ThaiPublica > เกาะกระแส > “Hospice” วิถีแห่งการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายและการเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสีย

“Hospice” วิถีแห่งการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายและการเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสีย

8 กุมภาพันธ์ 2013


ในตอนที่แล้วได้พูดถึงการตายที่ดี การตายอย่างมีคุณภาพ “ความตาย” เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความสูญเสีย ด้านหนึ่งคือ “คนเสียชีวิต” อีกด้านหนึ่ง คือ “คนสูญเสียคนรัก” คนตายแล้วไปไหนเราไม่อาจรู้ แต่คนที่ยังมีชีวิตจะจัดการกับความทุกข์จากการสูญเสียได้อย่างไร บนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “การเยียวยาความทุกข์ของผู้ที่พลัดพรากสูญเสีย (Grief Management)” งานเสวนาในหัวข้อ “วิถีแห่งการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายและการเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสีย” เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ณ ห้องประชุมอาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ”การเยียวยาความทุกข์ของผู้ที่พลัดพรากสูญเสีย (Grief Management)” โดย พระปพนพัชร์ จิรธัมโม ดร.บาร์ท กรูซาลสกี้ (Dr.Bart Gruzalski) และอาจารย์บรรจง บินกาซิน มูลนิธิสันติวิธี
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ”การเยียวยาความทุกข์ของผู้ที่พลัดพรากสูญเสีย (Grief Management)” โดย พระปพนพัชร์ จิรธัมโม ดร.บาร์ท กรูซาลสกี้ (Dr.Bart Gruzalski) และอาจารย์บรรจง บินกาซิน มูลนิธิสันติวิธี

อาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติวิธี กล่าวถึงมีวิธีการเยียวยาความทุกข์ตามหลักของศาสนาอิสลามว่า

ความสูญเสียที่พูดกันในวันนี้เป็นของคน 2 คน คนหนึ่งกำลังจะสูญเสียชีวิตตัวเอง และอีกคนกำลังจะสูญเสียคนที่รักไป แล้วเราจะอยู่อย่างไรเพื่อเยียวยาบุคคลทั้งสองให้บรรเทาความโศกเศร้า

เราทุกคนปฏิเสธ “ความเศร้าโศกจากความตาย”ไม่ได้ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎที่เราทุกคนรู้ดีและยอมรับมัน ความเศร้าโศกเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นและห้ามไม่ได้ แต่มีทางบรรเทาความเศร้าโศกให้เบาบางลง เหมือนกับที่เราเตรียมตัวก่อนตายด้วยการซื้อประกัน เมื่อเราห้ามความตายไม่ได้ เราจึงพยายามทำให้คนที่อยู่ข้างหลังมีภาระน้อยลงหรือบรรเทาทุกข์หลังจากที่เราตายไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี เด็ก ป.1 ใช้แท็บเล็ตได้แล้ว โตมาก็ใช้โน้ตบุ๊ก ไอแพด คอมพิวเตอร์ ได้คล่องแคล่วและเชี่ยวชาญกันทุกคน เพราะเราเรียนรู้ที่จะใช้ของเหล่านี้ แต่แปลกที่เราไม่เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของเราเลย ชีวิตคือสิ่งมีค่าที่สุดสำหรับเรา หลายคนยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ เราจะยอมรับไหมครับว่าเราไม่ได้สร้างชีวิตตัวเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อต้องการใช้ชีวิตหรือต้องการบริหารจัดการชีวิต เราก็ต้องไปหาผู้ที่สร้างชีวิตเรา ผู้ที่ให้เครื่องมือใช้ชีวิตแก่เรา เหมือนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ซื้อรถมา เมื่อเราไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านั้นเอง หากเราจะใช้ก็ต้องเปิดคู่มืออ่านจะได้รู้จักมัน

