ThaiPublica > คอลัมน์ > เหนือเมฆ 2 ความจริง VS ความฟิน

เหนือเมฆ 2 ความจริง VS ความฟิน

18 มกราคม 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

ผมไม่คิดว่าการแบนละครเรื่อง “เหนือเมฆ 2: มือปราบจอมขมังเวทย์” เป็นการปิดกั้น “ความจริง” ต่อผู้ชม (เอาแค่ผู้ชมพอครับ คำว่าสังคมมันใหญ่ไป ไม่ใช่ทุกคนในสังคมที่ดูละครเรื่องนี้) แต่มันคือการปิดกั้น “ความฟิน” มากกว่า กล่าวคือ ปิดกั้นผู้ชมจากโอกาสในการเสพสมกับความสะจิตสะใจที่ได้เห็นทัศนคติและจินตนาการต่อนักการเมืองที่ตนมีในหัวออกมาโลดแล่นบนจอโทรทัศน์ และยิ่งสาแก่ใจเมื่อได้เห็น “ความเลว” เหล่านั้นถูกจัดการด้วย “ความดี” ในละครอย่างสาสม

เป็นเรื่องของการสำเร็จความใคร่ด้วยจินตนาการทางศีลธรรม…

“นักการเมืองเลว” เป็น “ความจริงเหมารวม” ที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ได้ยินมาตลอดในสภาพสังคมอย่าง “ปากก็ด่ามือก็กากบาทเลือกตั้ง” และในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา วลีดังกล่าวก็ยิ่งชัดขึ้นในแง่ของการผลิตวาทกรรมบนการชุมนุมทางการเมือง

นักการเมืองเลวเป็นความจริงเหมารวมระดับที่ไม่ต้องมาเปิดเผยกันแล้วครับ อีกทั้งความเลวและกระบวนการกระทำอันเรียกได้ว่าเป็นความเลวในฐานะที่เป็นนักการเมือง (หรือการทุจริตคอร์รัปชันนั่นแหละ) มันก็ซับซ้อนคลุมเครือเสียจนผมไม่เห็นว่าของที่ต้องทำทุกอย่างให้ “เห็นชัด” อย่างละคร (ยืนคิดอยู่ในหัวคนเดียวยังต้องพูดออกมาเหมือนคนบ้าคุยกับตัวเอง) จะสามารถตีแผ่ความจริงอันซับซ้อนออกมาให้คนรู้เท่าทันได้

การเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อประโยชน์แห่งพวกพ้อง การมี “อำนาจมืด” นอกระบบ (ไม่ว่าจะตามทัศนะของฝ่ายไหนหรือของใคร) มาขับเคลื่อนหรือแทรกแซงการเมือง เหล่านี้เป็นจินตนาการที่มีอยู่ในใจของผู้คนที่เชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว สิ่งที่ละครทำไม่ใช่เปิดเผยความจริงที่ถูกปิดบัง แต่คือการตอกย้ำสิ่งที่ผู้คนจินตนาการว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่จริง ที่เห็นจากในละครจึงไม่ใช่ความจริงอันถูกปิดบังที่ถูกหยิบมาจากไหน หากแต่คือความจริงที่อยู่ในหัวในใจคุณนั่นแหละ คุณเห็นมันอยู่แล้วทุกวันตามข่าว เห็นมันจากเรื่องราวตามบทความต่างๆ ไม่ใช่ของใหม่ ไม่มีอะไรลึกลับ ที่เห็นในละครเป็นแค่การกระชับแน่นจินตนาการที่มีอยู่

เพราะแบบนั้น ผมถึงเรียกการแบนนี้ว่าการปิดกั้นความฟิน และที่ผู้คนออกมาเรียกร้องกันก็ไม่ใช่การเรียกร้อง “เสรีภาพในการนำเสนอความจริง” แต่เป็นการร้องหา “เสรีภาพที่จะฟิน” ก็คุณจะไปเรียกของที่คุณก็รู้อยู่แก่ใจและใครต่อใครก็รู้ไปกับคุณ แถมยังเผยแพร่กันในที่สาธารณะได้อย่างอิสระและธรรมดาทั่วไปว่า “ความจริงที่ถูกปิดบัง” ได้อย่างไร

กระนั้น ที่กล่าวมาด้วยน้ำเสียงข้างต้นนี่ผมไม่ได้หมายความว่า “เพราะฉะนั้น ละครแบบนี้ไม่มีประโยชน์” นะครับ กลับกัน ผมเห็นว่าประโยชน์ของละครก็คือแบบนี้นี่แหละ สะท้อนสิ่งที่มีอยู่ในสังคมออกมาให้ผู้ชมเสพสมจนถึงฟิน ความเลวอะไรที่จัดการไม่ได้ในชีวิตจริงก็ให้ความดีในละครจัดการกับมันอย่างฟุ้งเฟ้อ เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ จะ “เหนือเมฆ 2” หรือ “แรงเงา” ผมว่าต่างก็ทำหน้าที่นี้ได้ดีเท่าๆ กัน อีกทั้งการเรียกร้องเสรีภาพที่จะฟินก็ไม่ใช่เรื่องผิด (ถ้าจะผิดก็อาจจะแค่ตรงที่คุณอาจไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังอยากฟิน) และในแง่ของการเรียกร้องแล้ว ผมไม่คิดว่ามันด้อยกว่าการเรียกร้องเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ที่ตรงไหน และก็เช่นเดียวกัน ผู้อื่นมีสิทธิ์จะมองว่ามันไร้สาระหรือไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ ได้เฉกเช่นที่การเรียกร้องอื่นๆ ถูกมองแบบนั้น

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรต่อการเรียกร้องอะไร ไม่มีใครมีสิทธิไปห้ามไม่ให้มีการเรียกร้องนั้นๆ ตราบที่มันไม่ขัดต่อกฎหมายและสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ความคิดที่ว่า การทำละครแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ “ความกล้าหาญ” ผู้ทำช่างมีความกล้าหาญเหลือเกินที่ทำละครสะท้อนความจริงแบบนี้ออกมา ในความคิดของผม ตรงนี้มันชี้ให้เห็นทัศนคติในสังคมส่วนหนึ่งว่า “การเมือง” ช่างเป็นสิ่งที่ทรงพลังอำนาจและแตะต้องไม่ได้จนการที่ละครเรื่องหนึ่งไปแตะมันขึ้นมาจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ว่าจะจริงหรือไม่ การที่พลเมืองยังมีทัศนคติเช่นนี้ สะท้อนว่า พัฒนาการของทัศนคติทางการเมืองในบ้านเรายังคงต่ำจนราวกับว่าไม่เคยพัฒนาไปไหน ประหนึ่งยังเป็นการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารโบราณดึกดำบรรพ์อย่างนั้นเลย

แถมละครทางฟรีทีวีนี่ยังต้องเป็นพื้นที่พิเศษมากๆ นะครับ ทั้งที่เราอยู่ในประเทศที่ดูถูกเหยียดหยามด่านายกฯ ด่านักการเมืองกันหยาบๆ คายๆ ในเฟซบุ๊กกันอย่างเปิดเผย เอากันถึงขั้นเปิดเพจเปิดสื่อมาด่าเป็นล่ำเป็นสัน แต่พอเป็นละครที่เนื้อหาเฉี่ยวไปเฉี่ยวมานี่กลับได้รับการสรรเสริญว่ากล้าหาญมาก แสดงว่าละครนี่มันต้องเป็นพื้นที่พิเศษมากๆ ทางการเมืองจริงๆ

(ซึ่งเอาเข้าจริง เรื่องเฉี่ยวไปเฉี่ยวมานี่ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช ผู้อำนวยการสร้างละครเรื่องนี้ ก็ได้ออกมาบอกแล้วนะครับว่า “เนื้อหาละครเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติ การนำเสนอไม่มีเจตนากระทบกระทั่งใคร” แบบนี้เลยน่าจะเรียกได้ว่ากล้าโดยไม่เจตนาเลยทีเดียว)

อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร ผู้กำกับละครเหนือเมฆ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th
อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร ผู้กำกับละครเหนือเมฆ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

อันที่จริง ในตอนที่มีการแบนเกิดขึ้น ผมหวังเป็นอย่างมากนะครับว่า ทางผู้จัดจะออกมา “แฉ” ให้หมดเปลือกว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่จนแล้วจนรอด อย่าว่าแต่สาก ผมลองเป่าครกที่บ้านดูก็ยังเสียงดังกว่าเลย มันน่าเสียดายนะครับ ไม่ว่าใครจะมองว่าละครนั้นน้ำเน่า ตื้นเขิน หรืออะไรอย่างไรในทางลบ แต่ผมก็เห็นว่ามันก็คือรูปแบบการแสดงความคิดอย่างหนึ่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ก็คือการลิดรอนจำกัดหรือกระทั่งกำจัดสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเลยทีเดียว และการออกมาแฉจะไม่ใช่แค่เอาความจริงมาตีแผ่ แต่อาจทำให้ขยายขอบเขตการ “เล่นกับความจริง” ของละครไปได้อีกไกลมากเลยทีเดียว การเงียบงันตรงนี้จึงเป็นทั้งการทำลายโอกาสในการสร้างพัฒนาการของสังคมและวงการละครไปในคราวเดียวกัน

