ThaiPublica > คอลัมน์ > กระสุนที่ชื่อ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

กระสุนที่ชื่อ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

13 มกราคม 2013


กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

“ผมมีความเชื่อเช่นเดียวกับคุณว่า ปืนที่ออกแบบมาเพื่อทหารในสนามรบนั้นไม่ควรจะมาอยู่บนท้องถนน และสิ่งที่ผมพยายามจะทำก็คือ การทำให้การถกเถียงเรื่องการลดความรุนแรงในภาพรวมกว้างขวางขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือดูว่าเราจะสามารถนำกฎหมายควบคุมอาวุธกลับมาใช้ได้หรือไม่ แต่อีกส่วนหนึ่งต้องดูความรุนแรงจากสาเหตุอื่นๆ ด้วย เพราะผมขอสารภาพว่าในชิคาโกบ้านเกิดของผม มีเหตุความรุนแรงมากมายที่ไม่ได้ใช้ปืนอาก้า พวกเขาใช้แค่ปืนพกธรรมดา”

บารัค โอบามา, 16 ตุลาคม 2012 ในการโต้วาทีครั้งที่สองของการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2012

วันที่ 14 ธันวาคม 2012 เหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนหัวใจคนอเมริกันทั้งประเทศได้เกิดขึ้น เมื่อนายอดัม ลันซา (Adam Lanza) หนุ่มวัย 20 ปี ได้ก่อเหตุกราดยิงเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมแซนดี ฮุก (Sandy Hook Elementary School) มลรัฐคอนเนตทิคัต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เด็กนักเรียน 20 คน ซึ่งทุกคนอายุเพียง 6-7 ขวบ เสียชีวิต และหากนับรวมแม่ของนายอดัม ซึ่งเขาปลิดชีพเธอก่อนที่จะก่อเหตุ และตัวเขาเองที่ยิงตัวตายในท้ายที่สุดแล้ว มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 28 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เหตุกราดยิงเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ในวันที่ 20 กรกฎาคม เกิดเหตุกราดยิงในโรงภาพยนตร์ในเมืองออโรรา มลรัฐโคโลราโด เมื่อนายเจมส์ โฮมส์ เดินเข้ามาในโรงภาพยนตร์ขณะที่กำลังฉายภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight Rises และกราดยิงผู้คนในโรงภาพยนตร์แห่งนั้น ผู้เห็นเหตุการณ์ยังรายงานด้วยว่า นายเจมส์ใส่หน้ากากกันก๊าซพิษและเสื้อกันกระสุน พร้อมด้วยปืนไรเฟิล ปืนลูกซอง และปืนสั้นอีก 2 กระบอก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน และมีผู้บาดเจ็บ 58 คน

นอกจากเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำสองเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ยังมีเหตุการณ์กราดยิงที่ซิค เทมเพิล เมืองโอ๊ค ครีก มลรัฐวิสคอนซิน ในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 7 คน และเหตุการณ์กราดยิงในโรงงานในมินนิอาโปลิส มลรัฐมินนิโซตา ในวันที่ 27 กันยายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

เหตุการณ์กราดยิงดังกล่าวข้างต้น ทำให้การควบคุมอาวุธปืนกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายที่สนับสนุนการควบคุมอาวุธปืนอ้างว่า การมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มข้นจะช่วยลดความเสี่ยงที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกได้ และหากเราย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์การกราดยิงในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจำนวน 62 ครั้ง โดยมี 49 ครั้ง ที่ผู้ก่อเหตุได้ปืนมาโดยถูกกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาหลายชิ้นยังพบความเชื่อมโยงระหว่างจำนวนการครอบครองปืนและการฆาตกรรม กล่าวคือ มลรัฐที่มีผู้ครอบครองปืนมากกว่าจะมีเหตุการณ์ฆาตกรรมมากกว่า หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือ มีเหตุฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนมากกว่า และแม้แต่ข้อมูลในระดับระหว่างประเทศก็ยังพบว่า ในหมู่ประเทศร่ำรวย ประเทศที่มีอัตราการครอบครองปืนสูงกว่าจะมีอัตราการฆาตกรรมสูงกว่าด้วย

