ThaiPublica > คอลัมน์ > แฮกเกอร์ผู้มีหลักการ

แฮกเกอร์ผู้มีหลักการ

9 กุมภาพันธ์ 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Aaron Swartz เป็นอัจฉริยะ IT ได้รับรางวัลสำคัญของประเทศสำหรับการสร้างเว็บไซต์อเมริกันที่มีประโยชน์ด้านการศึกษาตั้งแต่อายุ 13 ปี เมื่ออายุได้ 14 ปีก็ร่วมงานกับผู้ก่อตั้ง world wide web (www) และมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าความรู้ที่อยู่ในหนังสือและบทความในห้องสมุดตลอดจนข้อมูลที่เป็นสาธารณะทั้งปวงนั้น ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีและฟรี

เมื่อโตเป็นหนุ่มเขาเป็นนักต่อสู้คนสำคัญในการคัดค้านความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตของภาครัฐอเมริกัน เขาสร้าง Reddit เว็บแนว bulletin board ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดเว็บหนึ่งในโลกในปัจจุบัน และเขาได้สร้างสรรค์งานสำคัญอีกหลายชิ้นที่เป็นประโยชน์ต่อโลก พร้อมกับตั้งใจทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อช่วยให้โลกเป็นไปตามความเชื่อของเขาซึ่งเขามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

เขาน่าจะช่วยให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ในโลกและปล่อยข้อมูลที่สาธารณชนสมควรได้รับรู้อีกมากมายแต่เขาก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2013 ที่ผ่านไปนี้ เขาตัดสินใจแขวนคอตายในวัยเพียง 26 ปี

Aaron Swartz เกิดในเมืองชิคาโก พ่อเป็นเจ้าของบริษัทซอฟแวร์ เขาฉายแววอัจฉริยะด้าน IT ตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเติบโตขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่มั่นคงว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสมบัติของประชาชน ทุกสิ่งควรฟรีและเปิดเผยอย่างไม่มีขีดจำกัด

เขาเคยเป็นบรรณาธิการอาสาสมัครของ Wikipedia เป็นหัวหอกรณรงค์ต่อต้านการร่างกฎหมายชื่อ Stop Online Piracy Act ซึ่งภาครัฐพยายามใช้อำนาจในการติดตามตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเขาเชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเป็นสะพานไปสู่การแทรกแซงอำนาจของประชาชนในโลกไซเบอร์ Swartz ต่อสู้ร่างกฎหมายนี้อย่างเด็ดเดี่ยวจนชนะในที่สุด

Aaron Swartz  ที่มาภาพ : http://digitalstreetsa.com
Aaron Swartz ที่มาภาพ : http://digitalstreetsa.com

“วีรกรรม” สำคัญที่นำเขาไปสู่การกระทำผิดกฎหมายและการฆ่าตัวตายในที่สุดก็คือในปี 2010 เขาแอบดาวน์โหลดบทความวิชาการจำนวนรวม 4.8 ล้านบทความจากคลังเอกสารวิชาการของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มีชื่อว่า JSTOR และปล่อยออกมาให้นักศึกษาทั้งโลกได้ใช้กันโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีกต่อไป เขากระทำด้วยความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะความรู้ที่อยู่ในเอกสารส่วนใหญ่นั้นได้มาจากการใช้ภาษีของประชาชน ดังนั้นเอกสารวิชาการเหล่านี้สมควรให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้เขายังโพสต์แค็ตตาล็อกของข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ของ Library of Congress ซึ่งปกติขายในราคาแพงลงบน Open Library ให้ได้ใช้กันอย่างเสรีอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอเขาปล่อยเอกสารคดีต่าง ๆ ของศาลที่เขาเห็นว่าสาธารณชนควรได้รับรู้อีกจำนวน 19.9 ล้านหน้า

ทั้งหมดนี้เขาไม่ได้ทำไปเพื่อเงินเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ถ้าเขาเป็นหัวขโมยตัวจริงแล้วอาจทำเงินให้เขาได้นับล้านเหรียญ สิ่งที่เขาต้องการคือโลกที่ดีกว่า เสรีกว่า และก้าวหน้ากว่าเดิม

ในที่สุด “วีรกรรม” ที่เขาทำไว้ก็เป็นผลร้ายต่อตัวเขา Swartz ถูกจับและอัยการระบุว่าอาจติดคุกนานถึง 35 ปี การติดคุกนานขนาดนั้นเริ่มมีผลต่อชีวิตของเขา บ่อยครั้งที่เขาซึมเศร้า นอนอยู่ในความมืดคนเดียวเงียบ ๆ และป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่ยังไม่ถึงวัย 25 ปี

หลังจากที่มีผู้พบเขาเสียชีวิตแล้ว มีข่าวลอดออกมาว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วันอัยการได้ เสนอข้อต่อรองกับเขา (plea bargaining) ให้ยอมสารภาพผิดเสียและยอมติดคุก 6 เดือนแทนที่จะไปสู้คดี ในศาลซึ่งอาจติดคุกนานกว่านั้นมาก เขาเกือบตกลงแต่ในที่สุดก็ไม่เกิดขึ้นเพราะเจ้าทุกข์คนหนึ่งคือ MIT ไม่เห็นชอบด้วย

ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือถึงแม้เขาดูจะมีความผิดแน่นอน ไม่ว่าจะมีเจตนาดีอย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นความผิดที่สมกับโทษ 35 ปีหรือไม่

Aaron Swartz เรียน Stanford อยู่เพียงปีเดียวก็เลิกเรียน ออกมาอ่านหนังสือปรัชญาเป็นหลัก และเรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียนจนสามารถทิ้งผลงานสำคัญไว้ให้โลก บทเรียนหนึ่งที่เขาทิ้งให้สมาชิกร่วมโลกขบคิดก็คือเรื่องความยุติธรรม ความผิดที่เขาก่อนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่โลกและก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน โดยสิ่งที่ถูกดาวน์โหลดไปก็ยังอยู่ครบถ้วน การลงโทษที่เสมือนขโมยของธรรมดานั้นสอดคล้องกับความผิด “สมัยใหม่” เยี่ยงนี้หรือไม่

ชีวิตมีทั้งความยาวและความลึก ในหลายกรณีความยาวของชีวิตอาจไม่สำคัญเท่ากับความลึกกระมัง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 ม.ค.2556