อาจารย์บรรจง บินกาซิน มูลนิธิสันติวิธี
อาจารย์บรรจง บินกาซิน มูลนิธิสันติวิธี

ชีวิตก็เช่นกัน ผู้สร้างเขาก็ประทานเครื่องมือให้ในรูปของคำสอนทางศาสนา เพราะชีวิตไม่ได้มีแค่ร่างกาย แต่มีวิญญาณประกอบด้วย ซึ่งวิญญาณอยู่นอกเหนืออาณาจักรของวิทยาศาสตร์ เป็นด้านที่วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึง ทำให้ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์จึงไม่รู้ว่าวิญญาณคืออะไร เป็นพลังงาน คลื่นแม่เหล็ก หรือไฟฟ้า แล้วเข้าไปในร่างกายได้อย่างไร สามารถเจริญเติบโตและวิวัฒนาการพร้อมร่างกายได้อย่างไร แล้วเมื่อออกจากร่างกายมันออกไปอย่างไร ทางไหน แล้วไปอยู่ที่ไหน ชะตากรรมของวิญญาณซึ่งเป็นชีวิตที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องเร้นลับที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอาจเอื้อมได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงจำเป็นต้องมีศาสนาเหมือนกับที่ต้องการอากาศเพื่อความอยู่รอดในโลกนี้

การเรียนรู้ศาสนาคือการเรียนรู้ศิลปะของชีวิตที่จะทำให้เรามีความสุขความเจริญในโลกนี้ เราใช้ชีวิตกระโดดโลดแล่นอยู่ในโลกนี้ระยะเวลาหนึ่งแล้วก็จากไป แต่ก่อนที่จะจากไปก็ต้องเตรียมตัว ซึ่งทางอิสลามได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว

คำสอนของอิสลามบอกว่า ทุกชีวิตจะได้ลิ้มรสความตาย แล้วแต่ว่าใครจะปรุงรสชีวิตอย่างไร และความตายไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต แต่ความตายเปิดประตูให้วิญญาณซึ่งเป็นชีวิตที่แท้จริงก้าวผ่านไป แล้วชะตากรรมของชีวิตที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวในโลกนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยู่ในโลกนี้แล้วต้องการลิ้มรสความหวานชื่นของความตาย เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะลิ้มรส หมายความว่า ถ้าจะตายอย่างมีความสุข ต้องทำในสิ่งที่อยู่ในครรลองตามที่ผู้สร้างชีวิตกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการตายหรือเคราะห์กรรมเกิดขึ้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เพราะถูกกำหนดมาแล้ว ศาสนาอิสลามจะสอนให้ยอมรับชีวิตและความตายเอาไว้ โดยคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งเป็นวจนะของพระผู้เป็นเจ้าบอกไว้ว่า เมื่อได้ยินข่าวความตายหรือข่าวประสบเคราะห์กรรมใดๆ คนอิสลามจะพูดเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “แท้จริงเราเป็นของพระผู้เป็นเจ้า และยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป”

นี่เป็นการเตือนตัวเองให้รู้ว่าชีวิตไม่ใช่ของเรา ชีวิตเป็นของพระผู้เป็นเจ้า แล้วเราจะกลับไปหาพระองค์สักวันหนึ่ง นั่นก็คือให้เตรียมตัวไว้ แล้วก็ยังมีคำสอนของศาสนาที่จะมาอธิบายรายละเอียดว่า เมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น มุสลิมมีหน้าที่จะต้องไปเยี่ยมเยียน หรือหากใครตายก็ไม่ต้องแจ้งข่าว ใครรู้ก็ไปเยี่ยมเยียนศพและผู้สูญเสีย และหากมีโอกาสร่วมงานศพก็ควรร่วม

การไปเยี่ยมคนใกล้เสียชีวิตของอิสลามไม่ต้องพูดอะไรมาก เพียงแต่กล่าวเตือนผู้ป่วยให้นึกถึงพระผู้เป็นเจ้ามากๆ เพราะว่าชะตาหลังความตายขึ้นอยู่กับรหัสของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น เวลาขณะที่มีลมหายใจอยู่ ยังพูดได้ ให้นึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งบรรดาเพื่อนฝูงญาติมิตรที่ไปเห็นคนกำลังจะเสียชีวิตทุกคนจะรู้อัตโนมัติว่าไม่ต้องพูดอะไร เพราะไม่ว่าอย่างไรความตายก็มาถึง ทุกคนจึงมีหน้าที่ไปเตือนความจริงของชีวิตว่า ตอนตายยังไม่ได้สิ้นชีวิตนะ ชีวิตต้องเดินต่อไป แต่เดินไปหาใครอันนี้ต้องเตือนกัน

