ThaiPublica > คนในข่าว > คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ กับโครงการ “Hospice” ชีวิตและความตายที่ดี ที่หัวหิน

คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ กับโครงการ “Hospice” ชีวิตและความตายที่ดี ที่หัวหิน

7 กุมภาพันธ์ 2013


คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์
คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็น อนิจจัง วัฏสังขารา ของมนุษย์ปุถุชน

หากมีโอกาสให้เลือกตายได้ ทุกคนต่างต้องการที่จะจากโลกนี้ไปด้วย“การตายที่ดี”ในวาระสุดท้ายของชีวิต

ด้วยโลกที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้คนหลุดออกไปจากวิถีที่เรียบง่าย ก้าวสู่วังวนของชีวิตที่มีแต่ “ออนไลน์” ไม่มี “ออฟไลน์”

แต่มนุษย์คงจะฝืนกระแส ฝืนธรรมชาติได้ยาก ท้ายที่สุดก็คืนสู่สามัญ คืนสู่ธรรมชาติ

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ที่มองเห็นตรงกันว่ากายและใจเป็นเรื่องเดียวกัน

“Hospice” สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายในต่างประเทศที่มีมานานแล้ว เป็นการเตรียมความพร้อมให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลคนป่วยที่เป็นญาติ สามารถรับมือกับวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยความเข้าใจ เข้าถึงกันและกัน เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างมีคุณภาพและมีความสุข ขณะที่ผู้สูญเสียก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและมีจิตใจที่เข้มแข็ง

เมืองไทยยังไม่ได้จัดตั้งสถานให้บริการที่เรียกว่า Hospice อย่างเป็นระบบ แต่มี Hospice แบบไทยๆ อาทิ “อโรคยศาล” หรือสถานบริบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่จัดตั้งขึ้นโดย พระปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง จ.สกลนคร ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 8 ปี ขณะที่มหาวิทยาลัยแพทย์หลายแห่งเริ่มให้ความสนใจที่จะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวบ้างแล้ว

ด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มบุคคลที่เล็งเห็นว่าประเทศไทยควรมีโครงการ Hospice เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ และครอบครัว ในฐานะผู้ริเริ่ม โครงการศูนย์ฝึกอบรมและสถานพักฟื้นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้บริจาคที่ดินประมาณ 100 ไร่ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำโครงการ Hospice

คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์

คุณหญิงจำนงศรีได้เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า Hospice เป็นเรื่องที่อยู่ในใจมานานแล้ว ประจวบเหมาะกับได้พูดคุยกับพระอาจารย์ ชยสาโรเมื่อหลายปีก่อนว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยเราไม่มี Hospice ท่านเล่าว่าตอนนั้นพ่อของท่านเพิ่งเสียชีวิตที่อังกฤษ แต่ทั้งๆ ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีความเจ็บปวด ท่านกลับได้เห็นพ่อตายอย่างสงบและได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ได้มีการไปยื้อชีวิตอย่างไม่จำเป็น คือ ท่านเห็น “ความตายที่ดี” หรือ “good death” ของพ่อท่าน อันหมายถึงการที่ร่างกายและจิตใจไม่ผ่านการทุกข์ทรมานมาก

“วันนั้นพระอาจารย์ชยสาโรพูดสะดุดใจดิฉันมากว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมเราไม่มีเรื่องของ Hospice หรือสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มันแพร่หลาย ทำให้ดิฉันคิดเยอะมากเลยในเรื่องนี้”

ตอนนั้นดิฉันมีที่ดิน 5 ไร่ อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ถามท่านชยสาโรว่าอยากทำ Hospice ที่ตรงนั้นไหม ท่านบอกว่าอาตมาเชี่ยวชาญในเรื่องของการศึกษา แต่ในเรื่องของความตาย ให้ดิฉันไปคุยกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล (เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต) จากนั้นมาดิฉันก็นิมนต์พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาทำคอร์ส “วิถีแห่งความตายอันสงบ” ที่บ้านน้ำสาน จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้นทุกปีจะมีการอบรมเรื่องใจ กาย ที่นี่จะรับผู้เข้าอบรมได้ปีละประมาณ 26 คน อย่างปีนี้(อบรมเดือนมกราคม) ผู้ที่เข้ามาจะเป็นพยาบาล หมอ หลายคน โดยเป็นคนที่ต้องดูแลผู้ป่วย คนเหล่านี้จะสมัครเข้ามา โครงการอบรมนี้ มีการพัฒนาเนื้อหาสาระขึ้นเรื่อยๆ ครั้งสุดท้ายมีส่วนของการแพทย์ อธิบายเรื่องการหยุดทำงานของร่างกายกับมุมของการแพทย์ เป็นต้น

