ThaiPublica > เกาะกระแส > วิวาทะ “นโยบายดอกเบี้ย” ประเด็นร้อนท้าทาย กนง.

วิวาทะ “นโยบายดอกเบี้ย” ประเด็นร้อนท้าทาย กนง.

2 กุมภาพันธ์ 2013


ประเด็นร้อนตั้งแต่ต้นปี 2556 คือปัญหา “เงินท่วมโลก” จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และอัตราดอกเบี้ยค่อนสูงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นแรงจูงใจให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลบ่าเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย

โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะเงินบาท ซึ่งช่วงกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นโดยเคลื่อนไหวต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 17 เดือน และแข็งค่าขึ้นกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จนทำให้ “ผู้ส่งออก” ส่งเสียงเรียกร้องและเสนอมาตรการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้น โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) นำ 7 ข้อเสนอดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเข้าหารือกับ ธปท.

ทั้งนี้ ผลการหารือระหว่าง สอท. กับ ธปท. ออกมาค่อนข้างประนีประนอม เห็นได้จากคำสัมภาษณ์หลังการหารือดังนี้

“รู้สึกคลายความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจาก ธปท. ได้ชี้แจงมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลเงินบาทว่าขณะนี้มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาท แต่ต้องขึ้นอยู่กับเวลาที่จะนำมาใช้อย่างเหมาะสม และที่หารือกันก็เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้เราอุ่นใจขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะว่าเงินบาทเริ่มนิ่ง ทำให้จากที่วิตกว่าเงินบาทจะหลุดไปอยู่ที่ 28 บาทต่อดอลลาร์ ก็คงไม่เกิดขึ้น” นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน สอท. กล่าว

ขณะที่นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. จะดูแลผู้ส่งออกไม่ให้ได้รับผลกระทบชนิดที่แบบพอทนได้

“สอท. ขอให้ ธปท. ติดตามธุรกรรมต่างๆ อย่างใกล้ชิด และถ้าจะใช้มาตรการอะไรในเวลาจำเป็นก็ต้องใช้ แต่มาตรการมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งเขาไว้ใจว่า ธปท. จะใช้มาตรการขนาดที่เหมาะสมและในเวลาที่เหมาะสม” นางผ่องเพ็ญกล่าว

เมื่อพูดถึง “ค่าเงินบาท” ใครๆ ก็พุ่งเป้ามาที่ ธปท. ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก และมักจะมี “วิวาทะ” เกี่ยวกับ “นโยบายดอกเบี้ย” ให้ถกเถียงกันได้ตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินไหลเข้า ลดแรงกดดันเงินบาทแข็ง กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อัตราดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า เพื่อดูแลไม่ให้เงินบาทแข็ง

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.

ความเห็นต่างเรื่องนี้อาจไม่เป็นประเด็นร้อน ถ้าผู้ที่แสดงความคิดเห็นไม่ใช่ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งอยู่ในฐานะคนใน ธปท. ที่ออกฟันธงว่าดอกเบี้ยต้องลง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าและทำให้เงินบาทอ่อน

ดร.วีรพงษ์ซึ่งเงียบหายหยุดวิจารณ์ ธปท. มาระยะหนึ่งหลังจากสั่งให้ ธปท. ไปศึกษาหาทางออกแก้ปัญหาขาดทุนของ ธปท. แต่เรื่องนี้ยังเงียบๆ อยู่ เพราะหลังตรวจการบ้านที่ ธปท. ส่งให้แล้วปรากฏว่าไม่ผ่าน จึงสั่งให้ ธปท. กลับไปทำการบ้านมาส่งใหม่

