ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. แถลงสินเชื่อปี 2555 ไร้สัญญาณฟองสบู่

ธปท. แถลงสินเชื่อปี 2555 ไร้สัญญาณฟองสบู่

7 กุมภาพันธ์ 2013


ธปท. แถลงสินเชื่อทั้งปี 2555 โต 13.7% สูงกว่าจีดีพีถึง 3 เท่า แต่ไม่ร้อนแรง เนื่องจากสินเชื่อที่โตส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินของคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์พุ่ง 39% จากแรงส่งมาตรการรถคันแรก เผย จับตาดอกเบี้ยต่ำ–เงินทุนไหลเข้า กดดันสินเชื่ออสังหาฯ

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2555 ว่า เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวตามแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศหลังภาวะน้ำท่วมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 13.7% หรือมียอดคงค้าง ณ สิ้น ธ.ค. 2555 จำนวน 9.6 ล้านล้านบาท

การขยายตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อ
การขยายตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อ ที่มา: ธปท.

“สินเชื่อทั้งปี 2555 ขยายตัวอัตราเลข 2 หลักต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 และปกติสินเชื่อจะขยายตัวสูงกว่าจีดีพี (อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) ประมาณ 2 เท่า แต่ปี 2555 ที่ผ่านมาขยายตัวสูงกว่าจีดีพีประมาณ 3 เท่า ซึ่ง ธปท. พิจารณาแล้วถือว่าสินเชื่อที่ขยายตัว 13.7% ไม่ร้อนแรงเกินไป เนื่องจากสินเชื่อที่ขยายตัวสูงมีสาเหตุหลักมาจากคนไทยกู้เงินไปลงทุนต่างประเทศ คือไม่ได้กู้เงินกระตุ้นจีดีพีในประเทศอย่างเดียว แต่ไปกระตุ้นจีดีพีต่างประเทศด้วย” นายอานุภาพกล่าว

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศทั้งปี 2555 ขยายตัว 36% นายอานุภาพระบุว่า คนไทยที่กู้เงินไปลงทุนต่างประเทศ มีการดำเนินการโดยให้บริษัทโฮลดิ้งกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แล้วนำเงินกู้ไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่ ธปท. ผ่อนคลายการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้มีธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก และแนวโน้มจากนี้ไปคงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากดูการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมที่ขยายตัว 13.7% พบว่า สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวสูงที่สุด 21.6% รองลงมาคือสินเชื่อเอสเอ็มอี 14.7% และสินเชื่อธุรกิจ 10.6%

นายอานุภาพกล่าวว่า สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวสูง ปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงถึง 39% กับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัว 27.8%

การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภค

โดยสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงมากเป็นผลจากมาตรการรถคันแรก โดยมีจำนวนรถเข้าโครงการใช้สิทธิ์สูงถึง 1.2 ล้านคัน และจะส่งมอบในปี 2556 นี้จำนวน 700,000 คัน ดังนั้น จะเริ่มมีการใช้สินเชื่อหรือกู้ยืมเงินตอนส่งมอบ เพราะฉะนั้น สินเชื่อรถยนต์ในปีนี้จะยังเติบโตสูง ส่งผลให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย

“สินเชื่ออุปโภคบริโภคตัวเลขที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณอะไรน่าเป็นห่วง ถ้าภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางที่ดี และผลต่อหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ก็ไม่น่าเป็นห่วง โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังอยู่ระดับต่ำที่ 1.9% ของสินเชื่อรวม” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัว 27.8% นายอานุภาพระบุว่า เป็นการเติบโตพอสมควร โดยเป็นผลจากอุปสงค์การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นหลังจากภาวะน้ำท่วม และส่วนหนึ่งมาจากการปรับรายได้ขึ้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน และปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเป็นการยกระดับรายได้ ทำให้มีคุณสมบัติเข้าสู่ระบบสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตมากขึ้น ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าของสถาบันการเงิน ทำให้สินเชื่อในส่วนนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2555 ขยายตัว 11.7% นายอานุภาพระบุว่า เป็นอัตราไม่ผิดปกติ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่โตมากส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อคอนโดซึ่งขยายตัว 24.4% เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปีก่อน จึงถือว่าเป็นแนวโน้มปกติ และสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากนิยมบ้านแนวราบมาเป็นบ้านแนวสูง นอกจากนี้ เอ็นพีแอลของสินเชื่อคอนโดก็อยู่ระดับต่ำที่ 1.2% ของสินเชื่อรวม สะท้อนว่ายังไม่มีสัญญาณว่าจะเป็นปัญหา

“แต่ ธปท. ก็ติดตามสินเชื่ออสังหาฯ หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างใกล้ชิด เพราะจะได้อานิสงจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินทุนไหลเข้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรน่าเป็นห่วง” นายอานุภาพกล่าว

ส่วนเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้น ธ.ค. 2555 มียอดคงค้าง 2.54 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.3%

คุณภาพสินเชื่อ

“เอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2555 ลดลงจากปี 2554 จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการรับชำระหนี้ การตัดหนี้สูญและการขายหนี้เอ็นพีแอล โดยเอ็นพีแอลที่ลดลงมากที่สุดคือในส่วนสินเชื่อธุรกิจ และหากภาวะเศรษฐกิจยังมีทิศทางที่ดี ปัญหาเอ็นพีแอลก็ไม่น่าห่วง” นายอานุภาพกล่าว