เช่นเดียวกับการเตือนทารกที่เกิดใหม่ เมื่อมีทารกเกิดขึ้นคนมุสลิมที่เป็นพ่อ ลุง หรือพี่ จะกล่าวข้างๆ หูทารกถึงพระนามของพระผู้เป็นเจ้า “เตือนว่าอย่าลืมนะ ก่อนที่วิญญาณของเจ้าจะมายังโลกนี้ เจ้าได้สัญญาไว้แล้วว่ามีพระเจ้าอยู่” และเมื่อมายังโลกนี้ก็อย่าลืมกล่าวเตือนก่อน เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปต้องกล่าวเตือนก่อน ดังนั้นการตายจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นการคลอดของชีวิตทางด้านวิญญาณไปสู่โลกหลังความตายเหมือนอย่างที่ทารกคลอดจากครรภ์ของมารดา

ตามศาสนาอิสลามที่มีทั้งหมด 5 โลก คือ โลกที่หนึ่ง โลกแห่งวิญญาณ เราจึงไม่รู้ว่าวิญญาณมีเท่าไรและมองวิญญาณไม่เห็น โลกที่สอง อยู่ในครรภ์มารดา ท่านนบีมูฮัมหมัดบอกว่าวิญญาณเข้ามาปฏิสนธิกับก้อนเลือดในครรภ์มารดากลายเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งจุดเริ่มต้นของชีวิตคืออยู่ในครรภ์ได้ราว 120 วัน แล้ววิวัฒนาการจนครบ 9 เดือน จึงคลอดออกมาสู่โลกที่สาม คือ โลกนี้ ซึ่งเป็นโลกชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อตายวิญญาณจะคลอดสู่โลกที่สี่ หลังจากนั้นก็รอวันสิ้นโลก แล้วถึงเข้าสู่โลกที่ห้า คือโลกนิรันดรซึ่งเป็นโลกที่แท้จริง แต่ชีวิตหลังจากโลกนี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติของมนุษย์ โลกมนุษย์เหมือนการหว่าน โลกนิรันดรคือการเก็บเกี่ยว

นี่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ เป็นทรรศนะคติที่ทำให้คนมีความรู้สึกดี ไม่เจ็บปวดมาก และมีโอกาสที่จะรอดชีวิต

ทางศาสนาอิสลามจะไม่มีการติดค้างกันก่อนตายหากไม่ได้ล่ำลาหรือขออภัยกัน เพราะศาสนากำหนดไว้ว่า เราต้องขออภัยและให้อภัยกัน เพราะว่าพระเจ้าจะให้อภัยโทษใครได้ถ้ามนุษย์โลกยังไม่อภัยให้เขา อย่างคนที่เดินทางไปทำฮัจญ์คือการเดินทางของชีวิต ดังนั้น ก่อนไปเขาต้องไปขอโทษ-ขออภัยโทษแก่คนที่ล่วงเกิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง หรือญาติ ตั้งแต่ตอนที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งต้องขออภัยโทษแก่กันทั้งทางกาย วาจา ใจ หรือในวันเฉลิมฉลองสำคัญของอิสลามทุกๆ ปี เราก็จะให้อภัยซึ่งกันกัน

ในงานศพ ทายาทของศพก็จะประกาศว่าตัวเองเป็นใคร พ่อ ลูก หรือพี่น้อง หากศพเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ใครให้มาหาทายาท ถ้ามีหนี้ทายาทก็จะชดใช้ แต่ถ้าใครเป็นลูกหนี้อยู่ทายาทอาจจะยกหนี้ให้เป็นทานแก่ผู้ที่ล่วงลับไป นี่คือเรื่องที่ศาสนากำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหา อย่างคนที่ยอมพลีชีพในสนามรบ เป็นหนทางสู่สวรรค์ แต่ว่ายังไม่สามารถเข้าสวรรค์ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสียก่อน

ชีวิตตามความหมายของศาสนาอิสลามมากกว่าคำจำกัดความทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ชีวิตต้องมีการเคลื่อนไหวได้ เจริญเติบโตได้ แต่ชีวิตของอิสลามประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ วิญญาณกับร่างกาย ถ้า 2 สิ่งนี้ไม่อยู่ด้วยกันชีวิตก็เคลื่อนไหวไม่ได้ แปลว่าไม่มีชีวิต ชีวิตที่แท้จริงของผมคือชีวิตทางด้านวิญญาณ และชีวิตนี้เป็นของพระเจ้า เพราะฉะนั้น การจัดการชีวิตก็ต้องเป็นไปตามที่เจ้าของเขากำหนดเอาไว้ แล้ววันหนึ่งชีวิตก็กลับไปหาพระเจ้าผ่านการตาย

เพราะฉะนั้น การตายคือเรื่องปกติธรรมดา แต่จะทำให้ใครคนหนึ่งตายโดยพระเจ้าไม่อนุมัติไม่ได้ ดังนั้น เรามีหน้าที่ต้องรักษาชีวิตไว้ให้นานที่สุดไม่ว่าวิธีการใด และเมื่อถึงเวลาที่ชีวิตจะไปก็ต้องไป จะหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะสร้างภาระสร้างความทุกข์ทรมานกับคนที่อยู่ข้างหลัง พูดง่ายๆ คือต้องยอมรับและทำความเข้าใจ เพราะคือความจริงของชีวิตที่ปฏิเสธไม่ได้

การบริหารความเศร้าโศกคือการทำใจยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต ถึงเวลาพระเจ้าจะเอากลับเราก็ต้องส่งคืน แต่ว่าในขณะที่มีชีวิตอยู่ นอกจากจะต้องรักษาชีวิตตัวเองและคนอื่นให้ยาวนาน ก็ต้องรักษาวิญญาณให้หมดจดเหมือนอย่างที่พระเจ้าให้มาตอนเป็นทารกที่สะอาดบริสุทธิ์จนเราอยากไปโอบอุ้ม ปกป้อง เมื่อจะส่งคืนก็ต้องส่งวิญญาณที่สะอาดหมดจด ซึ่งวิญญาณจะสะอาดได้ด้วยการขัดเกลาทางศาสนา ส่วนคนที่เสียชีวิตก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ โดยนับจากเด็กชายมีความรู้สึกทางเพศและเด็กหญิงมีประจำเดือน ซึ่งหากตายตอนเด็กพระเจ้าจะไม่ลงโทษ จะไปอยู่ในสวรรค์ ดังนั้น แม่ที่เสียทารกไปจึงไม่เสียใจนัก

แล้วด้านวิถีชาวพุทธมีวิธีจัดการความทุกข์อย่างไร พระปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง จ.สกลนคร กล่าวว่า การเตรียมตัวตายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนไข้ที่เตรียมตัวตายอยู่แล้วทุกวัน ต้องบอกกับคนอยู่ให้เตรียมตัวตาย จะได้รู้ว่าเวลาถึงคราวของตัวเองจริงๆ แล้วจะจัดการกับความทุกข์ได้ไหม จะเตรียมได้ไหม แค่ลองหลับตาภาวนา สมมติว่าอีก 3 นาทีจะต้องตายแล้วจะจัดการจิตวิญญาณของตัวเองยังไงให้ไปอย่างมีความสุข

พระปพนพัชร์ จิรธัมโม
พระปพนพัชร์ จิรธัมโม

การเตรียมตัวตายในขณะที่เรากำลังจะตายนั้นทำอย่างไร แล้วจะตายอย่างไรให้มีความสุข ไม่ต้องมีทุกข์ ให้ลองพิจารณาลมหายใจที่หายไปหรือหมดไปแล้วของเราว่า เรายังมีความทุกข์เหลืออยู่ในใจไหม เรายังมีความห่วงอาลัย หรือเรื่องอื่นๆ ที่รบกวนจิตใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เราในฐานะผู้ปฏิบัติงานต้องจัดการตนเองให้ได้ก่อนที่จะไปจัดการให้คนอื่น โดยเฉพาะหมอและพยาบาล มนุษย์ทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตายอยู่เสมอ

ฉะนั้น ขอให้จดจำสิ่งที่ดีที่สุดไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ กำลังใจ หรือความช่วยเหลือ หากมีอะไรที่คั่งค้างในใจขอให้อโหสิกรรมกัน อย่าได้ถือโทษ โกรธ หรือผูกอาฆาตพยาบาทซึ่งกันต่อไป การจากไปของเราไม่ได้หมายความว่าไปแล้วไปลับ มันก็เหมือนกับเรานอนหลับสนิทยาวโดยไม่ตื่น แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าการที่เราหลับยาวนั้นเราตายไปแล้ว คนที่อยู่ข้างหลังนั่นต่างหากที่บอกว่าเราตาย แต่เราคิดว่าเราหลับไปแล้ว ความตายง่ายนิดเดียว ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน

ช่วงก่อนที่คนไข้จะตาย หลวงตาจะพาญาติ พี่น้อง ครอบครัวเขาตั้งขันธ์ 5 สมากรรม กรรมใดก็แล้วแต่ที่ล่วงเกินพ่อแม่ สามีภรรยา พี่น้อง ขออโหสิกรรมนะ อย่าได้ถือโทษโกรธกันอีก สิ่งใดที่ค้างคาในใจ เคยพูดผิด คิดร้าย ด่าทอทั้งหลาย ขออโหสิกรรมกันนะ แล้วก็อย่าได้ห่วงว่าเราจะโกรธหรืออาฆาต หรือสิ่งต่างๆ ซึ่งหลวงตาจะบอกผู้ป่วยขณะที่ประสาทหูยังได้ยินแม้ว่าส่วนอื่นๆ จะตายแล้ว เมื่อเขายังได้ยินเราก็ค่อยๆ สัมผัสเขาด้วยความรักและความอบอุ่นอย่างเข้าใจ โดยพยายามไม่กระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ หรือร่างกายเขา ให้ทุกคนเคารพรักร่างกายที่กำลังจะจากไปอย่างดีที่สุด ราบรื่นที่สุด และสุภาพที่สุดด้วยการขอขมากรรม แล้วทุกคนจะสวดอิติปิโสเบาๆ ให้คนไข้ค่อยๆ จากไปอย่างสงบ แบบที่เรียกว่างดงามจริงๆ ตรงนี้เป็นศิลปะอย่างมาก ต้องฝึกฝนกับตัวเองว่า เมื่อเราต้องเผชิญกับความตายเองหรือคนที่เรารักที่สุดแล้วเราทำใจได้ขนาดไหน ในขณะที่เราไปบอกให้คนอื่นเขาทำใจ แล้วตัวเองทำได้หรือไม่

อย่างคนไข้รายหนึ่งของหลวงตา จากการที่หลวงตาดูแลเขาด้วยจิตวิญญาณตลอด 8 เดือนเต็มทุกวันๆ จนจิตใจของเขาสามารถเข้าถึงเข้าธรรมะได้โดยไม่ต้องบวช และตายไปอย่างสวยงามมาก ทั้งๆ ที่โรคของเขาทรมานมาก แต่ตอนตายเขาไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรประคองอยู่เลย เขาไปสงบมากจนแม้แต่ลูกสาวของเขาก็ยังไม่รู้ว่าพ่อตาย เพราะฉะนั้น การดูแลรักษาไม่ว่าจะแพทย์แผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร หรืออื่นๆ เราสามารถผสมผสานเป็นยาให้คนๆ หนึ่งได้อย่างลงตัว โดยใช้ธรรมะเป็นสื่อกลาง เป็นตัวที่จะนำพาวิญญาณเขาพ้นจากความทุกข์ไปสู่วิมุติหลุดพ้นได้ และไม่ใช่เขาผู้นี้เท่านั้นที่มีความสุขในการจากโลกนี้ไป เราเองก็จะจากโลกนี้ไปอย่างมีความสุขเช่นเดียวกัน

มายาคติเรื่องความเศร้าโศกและเสียใจ

ดร.บาร์ท กรูซาลสกี้ (Dr.Bart Gruzalski)
ดร.บาร์ท กรูซาลสกี้ (Dr.Bart Gruzalski)

ดร.บาร์ท กรูซาลสกี้ (Dr.Bart Gruzalski) ได้กล่าวถึงความโศกเศร้าและเสียใจว่า คือปฏิกิริยาตอบสนองทางธรรมชาติของมนุษย์เมื่อต้องสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของที่รักและผูกพัน หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าความเสียใจจัดการได้ นั่นไม่จริงเพราะความเสียใจเป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นทีละน้อย แล้วคนส่วนใหญ่มักจะเสียใจตามลำพัง ซึ่งแต่ละคนก็รู้สึกเสียใจต่างกัน และเป็นเรื่องยากที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่แล้ว

มายาคติเรื่องความเสียใจที่หลายคนคุ้นเคย เช่น ความเจ็บปวดจะผ่านไปเร็วเมื่อเราไม่คิดถึงมัน, การเผชิญความเสียใจต้องใช้ความเข้มแข็ง หรือความโศกเศร้าเสียใจจะอยู่กับเราประมาณ 1 ปี