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ธปท. ที่ห่างหายไปของ ดร.วีรพงษ์ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ประธานคณะกรรมการ ธปท. น่าจะเข้าอกเข้าใจหลักคิดและวิธีการทำงานของ ธปท. มากขึ้นหลังจากเข้าไปคลุกวงในเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ล่าสุด ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand’s Economic Outlook 2013” ที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดขึ้น ดร.วีรพงษ์ได้แสดงความเห็นในประเด็นร้อนเรื่องค่าเงินบาทแข็งว่า มีทางเดียวที่จะหยุดยั้งเงินทุนระยะสั้น และลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท คือ “ต้องลดดอกเบี้ยลง” เพื่อลดมูลเหตุการณ์จูงใจของการไหลเข้าของเงิน ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการอื่นๆ ที่จะสกัดการไหลบ่าเข้ามาของเงินทุน แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนกลไกตลาด คือ ทำอย่างไรไม่ให้เงินบาทแข็ง แต่ไม่ใช่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ถ้าทำแบบนั้นเศรษฐกิจจะล้มเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2538-2539 และพังในปี 2540

“เมื่อเงินบาทแข็งก็ต้องแก้ปัญหา คือ ทำให้เงินบาทอ่อนด้วยการลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินบาทกับอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ กับสร้างอุปสรรคไหลเข้าออกของเงิน ส่วนจะเป็นอะไรต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการทำเรื่องนโยบายการเงินอันตรายมาก มีผลข้างเคียงเยอะ แต่ใช้แล้วได้ผลชะงัด ส่วนนโยบายการคลังเหมือนยาหม้อ ผลข้างเคียงน้อย แต่ใช้เวลานาน” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของ ธปท. หรืออัตราดอกเบี้ยเงินบาทอยู่ที่ 2.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐ (FED) หรืออัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์ อยู่ที่ 0.25% มีส่วนต่างถึง 2.5%

ดร.วีรพงษ์มีความเห็นว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินบาทเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สูงเกินไป และหากยังคงรักษาความแตกต่างไว้สูงขนาดนี้ การไหลเข้าของเงินก็จะไม่หยุด แล้วฟองสบู่ในตลาดทุนก็จะร้อนแรงยิ่งขึ้น และที่น่าห่วงคือ จะเกิดขึ้นคล้ายปี 2538 แต่ตอนนั้นเราให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ยิ่งเพิ่มเงินไหลเข้าตลาดทุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ แล้วขณะนั้นผู้ดำเนินนโยบายการเงินตกใจ ยิ่งขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่เข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยกับปริมาณเงินไหลเข้าเชื่อมโยงกันอย่างไร

“เพราะฉะนั้น ตอนนี้ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทกับอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์มีช่องว่างสูงอย่างนี้ อาการฟองสบู่ก็จะค่อยๆ คืนกลับมา สังเกตได้จากราคาในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มสูงขึ้น” ดร.วีระพงษ์กล่าว และย้ำว่าตลาดหุ้นเกิดภาวะฟองสบู่แล้ว เพราะในฐานะเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนพบว่า ผลตอบแทนของบริษัทที่นั่งเป็นที่ปรึกษาหลายแห่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเลย แต่ราคาหุ้นกลับขึ้นไป 100% แล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% มาตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงขณะนี้ ดร.วีรพงษ์มองว่า สถานการณ์ได้ถลำลึกลงมามาก เพราะเราปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเงินบาทสูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์มาเป็นเวลานาน การตัดสินใจต่างๆ จะลำบากมากยิ่งขึ้น หากปล่อยไปแบบนี้ ถ้าเงินบาทหลุด 29 บาท/ดอลลาร์ อุตสาหกรรมส่วนหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหลุด 28 บาท/ดอลลาร์ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ได้ ในที่สุดเศรษฐกิจจะแฟบลงมาก นำไปสู่จุดที่แย่ลง

“แต่ที่ห่วงที่สุดคือ ผู้กำหนดนโยบายไม่เข้าใจว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเป็นอย่างไร และเขาคิดว่าเศรษฐกิจร้อนแรงต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น” ดร.วีรพงษ์กล่าวและย้ำว่า “วิธีคิดของ ธปท. คือ ฟองสบู่จะต้องปราบได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก”

