ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สแกนพาสปอร์ต กมธ. (4): ก็อปปี้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ทำรายงานส่งสภา

สแกนพาสปอร์ต กมธ. (4): ก็อปปี้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ทำรายงานส่งสภา

25 มกราคม 2013


ภาพการศึกษาดูงานของ กมธ.การสวัสดิการสังคม ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา
การศึกษาดูงานของ กมธ.การสวัสดิการสังคม ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา

หลักเกณฑ์ในการเดินทางศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในต่างประเทศระบุว่า ในการดูงานทุกครั้ง กมธ. จะต้องส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะโดยจัดทำเป็นรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และเผยแพร่ต่อสาธารณะ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมไปถึงฝ่ายบริหาร สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินการด้านต่างๆ ได้

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ซึ่งใช้สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางราชการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 โดยในรายงานการเดินทางศึกษาดูงานที่ต่างประเทศของ กมธ. ทั้ง 9 คณะนั้นจะมีรูปแบบที่คล้ายกัน ทั้งในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร บทนำ สรุปผลการศึกษาดูงาน ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กมธ. รวมไปถึงภาคผนวก

สาระของรายงานที่ถือเป็นหัวใจคือ “ข้อสรุป” และ “ข้อเสนอแนะ” ของ กมธ. ที่อยู่ในเชิง “วิเคราะห์” องค์ความรู้ที่ได้รับจากการดูงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากมีหน่วยงานนำไปประยุกต์ใช้

จากเอกสารรายงาน 9 คณะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กมธ.การคมนาคม ดูงานระหว่างวันที่ 18-27 มิถุนายน 2555 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน ส่งรายงานการดูงานความหนา 51 หน้ากระดาษเอสี่ โดยเป็นสรุปผลการศึกษาดูงาน 8 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

2. กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ดูงานที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–4 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานความหนา 39 หน้า มีบทสรุป 16 หน้า และข้อเสนอแนะจาก กมธ. 1 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

3. กมธ.การติดตามการบริหารงบประมาณ ดูงานที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานความหนา 51 หน้า เป็นผลสรุปการดูงาน 5 หน้า และข้อเสนอแนะ กมธ. 1 หน้าส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

4. กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม ดูงานที่ประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ระหว่างวันที่ 4-11 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานความหนา 69 หน้า เป็นสรุปผลการดูงาน 11 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

5. กมธ.การสวัสดิการสังคม ดูงานที่ประเทศออสเตรีย เช็ก สโลวัก และฮังการี ระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคม ส่งรายงานการดูงานความหนา 24 หน้า เป็นสรุปการดูงาน 10 หน้า ข้อเสนอแนะ 2 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

6. กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูงานที่ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม 2555 ไม่ได้มอบรายงานการศึกษาดูงานให้กับสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

7. รายงาน กมธ.การศึกษา ดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานความหนาจำนวน 108 หน้า เป็นผลสรุปการดูงาน 13 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

8 กมธ.การสาธารณสุข ดูงานที่ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานมีความหนา 41 หน้า เป็นสรุปผลการศึกษา 15 หน้า และข้อเสนอแนะ 1 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

9 กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน–7 กรกฎาคม 2555 ส่งรายงานการดูงานความหนา 35 หน้า สรุปผลการศึกษาดูงานจำนวน 17 หน้า ข้อคิดเห็นดูงาน 1 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในการดูงานของ กมธ.อุตสาหกรรมครั้งนี้ ตามกำหนดการ กมธ. เข้าดูงานเพียง 1 แห่งเท่านั้น คือ ที่บริษัท FRAGONARD PARFUMEUA ณ กรุงปารีส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำหอม

สำหรับรายงานที่ กมธ. จัดทำขึ้นนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และประวัติน้ำหอม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต หรือในหนังสือนำเที่ยวของประเทศนั้นๆ ได้ แทบจะไม่มีรายงานในส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ผลิตรถยนต์ ตามหลักการและเหตุผลที่ กมธ.อุตสาหกรรมระบุไว้ในรายงานฉบับเดียวกันนี้แต่อย่างใด