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ต่อต้านการควบคุมอาวุธปืนก็อ้างว่า การครอบครองอาวุธปืนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนก็รังแต่จะทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรต่างๆ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามต่างๆ ได้

แต่ในขณะที่การถกเถียงของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านกฎหมายควบคุมอาวุธปืนดำเนินไปอย่างเข้มข้น กลับดูเหมือนว่า ทั้งสองฝ่ายจะลืมถามคำถามสำคัญที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมและความรุนแรงจำนวนมากในสังคมอเมริกันกันแน่?

ผู้เขียนจะขอนำเสนอชุดข้อมูลจำนวนหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า การที่สังคมหนึ่งๆ จะเป็นสังคมที่มีความรุนแรงและอัตราฆาตกรรมสูงนั้น หาได้เกิดจากการที่สังคมนั้นๆ ขาดกฎหมายการควบคุมอาวุธปืนไม่ หากแต่เกิดจากตัวสังคมนั้นๆ เองที่มี “ความเหลื่อมล้ำ” อย่างสูงต่างหาก

Graph 01

กราฟด้านบนแสดงข้อมูลจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายกันต่อประชากร 100,000 คน ในกลุ่มประเทศ OECD นับตั้งแต่ปี 1960 ถึง ปัจจุบัน กราฟสีฟ้าที่สูงโด่งขึ้นไปคือข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กลุ่มเส้นสีแดงด้านล่างคือข้อมูลของประเทศในกลุ่ม OECD ประเทศอื่น กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความรุนแรงในสังคมมากกว่ากลุ่มประเทศ OECD อื่นเป็นอย่างมาก

Graph 02

กราฟด้านบนแสดงอัตราฆาตกรรมต่อประชากรหนึ่งล้านคน เปรียบเทียบระหว่างชิคาโกและอังกฤษบวกเวลส์ แกนนอนคืออายุของฆาตกร ส่วนแกนตั้งคืออัตราการฆาตกรรม โดยผู้ชายและผู้หญิงแสดงผลแยกคนละเส้นกัน เห็นได้ชัดเจนว่าข้อมูลจากทั้งของชิคาโกและอังกฤษบวกเวลส์นั้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เหตุการณ์รุนแรงส่วนมากก่อโดยผู้ชาย และผู้ชายวัยยี่สิบต้นๆ มีแนวโน้มว่าจะก่อเหตุฆาตกรรมมากที่สุด ส่วนอัตราฆาตกรรมโดยผู้หญิงนั้นต่ำตลอดทุกช่วงอายุ

แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ขนาดของกราฟทางซ้ายและทางขวานั้นแตกต่างกันมาก ในขณะที่เส้นกราฟอัตราฆาตกรรมในอังกฤษบวกเวลส์ (ด้านซ้าย) วิ่งจาก 0 ถึง 30 เส้นกราฟอัตราฆาตกรรมในชิคาโกกลับวิ่งจาก 0 ถึง 900 ชิคาโกเพียงเมืองเดียวกลับมีอัตราฆาตกรรมสูงกว่าอังกฤษและเวลส์สองประเทศรวมกันถึง 30 เท่า

ชุดข้อมูลทั้งสองข้างต้นยืนยันอย่างชัดเจนว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่มีความรุนแรงสูงกว่าสังคมอื่นมาก อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมที่มีความรุนแรงอย่างมากเช่นนี้กันแน่

ริชาร์ด วิลกินสัน และเคท พิคเก็ตต์ ผู้เขียนหนังสือ “ความ(ไม่)เท่าเทียม (The Spirit Level: Why Equality is Better for Everyone)” ได้เสนอว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมเป็นสาเหตุของความรุนแรงในสังคม

Graph 03

กราฟด้านบนนำมาจากหนังสือความ(ไม่)เท่าเทียม แสดงข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างอัตราฆาตกรรมต่อประชากรหนึ่งล้านคน กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในแต่ละประเทศของกลุ่มประเทศ OECD ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ภายในประเทศมากกว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่มีความรุนแรงและมีเหตุฆาตกรรมมากกว่า

ในขณะเดียวกัน หากเราดูเฉพาะข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา ผลสรุปก็เป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือ มลรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากกว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นมลรัฐที่มีความรุนแรงและมีเหตุฆาตกรรมมากกว่า

Graph 04

กราฟทั้งสองข้างต้นยืนยันหนักแน่นว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นสาเหตุของความรุนแรงในสังคม

แต่ทำไมความเหลื่อมล้ำจึงสำคัญ ทำไมความเหลื่อมล้ำสูงจึงนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ ‘สถานะทางสังคม’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเพศชาย เราได้เห็นไปแล้วในกราฟที่สองว่า ความรุนแรงในสังคมส่วนใหญ่ก่อโดยผู้ชาย ในขณะที่หน้าตาและเสน่ห์ดึงดูดทางเพศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเพศหญิง แต่สำหรับผู้ชาย ‘สถานะทางสังคม’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จทางเพศ นอกจากนั้น นักจิตวิทยายังพบอีกว่า ผู้หญิงให้คุณค่ากับสถานะทางการเงินของคนที่จะมาเป็นแฟนสูงกว่าที่ผู้ชายให้ความสำคัญถึงสองเท่า คำกล่าวติดตลกของวัยรุ่นสมัยนี้ที่ว่า “ผู้หญิงชอบคนดี รักคนเลว แต่งงานกับคนรวย” จึงมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย

และเมื่อใดก็ตามที่ความรู้สึกภูมิใจในตนเองของผู้ชายโดนดูถูก และรู้สึกอับอายจากการที่ตนเองมีสถานะทางสังคมต่ำ ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่มักจะตามมา นี่จึงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดความรุนแรงส่วนใหญ่จึงได้เกิดในหมู่ผู้ชาย และในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง สถานะทางสังคมก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น หากคุณเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตตามมาตรฐานที่สังคมตั้งและมีสถานะทางสังคมต่ำ แต่อยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ คุณก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้แย่เท่าไหร่ เพราะมีคนจำนวนมากที่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าคุณ แต่หากคุณอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คุณก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยค่า และก็ได้แต่มองคนที่ดีกว่าคุณทุกอย่างมีชีวิตที่ดีขึ้นๆ โดยที่คุณแทบจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ และเมื่อนั้นความรุนแรงก็จะตามมา

นอกจากนั้นแล้ว ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่า คนส่วนใหญ่มีวิธีที่จะรักษาความนับถือในตัวเองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มอบความหวังสำหรับอนาคต งานที่มั่นคง บ้านสวยๆ ครอบครัวและเพื่อนที่ดี หรือแม้แต่ทักษะที่คนอื่นๆ ให้ค่าและความสำคัญ สิ่งเหล่านี้ทำให้ถึงแม้ว่าคนในสังคมจะถูกดูถูกและเสียหน้าเป็นบางครั้ง แต่ก็มีน้อยคนมากที่จะหันไปหาความรุนแรง ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนจำนวนมากขาดกันชนและกลไกคุ้มกันเหล่านี้ และจะหันไปหาความรุนแรงในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคมจึงไม่อาจแก้ได้ด้วยการออกกฎหมายใดๆ มาบังคับและควบคุมการใช้อาวุธ หากแต่ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนในสังคมต่างหาก คงแปลกไม่น้อยถ้าในอนาคตมีผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่า จะแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมอเมริกันด้วยการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับผู้ที่ทำงานในวอลล์สตรีท แต่ถึงจะฟังดูพิลึกเพียงใด นี่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดโดยแท้!