ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการบริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้าน เริ่มแล้ว “6 กลุ่มบริษัท” ผ่านเข้ารอบ

โครงการบริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้าน เริ่มแล้ว “6 กลุ่มบริษัท” ผ่านเข้ารอบ

6 กุมภาพันธ์ 2013


นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี - ภาพจาก thaipbs
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี – ภาพจาก: Thai PBS

เปิดรายชื่อ 6 กลุ่มบริษัทผ่านเข้ารอบยื่นซองประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีบริษัทของคนไทยเข้าร่วม 65% คาดตัดสินคัดเลือกรอบสุดท้ายได้ภายใน 3 เดือน และเริ่มกู้เงินได้เมษายนนี้

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ได้รายงานให้ ครม. ทราบถึงผลการคัดเลือกผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยใช้เงินกู้ในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทว่า มี 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา คือ 1. บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) 2. กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3. ITD-POWERCHINA JV 4. กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ และ 6. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

“โดยทั้ง 6 กลุ่มนี้ ประกอบไปด้วยบริษัททั้งหมด 31 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย 16 บริษัท และบริษัทต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี อีก 3 บริษัท ซึ่งก็เปรียบเสมือนบริษัทไทยทั้งหมด 19 บริษัทคิดเป็น 65% ” นายปลอดประสพกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)” ได้กำหนดให้ กบอ. ไปจัดทำแผนในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว โดย กบอ. ได้ดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ได้เชิญภาคเอกชน และต่างประเทศที่สนใจ ในการจัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) จนกระทั่งมีบริษัททั้งในและต่างประเทศมารับเอกสารการเสนอกรอบแนวคิด จำนวน 395 ราย

จนกระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (กบนอ.)เพื่อดำเนินการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดฯ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

โดยได้มีผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิดฯ ทั้งหมด จำนวน 34 ราย และ กบนอ. ได้ทำการพิจารณาคุณสมบัติ (Pre-Qualification) ของผู้เสนอกรอบแนวคิด โดยมีกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 8 ราย คือ 1. บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2. กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3. ITD-POWERCHINA JV 4. กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ 6. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 7. China CAMC Engineering Co., Ltd และ 8. Consortium TKC Global

นายปลอดประสพระบุว่า มี 2 รายไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ คือ China CAMC Engineering Co., Ltd ของจีน เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากสถานทูต และ Consortium TKC Global ของเกาหลี ที่มีบริษัทในกลุ่มถอนตัวออกไปจึงทำให้ขาดคุณสมบัติ

สำหรับกลุ่มบริษัทที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 กลุ่ม กบนอ. ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มโครงการ (Module) ละ 3 ราย ซึ่งมี Module ที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 10 Module แบ่งไปตามแผน และลักษณะการก่อสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และการปรับปรุงระบบคลังข้อมูลเป็นต้น

กบอ

กรอบแนวคิดทั้ง 10 Module มี 2 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกทุก Module คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) และ ITD-POWERCHINA JV ส่วนกลุ่มบริษัทที่เหลือผ่านการคัดเลือกกระจายกันไปในแต่ละ Module

“เมื่อ ครม. รับทราบผลการคัดเลือกแล้ว ได้อนุมัติให้ กบอ. ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างแท้จริง เพื่อประมูลแข่งขัน โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นผู้ดูแลโครงการ ส่วนตนเอง และฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่ง” นายปลอดประสพกล่าว

สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไป นายปลอดประสพกล่าวว่า จากนี้อีก 2 สัปดาห์ จะให้ 6 กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือก มารับรายละเอียดการจัดทำข้อกำหนดโครงการ (Terms of Reference) หรือ ทีโออาร์ไปดูในรายละเอียด ซึ่งในทีโออาร์ ได้กำหนดคุณสมบัติ และรายละเอียดในแต่ละโครงการไว้ จากนั้นจะให้ผู้ผ่านการคัดเลือก ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค ราคาและระยะเวลาดำเนินการ มาให้ กบอ. พิจารณา โดย กบอ.จะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอประมาณ 3 เดือน ก่อนจะพิจารณาตัดสินว่า กลุ่มบริษัทใดจะได้รับการคัดเลือกให้ทำโครงการ และหากกลุ่มบริษัทใดเมื่อได้รับโครงการแล้วจะให้บริษัทอื่นทำต่อ ต้องมีการได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ถ้ามีการจับได้ว่ามีการแอบเอางานไปให้คนอื่นทำจะถูกดำเนินการ

“หากเป็นไปตามแผนโครงการที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มกู้เงินได้ภายได้ในเดือนเมษายนนี้ โดยจะทยอยเบิกมาใช้ตามโครงการเป็นงวดๆ ซึ่งได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเบิกเงินวันไหนบ้าง จะไม่มีการเบิกทั้งหมดมาครั้งเดียวให้เสียดอกเบี้ย ส่วนการกู้เงินกับธนาคารใด ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการพิจารณา” นายปลอดประสพกล่าว

6 กลุ่มบริษัท Who is who!

1. บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอเตอร์) จากประเทศเกาหลีใต้ ที่ยื่นเสนอกรอบแนวคิดเดี่ยว โดยไม่รวมมือกับบริษัทใด ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์เรื่องน้ำ มีโอกาสทำงานร่วมกับกรมชลประทานมาอย่างยาวนาน

2. กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย เป็นบริษัทยื่นค้าร่วม (Consortium) ประกอบด้วย บริษัท ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท คาจิมา คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ชิมิซี คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ซันยู คอนซัลแตนท์ส อินคอร์ปอเรชั่น, บริษัท แปซิฟิก คอนซัลแตนท์ส จำกัด, บริษัท ยาชิโย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, องค์กรบริหารจัดการน้ำประเทศญี่ปุ่น, บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)

3. ITD-POWERCHINA JV เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) กิจการร่วมไทย-จีน ประกอบด้วย ITD-POWERCHINA JV, บมจ. อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า, บริษัท ไชน่า เก๋อโจวบ๋า กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ แอนด์ พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด

4. กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง (CK), บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บมจ. คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) หรือ CNT, บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด, เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ทิพากร จำกัด, บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด

5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ เป็นบริษัทไทยร่วมกับต่างชาติ (ไทย-อเมริกา) ประกอบด้วย, บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY), เอจีที อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช

6. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์, บริษัท เอส.เค.วาย.คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ยูเนี่ยน อินฟาร์เทค จำกัด