แตกต่างไปจาก กมธ.การศึกษา กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ และ กมธ.การสวัสดิการสังคม ที่เนื้อหาในรายงานสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลที่วางไว้ในการดูงานครั้งนี้ ซึ่งผลสรุปและข้อเสนอแนะที่ กมธ. ได้จัดทำแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ประสบการณ์ และการพัฒนาด้านที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นหากมีการนำไปศึกษาและประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต

รายงานการเดินทางศึกษาดูงานของ กมธ. ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีที่จัดสรรให้ กมธ. ทั้ง 35 คณะใช้ในการเดินทางดูงานที่ต่างประเทศนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนในการดูงานต่างประเทศของ กมธ. เหล่านี้

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กมธ. ผู้ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เป็นสภา “จองล้าง…จ้องผลาญ” ตามที่สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาให้ในปี 2555

เปิด “กฎเหล็ก” คุม กมธ. บินนอก

ภาพการดูงานของ กมธ.คมนาคมจากเว็บไซต์รัฐสภา
ภาพการดูงานของ กมธ.คมนาคมจากเว็บไซต์รัฐสภา

ปัญหาการใช้งบประมาณในการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรมีมาอย่างยาวนาน และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาอย่างเผ็ดร้อน

ในสมัยที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศของ กมธ.สามัญ สภาผู้แทนราษฎรขึ้น

โดยกำหนดให้ประธาน กมธ. คณะต่างๆ ต้องจัดทำโครงการศึกษาดูงาน และเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติไม่น้อยกว่า 30 วัน และแจ้งต่อกองคลังและพัสดุของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน

และจำนวนคนที่ไปจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน กมธ. ทั้งหมด

ขณะที่เจ้าหน้าที่ กมธ. และคณะทำงาน อาทิ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำ กมธ. สามารถร่วมเดินทางไปด้วยอีกฝ่ายละ 2 ราย ที่ปรึกษาอื่นไม่เกิน 5 คน ส.ส. ที่ไม่ได้เป็น กมธ. ในคณะนั้นจำนวนไม่เกิน 3 คน

โดยที่ปรึกษาอื่นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

และเมื่อเดินทางกลับมา กมธ. จะต้องส่งเงินที่เหลือคืนพร้อมเคลียร์ค่าใช้จ่ายภายใน 15 วัน และส่งรายงานให้กับคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 30 วันหลังจากการเดินทาง

ส่วนวิธีปฏิบัติด้านการเงินอื่นใด ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด

ข้อกำหนดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้าง ขึ้นอยู่กับความ “ใส่ใจ” ของประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นๆ

กระทั่งในสมัยที่ “ชัย ชิดชอบ” เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร “กฎเหล็ก” ดังกล่าวได้ถูกนำกลับมาใช้อย่างเคร่งครัดอีกครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ โดยในขณะนั้นได้เพิ่มเติมข้อกำหนดอีก 3 ข้อ ประกอบด้วย

1. ต้องมีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการในประเทศนั้น

2. เงื่อนเวลาในการเดินทางจะต้องเดินทางหลังจากปิดสมัยประชุมไปแล้ว และจะต้องเดินทางกลับมาให้ทันประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธและพฤหัสบดี

3. กมธ. ต้องมีการใช้งบประมาณอย่างประหยัด

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อดูแลการเดินทางของ กมธ. ให้เป็นไปตามระเบียบด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการตีกลับโครงการศึกษาดูงานของ กมธ. หลายคณะ เพื่อให้ไปดำเนินการจัดทำใหม่ตามระเบียบ จนเกิดความไม่พอใจขึ้นในบรรดาประธาน กมธ.

อย่างไรก็ตาม “ข้อกำหนด” ที่มีขึ้นเพื่อป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณได้ถูกยกเลิกลงในสมัยที่ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ขึ้นเป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ

คลิก!อ่านแนวทางการปฏิบัติในการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศของ กมธ.สามัญ สภาผู้แทนราษฎร ฉบับเต็ม