5 ข้อคิดสำหรับผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังเผชิญกับความสูญเสีย

1. รับฟังเรื่องราวทุกอย่างที่คนกำลังโศกเศร้าเสียใจต้องการจะเล่า

2. ฟังและพูดคุย โดยทั่วไปคนที่กำลังเสียใจจะไม่สนใจคำแนะนำมากนัก แต่ต้องคนมารับฟังมากกว่า สำหรับการพูดคุยที่มีประโยชน์คือ ยอมรับว่าคนที่รัก “เสียชีวิตแล้ว” การใช้คำนี้แสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมที่จะพูดคุยด้วย แสดงความรู้สึกเสียใจต่อผู้ตายอย่างจริงใจ แล้วถามความรู้สึกของผู้ที่กำลังเสียใจเพื่อให้เขาแสดงความรู้สึกออกมา และเสนอให้ความช่วยเหลือเขา

แต่มีประโยคที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

“ฉันรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร” เพราะคุณไม่ใช่ตัวเขา ประโยคที่คุณควรพูดคือ “คุณรู้สึกอย่างไร”

“พระเจ้าได้กำหนดมาแล้ว” “ขอบคุณในสิ่งที่เกิดขึ้น” “เขาไปสบายแล้ว” “ความสูญเสียผ่านไปแล้วให้ใช้ชีวิตตามปกติ” ประโยคเหล่านี้นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้นแล้ว ยังสร้างคำถามและความโกรธเคืองแก่ผู้ฟังด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ให้ความช่วยเหลือควรทำคือ ยอมรับความสูญเสียทุกรูปแบบ ควรเงียบและอยู่ในความสงบ ปล่อยให้ผู้เสียใจได้เล่าว่าคนที่เขารักจากไปด้วยสาเหตุใด และคอยให้กำลังใจ

3. ให้ความช่วยเหลือ

4. ให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง

5. ให้กำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือผู้ที่กำลังเสียใจได้อย่างถูกต้อง ผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือต้องเข้าใจกระบวนการความโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นก่อน

อย่างแรก คือ กระบวนการของความโศกเศร้าเสียใจ เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น ร่างกายจะตอบสนองการรับรู้นั้น แล้วหมกมุ่นอยู่กับความสูญเสีย จนมีความรู้สึกว่าไม่มีวันที่จะลืมความสูญเสียนี้ได้ จากนั้นจะรู้สึกดีขึ้นช้าๆ กลับมาสู่โลกความเป็นจริงและปรับตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน

สุดท้าย เมื่อเกิดความโศกเศร้าเสียใจแล้ว สิ่งที่ตัวเองต้องทำคือ ยอมรับถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น เข้าใจถึงขั้นตอนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แล้วพยายามปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีคนที่รักแล้ว และอดทนที่จะใช้ชีวิตใหม่โดยไม่มีคนรัก

วิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับความสูญเสียได้ เช่น แพทย์ต้องบอกอาการของโรคและโอกาสหายหากผู้ป่วยอยากทราบ เพราะมีข้อดีคือ คนที่รู้ตัวว่ากำลังจะตายจะได้ทำสิ่งต่างๆ ที่ค้างคาให้เรียบร้อยและบอกลาทุกๆ คน ญาติที่อยู่ห่างไกลก็จะได้มาเยี่ยมผู้ป่วย ดังนั้น อย่าพยายามเบี่ยงประเด็นไม่พูดเรื่องการกำลังจะจากไปของผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยที่อาการหนักเกิดความเครียด และเมื่อผู้ป่วยตายแล้ว ญาติควรได้ดูศพและมีส่วนร่วมในการจัดการศพ เพราะความสูญเสียที่หนักกว่าคือไม่พบศพและไม่มีโอกาสจัดการศพคนรัก

สิ่งที่ดีที่สุดในการจัดการกับความเสียใจคือ “การอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด” ไม่ใช่ทำตามข้อแนะนำผิดๆ ที่ว่า ความเจ็บปวดจะหายเร็วขึ้นเมื่อไม่นึกถึงเหตุการณ์นั้น หรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์และกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่สบายใจ เพื่อไม่ให้นึกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว