ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “นพ.วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์” หมอกับธุรกิจเพื่อโลกร้อน กล่องใส่อาหารจากชานอ้อย

“นพ.วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์” หมอกับธุรกิจเพื่อโลกร้อน กล่องใส่อาหารจากชานอ้อย

3 มกราคม 2013


ภาชนะใส่อาหาร

ถ้าเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องอันตรายจาก “โฟม” จะพบข้อมูลมากมาย โดยเฉพาะการระบุว่าเป็นต้นตอสำคัญของ “โรคมะเร็ง”

มูลนิธิโลกสีเขียวให้ข้อมูลว่า คนไทยสร้างขยะจากกล่องโฟมเฉลี่ย 2.3 กล่องต่อวันต่อคน นั่นหมายถึงในแต่ละวันมีกล่องโฟมที่ถูกทิ้งให้เป็นขยะรวมกันไม่น้อยกว่า 138 ล้านกล่อง

แล้ว “โฟม” ถูกขจัดได้อย่างไร คำตอบคือ ไม่ได้หายไปไหน ยังเป็นขยะที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 1,000 ปี

ไม่ใช่แค่ความร้อนเท่านั้นที่ทำให้ “สารสไตรีน” ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตและเป็นสารก่อมะเร็ง อาจจะละลายปะปนกับอาหาร ถ้ามีการปรุงอาหารด้วยน้ำส้มสายชู ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ก็จะไปกระตุ้นให้สารพิษสไตรีนออกมามากขึ้นเช่นกัน

กระทรวงสารณสุขได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการใช้โฟมในการบรรจุอาหารร้อน “หลีกเลี่ยงกล่องโฟมบรรจุอาหาร หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง” และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

แต่ในแง่ผู้บริโภคทั่วไป ดูจะไม่ค่อยมีทางเลือกนัก เมื่อซื้ออาหารจากร้านก็ไม่สามารถเลือก “ภาชนะ” ได้ดังใจ เพราะร้านขายอาหารจะมี “กล่องโฟม” อยู่แล้ว แม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นทางเลือก แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ต่อเรื่องนี้นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกล่องบรรจุอาหารที่ทำจากชานอ้อย เล่าที่มาที่ไปถึงผลิตภัณฑ์นี้ว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ที่เยอรมันมีคนทำเป็นจานใช้ในห้องทดลอง แต่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า เราก็นำตัวนี้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์

“ตอนแรกต้องสำรวจตลาดเยอะมากว่าสินค้าแบบนี้คนจะซื้อไหม ซึ่งเราก็คุยกับคนทั้งในและต่างประเทศว่า ถ้ามีของแบบนี้ ใส่ได้แบบนี้ คุณภาพแบบนี้ ซื้อไหม ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี เราจึงเริ่มทำจากจุดนี้”

“มันไปด้วยกันทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่า ในประเทศไทยคนยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเพราะสิ่งแวดล้อม หรือมีน้อยมาก แต่คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะสุขภาพเยอะ เนื่องจากคนเราสนใจตัวเองมากกว่าภาพรวมของโลก แต่ในวันนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”

จริงๆ เรารู้กันมาตั้งนานแล้วว่า โฟม พลาสติก เป็นสารพิษ เป็นของไม่ดี เวลาใส่อาหารในโฟมจะมีสารพิษออกมาจากโฟม ชื่อเต็มของโฟมคือ สไตรโรโฟม (Styrofoam) สารพิษที่ออกมาชื่อว่าสไตรีน ซึ่งสไตรีนนี้ระยะหลังๆ มาพิสูจน์ชัดแล้วว่า ผู้หญิงทานไปจะเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ชายทานไปเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และทำให้เป็นมะเร็งตับในทั้ง 2 เพศ และเมื่อปีที่แล้วเพิ่งพิสูจน์ชัดจากอเมริกาว่าทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย จากการทานอาหารจากกล่องโฟม และการทานอาหารจากพลาสติก

ปัญหาของบ้านเราก็คือ ทุกวันนี้ยังทานอาหารจากโฟมและพลาสติกกันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งในต่างประเทศหลายๆ ประเทศไม่ให้ใช้กับอาหารแล้ว โดยเฉพาะโฟมจะไม่ให้ใช้เลย แต่ว่าที่ผ่านมาเราก็รณรงค์กันมาระดับหนึ่งแล้วว่าไม่ใช้โฟมได้ไหม แต่เราก็ยังหาอย่างอื่นมาทดแทนไม่ได้ สมัยก่อนอาจจะใช้ใบตอง ใบบัว แต่หลังๆ มาก็เลิกใช้กันหมดแล้ว เพราะหายากและก็แพงด้วย

“เราจึงคิดที่จะหาอย่างอื่นมาทดแทน เพื่อแก้ปัญหา 3 ข้อ คือ 1. มีสารพิษและสารก่อมะเร็ง 2. โฟมใช้เวลาย่อยสลายเป็นพันปี พลาสติกใช้เวลา 450 ปี ซึ่งเป็นการหมักหมมของปัญหาโลกร้อน เนื่องจากวัสดุ 2 สิ่งนี้เป็นตัวใหญ่เลย ที่ยิ่งเผาทิ้งก็ยิ่งเพิ่มปัญหาโลกร้อน หากไม่เผา ถ้าฝังก็ใช้เวลาย่อยนาน 3. โฟมและพลาสติกใช้กับไมโครเวฟไม่ได้ เพราะปัจจุบันใช้ไมโครเวฟกันเยอะ ยิ่งใช้สารพิษก็ออกมาเยอะหรือไม่ก็ละเลย”