ขณะที่มาตรการลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าที่ ธปท. พยายามดำเนินการด้วยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้นักธุรกิจและนักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกคล่องตัวขึ้น หรือทำให้มีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ ดร.วีรพงษ์มองว่าเป็นการแก้ปัญหาเหมือนการใช้ “ยาหม่อง ยาแดง ยาเหลือง”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า การที่ ธปท. จะแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าคงทำได้ไม่มาก และยังสร้างความเสียหายทำให้ ธปท. ขาดทุนเป็นจำนวนมาก และงบดุลขององค์กรเสียหาย ซึ่งจะโยงไปถึงความเชื่อมั่นของการเป็นธนาคารกลางในอนาคต เพราะฉะนั้น จะเป็นข้อจำกัดในการแทรกแซงค่าเงินและทำให้การตัดสินใจนโยบายการเงินยากยิ่งขึ้น

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นอีกเสียงหนึ่งมีความเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า ลดแรงกดดันเงินบาทแข็ง แต่ไม่ฟันธง

ดร.ศุภวุฒิมีความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหลักทั้งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ด้วยการพิมพ์เงิน และกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เป็นเงื่อนไขที่จะอยู่กับเราไปอีก 2-3 ปี เพราะฉะนั้นประเด็นคือ เราจะอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยโลกได้หรือไม่ ในฐานะเศรษฐกิจเรามีขนาดเล็ก และพึ่งพาการส่งออกนำเข้าสูงถึง 150% ของจีดีพี

นอกจากนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดร.ศุภวุฒิพยายามชี้ให้เห็นว่า หากดูเงินเฟ้อของไทยกับเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วจะพบว่า มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันถึง 80% เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อเราถูกกำหนดโดยประเทศพัฒนาแล้ว วินัยการเงินที่ดี

ด้วยเหตุผลแบบนี้ ถ้าประเทศพัฒนาแล้วไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ เราก็จะไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ เรานึกว่าเราคุมเงินเฟ้อ แต่จริงๆ เราทำไม่ได้ขนาดนั้น ดังนั้นเราต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยโลก ถ้าคิดแบบนี้นโยบายการเงินจะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ ธปท. คิดว่า ถ้าเงินเฟ้อสูงก็ขึ้นดอกเบี้ย ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่บอกว่านำมาพิจารณาด้วยเป็นเพียงเหตุผลหรือมีน้ำหนักที่พิจารณาน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิยอมรับว่า การที่ ธปท. เป็นห่วงว่าถ้าดอกเบี้ยต่ำมากเกินไป จะกระตุ้นสินเชื่อให้ขยายตัวและเสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่ หรือเป็นห่วงเรื่องหนี้สินที่เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยดูแล หรืออาจใช้มาตรการกำกับสถาบันการเงินดูแล เป็นเรื่องไม่ผิด

“แต่คำถามคือ เงินทุนที่โถมเข้ามา ธปท.จะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยโลกได้หรือ เรื่องนี้ ธปท. ต้องตอบให้ได้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น หรือ hot money แต่เงินที่ไหลออกที่ ธปท. พยายามส่งเสริมและผลักดันให้เกิดขึ้นคือเงินลงทุนของคนไทยไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินลงทุนระยะยาว หรือเป็น quality money จะเห็นว่า เงินไหลเข้ากับเงินไหลออกไม่สมดุลกัน ภายใต้สถานการณ์นี้ จะยังคงรักษาส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยโลกได้หรือ

สำหรับมุมมองของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นคนกันเองของ ธปท. โดยในงานเดียวกันแต่นอกรอบ ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ประธานสมาคมตราสารหนี้ไทย และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. มีความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าว่า เรื่องเงินทุนไหลเข้ามีบริบทกว้างกว่าข้อถกเถียงในขณะนี้ เพราะดูแล้วเงินทุนไหลเข้าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนจากต่างประเทศ และเครื่องมือดูแลเงินทุนไหลเข้าก็มีมากกว่าอัตราดอกเบี้ย จึงขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้เครื่องมือเครื่องไม้ที่มีอยู่ได้อย่างครอบคลุมพอที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเติบโตระยะยาวหรือไม่

“ถ้ามองเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็อาจดูเหมือนว่าลดช่องว่าง แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอย่างเดียว อีกประเด็นคือ ถ้าดอกเบี้ยลงไปต่ำยิ่งกระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เรื่องนี้จึงเป็นการดูเฉพาะเครื่องมือไม่ได้ แต่ต้องดูว่าจะผสมผสานเครื่องมือที่มีอยู่อย่างไร เพื่อรักษาเป้าหมายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โจทย์นี้ประเทศไทยเคยผ่านมาแล้วหลายครั้ง เราก็สามารถบริหารจัดการ คิดว่ารอบนี้ก็ควรจะบริหารจัดการได้” ดร.บัณฑิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.บัณฑิตยอมรับว่า เงินทุนไหลเข้าทำให้เงินบาทได้รับแรงกดันผันผวนอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญที่ทางการต้องทำคือ ควรบริหารจัดการความผันผวนให้ค่าเงินบาทสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดได้ ในขณะที่ไม่ผันผวนจนทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ได้ อันนี้เป็นหลักที่ตลาดการเงินมองเลย

แต่เมื่อเงินเข้ามาแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ สามารถสร้างแรงกดดันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจทั้งในลักษณะที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไป และมีลักษณะการใช้จ่ายที่เกินตัว นำไปสู่แรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ประเด็นที่ ดร.บัณฑิตเป็นห่วงคือ เมื่อเงินทุนไหลเข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การใช้จ่ายเงินเกินตัว และก่อหนี้เกินระดับจนสร้างแรงกดดันต่อเสถียรถาเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อเงินทุนไหลเข้ามา การขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคครัวเรือน นี่คือการสะสมหนี้ และยิ่งภาครัฐกำลังจะกู้เงินลงทุน ก็กำลังจะสะสมหนี้ รวมทั้งบริษัทเอกชนก็กู้เงินแบงก์เพื่อไปซื้อกิจการต่างประเทศ ก็เป็นการสะสมหนี้ ในแง่นี้ สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้นคือ การก่อหนี้ของระบบเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน เราต้องดูว่าการก่อหนี้นำไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ใช่เพื่อการบริโภค

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ประธานสมาคมตราสารหนี้ไทย และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท.
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ประธานสมาคมตราสารหนี้ไทย และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ที่มา: http://www.prachachat.net

ดร.บัณฑิตเชื่อว่า ทั้งสองเรื่องนี้ ธปท. ตระหนักดีอยู่แล้ว และคงพยายามที่จะบริหารจัดการปัญหาให้ความผันผวนอยู่ในระดับที่ธุรกิจปรับตัวได้ และให้การใช้ประโยชน์สภาพคล่องที่มีมากขึ้นไม่สร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว แต่เรื่องนี้จะทำได้ง่ายเมื่อการ “ประสานนโยบายการเงินการคลัง” ทำได้ดีกว่าที่ผ่านมา

ตัวอย่างนโยบายที่สามารถผสมผสานกันได้คือ เมื่อเศรษฐกิจได้ประโยชน์จากเงินไหลเข้าจำนวนมาก ประชาชนใช้จ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่รัฐจะให้แรงจูงใจเรื่องภาษี เรื่องรถคันแรก หรือในเรื่องให้สิ่งต่างๆ ก็ดูมีความจำเป็นน้อยลง และขณะที่ภาคธุรกิจกำลังดำเนินไปด้วยดี ภาครัฐก็ควรจะต้องถอนแรงจูงใจต่างๆ ที่เคยให้ไป เพราะมีความจำเป็นน้อยลง

