ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เขี่ย ‘อิตาเลียนไทย’ พ้นทวายโปรเจกต์ ยกเหตุขาดเงินเวนคืนที่ดิน 250 ล้านดอลล์ รัฐบาลไทย-พม่า จ่อเซ็นสัมปทานฉบับใหม่

เขี่ย ‘อิตาเลียนไทย’ พ้นทวายโปรเจกต์ ยกเหตุขาดเงินเวนคืนที่ดิน 250 ล้านดอลล์ รัฐบาลไทย-พม่า จ่อเซ็นสัมปทานฉบับใหม่

23 มกราคม 2013


ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา มีความพยายามในการกดดันให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) “คาย” สัญญาสัมปทานการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกเมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า ซึ่งอิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานนานถึง 60 ปี

เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปรับนโยบาย 360 องศา จากที่เคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งว่าจะเดินหน้าโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด สร้างนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลในภาคใต้ ก็เปลี่ยนแนวทางมาเป็นการเชื่อมโยงฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน

หลังการพลิกท่าที น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปเยือนพม่าหลายครั้ง และแน่นอนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลตัวจริงเสียงจริง ได้เดินทางไปหารือกับรัฐบาลพม่ามาก่อนหน้านั้นแล้ว

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางเยือนนครเนปีดอ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า เมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค. 2554 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2555 ได้เข้าพบทวิภาคีกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ที่เมืองทวาย เพื่อสร้างภาพให้นักลงทุนเห็นความร่วมมือของสองประเทศนี้อย่างจริงจัง และเป็นการประกาศว่ารัฐบาลไทยคือหัวหอกรายใหญ่ของสัมปทานมูลค่ากว่า 3.9 แสนล้านบาท

คำถามก็คือ บทบาทของบริษัทอิตาเลียนไทยอยู่ตรงไหน จากที่เคยรับบทเด่นในอภิมหาโปรเจกต์ที่กล่าวได้ว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ดูเหมือนว่าอิตาเลียนไทย “ตกม้าตาย” กลายเป็นตัวสำรองของรัฐบาล ที่เข้ามาทำสัมปทานซ้อนสัมปทานที่อิตาเลียนไทยมีอยู่ในขณะนี้

ไม่เพียงแต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะสนับสนุนบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ซึ่งเคยมีผลงานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว แต่ระหว่างการร่วมโต๊ะประชุมไทย-พม่าหลายระดับ หลายเวที ก็มีการหารือถึงบทบาทของอิตาเลียนไทยที่ชัดเจนว่า ไม่สามารถหาเงินเดินหน้าการลงทุนท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมได้ตามสัญญา จึงต้องหลีกทางให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ คือ รัฐบาลไทยที่ดึงญี่ปุ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการลงทุน

ในเอกสาร “ด่วนที่สุด” นร.1112/7562 ที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2/555 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2555 ณ เมืองเนปีดอ โดยมีนาย U Aye Myint รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพม่า เป็นประธานร่วมกับนายนิวัฒน์ธำรง ซึ่งมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย พร้อมผู้แทนทั้งสองประเทศเข้าร่วม

มติที่ประชุมมีความชัดเจนว่า จะมีการจัดทำกรอบความตกลง (Framework Agreement) ฉบับใหม่ และฝ่ายไทยยืนยันว่า สถานะของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จะต้องมีอยู่ “ในฐานะนักลงทุน/นักพัฒนารายหนึ่งในกลุ่มใหม่” เท่านั้น

นั่นหมายความว่า บทบาทของอิตาเลียนไทยหลังจากนี้ อาจจะต้องแปรสภาพจากที่เคยเป็นเจ้าของสัมปทานทั้งโครงการ มาเป็นเพียงผู้รับช่วงงานก่อสร้าง หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ รัฐบาลจะให้อิตาเลียนไทยถือหุ้นร่วมต่อไปในสัดส่วนที่ถูกจำกัดความเป็นเจ้าของ

ทวาย (1)

สถานะของอิตาเลียนไทยในโปรเจกต์นี้นั้นสั่นคลอนมาก่อนแล้ว เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการระดมทุนทั้งจากตลาดทุนและจากสถาบันการเงิน นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย พยายามวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อต่อลมหายใจโครงการ แต่ดูเหมือนว่าความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ “ไม่เต็ม100%” ส่วนใหญ่ยังไม่กล้ากระโดดเข้ามาร่วมโครงการที่ความสำเร็จยังคลุมเครือ