เมื่อประมาณปลายปี 2554 ดิฉันได้เงินมาจากการขายที่ดินที่พัทยา และเห็นว่าหัวหินมีศักยภาพหลายอย่างมาก ดิฉันนึกว่าพอขายที่ที่พัทยาได้จะมาทำอะไรที่หัวหิน

คุณหญิงจำนงศรีเล่าต่อว่า “วันหนึ่งตามสามี (ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์) ไปประชุมที่หัวหิน ตอนนั้นสามีเป็นประธานสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ดิฉันเป็นผู้ติดตาม นึกว่าจะเป็นผู้ติดตามเพียงคนเดียว แต่ปรากฏว่ามีกรรมการ สมศ. อีกคนหนึ่งเอาภรรยามาด้วย ก็นั่งเป็นเพื่อนกัน คำแรกที่เราถามคำคือ หนูทำอะไร เขาบอกว่าเขาเป็นรอง ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ดิฉันก็บอกไปทันทีเลยว่า “ป้าอยากทำ Hospice สถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” เธอตอบทันทีเลยว่า “หนูก็อยากทำค่ะ” นี่คือจุดเริ่มต้น

และได้บอกไปว่าอยากให้โครงการนี้มีที่หัวหิน เหตุผลมีหลายอย่าง คือ คนที่ทำงานกับศูนย์บริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะต้องการธรรมชาติ ทะเล ภูเขา ที่จะผ่อนคลายได้ เพราะเรื่องการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะมันเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น การที่มีทั้งภูเขาและทะเลมันเหมาะสม อีกอย่างหนึ่ง หัวหินเองเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ก็มีส่วนที่เงียบ ที่ติดภูเขา ที่สำคัญเป็นเมืองศิลปิน มีศิลปินเยอะ อาทิ มีโรงเรียนภัทราวดี ดิฉันมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ นอกจากนั้นแล้วยังมีพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วย

วันนั้นเลยไปดูที่ดินกัน ประกอบกับช่วงนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังเลือกตั้งอธิการบดี แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เข้ามาเป็นอธิการบดีคนใหม่เขาจะสนใจเรื่องนี้หรือไม่

พอคุณหมอรัชตะ (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ได้รับเลือกตั้งเป็นอธิการบดี ซึ่งดิฉันได้ข่าวมาว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกเรื่องใหม่ๆ ที่สำคัญกับสังคม ดิฉันเลยโทรไปหาโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน บอกคุณหมอไปว่า ดิฉันอยากจะซื้อที่ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อที่จะทำศูนย์บริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ท่านบอกว่าผมก็สนใจที่จะทำอยู่ ซึ่งท่านได้มาหาที่บ้านในวันนั้นเลย และบอกว่าเราอยากจะให้ที่ดินเพื่อทำงานนี้ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ได้นั่งคุยกันถึง 2 ชั่วโมง ว่าความฝันของเราคืออะไร และเราเห็นแล้วว่า สถานบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายควรมีเรื่องของคนชราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ดิอิโคโนมิสต์ ที่จ้าง Lien Foundation ให้ทำงานวิจัย Quality of Death โดยสำรวจประเทศต่างๆ ซึ่งตั้งเกณฑ์ขึ้นมาว่าต้องการอะไรบ้าง อาทิ เกณฑ์ในเรื่องของจิตใจ อารมณ์ และทางด้านอื่นๆ อีกเยอะมาก เพราะการทำ Hospice ไม่ใช่เรื่องของกายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของใจด้วย ซึ่งสำคัญมาก รวมทั้งของการเข้าถึงยาของรัฐที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด อะไรต่ออะไร มันจะอยู่ในเกณฑ์นั้นหมด

ผลการวิจัยปี 2010 ประเทศไทยไม่อยู่ใน 40 อันดับ Quality of Death ทั้งๆ ที่เพื่อนบ้านของเราอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย อยู่ใน 40 อันดับนี้ มีอินเดียอยู่ในอันดับสุดท้าย

เมื่อคุณหมอรัชตะได้เป็นอธิการบดี หลังจากนั้นได้เดินทางไปดูสถานพยาบาลระยะสุดท้ายหลายแห่งตามประเทศต่างๆ มีทั้งทีมของมหิดล อาศรมศิลป์ และดิฉัน โดยไปทุนส่วนตัว ตัวดิฉันเองไปดูที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วย ไปดูงานที่แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นี่ (สหรัฐอเมริกา) มีศูนย์ชื่อZen Buddhist Hospice

ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะไปดูงาน เราก็ทำข้อมูลว่าจะไปดูที่ไหนบ้าง ทางคุณหมอรัชตะก็หาข้อมูลโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนทางดิฉันไปหาข้อมูล โดยเหตุบังเอิญต่างๆ ด้วยพุทธศาสนาสายปฏิบัติ สายท่านอาจารย์ชา ทำให้ดิฉันติดต่อไปยังท่านอาจารย์อมโรภิกขุ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสของวัดป่าอมราวดี ประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านอมโรเองก็ทำคอร์สเรื่องนี้ที่วัดป่าอมราวดีอยู่ด้วย

ทำให้เราเห็นว่าศาสนาพุทธของเราสอนให้ยอมรับวงจรชีวิต การมองในเรื่องของจิตใจที่โปร่งเบาจากการเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตตปัญญาทางใจ

ในภาคปฏิบัติ พุทธศาสนาฝึกให้เรารู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในใจของเราเอง ในการที่เราเห็นจิตของเราว่าขณะนี้มันคิดอะไร และมันเป็นการผูกกับตัวกูของกูอย่างไร มันจะทำให้เราเห็น แทนที่เราจะไปฟาดฟันกันเองกับคนที่เราอยู่ด้วยและคนที่เรารัก มันเป็นธรรมชาติของจิต เป็นจิตวิทยาส่วนหนึ่ง เป็นจิตวิญญาณส่วนหนึ่ง ความเข้าถึงความสงบภายใน ความเข้าใจต่างๆ แต่แน่นอนว่าต้องเอาส่วนเรื่องของจิตวิทยามาผสมกัน มันต้องไปด้วยกันหมด นี่คือ “จิตตปัญญา”

จากการไปดูงาน Zen Buddhist Hospice ทำให้เห็นภาพชัดว่า พระพุทธศาสนากับการเยียวยาจิตใจคนไข้ หรือการดูแลการตาย ทั้งผู้ที่ดูแลผู้ป่วยและตัวคนไข้เอง มาถึงจุดที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ได้อย่างไร แค่ไหน เรื่องแบบนี้ถ้าไม่ปฏิบัติด้วยตัวเองก็จะไม่ทราบ

คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน)หาญเจนลักษณ์

ที่นี่ พระอาจารย์อมโรเป็นผู้แนะนำให้ดิฉันได้พบกับ “แมเรียล วิลสัน กูเกลสกี้” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Hospice ถึง 4 แห่ง โดยเป็นคนแนะนำสถานที่ที่เราต้องไปดูที่อเมริกา (ได้มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 )

จากเทรนด์ของโลกที่พลิกกลับมาทางตะวันออกมากขึ้น คุณหญิงจำนงศรีให้ความเห็นว่า “แน่นอน เพราะคนเริ่มเข้าใจว่าถ้าเรามีสมาธิ จิตใจเราก็เปลี่ยน ทั้งในเรื่องของสมอง เรื่องของจิตใจ ทางตะวันตกไม่เคยยอมรับว่าหัวใจและสมองเป็นคนละส่วนกัน เวลานี้เขาก็ยอมรับโดยสิ้นเชิงแล้ว ถ้าไปอ่านงานวิจัยจะเห็นว่าแพทย์ทางตะวันตกหันมาทำวิจัยเรื่องนี้เยอะ และยอมรับขึ้นเยอะ ซึ่งวิธีการนี้จริงๆ แล้วก็เอามาจากพระพุทธศาสนานั่นแหละ เขาเอาไปแปลงให้เหมาะสมกับของเขา เรื่องการอยู่กับปัจจุบัน การสมาธิ วิปัสสนา ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลเขามีศูนย์จิตตปัญญา เราควรที่จะมาคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังด้วย”

สิ่งที่จะต้องชี้ชัดในขณะนี้คือว่า ในขณะที่การแพทย์ของเราเจริญมาก เป็นที่รู้กันว่าจะเป็น Medical Hub แต่เราสอบตกเรื่อง Quality of Death การตายที่ดี ประกอบกับหมอของไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ของอังกฤษเขาจะไปเน้นในเรื่องของ General Practitioner หรือแพทย์ทั่วไป ที่ไม่ใช่แค่จบแพทย์ แต่จะมีการฝึกอบรมพิเศษที่จะดูแลโดยองค์รวมของคนไข้ และเมื่อมีปัญหาเขาถึงจะปรึกษาหมอเฉพาะทาง แต่ประเทศไทยของเรามีหมอเฉพาะทางเกือบทั้งหมด เลยไม่มีผู้ที่ดูแลองค์รวม ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังพัฒนาส่วนที่เรียกว่า “เวชศาสตร์ครอบครัว” ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจและการตื่นตัวในเรื่องของเวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการทำ Hospice เรื่องสำคัญคือ “จิตอาสา” ที่ได้ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เราพบว่าจิตอาสาเขาแข็งแรงมาก ที่จะมาช่วยดูแลผู้ป่วย ทำสวน ปลูกผัก ทำทางด้านศิลปะ จิตอาสาเขามีมากกว่าบุคคลากรทางการแพทย์เสียอีก อย่างที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีแค่ 8 เตียง แต่เขามีทีมออกเยี่ยมบ้านวันละเยอะมาก และจิตอาสาของเขามีถึง 200 กว่าคน มีตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ไปจนถึง 80 กว่าปี และจิตอาสาเขาไม่ใช่มาช่วยแค่อาทิตย์ สองอาทิตย์ เขาทำกันมากันเป็น 10 ปี 20 ปี เพราะฉะนั้น ความเชี่ยวชาญของจิตอาสาก็สำคัญมากเช่นกัน