ขณะนี้ แรงจูงใจต่างๆ ที่รัฐบาลเคยให้ปีที่แล้วก็ยังมี แต่เมื่อถึงจังหวะเวลาที่มาตรการเหล่านี้หมดอายุลง รัฐบาลต้องอาศัยจังหวะเวลาที่มาตรการเหล่านี้หมดลงพิจารณาให้ท่องแท้ว่าอาจไม่จำเป็นแล้ว และรัฐบาลก็จะกู้เงินมาลงทุนอีกก้อน เพราะฉะนั้น ความจำเป็นจะกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐอาจไม่มากเท่ากับปีก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสเงินทุนไหลเข้ายังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง

“การบริหารจัดการจึงขึ้นกับการประสานวิธีคิด การประสารการทำงานร่วมกันของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ไม่ใช่การแทรกแซงกัน แต่ช่วยกันดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตมีเสถียรภาพ อันนี้คือตัวอย่างการประสานงานนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวจนก่อให้เกิดความไม่สมดุล” ดร.บัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ ความเห็นของดร.บัณฑิต เรื่องการประสานนโยบายการเงินการคลัง เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐมนตรีคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง ก็โหนกระแส “ดร.วีระพงษ์” กดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยเหมือนกัน

ขณะที่ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีคลัง และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของกนง. และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอลดดอกเบี้ยของดร.วีระพงษ์

ม.ร.ว.ปรีดยาธรมีความเห็นว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยหยุดยั้งการไหลเข้าของเงินทุน เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่ 3% เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เงินทุนไหลเข้าเกิดจากการ “carry trade” คือ การที่นักลงทุนกู้เงินจากสกุลเงินที่มีแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในสกุลเงินของประเทศที่มีผลตอบแทนสูง เพราะจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บวกกับกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย

ขณะที่ “ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธปท. หลังจากทั้งฟังและอ่านข่าวเรื่องข้อถกเถียงเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายก็พยายามอธิบายหลักคิดและแนวคิดของธปท.ว่า เวลาเราพูดถึงดอกเบี้ย เราหมายถึงดอกเบี้ยไทย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจไทย และในยามนี้เศรษฐกิจเราแตกต่างจากอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปค่อนข้างมาก

ขณะที่ฝั่งอเมริกาอยากจะลดอัตราการว่างงานจาก 9% ลงเป็น 7-8% และตั้งเป้าลดลงเป็น 6.5% แต่เรากำลังขาดแคลนแรงงาน อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 0.4% ระดับการอุปโภคบริโภค การลงทุน ที่สะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อสูง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงมากประมาณ 20%

แต่ที่ธปท.สนใจคือ สินเชื่อครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือน ซึ่งระยะหลังเติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี โดยในปี 2552 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 58% และเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปีที่แล้วกระโดดขึ้นมาเป็น 73% โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงนักกำลังไปในทิศทางคุณภาพเสื่อมลง

“เรื่องดอกเบี้ยเป็นตัวสำคัญของเศรษฐกิจที่พยายามรักษาสมดุลดีมานด์และซับพลายในระบบเศรษฐกิจ โดยการประชุมล่าสุดของกนง.เมื่อต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาศัยตัวเลขเศรษฐกิจมาถึงปลายพ.ย. 55 ได้ข้อสรุปดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมคือระดับ 2.75% จะสามารถสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ และตัวเลขที่ดูเมื่อการประชุมที่ผ่านมามีการปรับประมาณการเศรษฐกิจเพราะว่าได้รับสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกก็คลี่คลายไปทิศทางดีขึ้นด้วย กนง.จึงมติเอกฉันท์ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย” ผู้ว่าการธปท. กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.

แต่ประเด็นที่ทำให้ ดร.ประสาร รู้สึก งง! และแปลกใจ คือ การตั้งข้อสังเกตเรื่องฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยสูง

ดร.ประสารยอมรับว่า เรื่องฟองสบู่เท่าที่อ่านจากข่าวที่แสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ “งง!” เพราะความจริงที่พวกเราคุ้นกันคือ ตัวที่ไปสร้างจุดเปราะบางสร้างภาวะฟองสบู่ความจริงเป็นภาวะดอกเบี้ยต่ำ มากกว่าภาวะดอกเบี้ยสู

พร้อมกับอธิบายหลักง่ายๆว่า ถ้าสมมุติคนอยากจะกู้เงิน หรืออยากจะอุปโภคบริโภค แต่ถ้าดอกเบี้ยสูงก็จะรู้สึกว่ามีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยมาก รู้สึกมีหนี้มาก ในทางกลับกันถ้าดอกเบี้ยต่ำจะรู้สึกไม่ค่อยมีหนี้ ภาระน้อยเบา ก็จะไปกระตุ้นการซื้อ การใช้จ่าย หรือถ้าคนที่ชอบหลักวิชาการ เวลาเราประเมินราคาทรัพย์สิน หลักง่ายๆ คือ ทรัพย์สินนี้จะสร้างรายได้เป็นกระแสเงินสดในอนาคตเท่าไร แล้วเราก็คิดส่วนลดโดยใช้อัตราดอกเบี้ย วิธีนี้ใช้กันมากในวงการตลาดหุ้น

ขั้นตอนการเกิดฟองสบู่ ความหมายคือว่า คนจะรู้สึกว่าราคาหรือมูลค่าทรัพย์สินสูงกว่าที่ควรจะเป็น ภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นอย่างนั้น เพราะพอคิดส่วนลดเงินสดจะได้ตัวเลขที่สูง แต่พอไปถึงจุดหนึ่งในอนาคตที่กลไกทำงานบอกว่า ดอกเบี้ยไม่ควรทำ ก็คล้ายๆ คนเอาเข็มไปแทงลูกโป่ง หรือในที่นี้คือ ฟองสบู่ก็จะแตก เพราะเมือเราคิดส่วนลดใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น มูลค่าที่สูงก็จะตกลงมา ก็เป็นภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ก็เห็นชัดๆ ไม่นานนี้คือสหรัฐ ที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551

“ก็เป็นอันที่งง แปลก อย่างไรก็ตามที่มีการประชุม (30 ม.ค.) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประทาน ก็ให้ข้อคิดนี้ว่า ตัวร้ายที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในเศรษฐกิจจนเกิดปัญหาต่างๆคือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่ใช่ดอกเบี้ยสูง อันนี้ก็เป็นแนวคิด และอยากเน้นย้ำวา กนง. จะดูข้อมูลเรื่องนี้ในการประชุมทุก 6 สัปดาห์ ถ้าตัวเลขอัพเดทหลังพ.ย. 55 ชี้ไปในทางอื่น การวิเคราะห์ก็อาจเป็นอย่างอื่น นำไปสู่การตัดสินใจที่แตกต่างก็ย่อมเป็นไปได้” ดร.ประสารกล่าว

จะเห็นว่าการถกเถียงเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยดูเหมือนจะเป็นความเห็นต่างเรื่องหลักคิดที่มองกันคนละด้าน

โดย ดร.วีระพงษ์ มีหลักคิดว่า ดอกเบี้ยสูง เป็นมูลเหตุจูงใจให้เงินไหลเข้ามาก สร้างแรงกดดันภาวะฟองสบู่

ขณะที่ ดร.ประสาร มีหลักคิดว่า ดอกเบี้้ยต่ำ จะกระตุ้นการใช้จ่ายเกินตัว เสี่ยงสร้างแรงกดดันภาวะฟองสบู่

ความเชื่อหรือแนวคิดที่ต่างกันนั้น ยากจะฟันธงว่าใครผิด ใครถูก เพราะมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะฟองสบู่ทั้งสองด้าน และน่ากลัวทั้งสองด้าน

แต่ประเด็นคือ แบบไหนน่ากลัวกว่ากัน!

ความเห็นต่างเรื่อง “ลด หรือ ไม่ลด” ก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่ลึกกว่านั้นคือ ถ้าต้องลดดอกเบี้ยลง ต้องลดลงเท่าไร หรือต้องให้ “ยาแรง” ขนาดไหนถึงจะเพียงพอในการสกัดเงินทุนระยะสั้น ดูแลเงินบาทให้อ่อน

โดยในมุมมองของ ดร.วีรพงษ์คือ ส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศควรอยู่ประมาณ 0.75%

นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องลดลงเหลือ 1% จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.75%

ขณะที่มุมของ ธปท. การลดอัตราลงต่ำขนาดนั้น เชื่อว่าต้องมีคำถามว่า คุ้มกับความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่

ดังนั้น เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่า เบื้องหลังวิวาทะเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยน่าจะมาจากพื้นฐานการมองภาวะเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ดร.วีรพงษ์ มีประสบการณ์ในยุคโชติช่วงชัลชวาลอาจเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อีก แนวคิดนี้สอดคล้องกับที่รัฐบาลเคยประกาศว่าเศรษฐกิจไทยควรขยายตัวอย่างน้อย 6-7% แต่ปัจจุบันขยายตัวเพียง 5% ดังนั้น สามารถเหยียบคันเร่งแรงขึ้นได้โดยปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก และยังช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่า หนุนการส่งออกอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ ธปท. กลับเห็นว่า ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอัตราเฉลี่ย 5% คือระดับที่เป็นไปตามศักยภาพ ถ้าเหยียบคันเร่งแรงกว่านี้ เศรษฐกิจจะร้อนแรง สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ความเห็นต่างนี้ใครผิดใครถูกพูดยาก ต่างฝ่ายต่างมีเหตุและผลของตนเองชนิดยืนคนละมุม แต่ทุกทางเลือกมี “ความเสี่ยง” ของเศรษฐกิจเป็นเดิมพัน

ความท้าทายครั้งนี้ ตกเป็นภาระของผู้กำหนดทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย นั่นคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.พ. นี้ โปรดติดตาม

“ดร.ประสาร” แจง “หลักคิดการทำงานของ ธปท.”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

ปัญหาความเห็นต่างเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย และเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหลักคิดและแนวคิดในการทำงานของ ธปท. ทำให้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ถือโอกาสใช้เวทีในงาน “Thanks Press” งานขอบคุณสื่อมวลชนประจำปีของ ธปท. เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 อธิบายหลักคิด หรือแนวคิดการทำงานของ ธปท. เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานของ ธปท.

ดร.ประสารอธิบายหลักคิด หรือแนวคิดการทำงานของ ธปท.โดยสังเขปว่ามี 3 เรื่องหลัก ดังนี้

1. เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย หลักคิดคือ

ข้อแรก เวลาประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจต้องดูประเด็นต่างๆ หลายด้าน และพยายามดูให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่เวลาวิเคราะห์อาจให้น้ำหนักบางด้านมากกว่าซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่กรอบการทำงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามกฎหมาย ธปท. 2551 ก็ให้น้ำหนักแต่ละเรื่องเป็นการตัดสินใจขององค์คณะบุคคล แทนการตัดสินใจคนใดคนหนึ่ง อย่างเรื่องดอกเบี้ย ใช้การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน

ข้อสอง เป้าหมายของนโยบายการเงิน คือ ดูแลเสถียรภาพระยะยาว โดยจะทำให้ดีที่สุด แต่ระหว่างทางจะคอยสังเกตว่ามีความเปราะบางอะไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ้าง ก็จะพยายามเตือนหรือระวัง และบริหารให้ไม่ไปเร่งจุดเปราะบาง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่นโยบายการเงิน โดยหลักคือพยายามรักษาสมดุลระบบเศรษฐกิจ

ข้อสาม การเติบโตระยะยาวของประเทศจะขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านอื่นๆ โดยเฉพาะศักยภาพของภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งหมายถึงศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการผลิต ด้านการตลาด ด้านแรงงาน และศักยภาพในเรื่องทรัพยากรต่างๆ นี่คือตัวจริงที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ดี แต่นโยบายการเงินจะพยายามรักษาสมดุลเศรษฐกิจให้

ข้อสี่ ธปท. มีดัชนีการติดตามเศรษฐกิจหลายตัว เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจ และการสื่อสารในระยะต่อไปจะใช้เวทีที่พบปะผู้สื่อข่าวเดือนละครั้ง (meet the press) มาอธิบายทำความเข้าใจว่าที่ ธปท. ติดตามแต่ละเรื่องมีอะไร และที่ติดตามอยู่แต่ละเรื่องนั้น เราเห็นภาพอย่างไรในมุมมองของเรา

2. เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หลักคิดโดยสังเขปคือ

เรื่องแรก ธปท.จะพยายามติดตามกลไกการทำงานของกลไกตลาด และจะพัฒนาเครื่องมือวางกฎกติกาต่างๆ ไว้ เพื่อว่าถ้าเราสังเกตเห็นว่ากลไกตลาดในเรื่องนี้เกิดการบิดเบือน หรือมีกลไกอะไรที่พยายามทำให้ตลาดในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนบิดเบือน เราก็พร้อมที่จะใช้การบังคับกฎกติกาที่เรามีอยู่ หรือเครื่องมือที่เรามีอยู่เข้าจัดการ เพื่อให้กลไกตลาดทำงานไม่บิดเบือน

เรื่องที่สอง ธปท. ไม่ใช่ตัวเล่นหลักในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ปรารถนาจะเป็นตัวเล่นหลัก ตัวเล่นหลักคือเจ้าของเงินไหลเข้าและไหลออก ถ้าเป็นเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ตัวผู้เล่นหลักคือนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนกรณีเงินไหลออก ผู้เล่นหลักคือคนไทย แน่นอนที่สุดว่าปัจจัยการตัดสินใจของ 2 กลุ่ม มีหลายแบบ และขนาดในแต่ละช่วงเวลาอาจแตกต่างกัน แต่หน้าที่ของ ธปท. คือพยายามดูและจะคานให้เงินเข้ากับออกสมดุล ไม่ไปขยับหรือไปสร้างจุดเปราะบางในตลาดการเงิน สิ่งที่เราพยายามทำคือ ทำให้ได้จุดสมดุล แต่เราไม่มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้เล่น

3. เรื่องสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน หลักคิดคือ

งานของ ธปท. ที่จะมีส่วนเสริมการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ถ้าเราทำได้ดี พวกนี้จะไปสนับสนุนระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ดี หลักคิดในเรื่องนี้คือ อย่างสถาบันการเงิน เราพยายามทำให้ได้มาตรการฐาน และพยามป้องกันไม่ให้ไปเป็นตัวเร่งความเปราะบาง เช่น ไปเร่งให้เกิดฟองสบู่ หลักคิดคือไม่ไปเร่งจุดเปราะบาง

“นี่คือการสื่อหลักคิดการทำงานของ ธปท. ที่อยากให้เข้าใจ” ดร.ประสารกล่าว

หมายเหตุ: ในงาน Thanks Press ขอบคุณสื่อมวลชนของ ธปท. ปีนี้ มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “THE BOT” เนื้อหาโดยสรุปคือ “เปรียบเทียบเศรษฐกิจเหมือนห้องเรียน” ที่มีทั้งเด็กดี เด็กเกเร เด็กเรียบร้อย เด็กดื้อ และ “เปรียบ ธปท. เป็นคุณครู” คอยกำกับดูแลเด็กในห้องเรียนไม่ให้เกิดความวุ่นวาย