รัฐบาลพม่าเคยแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความก้าวหน้าของโครงการนี้หลายครั้ง และเป็นช่องทางให้รัฐบาลไทยเข้าไปเสียบแทนโดยมีบรรดา “กุนซือ” มากประสบการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ นำเสนอโมเดลทางการเงินที่แปลกใหม่ ไอเดียบรรเจิด กล่อมจนในที่สุดรัฐบาลก็ทุบโต๊ะ ขอกุญแจสัมปทานมาจากอิตาเลียนไทย

ในเอกสาร “ด่วนที่สุด” นร.1112/7562 ระบุว่า ฝ่ายพม่าแจ้งความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยสำหรับประชาชนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานว่า จนถึงขณะนี้จ่ายเงินชดเชยโดยบริษัทอิตาเลียนไทยไปแล้ว 2 โซน ได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างท่าเรือ และตามแนวถนนจากท่าเรือมายังพื้นที่ชายแดน ระยะ 18 กิโลเมตรแรก และได้สร้างบ้านเรือนทดแทนแล้วจำนวน 443 หลัง จากทั้งหมดรวม 4,693 หลัง

โดยรัฐบาลภาคตะนาวศรีและกระทรวงสวัสดิการสังคมฯ ของพม่า ได้เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจากับประชาชน

“การดำเนินการจ่ายชดเชยได้ยุติลง เนื่องจากบริษัทอิตาเลียนไทยขาดเงินทุน ซึ่งฝ่ายพม่าประเมินว่าต้องใช้เงินอีกจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจ่ายชดเชยให้กับประชาชนที่โยกย้ายที่อยู่อาศัยทั้งหมด ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับคณะกรรมการประสานงานร่วมฝ่ายไทย โดยพิจารณาภายใต้กรอบความตกลงฉบับใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันต่อไปในช่วงต้นปี 2556” ข้อความตามเอกสาร นร.1112/7562 ระบุ

ทวาย-2

โฉมหน้าใหม่ของความร่วมมือไทยและพม่า ก้าวไปไกลถึงขั้นลงไปในรายละเอียดของ “โมเดล” ทางการเงินและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งมีข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะเลือกกลไกการระดมทุน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน SPV ซึ่งจะเป็นโฮลดิ้งคอมพานีในการพัฒนาโครงการทั้งหมด และมีบริษัทร่วมทุนย่อยๆ แยกในแต่ละสาขา โดยสัมปทานและสิทธิต่างๆ จะเป็นของ SPV

2. การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนย่อยๆ สำหรับแต่ละสาขา โดยมีการทำสัญญาแยกต่างหากในแต่ละสาขาการลงทุน (Sectorial Agreement) ซึ่งสัมปทานและสิทธิต่างๆ จะเป็นของแต่ละบริษัทย่อย ทางพม่าจะต้องไปแก้ไขกฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจนหรือเอื้อต่อการลงทุนโดยเร็ว

โดยจะมีการออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ฉบับใหม่ของพม่า ระบุสิทธิพิเศษสำหรับผู้พัฒนาโครงการ (Developer) นอกเหนือจากนักลงทุน (Investor) ที่มีระบุแต่เดิม และจะแบ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เขตปลอดอากร (Free Zone) สำหรับธุรกิจเพื่อการส่งออก และ 2 Promotion Zone สำหรับธุรกิจการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ รวมทั้งจะอนุญาตให้มีการลงทุนของต่างชาติแบบ 100% และมีศูนย์ One-stop Service ในทุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การยกเว้นและลดหย่อนภาษีสำหรับผู้พัฒนาโครงการใน 8 ปีแรก และนักลงทุนในเขตปลอดอากร 7 ปีแรก ในเขต Promotion Zone 5 ปีแรก รวมทั้งสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และรับประกันว่าจะไม่มีการยึดกิจการ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นเวลา 50 ปี และต่ออายุได้ถึง 25 ปี

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กล่าวว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับนายเปรมชัย กรรณสูต หลายครั้ง เพื่อหารือเรื่องการเปลี่ยนมือสัมปทานมาให้รัฐบาลเป็นแกนนำ โดยจะมีการดึงประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมถือหุ้น ซึ่งทางญี่ปุ่นก็สร้างเงื่อนไขเรียกร้องรัฐบาลไทยว่า ต้องการให้อิตาเลียนไทยถอยออกจากสัญญาดังกล่าวนี้ก่อน จึงจะยื่นมือเข้ามาอย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ หากรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาจับมือผูกปิ่นโตกับไทย เท่ากับเป็นการการันตีว่า จะมีผู้ผลิตอุตสาหกรรมหนักและชิ้นส่วนของญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาสร้างโรงงานในทวาย และรัฐบาลญี่ปุ่นยังจะได้ประโยชน์ในเรื่องยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ คือ การบล็อกไม่ให้จีน ซึ่งบาดหมางใจกับญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะทางตะวันออก สามารถเข้ามาแผ่ขยายอำนาจในภูมิภาคนี้มากเกินไป

ด้านนายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นรัฐบาล การกู้ยืมเงินจะได้รับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เช่น กู้จากญี่ปุ่นซึ่งกำลังสนใจที่จะกระโดดเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ก็จะคิดดอกเบี้ยต่ำแค่ประมาณ 1.25% เท่านั้น ขณะที่ถ้าเป็นเอกชนไปกู้เงิน ดอกเบี้ยจะค่อนข้างสูง คือ อยู่ที่ 4-5%

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด มองว่า หากรัฐมีการเริ่มต้นการลงทุนด้วยก้าวเล็กๆ จะกลายเป็นก้าวใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการสร้างถนนไปเขตชายแดน อ.พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปจนถึงเมืองทวายกว่า 300 กิโลเมตร ควรจะเริ่มดำเนินการก่อน ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ทันที

ย้อนดูแผนลงทุน ‘ทวาย’ ฉบับ อิตาเลียนไทย

ตามแผนของโครงการที่เซ็นสัญญาไว้โดย บริษัท อิตาเลียนไทย และรัฐบาลพม่า เมื่อเดือน พ.ย. 2553 อภิมหาโครงการนี้ ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ เส้นทางคมนาคมระหว่าง จ.กาญจนบุรี และท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นการก่อสร้างเส้นทางถนน 4 เลน ระหว่างบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร และจะมีการพัฒนาเป็นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงจังหวัดกาญจนบุรีกับทวายในอนาคต

การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย จะตั้งอยู่บริเวณตำบลนาบูเล (Nabule) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทวายไปทางตอนเหนือเป็นระยะทาง 34 กิโลเมตร กำหนดโครงสร้างท่าเรือไว้ 2 ท่า แต่ละท่ามี 2 เทอร์มินอล (Terminal) ซึ่งจะรองรับสินค้าแตกต่างกัน โดยในเฟสแรกจะทำการก่อสร้างเพียง 1 ท่า นอกจากนั้น ยังมีแผนการก่อสร้างอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ระดับ VLCC (Very Large Crude Oil Carrier) และ ULCC (Ultra Large Crude Oil Carrier) ได้

ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จในปี 2563 คาดว่าท่าเรือน้ำลึกทวายจะมีศักยภาพรองรับสินค้าได้มากถึง 200 ล้านตัน หรือเทียบเท่า 14 ล้าน TEU (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ต่อปี ซึ่งมากกว่าท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบัน

ยังมีโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอยู่บนพื้นที่ราว 250 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2 แสนไร่ ประกอบด้วยโซน A คือ เขตอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือ โซน B เขตอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โซน C1 เขตอุตสาหกรรมปลายน้ำ โซน C2 เขตอุตสาหกรรมต้นน้ำ โซน D เขตอุตสาหกรรมขั้นกลาง และโซน E เขตอุตสาหกรรม

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม จะมีการก่อสร้างในเฟสสอง หลังจากที่ท่าเรือน้ำลึกทวายก่อสร้างไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่จะอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อาทิ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 440 เมกะวัตต์ โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการเพื่อดูแลจัดการและบริหารอื่นๆ รวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟในพม่า เป็นต้น