ดังนั้น Hospice ในเมืองไทยได้แรงบันดาลใจมาจากพระปฏิบัติในสายศาสนาพุทธ ที่เน้นเรื่องจิตวิญญาณและการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย คำว่าระยะท้ายไม่มีวันรู้จริงว่าจะนานเท่าไหร่ แต่โดยทั่วไปเขาจะให้ศัพท์กันที่ 6 เดือน ซึ่งไม่ได้หมายความจะตรงกับที่หมอคาดการณ์

ดังนั้น การรับคนไข้ตามแผนงานที่วางไว้ ทางมหาวิทยาลัยจะจัดเป็นเฟสๆ เพราะไม่มี Hospice ที่ไหนที่จะรับคนไข้ได้ทั้งหมด แต่ว่าภารกิจที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดลคือการสร้างรูปแบบ เป็นโมเดล ให้เป็นที่ศึกษาของคนอื่นต่อไป เป็นที่ฝึกบุคคลากร และเป็นศูนย์วิจัยด้วย

“สช. เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ เปิดทาง-วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้าย”

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อพิจารณาร่าง “แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2556-2559” (National Strategic Plan on Health Promotion for Good Death 2013-2016) ครั้งที่ 1 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 100 คน เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิตถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้จะมีหลายองค์กรได้ดำเนินการเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันให้แนวทางดังกล่าวไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งจะต้องอาศัยทั้งระบบบริการสุขภาพและระบบสังคมมารองรับเรื่องนี้ จึงเห็นควรให้ริเริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับชาติ เพื่อรองรับปัญหาของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น อันเป็นต้นเหตุของการทุกข์ทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต รวมทั้งสัดส่วนของผู้สูงอายที่ปัจจุบันมีถึง 11-12% ของประชากรทั้งประเทศ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้จากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือ “การบริบาลแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต” (Palliative Care) ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข พัฒนาสถานพยาบาล และการดูแลที่บ้าน รวมถึงพัฒนาระบบการเงินการคลัง เครื่องมือทางการแพทย์ และยา ซึ่งสำคัญมากสำหรับทำให้ผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตจากไปอย่างสงบ

“การบริบาลแบบประคับประคองฯ นี้ ผู้ให้บริการ ผู้ป่วย และญาติ จะต้องร่วมกันวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นไปตามความปรารถนาครั้งสุดท้ายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก”

ด้านนพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2556-2559 มุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการที่ดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างทัศนคติที่ดีและการสร้างความรู้ความเข้าใจ มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจของสังคมเรื่องการตายที่ดีและการบริบาลแบบประคับประคอง ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การสร้างและจัดการความรู้ โดยพัฒนาระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การสร้างระบบจัดการความรู้ สร้างคลังความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนารูปแบบและระบบบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต มุ่งพัฒนาระบบการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งในสถานบริการของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระบบสุขภาพของชุมชน และการพัฒนาระบบยาที่เกี่ยวข้อง

ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาศักยภาพและกำลังคน ด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขและเครือข่ายที่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม โดยมีศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในทุกภาคของประเทศ มีหลักสูตรที่รับรองโดยองค์กรวิชาชีพ

ยุทธศาสตร์ที่ 5: การพัฒนาและบูรณาการเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศในระบบการบริบาลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารร่วมกัน ของเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย การบริหารจัดการยาและการให้คำปรึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 6: การผลักดันนโยบาย กลไก และกฎหมายรองรับการมีสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมุ่งให้เกิดนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่รองรับการจัดบริการ รวมถึงการเสนอให้เป็นวาระระดับชาติ

ทั้งนี้ ในการประชุมปรากฏว่า ได้รับความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การเสนอให้กำหนดคำนิยามที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นให้บริการ การดูแลครอบคลุมผู้ป่วยชาวต่างชาติหรือไม่ การสนับสนุนองค์กรทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา อาทิ มอร์ฟีน เพื่อลดการทรมานในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งให้มีการระดมสมองอย่างต่อเนื่องในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ด้วย