เพื่อแก้ปัญหานี้ก็ไปคิดค้นมา แล้วก็คิดว่าบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาตินี้น่าจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งก็เอาเยื่อมาหลายแบบ สุดท้ายก็จบที่ชานอ้อย เพราะชานอ้อยมาจากโรงงานน้ำตาลหาได้ง่ายในประเทศไทย ก็จะสามารถแก้ปัญหา 1. เรื่องสารพิษได้ เพราะเราทำมาจากธรรมชาติจริงๆ 2. แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะบรรจุภัณฑ์นี้เมื่อทิ้งไปแล้วใช้เวลาย่อยสลายเพียง 45 วัน และกลายเป็นปุ๋ย 3. สามารถนำเข้าไมโครเวฟและเตาอบได้ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทดแทนโฟมและพลาสติก

นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวเล้อม จำกัด(มหาชน)
นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวเล้อม จำกัด(มหาชน)

ปัจจุบัน ต่างประเทศใช้บรรจุภัณฑ์นี้กันเยอะแล้ว โดยเฉพาะยุโรปเริ่มบังคับให้เลิกใช้โฟมกับอาหารแล้ว หากบรรจุด้วยโฟมหรือพลาสติก ถ้าส่งไปยุโรปเขาจะคิดค่าบรรจุภัณฑ์ด้วย เพราะต้องไปกำจัดที่นั่น

ในแง่การกำจัด ต้นทุนการผลิตโฟม 1 บาท มีค่ากำจัด 6 บาท ซึ่งแพงกว่า ดังนั้นจึงเป็นปัญหาต่อเนื่องและเป็นปัญหาใหญ่ของโลกด้วย แต่บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเป็นขยะที่ย่อยเป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ได้

“นอกจากโฟมจะทำให้เป็นมะเร็งแล้ว โครงสร้างทางโมเลกุลของสไตรีนยังเหมือนกับเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนของเพศหญิงด้วย เวลาที่ทานเข้าไปจึงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายนั้นเพี้ยน ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หงุดหงิดง่ายในเพศหญิง และยังมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดจาง เกล็ดเลือดน้อย เลือดหยุดไหลช้า”

จากการรวบรวมข้อมูลชุดหนึ่งในปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่โฟมแพร่กระจายมากๆ หลังจากที่เริ่มผลิตได้ในปี 1940 พบว่า ตั้งแต่ปี 1960 ถึงปัจจุบัน อัตราการเบี่ยงเบนทางเพศในโลกนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะมีความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้โฟมกับการเบี่ยงเบนทางเพศ เขาเลยเชื่อว่า “สไตรีนในโฟม” ที่เหมือนกับการกินฮอร์โมนเพศหญิง แม่ที่ท้องอยู่หรือเด็กๆ ที่กินอาหารจากโฟมทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศได้ เพราะเหมือนกินฮอร์โมนตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ก็มีการพิสูจน์ที่แน่นอน โดยให้หนูที่กำลังท้องทานอาหารจากโฟม ปรากฏว่าลูกที่เกิดมาก็ผิดปกติ ทั้งปากแหว่งเพดานโหว่ สมองไม่มี นิ้วไม่มี ฯลฯ

“ตอนนี้ WHO ประกาศเลยครับว่า แม่ที่คิดว่าท้อง รวมถึงเด็กเล็ก ห้ามกินอาหารจากโฟม นี่คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเราก็พยายามสื่อสารตรงนี้ออกไปให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนไม่ค่อยรู้เรื่องนี้มาก แต่ถ้าสื่อสารให้คนมีความรู้เขาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ดังนั้น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งจึงเปลี่ยนเป็นไม่ใช้โฟม และในอนาคตก็จะเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนก็ห่วงสุขภาพตนเอง การที่ป่วยคนเดียวนั้นทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนอีกเยอะ”

ไทยพับลิก้า : วัตถุดิบที่ใช้ ใช้เยื่อชานอ้อยอย่างเดียว

จริงๆ สามารถใช้เยื่อได้หลายชนิดมาผลิต ทั้งผักตบชวา ไมยราพยักษ์ ปอสา ไผ่ ฯลฯ ซึ่งในห้องทดลองของเราผลิตมาหมดแล้ว เพียงแต่ว่าชานอ้อยมีข้อดี คือ มีโรงงานน้ำตาลที่ทำเรื่องการขนส่งให้เราเสร็จหมด คือ รวมอ้อยมาที่โรงงาน หีบน้ำตาลออก เหลือจากน้ำตาลแล้วเราก็เอามาใช้ต่อ แต่ถ้าทำอย่างอื่นจะมีกระบวนการขนส่งที่ยุ่งยาก แล้วคุณสมบัติยังต้องไปพัฒนาต่อ

ไทยพับลิก้า : ในกระบวนการผลิตอ้อยมีการใช้สารเคมี แล้วทำอย่างไรให้ปลอดสารเคมี

สิ่งที่เราต้องควบคุม คือ 1. ก่อนที่ชานอ้อยจะมาถึงโรงงาน เราต้องตรวจสอบก่อนว่ามีสารพิษที่เป็นโลหะหนักปนเปื้อนหรือไม่ มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนไหม และการปนเปื้อนอื่นๆ เช่น แบคทีเรีย แมลง เชื้อรา ฯลฯ โดยส่งไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจทั้งหมดก่อน 2. สำหรับในกระบวนการผลิตการในโรงงานเรา มีการใช้ความร้อน 250 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อ ดังนั้น มี 2 กระบวนการ คือ ตรวจก่อนนำเข้าโรงงานว่าปลอดการปนเปื้อน ถ้าปนเปื้อนเราส่งกลับ และฆ่าเชื้อด้วยความร้อนในกระบวนการผลิตอีกรอบ และ 3. ในขั้นตอนผลิตสุดท้ายก็จะอาบด้วยแสงยูวีอีกรอบก่อนส่งไปขาย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยตั้งแต่ต้นจนจบ

ไทยพับลิก้า : ต้องคุยกับโรงงานและชาวสวนอ้อยหรือเปล่า

เราคุยกับโรงงานน้ำตาล ซึ่งโรงงานจะรู้อยู่แล้วว่าปกติพวกยาฆ่าแมลงโดยทั่วไปจะฉีดแค่ช่วงแรกที่ปลูก แต่ช่วงหลังก่อนเก็บเกี่ยวจะไม่ฉีดยาเลยเพื่อไม่ให้ตกค้าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเลย แต่หลังๆ เปลี่ยนมาใช้แบคทีเรียกันเยอะ เพื่อให้เป็นกระบวนการออร์แกนิกส์มากขึ้น ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลง โดยใช้แบคทีเรียบางอย่างซึ่งไปทำให้แมลงไม่เติบโต

ไทยพับลิก้า : แล้วผลิตภัณฑ์เริ่มมีตั้งแต่ปีไหน

เริ่มมีตั้งแต่ปี 2548 โดยเริ่มต้นเรามอง food packaging ก่อน และทำตลาดในต่างประเทศก่อน ทำเพื่อการส่งออกเท่านั้น ยังไม่ทำตลาดในเมืองไทยในช่วงแรกๆ เพราะเรามองว่าการรับรู้ของคนไทยยังมองที่เรื่องราคาอยู่ ไม่ได้มองที่คุณค่ามากเท่าไหร่ แต่ตอนหลังๆ ก็ดีขึ้นมากแล้ว

สำหรับคุณค่าของผลิตภัณฑ์มี 2 อย่าง คือ คุณค่าเชิงสุขภาพและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อม แต่ราคาจะสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากโฟมและพลาสติกที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งคนที่เข้าใจคุณค่าสามารถจ่ายเพิ่ม 1-2 บาท ได้ อีกอย่างคือ ผู้ที่เลือกบรรจุภัณฑ์คือแม่ค้าไม่ใช่ผู้บริโภค จึงกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ หลังจากที่เราเข้าไปในต่างประเทศแล้วต่างประเทศรับรู้และเข้าใจ เราถึงเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยต่อ

ลูกค้าในต่างประเทศมีอยู่หลายที่ เช่น ยูนิเวอร์แซล ทุกที่ใช้ของเรา, ดิสนีย์แลนด์ เริ่มใช้บางแห่ง, ไนกี้ทาวน์ที่ซีแอตเทิล รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย

ไทยพับลิก้า : ในช่วงแรกๆ ทำยังไงให้คนรู้จัก

ส่วนหนึ่งคือออกไปขายเอง ไปจัดนิทรรศการ อีกส่วนหนึ่งคือเขาติดต่อเข้ามา เช่น ห้างใหญ่ เพราะเขารู้เทรนด์ของโลกว่ามาทางนี้อยู่แล้ว

ที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลประมาณ 30-40 รางวัล แล้ว ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่รางวัลที่ได้จากการส่งประกวด แต่เป็นรางวัลที่เขามาค้นหา เจอเรา พูดคุยกับเรา นำไปเปรียบเทียบกับที่อื่นแล้วตัดสินรางวัล

gracz package [Converted]

ไทยพับลิก้า : อ่านเทรนด์ของโลกถูกว่าจะหันมาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในตอนเริ่มต้นจริงๆ แล้วเรามองเรื่องสุขภาพ ไม่ได้มองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่เมื่อทำไปได้ 2-3 ปี เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมองทั้งมุมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมคู่กัน

ไทยพับลิก้า : กระแสตอบรับตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ก็โตขึ้นทุกปี ปัญหาส่วนใหญ่คือคนไม่ค่อยรู้มากกว่า แต่เมื่อคนเริ่มรู้จักแล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหากับการใช้ ถ้าเข้าใจคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เราทำ

ไทยพับลิก้า : กำลังการผลิตเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เราก็กำลังขยายการผลิตอยู่ กำลังสร้างโรงงานใหม่อีกแห่งที่จังหวัดชัยนาท ส่วนในด้านเครื่องจักร เนื่องจากไม่มีใครเป็นผู้ผลิตสินค้าแบบนี้ เราเป็นเจ้าแรกที่ทำ ดังนั้น เครื่องจักรที่เราใช้จึงเป็นเครื่องจักรที่ลักษณะคล้ายๆ กันที่เรานำมาโมดิฟายโดยคนไทย คนไทยเก่งครับ แต่คนไทยไม่ค่อยช่วยคนไทยด้วยกันเอง (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าช่วยหรือไม่ช่วยหรอกครับ ต้องบอกว่าหลายอย่างที่เป็นของดีเมืองไทยเราต้องไปโตเมืองนอกก่อนถึงจะโตที่เมืองไทยได้ เพราะบางทีความเข้าใจของคนไทยยังน้อย หรือคนไทยมักจะเห็นว่าถ้าเป็นของจากต่างประเทศมาจะดีกว่าไทยทำเอง ซึ่งจริงๆ แล้วเราทำอะไรดีๆ ได้เยอะมาก

ไทยพับลิก้า : แล้วการพัฒนาทางด้าน R&D

เราต้องพัฒนาตลอด นอกจากสิ่งที่เราทำตอนนี้แล้ว เราก็มองเรื่องการทำอย่างไรให้จานของเราใส่ของที่มีน้ำมันมากๆ แล้วซับน้ำมันได้ด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคทานน้ำมันน้อยๆ หรือไม่ต้องใช้ทิชชูซับ ซึ่งเรากำลังพัฒนาอยู่ รวมถึงการออกรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคตก็จะทำบรรจุภัณฑ์ที่ปิดซีลแช่แข็งได้ เพราะตลาดแช่แข็งใหญ่มาก

ทุกวันนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าบรรจุภัณฑ์โฟมและพลาสติกที่เขาใช้นั้นมันไม่ดี แต่เขายังไม่เห็นทางเลือกอื่นหรือความเข้าใจยังน้อยอยู่ บางคนอาจไม่ยอมเปลี่ยนเพราะต้นทุน แต่อีกเดี๋ยวกระแสโลกก็จะบังคับให้เปลี่ยนเอง

ไทยพับลิก้า : เมื่อเทียบราคาแล้วต่างกันมากไหม

เปรียบเทียบกันอย่างโฟม 1 บาท ผลิตภัณฑ์เรา 2 บาท ซึ่งราคาของเราจะใกล้เคียงกับพลาสติก อาจจะถูกกว่าด้วย สำหรับสัดส่วนทางการตลาดของเรายังน้อยมากเมื่อเทียบกับพลาสติก แต่หากเป็นไลน์เดียวกัน เราเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของดีไซน์เป็นยังไง

ทุกวันนี้เราก็พยายามปรับรูปแบบให้มากขึ้นเรื่อยๆ และหาช่องทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น รูปแบบปิ่นโต เหมาะสำหรับใส่บาตรถวายพระ หรือปาร์ตี้เซต ที่หิ้วไปใช้ได้ทันทีทั้งงานปีใหม่หรือใช้ในเขตอุทยาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการล้างจาน ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เป็นได้ทั้งเรื่องไม่มีขยะเหลือทิ้ง (zero waste) และเรื่องของสุขภาพ รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (global warming)

“ก็ไม่มีขยะเหลือทิ้งทั้งกระบวนการ เอาผลผลิตที่เรียกว่า waste to product สมัยก่อนเป็นของเสียที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วจากผลิตภัณฑ์ก็พัฒนาต่อไปเป็นปุ๋ยได้ต่ออีก ย้อนกลับไปได้หมด”

ไทยพับลิก้า : แล้วกระบวนการผลิตทั้งหมดเป็น “สีเขียว” ด้วยหรือไม่

กระบวนการผลิตทั้งหมดของเราเน้นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อย่างน้ำในกระบวนการผลิตจะวนกลับไปใช้ใหม่ตลอด ไม่ทิ้ง เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีการปล่อยน้ำออกมาเลย ยกเว้นในวันที่ล้างเครื่อง ซึ่งน้ำที่ล้างเครื่องนี้นำกลับไปรดน้ำต้นไม้ได้ เรียกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน อย่างห้างวอลมาร์ท เขาตรวจสอบเรื่องแบบนี้ของเราทั้งหมด เยื่อที่ใช้ก็เป็นเยื่อไม้ไม่ได้เพราะเขาถือว่าตัดไม้ทำลายป่า จะต้องใช้เยื่อที่ไม่ใช้ไม้ (non-wood) แต่เป็น plant fiber เช่น ชานอ้อย ที่ต้องตัดอยู่แล้ว ลูกค้าต่างประเทศเกือบทุกรายมาดูโรงงาน เพราะเขาต้องมาดูก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของเรา

ไทยพับลิก้า : เงื่อนไขเขามีอะไรบ้าง

เยอะมากครับ ดูตั้งแต่ว่าเราผลิตแบบไหน รูปแบบที่เราใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือเปล่า เราไปทำอะไรที่ผิดปกติไหม คนงานของเราจ้างแรงงานเด็กหรือเปล่า มีต่างชาติไหม การบรรจุมีระบบไหม ถ้าไม่มีระบบ มีโอกาสที่จะมีการก่อการร้ายใส่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เขาตรวจสอบทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมาตรฐานนี้ยิ่งกว่าซีเอสอาร์ (corporate social responsibility) อีก คือ มาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานในเชิงกระบวนการผลิตทั้งหมด กับมาตรฐานของการที่บอกไปแล้วต้องเป็นจริงตามนั้น เช่น เราไปบอกว่า บรรจุภัณฑ์ของเราย่อยสลายได้ 100% เขาก็ต้องมีแหล่งที่ตรวจสอบเราว่าย่อยสลายได้จริง 100% ไม่ได้แค่พูดเฉยๆ แล้วก็ต้องมีข้อมูล มีการตรวจสอบ มีแล็บที่รับรองได้จริงๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่มาตรวจสอบเรา ซึ่งตอนนี้เราก็มีสัญลักษณ์ “ok compost” ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองการย่อยสลายในยุโรป ในเมืองไทยมีอยู่ไม่กี่เจ้าที่ได้มาตรฐานนี้ ทุกสิ่งที่เราบอกไปเขาสามารถตรวจสอบกลับได้ทั้งหมด

ที่มาภาพ : http://www.upmplastic.com
ที่มาภาพ : http://www.upmplastic.com

“ผมว่าหลังๆ นี้ธุรกิจขายกันด้วยคุณภาพ คนเริ่มมองชีวิตในระยะยาวมากขึ้น ไม่ได้มองสั้นๆ แล้ว ของเราก็เหมือนกันครับ หากเรากินอาหารจากโฟม พลาสติก ชีวิตก็จะสั้นลง ถ้าเรามองชีวิตยาวๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา”

“ผมมีกรณีหนึ่ง คุณหมอที่ รพ.หัวเฉียวคนหนึ่ง อายุประมาณ 25 ปี เป็นคนชอบทำงานมาก และซื้ออาหารกล่องโฟมไว้ตอนเช้ารวดเดียว 3 กล่อง สำหรับ 3 มื้อ ทุกวัน แล้วทานอย่างนี้ทุกวันเพราะทำงานหนัก เลิกดึกทุกวัน ตอนนี้อายุ 34 ปี เป็นมะเร็งระยะที่ 3 แล้ว แล้วเขาก็มั่นใจมากว่า มะเร็งเกิดจากที่ทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน เพราะข้อมูลกับพฤติกรรมการกินของเขาสอดคล้องกันมาก ที่ว่าถ้าทานติดต่อกันเกิน 10 ปี เป็นมะเร็งได้”

สมัยก่อนคนที่เป็นมะเร็งตับเรามักบอกว่าเกิดจากการดื่มสุรา แต่ปัจจุบันคนที่มะเร็งตับมักเป็นคนที่ไม่ดื่มสุรามากกว่าคนดื่มสุราเสียอีก ซึ่งเขาก็จะงงว่าทำไมถึงเป็น นั่นก็เพราะเขาทานอาหารจากกล่องโฟม พลาสติกบ่อยๆ คุณลองหันไปรอบๆ ตัวจะต้องเจอคนที่รู้จักเป็นมะเร็งแน่ๆ แล้วก็เป็นกันทุกวัน ซึ่งวันนี้การเป็นมะเร็งคือการตายอันดับ 1 ของประเทศแล้ว

ไทยพับลิก้า : ช่วยเปรียบเทียบว่าบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์กระดาษอย่างไร

อย่างแก้วกาแฟ ถ้าเป็นกระดาษจะเคลือบข้างในด้วยแวกซ์หรือพลาสติก ก็เหมือนกับว่าเราทานสารพิษจากพลาสติกหรือกินขี้ผึ้งจากแวกซ์เข้าไป ซึ่งจะไปเคลือบกระเพาะไว้ ทำให้กระเพาะไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ เมื่อก่อนเป็นปัญหาเยอะจากการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากถ้วย หรือกระดาษก็อาจจะเป็นกระดาษรีไซเคิลซึ่งเปื้อนหมึกมาแล้ว ซึ่งหมึกนั้นก็ยังอยู่ มีสารพวกตะกั่วและปรอทอยู่ด้วย ทำให้สมองฝ่อ

ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง ต้องบอกว่าสาธารณสุขยังไม่เข้ามาดูแลตรงนี้เต็มที่ ยังทำคู่มือสุขศึกษา ป.4 อยู่ “กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง” ซึ่งควรจะข้ามขั้นไปได้แล้ว มาดูเรื่องบรรจุภัณฑ์แล้ว เพราะคนที่อื่นไปไกลกว่าบ้านเราแล้ว

ผลิตภัณฑ์อีกอย่างของเราเป็นพลาสติกที่ทำมาจากแป้ง เรียกว่า Polylactic acid (PLA) เป็นพลาสติกชีวภาพ สามารถย่อยสลายได้ มีกระบวนการผลิตคือเอาแป้งมาย่อยแล้วก็ทำให้แข็งตัวขึ้น สำหรับพลาสติกนี้มีราคาสูงมาก และใช้เวลาย่อยสลายนาน 2 ปี แต่มีคุณสมบัติคือแข็งกว่า

สำหรับผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยจะมีสีขาว ส่วนที่เป็นสีน้ำเต้าหูหรือสีเผือกนั้นเพราะเราฟอกสีน้อย จึงดูธรรมชาติมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : วัตถุดิบจากชานอ้อยที่ใช้จะมีเพียงพอในการผลิต

เนื่องจากประเทศไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น ชานอ้อยที่บ้านเรามีเหลือเฟือ ที่เราใช้เพียงแค่ร้อยละ 10-20 ของชานอ้อยที่มีทั้งประเทศ

“ก็ต้องช่วยกันครับ เราอยากเปลี่ยนประเทศไทยไม่ใช้โฟม สุขภาพคนไทยจะดีขึ้น สังคมจะน่าอยู่ขึ้น อย่างตอนน้ำท่วมเราก็เห็นแล้วว่าขยะทั้งพลาสติกและโฟมอุดตันอยู่เต็มในท่อระบายน้ำ น้ำจึงไหลผ่านไม่ได้เพราะขยะไม่ย่อยสลาย”

ไทยพับลิก้า : ในแง่ราคา จะถูกกว่านี้อีกไหม

คือต้องบอกว่า ราคานี้ที่เราทำเมื่อไปต่างประเทศถูกกว่าโฟมนะครับ เพราะผู้ผลิตโฟมที่ต่างประเทศต้องจ่ายค่าจำกัดโฟมด้วย แต่บ้านเราผู้ผลิตไม่ต้องจ่าย รัฐบาลจ่าย ค่ากำจัดขยะปีละหมื่นกว่าล้านบาทที่เราจ่ายกันอยู่ ประเด็นต่อมาคือ เมื่อเทียบกับตอนที่ผลิตโฟมออกมาใหม่ๆ ช่วงปี 1960 โฟมชิ้นหนึ่งอยู่ที่ 16 บาท ในขณะที่เราออกมาเริ่มต้นที่ 2 บาท ผมว่าสิ่งสำคัญที่มากกว่าคือเรื่องคุณค่า ตอนนี้เราซื้อโฟม 1 บาท ซื้อชานอ้อย 3 บาท ถ้า 3 บาท เราทานทุกมื้อเลย วันหนึ่งเราจ่ายเพิ่ม 10 บาท ซึ่งเป็นราคาน้ำอัดลมขวดหนึ่งที่เราทานไปก็ไม่มีคุณค่าอะไร แต่ถ้ามองไปมากกว่านั้น การที่เราต้องเพิ่มวันละ 10 บาท เดือนละ 300 ปีละ 3,000 บาท 10 ปี 30,000 บาท ขณะที่ยารักษาโรคมะเร็งเข็มหนึ่งก็ 50,000 แล้วครับ ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขดูแล้วเห็นชัดมากเลยว่ามันคุ้มค่ากับชีวิตมาก เพียงแต่เราไม่ค่อยได้มอง เรามองแค่ว่าแอปเปิ้ลเหมือนกัน อีกอันราคาถูกกว่า แต่ถ้าเทียบกับอายุเรา เทียบกับคุณค่าในตัวเรา เทียบกับสิ่งที่เรามีอยู่ เราได้รับประโยชน์มากกว่าเยอะ เทียบกับเรากินน้ำอัดลมขวดหนึ่งกับค่าบรรจุภัณฑ์ 3 บาท นั้นมันต่างกันเยอะมากเลยครับ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ของเรายังสามารถล้างใช้ซ้ำได้ถึง 3 ครั้ง

“ตอนนี้เราก็พยายามทำผลิตภัณฑ์ ทำราคาให้ถูกลง ลงไปตลาดล่าง ก็หาวิธีอยู่ คุณสมบัติบางอย่างอาจจะลดลง เช่น ปกติเข้าไมโครเวฟได้ 10 นาที ก็อาจจะเหลือแค่ 3 นาที เพื่อให้ราคาต่ำลง หรือจากคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนจากน้ำมัน เช่น ไก่ทอดที่เพิ่งเอาขึ้นจากกระทะได้ อาจจะเหลือแค่วางไก่ทอดได้ไม่เป็นไรก็พอ ก็พยายามลดคุณสมบัติลงให้คนทั่วไปสามารถใช้ได้และราคาต่ำลง จะทำให้คนจับต้องได้ง่ายขึ้น”

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์

ไทยพับลิก้า : กลยุทธ์การขายในประเทศ

ส่วนใหญ่เป็นเอ็นด์ยูสเซอร์ ซึ่งเรามีอยู่หลายกลุ่ม คือ 1. โมเดลเทรดทั้งหมดซึ่งเรามีอยู่ทุกที่ 2. ช่องทางต่างๆ ที่เราเข้าไป เช่น มหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชมงคลฯ, มศว. ฯลฯ โรงพยาบาล เช่น บำรุงราษฎร์ สำโรงฯ 3. กลุ่มท่องเที่ยว เช่น บางแสน พัทยา กระบี่ ถนนคนเดินเชียงใหม่ ปาย 4.กลุ่มร้านอาหารใหญ่ๆ ร้านอาหารแฟรนไชส์ โรงแรม หรือบริษัทจัดเลี้ยงต่างๆ 5. กลุ่มอีเวนท์ เช่น บิ๊กเมาน์เทน งานต่างๆ ในเชียงใหม่ บังคับไม่ให้ใช้โฟม เพราะอีเวนท์เหล่านี้มีปัญหาขยะกองล้นสูงมาก เวลาคนไปเที่ยวก็ยินดีที่จะจ่ายอยู่แล้ว ทางเจ้าของงานก็สามารถสร้างภาพได้ด้วยว่า งานเขาดี ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหาขยะ หรือช่วงลอยกระทงเราก็ผลิตกระทงขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า : ทำอย่างไรให้คนรู้จักมากขึ้น

เราก็พยายามสื่อสารไปยังองค์กรใหญ่ๆ ที่มีงานเลี้ยงเกือบทุกองค์กร ให้เปลี่ยนมาใช้ชานอ้อยแทนโฟมดีกว่า เพราะทำให้เห็นว่าองค์กรรักพนักงานจริงๆ รักลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่รักแต่ให้มะเร็งไป นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกเขา แล้วพนักงานก็จะได้รับสิ่งดีๆ จากองค์กรจริงๆ เราก็พยายามผลักดันตรงนี้ให้มาก ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะ เห็นได้ชัดว่าปลายปีที่ผ่านมาคนเปลี่ยนมาใช้ของเราค่อนข้างมาก และมีหลายๆ ที่ที่เลิกใช้โฟมมาใช้ของเราถาวร

เช่น โตโยต้า เขามีนโยบายอีโค (Eco) ดังนั้น อีเวนท์ทั้งหมดเขาก็ต้องอีโคด้วย นอกจากนี้ก็มีเครือชีพีที่ใช้ของเราไว้เลี้ยงรับรองผู้บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทวิริยะประกันภัย ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ๆ

การส่งออกของเรามีทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ปี 2556 เราจะบุกตลาดรัสเซีย แต่ที่อยากทำที่สุดคือประเทศไทย เพราะเราคนเดียว บริษัทเดียวเล็กๆ ก็พยายามชวนสื่อ ชวนหลายๆ องค์กรมาช่วยกัน ให้เขาเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณสมบัติที่ดีอันหนึ่ง คือ สามารถใช้กับอาหารได้ทั้งร้อนและเย็น นอกจากนี้ยังสามารถหายใจได้ (breathable) ซึ่งไม่เหมือนโฟมหรือพลาสติก คือ ภาชนะมีฝาปิดของเราจะสามารถให้อากาศผ่านเข้าออกได้ แต่ไม่ปล่อยกลิ่น เช่น หากบรรจุกระเทียมสดไว้ในกล่องปิดฝาหรือถุงพลาสติกนานๆ กระเทียมจะเน่า หรือหากใส่ไว้ในถุงตาข่ายก็จะมีกลิ่น แต่หากใส่ไว้ในกล่องปิดฝาที่ทำจากชานอ้อยกระเทียมจะไม่เน่า และไม่มีกลิ่นออกจากกล่องด้วย อีกข้อหนึ่งคือ หากใส่อาหารสดในบรรจุภัณฑ์ของเรา จะสามารถเก็บอาหารได้นานกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น

ไทยพับลิก้า : แล้วนโยบายทางการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน

กับทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามคุยอยู่ แต่ว่าประเด็นของกระทรวงผมเข้าใจว่า กระทรวงก็พยายามทำข้อมูลพวกนี้เพียงแต่ยังไม่เต็มที่ เพราะอุตสาหกรรมใหญ่บ้านเราเป็นพลาสติกมาก มีผู้ยิ่งใหญ่เยอะ เวลาลงไปเล่นเรื่องนี้จึงเล่นค่อนข้างยาก

หรือเคยไปคุยแต่ กทม. เพราะเราเห็นว่าขยะใน กทม. เป็นเรื่องใหญ่มาก รวมทั้งมีเด็กนักเรียนของ กทม. ด้วย แต่ยังไม่คืบหน้า

ทุกวันนี้เราก็ไปทำกิจกรรมร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องอาหารปลอดภัย และทำกิจกรรมกับกลุ่มสาธารณสุขเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในเชียงใหม่ รณรงค์ให้เด็กกินผักปลอดสารเคมี พวกปลูกผักกินเอง ไร้สารพิษ หลังจากนั้นเราก็จะบอกเพิ่มว่าควรใส่บรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีสารพิษด้วย ซึ่งเราต้องทำแบบป่าล้อมเมือง เพราะถ้าไปทำตรงๆ บางทีผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ต้องให้เด็กเป็นคนพูด หรือสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์กับการทำกิจกรรมกับเด็ก ผมว่าช่วยได้เยอะ และจะช่วยรังสรรค์สังคมไปในระยะยาวได้ดี

ไทยพับลิก้า : กิจกรรมที่ทำมีอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่เราจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า เช่น โครงการ “คูสวยน้ำใส” ไปช่วยเรื่องคูคลองที่สกปรกในกรุงเทพฯ โดยเข้าไปให้ความรู้ จัดกิจกรรมต่างๆ กับ กทม. หรือที่หาดบางแสน ก็จะจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ และการสาธารณสุข ส่วนใหญ่เราเริ่มปูพื้นในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างไรให้ปลอดภัย การใช้ชีวิต เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนรับรู้

“เราเข้าไปแจกของก็คือตามงานสาธารณสุข เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าได้ลองใช้ใส่อาหารก่อน หากเป็นลูกค้าที่เข้ามาหาเราจะไม่มีปัญหาเลย เช่น ที่ขายตามห้าง จะขายดีและยอดขายโตขึ้นตลอด แต่พอถามผู้บริโภคว่าเคยใช้ของเราไหม ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่ เคยชินกับการใช้โฟมมากกว่า เพราะคนขายให้มาอย่างนั้น เขาไม่มีทางเลือก”

ดังนั้น ตอนนี้เราจึงสนับสนุนให้ความรู้แก่พ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น นอกจากงานของสาธารณสุขจังหวัดแล้ว ก็มีงานตามเทศบาลต่างๆ เพราะเขาจะมีเทศกาลประจำปี เช่น ที่ระยอง ชะอำ ซึ่งใช้ของเราทุกปี และเราก็เข้าไปให้ความรู้ทุกปี

สำหรับปัญหาที่ว่าผู้ซื้อไม่มีทางเลือก เราก็พยายามสื่อสารไปว่า คุณก็ซื้อของเราติดตัวไว้ เวลาไปซื้ออาหารจะได้ใส่บรรจุภัณฑ์ของเราเอง ในเมื่อผู้ขายไม่ดูแลเรา เราก็ต้องดูแลตัวเอง หรือแม่ค้าอาจจะมีทั้งโฟมและชานอ้อยไว้ให้ลูกค้าเลือก ถ้าเลือกโฟมไม่ต้องเพิ่มเงิน เพิ่มมะเร็ง แต่หากเอาชานอ้อยต้องเพิ่ม 2 บาท

ส่วนมหาวิททยาลัยเราก็จะไปหารือผู้บริหาร ผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยว่าปัญหาของการใช้โฟมคืออะไร ให้โทษอย่างไรต่อนักศึกษาและบุคลากร และร่วมกันรณรงค์ให้คนรู้จักบรรจุภัณฑ์ของเราว่าดีกว่าโฟมอย่างไร แล้วหลายมหาวิทยาลัยก็บังคับใช้ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืออย่างบางแสนเราก็ไปร่วมมือกับเทศบาลบางแสน ซึ่งเทศบาลก็เห็นด้วยกับเราเพราะเขามีปัญหาเรื่องขยะ และอยากสร้างความรู้สึกว่าบางแสนรักนักท่องเที่ยว ซึ่งเราก็ไปช่วยรณรงค์ให้ความรู้ แล้วก็จะทำอย่างนี้กระจายมากขึ้นไปเรื่อยๆ

บางครั้งทางพื้นที่ติดต่อเข้ามา เช่น ที่ปาย ด้วยความที่ชุมชนเขาเหนียวแน่น และเขาอยากปรับให้ชุมชนเขาเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ก็เข้ามาคุยกันถึงกระบวนการปรับทั้งเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ไปเป็นเรื่องเดียวกัน

นพ.วีรฉัตร

นอกจากนี้ก็มีบางส่วนที่เราไปบริจาคให้กับวัด เพื่อใช้ประโยชน์ในโรงทาน งานบุญ ทางวัดอาจจะล้างภาชนะไม่ไหว แล้ววัดก็อาจตั้งตู้หยอดเงินใช้บรรจุภัณฑ์เป็นรายได้เข้าวัดไป

“ต้องยอมรับว่าธุรกิจของเราต้องอยู่รอด เราจะมาแจกของไม่เอาเงินเลยก็ไม่ได้ เพราะเราตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราทำของเหล่านี้ เราไม่อยากเป็นมูลนิธิแล้วไปขอบริจาคคนอื่น ต้องอยู่รอดและยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ แล้วเราก็ช่วยโลก ช่วยสังคมในสิ่งที่เราทำได้ ทำให้คนมีสุขภาพที่ดี ทำให้สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่บางครั้งคนที่เราไปหาไม่ได้มองมุมนั้นของเรา เขามองแต่ว่ามันเป็นธุรกิจ แล้วลืมบางมุมของเราไป”

จริงๆ แล้วโลกนี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก มนุษย์ทำให้ยุ่งยากเอง ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกันหมด ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันหมด แต่เราพยายามไปแยกมันเอง ว่ามันไม่เกี่ยวกัน

ไทยพับลิก้า : จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือไม่

“ผมว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ดี ธุรกิจทุกอย่างต้องเอื้อและเกื้อกูลสังคมถึงจะเดินต่อไปได้ ไม่ใช่เรื่องของกำไรสูงสุด แต่ต้องสร้างภาพรวมของความเชื่อมโยงของสังคมที่ดี ธุรกิจอยู่ได้ คนในสังคมมีความสุข ส่งผลดีต่อกันและสนับสนุนกันให้ดีขึ้น แล้วธุรกิจในอนาคตต้องเป็นแบบนี้”

จริงๆ แล้วธุรกิจของเราไปเชื่อมโยงกับซีเอสอาร์ของบริษัทอื่นๆ ได้เยอะ คือ บริษัทอื่นๆ สามารถนำผลิตภัณฑ์ของเราไปทำซีเอสอาร์ในบริษัทเขาได้ ซึ่งเราก็ยินดี และคิดว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทำงานร่วมกันได้