และสำหรับผู้ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ความจริงบางอย่างจะพูดออกมาไม่ได้ ถ้าคิดแบบนั้นแล้วคุณจะออกมาเรียกร้องทำไม ต่อไปมีอะไรแบบนี้ก็ไม่ต้องออกมาเรียกร้องแล้วครับ เชิญคุณสำนึกไว้แต่แรกเลยว่า อ้อ นี่มันคงเป็นความจริงที่พูดไม่ได้ แล้วก็แสดงความเคารพต่อความเงียบของผู้กล้า จากนั้นก็ไปนั่งจินตนาการเอาเองว่าอะไรมันเป็นอะไร เรียกว่าไปสร้างละครอีกเรื่องในหัวให้มันฟินกับตัวเองเงียบๆ ก็พอ

ปฏิกิริยาของฝ่ายผู้ผลิตละครต่อการแบนละครนี่ก็สำคัญมากนะครับ มันสะท้อนทัศนคติในการทำงานด้วย ว่ามองละครที่ตัวเองทำอยู่ในฐานะอะไร และทุกวันนี้ สิ่งที่เรียกว่าละครนั้นมีสถานะเป็นอย่างไร เช่น ต่อคำพูดของ”อุ๋ย-นนทรี นิมิบุตร ผู้กำกับละครเหนือเมฆ” เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการที่บอกว่า “เรามีอิสระในการทำงาน ไม่มีใครขัดขวางการทำละครตั้งแต่ต้นจนจบ เพียงแต่ตอนจบไม่ได้ออกอากาศเท่านั้น เราก็เหมือนช่างทำรองเท้า พอตัดเสร็จก็ส่งให้ผู้จ้าง เขาจะเอาไปใส่หรือไม่ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ถือว่าไม่ขัดกับอิสรภาพ” (ข่าวเดียวกัน) ซึ่งนั่นหมายความว่า สิทธิของผู้ชม ที่อยากจะบริโภครองเท้าคู่นี้ (ด้วยสายตาและอารมณ์) ไปจนสุดทาง ไม่ได้ถูกผนวกรวมเข้าไว้ในการตัดรองเท้าสักคู่ที่เรียกว่าละครสักเรื่องเลย

คิดในแง่ธุรกิจก็เหมือนจะถูกต้องสมบูรณ์แบบครับ เพราะถึงฟรีทีวีจะฟรีในแง่ที่ว่าผู้ชมสามารถรับชมได้โดยไม่ต้องเสียสตางค์ แต่ในการจะขับเคลื่อนกิจการไปได้ การเลือกรองเท้าคู่ที่เหมาะจะใช้สวมเพื่อเตะตาคนดูก็เป็นเรื่องสำคัญ หรือเรียกได้ว่าจำเป็นเหนือยิ่งสิ่งอื่นใดเลยทีเดียว

แต่อย่าลืมนะครับว่า ไอ้รองเท้าที่ว่านั่น เวลาสวมใส่ออกมาเดิน เขาเอามาเดินกันบนถนนความถี่ที่มันเป็นทรัพยากรของชาติที่แต่ละช่องได้รับการแบ่งสรรปันส่วนกันไป และเมื่อเป็นทรัพยากรของชาติ ก็แปลว่ามันเป็นทรัพยากรของประชาชนด้วย ดังนั้น กับรองเท้าที่เรียกว่าละคร เมื่อคุณสวมใส่ออกมาเดินสักพักหนึ่ง แล้วก็มีผู้คนที่ถูกอกถูกใจอย่างเห็นคุณใส่เดินไปจนจบ คุณก็ต้องชี้แจงให้ได้ล่ะครับว่า เพราะเหตุใดคุณถึงถอดมันโยนทิ้งไปทั้งที่ก็ใส่เดินมาจนใกล้จะสุดทางแล้ว

ลำพังแค่บอกว่าเดินไปเตะมาตรา 37 ของ พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 นี่ไม่พอนะครับ คุณต้องบอกให้ชัดเจนด้วยว่า คุณไปเดินอีท่าไหนมันถึงไปสะดุดมาตรา 37 ที่ว่านั่นได้ บอกให้ละเอียด ไม่ใช่แค่พูดว่าเดินสะดุดแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจสั่งแบนต้องชี้แจงให้ชัดเจน!!

ก็ไม่รู้จะใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ตั้งสองอันให้มันดูยิ่งใหญ่ไปทำไม เรื่องแค่นี้คนที่ออกมาเรียกร้องก็คงคิดได้กันอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ใช่อะไร เห็นท่าทีทางฝั่งผู้จัดแล้ว ผมกลัวว่าเรื่องเหนือเมฆ 2 ฉายไม่ทันและไม่มีวันจบ พวกท่านก็จะสร้างละครอีกเรื่องมาฉายแทน…

ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “ใต้พรม” !!