ThaiPublica > เกาะกระแส > บันทึกความจริง…บีบีซี จาก “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ถึง “ราเกซ สักเสนา” พ่อมดการเงิน กับการล่มสลายของบีบีซี

บันทึกความจริง…บีบีซี จาก “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ถึง “ราเกซ สักเสนา” พ่อมดการเงิน กับการล่มสลายของบีบีซี

21 มกราคม 2013


ตอนที่แล้ว ได้เกริ่นถึงความในใจของ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ว่า เขาเป็นโจรใส่สูท และเป็นผู้ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จริงหรือ?

ขณะที่โจรใส่สูทอีกคนอย่าง “ราเกซ สักเสนา” ถูกตามล่าจนในที่สุดก็ต้องถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้

“เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ได้เล่าถึง “ราเกซ สักเสนา” ในบทหนึ่งของหนังสือ

บทที่ 5 …ราเกซ สักเสนา

“ราเกซ สักเสนา” เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2535-2539 ก่อนที่เขาจะหลบหนีจากข้อกล่าวหาในคดียักยอกและฉ้อโกงทรัพย์จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ไปอยู่แคนาดาตั้งแต่กลางปี 2539 และถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทยในวันที่ 31 ตุลาคม 2552

ผมได้รู้จักนายราเกซในสมัยที่เขายังเป็นคอลัมนิสต์ เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อมดการเงิน”

นายราเกซได้มาสัมภาษณ์ผมเพื่อเขียนบทความประกอบคอลัมน์ของเขา เมื่อได้สนทนากันก็พบว่า เรามีความเห็นตรงกันเรื่องการเริ่มธุรกรรมใหม่ๆ ในประเทศไทย เพราะผมเองก็สนใจและเป็นผู้ริเริ่มให้บีบีซีออกใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นหรือ Warrant เป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2532

จากความเห็นที่ตรงกัน ทำให้ผมได้พูดคุยกับนายราเกซมากขึ้น จนในที่สุดเขาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวผม โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2535 เมื่อหุ้นของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การถูกนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แหงประเทศไทยเข้าไปกว้านซื้อโดยมีเป้าหมายที่จะเข้ามาครอบงำกิจการของธนาคาร โดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนถึงร้อยละ 10.6 ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารขยับขึ้นไปสูงถึง 26.85 บาทต่อหุ้น

ในห้วงเวลาดังกล่าว นายราเกซเสนอตัวเข้ามาช่วยด้วยการเข้ามาซื้อหุ้นในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยส่วนหนึ่งของเงินลงทุนมาจากเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ซึ่งช่วยให้ธนาคารรอดพ้นจากการเข้าครอบงำกิจการจากนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ผมรู้สึกไว้วางใจเขามากยิ่งขึ้น เพราะเขาไม่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษา แต่เขายังเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การกลับมามีสถานะที่มั่นคงยิ่งขึ้น

ความจริง...บีบีซี-1

“ราเกซ” กับการบริหารงานใน “บีบีซี”

“ราเกซ สักเสนา” มีความรู้และความเข้าใจกับระบบสถาบันการเงินและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ จากประสบการณ์การทำงาน ตามประวัติการทำงานของเขา ที่ใช้แนะนำตัวในการเป็นที่ปรึกษาขายพันธบัตรเงินกู้ในต่างประเทศให้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การในปี 2537 ระบุว่า

เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัท A Silliman & CO. ในกรุงเดลีและกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2520 และเป็นเจ้าหน้าที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศอาวุโสในปี 2520-2521 ที่บริษัท Baglivaca & Karani ที่บอมเบย์ ประเทศอินเดีย และในปีถัดมาก็เป็นเจ้าหน้าที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศอาวุโสให้กับธนาคาร Oriental Bank of Commerce ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย

ก่อนที่จะข้ามจากมหาสมุทรอินเดียมาเป็นผู้จัดการฝ่าย และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้กับบริษัท GSP Finance จำกัด ที่ประเทศฮ่องกง ระหว่างปี พ.ศ. 2522-2525 และในปีถัดมาก็เป็นกรรมการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ซื้อขายเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัท Wocom Forex ประเทศฮ่องกง

จากนั้นเขาย้ายไปทำงานที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 2526-2528 ในฐานะที่ปรึกษาให้กับบริษัท Rudolf Wolf & CO. ก่อนที่จะเข้ามาเป็นคอลัมนิสต์และที่ปรึกษาทางการเงินให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่งตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา

จากประสบการณ์การทำงานของนายราเกซ ทำให้ผมมีความมั่นใจในความรู้และความสามารถของเขา โดยเฉพาะแนวคิดในการทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมใหม่ และลดการพึ่งพารายได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ย โดยนายราเกซมีส่วนช่วยผมจัดเตรียมข้อมูลและให้ความเห็นในการจัดทำแผนงาน 5 ปีของธนาคารในปี 2537-2542

นอกจากนี้ นายราเกซยังช่วยผมในการจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิควบใบสำคัญแสดงสิทธิ (Subordinated bond cum warrant) ที่จะนำไปขายให้กับนักลงทุนในประเทศเยอรมนีช่วงกลางปี 2537

