ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อคนวงในชำแหละเบื้องหลังการดูแล “ราคายางตกต่ำ” จะคำนวณจาก “ต้นทุน” หรือ “ความคาดหวัง”

เมื่อคนวงในชำแหละเบื้องหลังการดูแล “ราคายางตกต่ำ” จะคำนวณจาก “ต้นทุน” หรือ “ความคาดหวัง”

4 มกราคม 2013


ที่มาภาพ: www.rakbankerd.com
ที่มาภาพ: www.rakbankerd.com

มาตรการ“สนับสนุนให้ใช้ยางธรรมชาติให้มากขึ้น” เป็นหนึ่งในมาตรการล่าสุดจากมติที่ประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา หรือ International Tripartite Rubber Council: ITRC ของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด หรือ IRCo ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเทศสมาชิก คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

พร้อมกับระดมทุนถึง 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 225 ล้านบาท ในปี 2556 เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและการบริหารจัดการ IRCo ซึ่งประเทศไทยจะ “ลงขัน” จำนวน 3.3 ล้านดอลลาร์

โดยหวังว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลกได้ในระยะยาว

ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพยายาม “สู้” กับการ “ร่วง” ของราคายางมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2554

แต่กระนั้น นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ทยอยงัดออกมา กลับไม่สามารถรักษาระดับราคายางให้เป็นที่พึงพอใจของชาวสวนยางได้

เมื่อไม่เป็นอย่างที่หวัง หนำซ้ำราคายางยังตกต่ำลงมามาก เงินงบประมาณจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท จึงถูกนำมาใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยนำไปใช้ในการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วม ซึ่งยางแผ่นดิบจะรับซื้อในราคา 100 บาท/กิโลกรัม และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในราคา 104 บาทต่อกิโลกรัม

ทว่า โครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเกษตรกรที่เข้าถึงสถาบันเกษตรกรเท่านั้น ที่สามารถรับประโยชน์จากเม็ดเงินจำนวนนี้ และยังมี “ช่องว่าง” ที่อาจทำให้เกิดการ “สวมสิทธิ” ได้

แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคายางที่ตกต่ำในอดีตสามารถพุ่งสูงได้ถึงกิโลกรัมละ 180 บาท และหล่นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท?

หากยังจำกันได้ ตั้งแต่ปี 2546-2552 สภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายางเริ่มไต่ระดับขึ้นจนแตะที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาดังกล่าวถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก

รัฐบาลในขณะนั้น ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ เชิญผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศมาหารือถึงราคายางพารา เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ราคายางพาราตกต่ำในช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่ราคายางจะตกเป็นประจำทุกปี

ในวงสนทนาผู้ส่งออกของไทย ได้ขอร้องให้รัฐบาลเปิดวินโดว์ของซอฟต์โลนไว้แบบไม่จำกัดวงเงิน โดย “สุเทพ” ได้พูดคุยเป็นการภายในกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เปิดวงเงินในส่วนนี้

หมายความว่า หากเอกชนซื้อยางพาราจนกระทั่งเต็มวงเงินที่เอกชนขอกู้จากธนาคารพาณิชย์ เอกชนก็จะสามารถขอใช้วินโดว์ของ ธปท. ได้โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท. จัดทำให้

วิธีการดังกล่าวจึงเป็นหลักประกันว่าผู้ส่งออกสามารถซื้อยางได้ไม่อั้นตามที่ต้องการ

เมื่อผู้ส่งออกทุกรายดำเนินการเช่นเดียวกันทั้งหมด ทำให้ตลาดในประเทศแตกตื่นเข้าใจว่าราคายางกำลังจะขึ้น เลยมีการ สต็อกยางเป็นจำนวนมาก

ไม่ต่างอะไรกับทฤษฎีห่านตกใจ

เมื่อรายใหญ่รายเล็กพร้อมใจกันกว้านซื้อยาง ทำให้ราคาในปี 2552-2553 พุ่งสูงขึ้นเป็น 180 บาท และอาจจะไปถึง 200-220 บาทต่อกิโลกรัม หากไม่ติดข้อจำกัดของประกันภัย ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จนกระทั่งเกิดเหตุสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ราคายางพาราก็ตกลงทันที

“วอร์รูมยาง” ระหว่างผู้ส่งออกกับประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

ในคราวนี้ผู้ส่งออกแนะนำให้ “สุเทพ” ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็น “เครื่องมือ” ในการดึงราคา เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกยางร่วมกันแสดงบทบาทในฐานะผู้กำหนดราคา

ข่าววงในระบุว่า “สุเทพ” ได้ยกหูโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อหน้าผู้ส่งออกไทย เพื่อเจรจาถึงท่าทีการกำหนดราคาของ 3 ประเทศ โดยมีจุดยืนร่วมกันว่าจะไม่ขายยางพาราในราคาที่ต่ำกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ก่อนที่จะมีการให้ข่าวต่อสาธารณะ โดยทางไทยซึ่งนำโดย “สุเทพ” เป็นคนประกาศราคานี้ ก่อนที่ 15 นาทีให้หลัง ทางอินโดนีเซียและมาเลเซียจะมีการให้ข่าวในทิศทางเดียวกัน ทำให้ราคายางในวันถัดมาดีดตัวขึ้นมา

แต่ว่าทว่า ผลกกระทบจากเหตุคลื่นยักษ์ในประเทศญี่ปุ่นใหญ่กว่าที่คาดคิดเอาไว้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในยุโรป รวมไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย ทำให้ห้วงเวลานั้นกลายเป็นช่วง “สุญญากาศ” ที่ไม่มีคนรับผิดชอบดูแลอย่างจริงจัง จนทำให้ราคายางร่วงตั้งแต่กลางปี 2553

เมื่อรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้ามาบริหารประเทศ ได้แต่งตั้งให้ “พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายยาง

โดย “ราคายาง” ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้ตั้งความหวังไว้กับโครงสร้างราคายางค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถ “ดึง” ราคายางให้พุ่งสูงไม่น้อยกว่าสมัยรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ได้ จะสามารถเรียก “คะแนนนิยม” จาก “คนใต้” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ “จุดอ่อน” ของพรรคเพื่อไทย ให้ “ปันใจ”มาสนับสนุนได้พรรคเพื่อไทยได้

แต่ทว่า “พรศักดิ์” กลับไปลงนามในเอ็มโอยูกับประเทศจีนว่าจะขายยางพาราให้กับจีนในราคา 105 บาท ซึ่งเป็นราคา ณ ประเทศจีน ทำให้ราคายางในประเทศสูงไม่ถึง 90 บาทต่อกิโลกรัม

ไม่ต่างอะไรไปจากการที่รัฐบาลไทยไปทุบราคายางเอง ส่งผลให้ราคายางร่วงกว่าเดิมจากที่เป็นอยู่

กว่าจะแก้เกมดึงราคายางขึ้นมาได้ ก็เป็นสมัยของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” โดยผู้ส่งออกเชื่อว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ขณะนี้ราคายางน่าจะแตะที่ 100 บาทต่อกิโลกรัมได้ เพราะเริ่มเข้าใจสถานการณ์

ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ซึ่งเข้ามาดำเนินการนโยบายต่อ กลับไม่ได้สร้างความหวังให้กับวงการยางเท่าใดนัก ที่สำคัญ ไม่เคยเชิญผู้ส่งออกหรือเกษตรกรร่วมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะใดๆ

ทำให้ตอนนี้เท่ากับว่าราคายางประเทศไทยแขวนไว้กับราคายางในตลาดโลกเท่านั้น

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศระบุว่า ราคายางจะขึ้นหรือลง นอกจากความต้องการยางพาราในตลาดโลกแล้ว ที่สำคัญอีกประการก็คือตัวรัฐมนตรีที่เป็นผู้คุมนโยบาย ที่ผ่านมา นโยบายไม่มีความต่อเนื่องจากการเปลี่ยน “ตัว” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นผู้รับผิดชอบถึง 3 ผลัดในรัฐบาล ทั้งที่ราคายางเป็นปัญหาที่ต้องใช้ทั้ง “ระยะเวลา” และคนที่ “รู้จริง” ในการดำเนินการ

“ต่อให้ไม่มีรัฐมนตรี ราคายางในตลาดโลกจะเป็นอย่างนี้ต่อ แต่ถ้าเราได้รัฐมนตรีที่เก่ง เข้าใจสถานการณ์ ราคามันจะขึ้นและจะไปดันตลาดโลกให้ขึ้น เพราะรัฐมนตรีคุมกลไกทั้งหมด หน่วยงานรัฐจะทำอะไรก็ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี ปัญหาคือมันไม่มีหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระที่ตัดสินในใจได้ด้วยตัวเอง จริงๆ แค่ขอให้รัฐบาลใดก็ตามที่จะแต่งตั้งรัฐมนตรีที่จะมาดูแลเรื่องนี้คิดเสียหน่อยว่าเขาจะมีความสามารถในการดูแลเรื่องนี้หรือไม่”

สถานการณ์ราคาปัจจุบันไม่ได้เป็นสถานการณ์อุปสงค์หรืออุปทาน แต่เป็นวิกฤติการณ์ของความเชื่อมั่น ที่ล้มเหลวในยุโรป ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกที่น่าจะหดตัว โรงงานผลิตล้อยางก็ไม่กล้าผลิตล้อยางสต็อกมากขึ้น มองดูแนวโน้มของราคาน่าจะลดต่ำลง คำถามง่ายๆ ก็คือว่า เขาจะรีบซื้อไหม ในเมื่อเขารู้ว่าถ้าพรุ่งนี้ราคามันจะต่ำกว่าวันนี้ ทุกคนจะชะลอ ราคาก็ต่ำลง ดังนั้นปัญหาคือการแก้ด้วยจิตวิทยา”

เช่นเดียวกับคำว่า “ราคาตกต่ำ” ที่ไม่ได้คำนวณจากต้นทุนของเกษตรกร แต่คำนวณจากความคาดหวัง

“คุยเรื่องต้นทุนไม่ได้ ต้องคุยเรื่องความคาดหวัง เช่น เราบอกว่าถ้าจบปริญญาตรีเงินเดือนต้องหมื่นห้า เรามีไปถามต้นทุนของแต่ละคนไหม ทุกคนที่จบปริญญาตรีคือหมื่นห้า ราคายางคนก็รู้ว่าราคามันควรจะอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้น จะไปเถียงกันว่าต้นทุนอยู่ที่ 40-60 บาท ตอนนี้มันสูงกว่าต้นทุน เขาไม่ฟังคุณ บอกว่าอย่างน้อย 120 ในใจลึกๆ อาจจะ 100 บาทก็พอใจ แต่ราคา 80 กว่าบาทมันก็อยู่ใกล้ๆ ปากเหว”

ความหวังว่าประเทศไทยจะสามารถกำหนดราคายางในตลาดโลกได้นั้นคงเป็นแค่วามฝัน!