ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โยกย้าย เม.ย. “พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมส่ง “พล.ท.วลิต โรจนภักดี ” นั่งเก้าอี้ “แม่ทัพภาคที่ 4”

โยกย้าย เม.ย. “พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมส่ง “พล.ท.วลิต โรจนภักดี ” นั่งเก้าอี้ “แม่ทัพภาคที่ 4”

18 กุมภาพันธ์ 2013


พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร.ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้กำลังใจนาวิกโยธินที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ภายหลังปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร.ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้กำลังใจนาวิกโยธินที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ภายหลังปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นปัญหาที่ทั้ง “รัฐบาล–หน่วยงานความมั่นคง” ยังไม่สามารถทำให้เกิดความสงบร่มเย็นในพื้นที่ โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิด “คาร์บอมบ์” หรือ ยิงเจ้าหน้าที่ทหาร–ครู”

จนทำให้มีแนวคิดที่จะประกาศใช้มาตรการห้ามออกจากเคหสถานในเวลาค่ำคืน (เคอร์ฟิว) ในพื้นที่เสี่ยง คือ อ.กรงปินัง จ.ยะลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ของ “รองเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) ที่จุดประเด็น “เคอร์ฟิว” ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนกลายเป็นข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมและความจำเป็น กระทั่งเกิดศึกการ “งัดข้อ” ระหว่าง “รองเหลิม” กับ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะการประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” จะเกิดผลกระทบหลายอย่าง ดังนั้น ต้องฟังเสียง “เจ้าหน้าที่–ประชาชน” ในพื้นที่ด้วย

เมื่อ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา “คนร้าย” ก่อเหตุ “คาร์บอมบ์” ที่ อ.รามัญ จ.ยะลา ด้วยระเบิดที่มีน้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.15233 หน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 เสียชีวิต 5 นาย และบาดเจ็บสาหัส 1 นาย ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการตัดสินใจใช้ “เคอร์ฟิว” อย่างดี

ถึงแม้ “บิ๊กเมา” พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และหน่วยทหารในพื้นที่ ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ “เคอร์ฟิว” เพราะเจ้าหน้าที่ยังสามารถดูแลพื้นที่ได้ เหตุที่เกิดขึ้นอยู่นอกพื้นที่เฝ้าระวังของโซนรัก

ล่าสุด ในช่วงเวลา 01.30 น. วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้กว่า 50 คน บุกโจมตี “ฐานทหาร” ฐานปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 2 (มว.ปล.) หน่วยเฉพาะกิจ 32 จ.นราธิวาส เฉกเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อหวังสังหาร “ทหารเรือ” พร้อมปล้นปืน ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือทางทหารถึงในฐาน !!!

แต่ครั้งนี้ “ทหารเรือ” วางแผนกลยุทธ์ตั้งรับการโจมตี เนื่องจาก “หน่วยงานด้านความมั่นคง”ได้รับรายงานข่าวในพื้นที่ที่ตรงกันว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ขึ้น โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ดูแลเรื่อง “การข่าว” ได้ชี้ไปยังฐานปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 2 (มว.ปล.) หน่วยเฉพาะกิจ 32 ว่าจะถูกโจมตีขึ้น

ทำให้ “นาวิกโยธิน” เตรียมตัวพร้อมรับมือและเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างดี การปะทะทำให้“คนร้าย” เสียชีวิตไป 16 คน ที่สำคัญมีแกนนำคนสำคัญคือ นายมะรอโซ จันทรวดี และนายซาอุดี อาลี ที่ถูกตำรวจออกหมายจับเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย

แต่ที่หลายคนสงสัยก็คือ เหตุใด “คนร้าย” กว่า 50 คน บุกฐานทหารและมีการปะทะกันอย่างดุเดือด แต่ฝ่าย “นาวิกโยธิน” กลับไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว

ว่ากันว่า เมื่อหน่วยงานความมั่นคงได้รับข้อมูลที่สำคัญจาก “แกนนำผู้ก่อความไม่สงบ” ที่ได้กลับใจบอกเตือนว่า ฐานปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 2 (มว.ปล.) หน่วยเฉพาะกิจ 32 คือ “เป้าหมายโจมตี”!

ดังนั้น เมื่อการข่าวชัดเจนตรงกันกับข่าวในพื้นที่ ทำให้ “ผู้ใหญ่” ในกองทัพเรือสั่งการให้ทหาร “ฉก.นย.32” เตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ขณะที่ทัศนะของ “นักวิชาการ–อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ” ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณี “เคอร์ฟิว” ถึงข้อดีข้อเสียและผลที่ตามมาได้น่าสนใจทีเดียว อาทิ รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความเห็นว่า การที่รัฐบาลจะประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” หรือ ไม่ใช้ “เคอร์ฟิว” จะมีผลเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องมีมาตรการด้านความมั่นคงที่ยับยั้งที่ทำให้สามารถคุมสถานการณ์ได้ก่อน การใช้ “เคอร์ฟิว” เป็นมาตรการตอบโต้ที่หนัก เพราะเป็นการลิดลอดสิทธิเสรีภาพทั้งปวง

ประการแรก การที่จะนำ “เคอร์ฟิว” ไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลายในระยะยาว แม้ในระยะสั้นอาจจะคุมสถานการณ์ได้ก็ตาม แต่ในระยะกลาง–ยาว ที่มีการลิดลอนเสรีภาพ ละเมิดเสรีภาพ จะทำให้กระแสในท้องถิ่นนั้นยิ่งไม่เห็นชอบกับทางการ

ประการที่ 2 ความสับสนขัดแย้งจากหน่วยงานรัฐบาลทำให้ไม่มีเอกภาพในนโยบายรับมือจัดการความรุนแรง เห็นได้ว่ารัฐมนตรีบางท่านพูดไม่ตรงกัน บางคนจะใช้ “เคอร์ฟิว” แต่อีกคนไม่ใช้ “เคอร์ฟิว” ทั้งนี้ เวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องมีความชัดเจนเมื่อทีมงานมีความขัดแย้งไม่ลงรอย

“แต่เมื่อนายกฯ ออกมาพูดว่า การใช้เคอร์ฟิวต้องฟังเสียงจากท้องถิ่นด้วย ซึ่งการพูดแบบนี้ สำหรับผมแปลว่านายกฯ ถอยมาครึ่งก้าวแล้ว คงจะไม่ประกาศเดินหน้าใช้เคอร์ฟิวแล้ว แต่จะหันมาใช้มาตรการอื่นที่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ช่วงนั้นทดแทน ดังนั้น รัฐบาลจะหานโยบายแนวอื่นมารับมือสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะข่าวกรอง ในขณะนี้ของเราอ่อนมาก เหตุการณ์เกิดขึ้นแทบทุกวัน เห็นเกิดจาก 4 ปัจจัย อาทิ 1. บอดข่าว 2. ต้องเข้าให้ถึงว่าเรากำลังต่อกรกับใคร 3. ต้องมีความพร้อมในการที่จะเจรจาและติดต่อในรูปแบบไหนก็ตามที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 4. ฝ่ายทางการที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังไร้ประสิทธิภาพโดยเฉพาะกองทัพและตำรวจ”รศ.ฐิตินันท์ระบุ

ในส่วนของมุมมอง “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เชื่อว่า มาตรการ “เคอร์ฟิว” ไม่ต้องมี แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำงานอย่างจริงจัง เพราะ“เคอร์ฟิว” ไม่ใช่ยารักษาโรค หากมี “เคอร์ฟิว” คนที่จะกำกับดูแลคือด่านตรวจต่างๆ หากด่านตรวจไม่ทำงาน การใช้ “เคอร์ฟิว” ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้น หน่วยทหารในพื้นกองทัพภาคที่ 4 ต้องทำตามยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีตามที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้นโยบายไว้ให้ได้

“ไม่มีเคอร์ฟิว แต่ขอให้ตั้งด่านตรวจอย่างจริงจัง ผมมองว่าจะดีกว่าเคอร์ฟิวด้วยซ้ำ ตอนนี้หากลงไปในพื้นที่มีด่านก็จริงแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจ หรือมีด่านแต่เจ้าหน้าที่กวักมือผ่านไปอย่างเดียว ซึ่งหากเป็นคนดีและเขาไม่มีความจำเป็นจริงๆ คงไม่สัญจรในตอนกลางคืนหรอก แต่สำหรับโจรจะใช้ช่วงเวลากลางคืนในการสัญจรไปมาเพื่อก่อเหตุ ยิ่งมีเคอร์ฟิวยิ่งง่ายต่อโจร เพราะด่านตรวจจะน้อยลง นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ต้องใส่ใจให้มากกว่านี้ ต้องออกตรวจพื้นที่ในช่วงกลางคืนด้วย แต่ปัจจุบันไม่ทำกัน” พล.อ.พิเชษฐ์ระบุ

