ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาวะฉุกคิด “พลังงานไทย”

ภาวะฉุกคิด “พลังงานไทย”

19 กุมภาพันธ์ 2013


ที่มาภาพ : www.bicycle2011.com
ที่มาภาพ: www.bicycle2011.com

สร้างความตื่นตระหนกไม่ใช่น้อย

สำหรับท่าทีของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” ที่เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องพลังงานในช่วงเดือนเมษายนนี้

หลังจากเกิดปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ถูกสมอเรือจนขาดเมื่อปลายปี 2555 ทำให้ก๊าซขาดไปถึง 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ประกอบกับพม่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะที่แหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุน ในวันที่ 4-12 เมษายนนี้ ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าขาดหายจากระบบไปถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (อ่านเพิ่มเติม-กรณีพม่าหยุดจ่ายก๊าซช่วงปีใหม่ ความจริงที่ ปตท. พูดเพียงครึ่งเดียว)

เมื่อคิดสองแหล่งเท่ากับว่า ในช่วง 9 วัน เชื้อเพลิงที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าลดลง 1,370 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ

ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าวหรือในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูงที่สุด

ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานข้อเสนอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดชอบตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า โดย “ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน และ ดร. คริส กรีเซน” เมษายน 2555 ได้สรุปด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้มีการปรับปรุงกระบวนการวางแผน ตลอดจนการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานและโครงสร้างการกำกับดูแล เพื่อให้การพัฒนาและการดำเนินการของกิจการพลังงานมีความสอดคล้องกับเป้าหมายทางนโยบายที่กำหนดไว้ของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

ขณะที่รายงานประจำปี 2554 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทำสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่เดือนพฤษภาคม โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 23,900 เมกะวัตต์ต่อวัน รองลงมาคือเดือนเมษายน 23,322 เมกะวัตต์ต่อวัน

โดย กฟผ. มีจำนวนการผลิตประมาณ 31,446 เมกะวัตต์ต่อวัน

ในจำนวนนี้มาจากการผลิตของ กฟผ. 14,998 เมกะวัตต์ต่อวัน และกว่าครึ่งเป็นกำลังการผลิตจากแหล่งอื่น โดยรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศจำนวน 14,264 เมกะวัตต์ต่อวัน รับซื้อจากแหล่งนอกประเทศจาก สปป.ลาว จำนวน 1,885 เมกะวัตต์ต่อวัน และจากสายส่งเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ใน “รายงานไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2554” ที่จัดทำขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า ในช่วงปีดังกล่าว มีการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเทียบเท่าน้ำมันดิบรวมทั้งสิ้น 32,389 พันตัน ลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 5.3 โดยแยกตามชนิดการใช้เชื้อเพลิง ดังนี้

1. ก๊าซธรรมชาติ 865,561 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเฉลี่ย 2,371 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นสัดส่วนร้อยละ 65.1 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

2. ถ่านหินและลิกไนต์ 24,044 พันตัน หรือเฉลี่ย 66 พันตันต่อวัน เป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

3. น้ำมันเตา 447 ล้านลิตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

4. น้ำมันดีเซล 32 ล้านลิตร เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

5. ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน (แกลบ กากอ้อย ขยะ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) รวมทั้งสิ้น 9,530 พันตัน หรือเฉลี่ย 26 พันตันต่อวัน เป็นสัดส่วนร้อยละ 6.1 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

และ 6. ก๊าซชีวภาพ 197,130,034 ลูกบาศก์เมตร ก๊าซเหลือใช้จากขบวนการผลิต 709,662 จิกะจูล และแบล็คลิเคอร์ 8,233,596 จิกะจูล ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้ของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก เป็นสัดส่วนร้อยละ 1.0 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ

ด้วยเหตุที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 65.1 ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ ทำให้ไม่อาจจะที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบที่ตามมาจากการหยุดซ่อมแซมแหล่งก๊าซของพม่าได้

จึงมีการออกมาตรการเพื่อ “รับมือ” กับช่วงเวลาดังกล่าวหลายประการ เช่น เตรียมนำโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเดินเครื่องทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซที่หายไป การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพื่อมาเสริมระบบ การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเต็มที่ และการประสานงานกรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำในการผลิตไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันให้น้อยลง

รวมไปถึงการ “ขอความร่วมมือ” จากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน

สถิติการใช้ไฟฟ้่า

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านระบบสายส่งของประเทศรวมในปี 2554 พบว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 148,700 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

โดยสาขาที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ สาขาอุตสาหกรรม ใช้ทั้งสิ้น 63,418 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

รองลงมาคือสาขาธุรกิจ ซึ่งรวมการใช้ของภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร มีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 51,019 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นสัดส่วนร้อยละ 34.3 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

ขณะที่ภาคครัวเรือน ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 3 จำนวน 32,920 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

อันดับที่ 4 สาขาอื่นๆ (การใช้พลังงานไฟฟ้าชั่วคราว) มีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 933 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

อันดับที่ 5 สาขาเกษตรกรรม มีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 304 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

และอันดับสุดท้าย คือ สาขาขนส่ง มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในการเดินรถไฟฟ้าของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมทั้งสิ้น 106 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สาขาที่รัฐบาลควรที่จะประสานขอความร่วมมือให้ประหยัดพลังงานมากที่สุดคือ สาขาอุตสาหกรรม ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้ทั้งประเทศ

และควรที่จะเดินหน้าอย่างจริงจังในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับวันจะหมดลง