ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดโครงการรถคันแรก 1.255 ล้านคัน งบฯ คืนภาษีบาน 9.1 หมื่นล้าน ขอ “งบกลาง” โปะ

ปิดโครงการรถคันแรก 1.255 ล้านคัน งบฯ คืนภาษีบาน 9.1 หมื่นล้าน ขอ “งบกลาง” โปะ

1 มกราคม 2013


บรรยากาศวันสุดท้ายคืนภาษีรถคันแรก
บรรยากาศวันสุดท้ายของการขอคืนภาษีรถคันแรก

วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตเปิดให้ประชาชนมายื่นใช้สิทธิ์คืนภาษีตาม “โครงการรถยนต์คันแรก”

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้ปิดรับการยื่นเอกสารขอคืนภาษีรถคันแรกของกรมสรรพสามิตทุกจุดให้บริการเวลา 16.30 น. มีประชาชนมาขอใช้สิทธิ์ 1,255,942 คัน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืน 91,061 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตยังเปิดให้ยื่นขอใช้สิทธิ์คืนภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้จนถึงเวลา 24.00 น. โดยผู้มีสิทธิ์จะต้องส่งสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน ขั้นตอนต่อไปหลังจากปิดโครงการรถคันแรกภายในสัปดาห์แรกของปี 2556 กรมสรรพสามิตต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอกระทรวงการคลังเพื่อขอ “งบกลาง” จากรัฐบาลมาใช้คืนภาษีผู้ที่ครอบครองรถครบ 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการส่งมอบจากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์

ปิดโครงการรถคันแรก
ปิดโครงการรถคันแรก

นายสมชายกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2555 (1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2555 ) ได้รับการจัดสรรงบฯ จากรัฐบาล 7,500 ล้านบาท กรมสรรพสามิตได้คืนภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองรถครบ 1 ปี ประมาณ 40,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ยังมีงบฯ เหลืออีก 4,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2555-30 กันยายน 2556) ได้รับการจัดสรรงบฯ 18,000 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอ กรมสรรพสามิตต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังของบกลางอีก 20,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 (1 ตุลาคม 2556-30 กันยายน 2557) ต้องจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลอีก 30,000-40,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2558 อีกจำนวนหนึ่ง

ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนิน “โครงการรถคันแรก” หนึ่งในนโยบายประชานิยมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เน้นการลดรายจ่ายและกระตุ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบก่อให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นการบริโภค เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic demand) ลดการพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วน 75% ของจีดีพี

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

“โครงการรถคันแรก” จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวตลอดทั้งโครงการคิดเป็น 0.97% ต่อปี การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ (Multiplier effect) การใช้จ่ายเงินของรัฐทุกๆ 1 บาท จะมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคเท่ากับ 1.4 บาท ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ และภาษีทะเบียนรถยนต์ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,248 คน ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2555 กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา ทุกกลุ่มอาชีพ พบว่า ประชาชน 71.39% เห็นด้วยกับนโยบายรถคันแรก เพราะเป็นเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการมีรถยนต์คันแรกเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดการจ้างงาน ขยายการลงทุน ส่วนอีก 24.44% ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้จราจรติดขัดเพิ่มขึ้น สร้างหนี้ให้กับประชาชน และรัฐต้องจัดงบประมาณมาคืนภาษี