สำหรับมุมมองของ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ระบุว่า แนวคิดการใช้ “เคอร์ฟิว” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปี 2546 และ 2550 เราเคยใช้เคอร์ฟิวหลายพื้นที่ แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น ถึงแม้ “เคอร์ฟิว” จะเป็นมาตรการในการตัดวงจรการปะทุของความรุนแรงของเหตุการณ์ของความไม่สงบ การควบคุมคนออกนอกเคหสถานนั้น โดยหลักแล้วหากทำได้ดีก็มีแนวโน้มจะทำให้การตัดวงจรความรุนแรงไม่ให้ไต่ระดับขึ้นไปได้ โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะช่วงหลังสุดที่ประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” ไม่ประสบความสำเร็จ…!

เนื่องจากการใช้ “เคอร์ฟิว” ไม่ได้ครอบคลุมเป้าหมายที่แท้จริงเท่าไร ดังนั้น หากจะประกาศใช้ 1. ต้องควบคุมพื้นที่เป้าหมายและมีข่าวกรองที่ชัดเจน เพื่อตัดวงจรความรุนแรง จัดการพื้นที่ในการทำระเบิด ฝึก หรือตัดท่อน้ำเลี้ยงของผู้ก่อความไม่สงบ 2. ต้องกำหนดการใช้เคอร์ฟิวในระยะเวลาสั้นๆ พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะปฏิบัติการอะไร โดยต้องแจ้งประชาชนให้ทราบรวมถึงขอความร่วมมือ 3. ต้องมีฝ่ายการเมืองที่คุมนโยบายไปกำกับดูแลการทำงาน และมีการประเมินการทำงานในพื้นที่ด้วย

“แต่หากใช้มาตรการเคอร์ฟิวไม่ดี ก็จะทำให้เกิดผลกระทบ อาทิ 1. จิตวิทยามวลชน อาจทำให้คิดว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น เหมือนเป็นการตอกย้ำ 2. มีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและกลายเป็นลูกโซ่ตามมา 3. ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาชน โดยมีผลกระทบค่อนข้างสูงหากทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้ หากใช้เคอร์ฟิวได้ผลสำเร็จ ก็คุ้มค่าต่อการตัดวงจรความรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์ปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน จากที่ความรุนแรงลดลงไป 30% แต่ขณะนี้ได้ไต่ระดับขึ้นมาค่อนข้างผิดปกติ ปริมาณน้ำหนักระเบิดรุนแรงขึ้น คนเสียชีวิตตอนนี้คิดค่าเฉลี่ยใกล้ 2 คนต่อวัน ซึ่งเข้าใกล้ปี 2547 ที่คนเสียชีวิต 3 คนต่อวัน ดังนั้น หากปล่อยไว้แบบนี้มีโอกาสที่ความรุนแรงจะทำให้คนเสียชีวิตปีละ 1 พันคนเลยทีเดียว ดังนั้น รัฐบาลต้องหาเครื่องมือแบบเคอร์ฟิวเพื่อตัดวงจรความรุนแรงให้ได้ คงไม่ใช่เฉพาะแค่เคอร์ฟิวอย่างเดียว” รศ.ปณิธานระบุ

จากมุมมองทั้ง “นักวิชาการ–อดีตแม่ทัพภาคที่ 4” เห็นได้ว่า “เคอร์ฟิว” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” แล้วเกิดผลลัพธ์ไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์ภาคใต้บานปลาย หากใช้ “เคอร์ฟิว” แล้วผลออกมาดี ก็สามารถป้องกันการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบได้ แต่ทั้ง 2 ปัจจัยก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน

จนในที่สุด ที่ประชุม “ศปก.กปต.” ที่มี “ร.ต.อ.เฉลิม” เป็นประธานการประชุมฯ โดยมี “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี “บิ๊กอู๋”พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสธ.ทบ. พล.อ.อุดมชัย “เลชาฯแมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุม ได้เห็นตรงกันว่า ไม่ใช้ “เคอร์ฟิว” เพราะจากการประเมินประชาชน สถานการณ์ วัน เวลา และสถานที่ เมื่อพิจารณาในทุกมิติแล้ว ทั้งเหตุผลของฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายกระทรวงมหาดไทย และภาคประชาชน เห็นพ้องต้องกันว่าสถานการณ์ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว ยังเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังดูแลสถานการณ์ได้

พล.ท.วลิต โรจนภักดี ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง  (ผช.เสธ.ฝกบ.)
พล.ท.วลิต โรจนภักดี ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ผช.เสธ.ฝกบ.)

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของ “กองทัพบก” ที่นักวิเคราะห์มองว่า “บิ๊กเมา” พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ “ตท.13” แม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงโยกย้ายเดือน เม.ย.นี้ จะได้รับความดีความชอบก่อนเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค. นี้ ด้วยการย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เพื่อครองยศ “พลเอก” ก่อนเกษียณ

และเจ้าตัวมีความพยายามจะผลักดัน “บิ๊กแขก” พล.ต.กิตติ อินทสร “ตท.13” รองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น “พล.ท.อุดมชัย” ขึ้นมานั่งเก้าอี้ “แม่ทัพภาคที่ 4” โดยนับเป็นแคนดิเดตอันดับ 1 เลยก็ว่าได้

แต่ที่ฮือฮา มีข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมส่ง “บิ๊กอู๊ด” พล.ท.วลิต โรจนภักดี “ตท.15” ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ผช.เสธ.ฝกบ.) น้องเล็กแห่ง “บูรพาพยัคฆ์” ที่ผิดหวังเก้าอี้ “แม่ทัพภาคที่ 1” ช่วงโยกย้ายนายทหารระดับนายพลเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ไปทำหน้าที่ “แม่ทัพภาคที่ 4” บัญชาการหน่วยรบในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การส่ง “พล.ท.วลิต” ที่ถือเป็น “เด็กสายตรงนาย” เลยก็ว่าได้นั้นปกติเขาจะไม่ทำกัน เพราะต้องให้ “นายทหาร” ที่ทำงานเจริญเติบโตจากกองทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของทหารที่ปฏิบัติราชการในสังกัดกองทัพภาคที่ 4

ยิ่งหากส่งคนจากข้างบนลงไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้ดูเหมือนว่าคนที่ทำงานในพื้นที่นั้นไม่มีความสามารถ และอาจทำให้ทหาร “ภาคใต้” เสียขวัญ เสียกำลังใจ ที่ทำงานเสี่ยงชีวิตแต่กลับไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่

เรื่องนี้นับวันยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะในอดีต ใช่ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น สมัยที่ “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยส่งเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 คือ “บิ๊กตุ้ย” พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีต ผบ.สส. ที่ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็น “รองเจ้ากรมข่าวทหาร บก.สส.” ข้ามทุ่งโดดไปเป็น “รองแม่ทัพภาคที่ 4” ในปี 2544 และต่อมาก็ขึ้นเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” มาแล้ว

การส่ง “พล.ท.วลิต” ลงไปนั้นก็ถือได้ว่าไปรับงานหินเลยทีเดียว เพราะตัวเองไม่ได้โตมาในพื้นที่ ทำให้ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งในเรื่องการทำงานและสภาพแวดล้อม

และยิ่งหน่วยงานความมั่นคงตั้งเป้าว่า ในช่วงหน้าร้อน เม.ย. นี้ หากส่งตำรวจ 4 พันนาย ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานแทน “ทหาร” ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว

เตรียมปรับโหมดการทำงาน “ทหาร” จากรับเป็นรุกทันที เปิดแผนปฏิบัติการเชิงรุก! ยิ่งทำให้ ว่าที่ “แม่ทัพภาคที่ 4” คนใหม่จะมีส่วนสำคัญในแผนยุทธการนี้ คงต้องรอดูว่า เม.ย. นี้ “พล.ท.วลิต” หรือ “พล.ต.กิตติ” ใครจะสมหวัง