ThaiPublica > คอลัมน์ > ทองคำทำร้ายอินเดีย

ทองคำทำร้ายอินเดีย

26 มกราคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

รถยนต์ทองคำฝังเพชรคันแรกของโลก ที่ประเทศอินเดีย ที่มาภาพ  : http://image.zoneza.com
รถยนต์ทองคำฝังเพชรคันแรกของโลก ที่ประเทศอินเดีย ที่มาภาพ : http://image.zoneza.com

อินเดียเป็นชาติที่พิสมัยทองคำเป็นพิเศษมาเป็นเวลาช้านาน ทองคำเป็นทั้งเครื่องประดับ เครื่องมือในการสะสมทรัพย์ และในการเก็งกำไร การที่เศรษฐกิจอินเดียประสบปัญหาในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชอบทองคำเป็นพิเศษนี่แหละ

ทองคำเป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์เชื่อถือมาไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ปี และอาจเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์ใช้ในการประดับและประกอบพิธีกรรม

มีประมาณการว่าตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีการนำทองคำออกมาใช้ในโลกของเราทั้งหมดประมาณ 171,300 ตัน หรือ 5,500 พันล้านทรอยเอาซ์ (ทรอยเอาซ์เป็นหน่วยของทองคำโดย 1 หน่วยหนัก 31.10347 กรัม ดังนั้นทองคำ 1 บาทไทยจึงหนัก 0.4887 ทรอยเอาซ์) หรือ 8,876 คิวบิกเมตร ซึ่งถ้าเอามาปั้นเป็นลูกเต๋าก็จะได้ความยาวด้านละ 20.7 เมตร

นักธรณีวิทยาเชื่อว่าทองคำจำนวนมหาศาลของโลกฝังลึกอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลก หรือลึกลงไปประมาณ 6,300 กิโลเมตร (อยู่ห่างถ้ำลิเจียที่กาญจนบุรีมาก) มันได้จมลงไปในดินในขณะที่โลกยังมีอายุน้อยเนื่องจากทองคำมีความหนาแน่นสูง (หนัก)

ทองคำเกือบทั้งหมดที่มนุษย์ค้นพบกันนั้นล้วนเป็นทองคำที่มาจากอุกกาบาตจำนวนมากที่หล่นลงมาบนโลกในเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา

อินเดียเป็นประเทศที่บริโภค (ใช้) ทองคำมากที่สุดในโลก สถิติในปี 2010 ระบุว่าใช้ถึง 745.7 ตัน ในขณะที่ในปี 2009 ใช้เพียง 442.37 ตัน รองลงมาคือจีนใช้ 428 ตันในปี 2010 ไทยใช้ 6.28 ตัน รวมแล้วทั้งโลกใช้ทองคำ 2,059.6 ตัน เปรียบเทียบกับ 1,760.3 ตันในปี 2009

ในปัจจุบันอินเดียในแต่ละปีซื้อทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งโลก คือประมาณ 800 ตัน โดยนำเข้าประมาณ 400 ตัน คาดว่าครัวเรือนอินเดียทั้งประเทศถือครองทองคำประมาณ 18,000 ตัน มูลค่าประมาณ 950,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 11 ของปริมาณทองคำทั้งหมดในโลกในปัจจุบัน หรือเกือบ 3 เท่าของทองคำที่ธนาคารกลางสหรัฐถืออยู่

ความบ้าคลั่งทองคำในรูปของทองรูปพรรณมีมายาวนาน อินเดียห้ามนำเข้าทองคำนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 กฎหมาย The Gold Control Order 1963 และปี 1968 กำกับควบคุมความต้องการทองคำโดยห้ามนำเข้า ตลอดจนจำกัดปริมาณทองคำที่ช่างทองสามารถมีอยู่ได้ในมือ เนื่องจากภาครัฐรู้จักรสนิยมของประชาชนดีและตระหนักถึงความต้องการทองคำอย่างไม่มีที่สุดของคนอินเดีย อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1990

ประเพณีให้ทองคำเป็นของขวัญในเทศกาล Diwali งานแต่งงาน และโอกาสอื่น ๆ อันเป็นมงคล ตลอดจนปรากฏการณ์เศรษฐกิจสังคมในประเทศ เช่น การลักลอบซื้อขายและขนส่ง ยาเสพติด การค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด คอร์รัปชัน การใช้เป็นหลักทรัพย์ การหนีภาษี การใช้เป็นสินสอด การค้าขายสินค้าใต้ดิน การเก็งกำไร การแสวงหาความมั่นคงจากเศรษฐกิจที่ผันผวนฯลฯ ล้วนมีส่วนในการทำให้ทองคำเป็นที่นิยม

ในแต่ละปีอินเดียนำเข้าทองคำกันมากมายเฉลี่ยปีละ 400 ตัน จนสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นอันมาก นอกจากการนำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ทองคำซึ่งเป็นอันดับสองมีสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

เมื่อทางการอินเดียปล่อยข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นเพื่อสกัดการนำเข้า ตัวเลขการนำเข้าทองคำก็ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก การเก็บสะสมเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของครัวเรือนก็สูงขึ้นจาก 18,000 ตัน เป็น 20,000 ตัน ซึ่งยิ่งทำให้การพยายามแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ของ GDP ยากยิ่งขึ้น

หากอินเดียไม่มีการเกินดุลบัญชีทุน (เงินตราต่างประเทศจากการลงทุนและกู้ยืมสูงกว่าเงินตราต่างประเทศที่ไหลออกจากการไปลงทุนต่างประเทศและใช้คืนหนี้) ก็หมายถึงการขาดดุลการชำระเงิน (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง) หากสภาวการณ์ขาดดุลนี้รุนแรงและเรื้อรังก็จะนำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินสกุลรูปี

เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบทำให้ราคาของเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินรูปีสูงขึ้น (ค่าเงินรูปีลดลง) ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะกระทบถึงค่าครองชีพของประเทศ (อินเดียนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเงินตราต่างประเทศมีราคาแพง ราคาน้ำมันในรูปเงินรูปีก็ย่อมสูงตามไปด้วย)

การถือทองคำไว้ในมือไม่ว่าในรูปทองรูปพรรณหรือทองแท่งมิได้เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตของสังคม อีกทั้งมิใช่การลงทุนที่เป็นประโยชน์ ทรัพยากรการเงินของทั้งประเทศไปจมอยู่ และไม่มีผลตอบแทนทางการเงินระหว่างที่ถือไว้อีกด้วย

อย่างไรก็ดีถ้าทางการอินเดียสนับสนุนให้มีการกู้ยืมโดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพยค้ำประกัน การเป็นสังคมที่นิยมทองคำก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลขึ้นได้ถ้าไม่มีการนำเข้าอย่าง บ้าคลั่งอีกอย่างไม่รู้จบ

การแสวงหาและถือทองคำไว้ในมือไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมฉันใด การบ้าคลั่งปริญญาเพื่อเพิ่มวิทยฐานะก็ฉันนั้น เงินอาจซื้อทองคำและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการได้มาซึ่งปริญญาได้ แต่เงินซื้อปัญญาไมได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ อังคาร 22 ม.ค. 2556