตอน ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม IPM Bangkok Channel เริ่ม 12 มีนาคมถึง 9 มิถุนายน 2556 โดยเป้าหมายต่อไปคือ ศาลปกครองจะผลิตสื่อและส่งข้อมูลข่าวสารไปป้อนรายการให้กับสื่อมวลชนทั่วประเทศ และในอนาคตศาลปกครองอาจจะมีรายการทีวีเป็นของตนเอง

ด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ผ่านการจัดโครงการและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ “ศาลปกครองพบประชาชน” ที่ศาลปกครองจัดเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่แรก โดยปีนี้จัด 2 ครั้ง ที่ชัยภูมิและกาฬสินธุ์ และ “ศาลปกครองของประชาชนในเวทีสื่อมวลชน” ที่เริ่มครั้งแรกปี 2555 และปีนี้จัดรวม 27 จังหวัด ซึ่งผู้บริหารศาลปกครองจะเดินทางไปให้ความรู้และแลกเปลี่ยนทัศนะกับประชาชนในจังหวัดต่างๆ

และตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป จะเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการที่ดีไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง เพื่อลดและป้องกันการกระทำผิดทางปกครองซ้ำซาก รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดการทำความผิดทางปกครองใหม่ๆ ขึ้นอีก

5. ด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทางศาลปกครองเริ่มเตรียมความพร้อมนี้มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแน่เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุนระหว่างประเทศจะเสรีมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือการเกิดข้อพิพาทกับรัฐ ดังนั้น ศาลปกครองจึงศึกษาพันธกรณีในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง รวมทั้งแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง ๓ ด้าน คือ นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ รวมถึงทบทวนและปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย กฎ และระเบียบ ข้อบังคับ ระบบงาน และแนวปฏิบัติของศาลปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบงานยุติธรรมทางปกครอง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของศาลปกครองเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้กับบุคลากรของศาลปกครอง

20130308_100837

ด้านบุคลากรของศาลปกครอง ต้องเตรียมการพัฒนาในเรื่องภาษา (เปิดสอนหลายระดับ) เน้นภาษาอังกฤษและภาษาอื่นของประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ภาษามลายู ภาษาจีน ภาษาพม่า ภาษากัมพูชา หรือภาษาลาว โดยอาจจะประสานกับมหาวิทยาลัยให้มาจัดการเรียนการสอนให้ รวมทั้งอาจพิจารณารับสมัครบุคลากรที่เป็นชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานที่ศาลปกครอง

ทั้งนี้ อาจมีการร่วมกลุ่มกันของศาลปกครองในอาเซียน ที่พัฒนามาจากสมาคมศาลปกครองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ นายหัสวุฒิยังกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของศาลปกครองว่า ที่ผ่านมา ศาลใช้กระบวนการพิจารณาคดียาวนาน เพราะ 1. มีบุคลากรทางตุลาการน้อย และมีกระบวนการสรรหาที่ยากและใช้เวลานาน ตั้งหลักเกณฑ์ไว้สูง คือ ตุลาการต้องมีทั้งคุณภาพ ความสามารถ และความกล้าหาญอยู่ในตัวเอง 2. บางคดีมีความซับซ้อนมาก กระบวนการพิสูจน์จึงนาน แต่ปัจจุบันสามารถแก้ด้วยระบบการใช้ทีมกรรมการวิชาการมาช่วย 3. การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ คือ คดีฟ้องร้องมีเข้ามาทุกวัน บุคลากรมีน้อย ดังนั้น คดีไหนเข้ามาก่อนก็จัดการก่อน คดีใหม่รอไว้ก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะลืมคดีที่เคยรอไว้ก่อนได้ 4. ต้องรอการประชุมใหญ่ของคณะตุลาการ เพราะคดีในลักษณะเดียวกันบางครั้งมีการพิพากษาถึง 3 แนวทาง ดังนั้นต้องให้ที่ประชุมชี้ขาดว่าจะตัดสินอย่างไร

ส่วนกรณีของแผนกคดีสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น สิ่งที่ตุลาการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมต้องมีเพิ่มเติมคือความสนใจและเชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระบวนการสรรหาตุลาการนั้นค่อนข้างพิถีพิถัน คือ ตุลาการต้องผ่านการทำงานร่วมในทีมกรรมการวิชาการมาก่อน โดยเป็นผู้เลือกว่าจะอยู่ทีมไหนตามความสนใจ ซึ่งกรรมการวิชาการนั้นมีหน้าที่สนับสนุนตุลาการ และการทำงานจะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้นมาเอง หลังจากนั้นก็อาจจะเป็นคณะตุลาการและตุลาการผู้แถลงคดีในที่สุด ดังนั้น ตุลาการของแผนกคดีสิ่งแวดล้อมย่อมมีความเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว เพราะต้องผ่านการทำงานร่วมกับกรรมการวิชาการหลายปี

“ศาลปกครองมีอายุเพียง 12 ปี แต่ผลงานที่มานั้นเป็นที่น่าพอใจของประชาชนมาก ยืนยันได้จากผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในปี 2544 พบว่าประชาชนร้อยละ 91 พึงพอใจ ต่อมาในปี 2554 พบว่าประชาชนพึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 92 สิ่งที่ศาลปกครองทำนั้นสร้างความมั่นใจให้ประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ และเป็นกันชนให้แก่รัฐเพื่อแก้ไขและเยียวยาความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่ก็ยังมีฝ่ายการเมืองบางกลุ่มที่พยายามยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงศาลปกครองไปรวมเป็นศาลเดี่ยวอย่างเดิม ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีศาลปกครองมาก่อนปี 2540 เสียอีก” ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าว