การเดินทางไปเสนอขายพันธบัตร (Road Show) ในครั้งนั้น มีผม มีนายราเกซ และมี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งมาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารในขณะนั้น ร่วมเดินทางไปด้วย

การทำงานของนายราเกซในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวของผมตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ถูกรายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบมาโดยตลอด จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ผมบรรจุเขาเป็นพนักงานของธนาคารเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 เพื่อให้เขามีส่วนรับผิดชอบต่อการทำธุรกรรมของธนาคารมากกว่าที่จะเป็นเพียงที่ปรึกษาส่วนตัว ที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อการทำธุรกรรมของธนาคารในช่วงก่อนหน้า ซึ่งนายราเกซก็ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย

“ราเกซ” “บีบีซี” และนักการเมือง

ในห้วงเวลาที่นายราเกซเป็นที่ปรึกษาให้กับผม ทั้งในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวและในฐานะพนักงานของธนาคาร ผมให้ความไว้วางใจนายราเกซมาก จนอาจจะทำให้ผมละเลยการกำกับและตรวจสอบการทำงานของนายราเกซอย่างละเอียด เพราะผมเชื่อว่านายราเกซมีเจตนาเดียวกับผม คือการทำให้ธุรกิจของธนาคารมีความมั่นคง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ อย่างการปล่อยกู้เพื่อครอบงำกิจการ ซึ่งสร้างผลกำไรให้กับธนาคารสูงถึง 241 ล้านบาทในปี 2536
แต่การเติบโตของสินเชื่อดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสนใจและจับตามองธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยกู้กับนักธุรกิจที่เป็นนักการเมือง รวมไปถึงการปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนซื้อกิจการในประเทศไทย

ก่อนอื่นผมขออธิบายก่อนว่า การทำธุรกรรมด้านที่ปรึกษาทางการลงทุน และการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเข้าครอบงำกิจการนั้น เป็นธุรกรรมปกติที่ทำกันในต่างประเทศ โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้คำปรึกษาและปล่อยกู้จะได้รับค่าธรรมเนียม และมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่บริษัทที่ถูกซื้อกิจการมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและดำเนินธุรกรรมได้ปกติ ธนาคารก็จะได้รับเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งการปล่อยกู้ในลักษณะนี้ต้องใช้เวลาในการได้รับชำระเงินคืน
แต่เนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทยในปี 2535-2539 ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องมือทางการเงินดังกล่าวมาจากคนที่ถูกขนานนามว่า “พ่อมดการเงิน” อย่างนายราเกซ สักเสนา

โดยส่วนตัวที่ผมรู้จักนายราเกซ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างการเทคโอเวอร์กิจการ นายราเกซจะเป็นผู้ให้คำแนะนำกับลูกค้าถึงโอกาสในการลงทุน และหาซื้อหุ้นให้ในกรณีที่ผู้ซื้อต้องการจะหาผู้ร่วมทุน อย่างกรณีบริษัท ซีล่าร์ อินเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด กู้เงินจากธนาคารเพื่อเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 9.8 ล้านหุ้น ที่ราคา 180 บาทต่อหุ้น หรือวงเงินทั้งสิ้น 1,728 ล้านบาท ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2536 หลังจากนั้นไม่กี่เดือน นายราเกซก็ติดต่อให้นายอัดนัน คาช๊อกกี นักค้าอาวุธจากซาอุดีอาระเบีย เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ต่อจากกลุ่มซีล่าร์ฯ ในราคา 200 บาทต่อหุ้น ซึ่งผู้ขายได้กำไรและชำระเงินกู้ให้กับธนาคาร ในขณะเดียวกัน นายอัดนันก็ใช้เงินกู้บางส่วนจากธนาคารเพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าว ซึ่งผมเชื่อว่าธนาคารก็จะได้รับชำระคืนเงินกู้ได้ครบ ถ้าไม่เกิดวิกฤติในปี 2539 เสียก่อน

ราเกซ สักเสนา ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th
ราเกซ สักเสนา ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th

เช่นเดียวกับการปล่อยกู้ให้กับนักการเมืองในกลุ่ม 16 ในการซื้อหุ้นบริษัทมรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ในราคา 155 บาทต่อหุ้น ก่อนที่จะขายให้กับนายอัดนัน คาช๊อกกี ได้ในราคา 150 บาทต่อหุ้น ซึ่งธนาคารก็ได้ทั้งค่าธรรมเนียมและการชำระคืนเงินกู้ ส่งผลทำให้รายได้ของธนาคารในปี 2537–2538 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีผลกำไร

ความสัมพันธ์ของนายราเกซกับนักการเมือง นักธุรกิจข้ามชาติ ทำให้การปล่อยสินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการ รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ของธนาคารประสบความสำเร็จ

แต่หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จนกระทั่งผมถูกกล่าวโทษจากธนาคารแห่งประเทศไทย นายราเกซถูกเลิกจ้างจากการเป็นพนักงานของธนาคาร ตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 มีนาคม 2539

นายราเกซเดินทางไปอยู่ที่ประเทศแคนาดานานกว่า 10 ปี ก่อนที่รัฐบาลแคนาดาจะส่งตัวเขากลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่ นายราเกซยังคงถูกจับกุมและสู้คดีอยู่