ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ กนง. 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 2.75% ให้น้ำหนักเสถียรภาพมากกว่าการเติบโต

มติ กนง. 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 2.75% ให้น้ำหนักเสถียรภาพมากกว่าการเติบโต

21 กุมภาพันธ์ 2013


กนง. เสียงส่วนใหญ่ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% ย้ำเหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มระยะต่อไป เน้นให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพการเงินมากกว่าการเติบโต และส่งสัญญาณห่วงเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยพร้อมดำเนินมาตรการตามความเหมาะสม

ผลการประชุมตัดสินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 คณะกรรมการฯ ทั้ง 7 คน มีมติเสียงส่วนใหญ่ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% สวนทางกับจดหมายของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง กับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พยายามส่งสัญญาณบอกถึงความต้องการของฝ่ายรัฐบาลว่า “ต้องลดดอกเบี้ย” และยังขัดแย้งกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่ “หนุนให้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ”

เหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ย 2.75% คณะกรรมการฯ ระบุว่า เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี โดยกรรมการฯ 1 คน เห็นสมควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบาง

แม้ กนง. จะให้น้ำหนักความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน แต่มีข้อสังเกตว่า “Key massage” ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ “จะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป”

การรายงานผลประชุม กนง. ทุกครั้ง จะมี “Key massage” เพื่อส่งสัญญาณบอกตลาดเขียนไว้บรรทัดสุดท้ายของแถลงผลการประชุม ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การส่งสัญญาณทางด้านเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่เป็นการส่งสัญญาณความเป็นห่วงเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นสำคัญ

แหล่งข่าวจาก กนง. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ “ใช้เวลานานเป็นพิเศษ” โดยเรื่องที่ถกกันมากที่สุดคือ “ปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้าย” ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง เพื่อดูแลเงินทุนไหลเคลื่อนย้าย เพราะในที่สุด จะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จนกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงปัญหาเงินบาทแข็งกระทบภาคส่งออก ก็เป็นประเด็นที่ กนง. ห่วงด้วยเช่นกัน

โดย กนง. ประเมินกันว่า ปัญหาเงินทุนไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียง “ยกแรก” เท่านั้น

ดังนั้น กระทรวงการคลังกับ ธปท. อาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแล

“เครื่องมือการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ถ้าไม่ทำตัวอื่นเลย อาจต้องใช้อัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าทำตัวอื่นก็ไม่ต้องใช้ดอกเบี้ย และไม่ควรเอาดอกเบี้ยไปผูกติดกับเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งขึ้นๆ ลงๆ ก็จะทำให้ดอกเบี้ยผันผวนขึ้นลงตาม และกระทบการทำธุรกิจด้วย” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ในการพิจารณาครั้งนี้ แหล่งข่าว กนง. กล่าวว่า ไม่มีประเด็นอื่นที่ต้องใช้เวลาถกเถียงกันมากเท่าเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากข้อมูลเพิ่มเติมไม่มีอะไรมากเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าครั้งก่อน อาทิ ข้อมูลเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยใช้ข้อมูลล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า แม้คณะกรรมการฯ จะมีความแตกต่างในความเห็น คือ มีหนึ่งเสียงที่มีความเป็นห่วงเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเห็นว่าจะบรรเทาหรือแก้ไขได้ด้วยการลดดอกเบี้ย ซึ่งต้องขอเรียนว่า คณะกรรมการฯ ทั้งชุดก็มีความห่วงใยความผันผวนที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและผลต่อเศรษฐกิจการเงินของประเทศเช่นกัน

แต่เป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน รวมไปถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมก็คือ การพยายามทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเป็นไปตามศักยภาพ และขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ไม่มีปัญหาเสถียรภาพการเงิน นั่นคือเป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพิจารณาปัจจัยให้ครบทุกด้านเท่าที่เราจะสามารถทำได้

โดยเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายก็เป็นปัจจัยหนึ่ง และยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ เรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องการจ้างงาน เรื่องการปรับตัวของธุรกิจส่งออกต่อการแข็งค่าของค่าเงิน เรื่องการปรับตัวของเอสเอ็มอี เรื่องเศรษฐกิจในภูมิภาค เรื่องการขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เหล่านี้เราประเมินแล้วว่า ปัจจัยต่างๆ มีผลอย่างไรต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต่อการช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่ โดยไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ

“เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้าน กรรมการฯ ส่วนใหญ่จึงเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยขณะนี้เป็นอัตราที่เหมาะสมต่อการรักษาเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคโดยภาพรวม”

เลขานุการ กนง. ระบุว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จากตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ แถลงออกมาสร้างความสบายใจระดับหนึ่งว่า เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย และแนวโน้มก็ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลมากนัก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ราคาสินทรัพย์ในบางตลาดก็มีการปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็วและมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการใช้พิจารณาประกอบกัน

“ต้องเรียนว่า ถ้าเราเห็นฟองสบู่ก็อาจจะสายไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นเครื่องชี้ต่างๆ ที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่จะกระตุ้นให้เกิดฟองสบู่ในอนาคต ก็จำเป็นที่เราจะต้องใช้ความระมัดระวัง”

นายไพบูลย์ย้ำว่า เรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานพอสมควรแล้ว ไม่ใช่พูดครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมา กนง. ก็พูดถึง และการประชุมร่วมกันของ กนง. กับ กนส. (คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน) ก็มีการพูดถึงว่า สถานการณ์การขยายสินเชื่อบางประเภทค่อนข้างจะร้อนแรงเร่งตัว ภาระหนี้ครัวเรือนก็สูงขึ้น ตลาดบางตลาดสินทรัพย์ก็ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว

“ปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเดิมที่เรามองอยู่ เนื่องจากภาวะที่เกิดขึ้นจากครั้งก่อนยังไม่ได้ทำให้เราเบาใจขึ้น จึงคิดว่าเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป”